วันอาทิตย์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2558

CADL ขับเคลื่อน ปศพพ. ใน มมส. _ ๐๙ : วิชาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เริ่มที่การทำความเข้าใจที่ถูกต้องของนิสิต มมส.

วันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๕๘ สภามหาวิทยาลัยอนุมัติหลักสูตรหมวดวิชาศึกษาทั่วไป (ปรับปรุงปี ๒๕๕๘)  ในกลุ่มวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มีรายวิชาให้นิสิตเลือกเรียนเพียง ๕ วิชา ซึ่งนิสิตต้องลงทะเบียนเรียนอย่างน้อย ๓ วิชา หนึ่งในนั้นคือรายวิชา "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" ซึ่งพัฒนาต่อยอดจากที่เคยเป็นรายวิชาเลือก ที่มีนิสิตเรียนเพียงภาคการศึกษาละประมาณ ๑,๐๐๐ คน กลายเป็นมาเป็นวิชาใหม่ในชื่อเดิมที่คาดว่าจะมีนิสิตลงทะเบียนเรียนประมาณ ๑๐,๐๐๐ คนต่อปีการศึกษา โดยคำอธิบายรายวิชานี้กำหนดไว้ว่า "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และการน้อมนำไปประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิต" สะท้อนถึงเป้าหมายของรายวิชาที่มุ่งให้เข้าใจและนำไปใช้จริงในการดำเนินชีวิตของนิสิตทุกคน

การปรับปรุงหลังสูตรฯ ในครั้งนี้ทำให้ มมส. เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในประเทศไทยที่เริ่มขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอ เพียงสู่นิสิตทุกคน โดยบรรจุรายวิชาลงไปในหลักสูตรวิชาศึกษาทั่วไปแบบเต็มคลาส และมีแผนจะเชิญปราชญ์ทั่วแผ่นดินมาให้ความรู้แก่บุคลากรและนิสิตอย่างต่อเนื่อง

ผมเองในฐานะผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ประสานงานการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนรายวิชาในกลุ่มวิชามนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ ได้โทรศัพท์ติดต่อประสานอาจารย์ผู้สอน และนัดประชุมเพื่อยกร่างตุ๊กตา และนำเสนอแนวทางที่สอดคล้องกับประสบการณ์การขับเคลื่อนฯ ที่ผ่านมา จนได้ข้อสรุปเป็น "ตุ็กตา" ดังนี้


โดย "ปรับวิธีเรียน เปลี่ยนวิธีสอน" จากบรรยาย เป็นการใช้สื่อมัลติมิเดียและการอภิปราย นำเสนอ วิพากษ์ และถอดบทเรียน เน้นการทำความเข้าใจและนำไปปฏิบัติกับตนเองในการดำเนินชีวิตประจำวัน และการวางแผนชีวิต ดังมีรายละเอียดดังนี้

สัปดาห์ที่ ๑ ชี้แจง มคอ. ๓ เพื่อแจ้งรายละเอียดการจัดการเรียนการสอน โดยเฉพาะกิจกรรมที่นิสิตที่ทุกคนต้องทำและเข้าร่วม ดังนี้
  • การทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย นิสิตต้องฝึกทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายตลอดภาคการศึกษา โดยจะมีการข้อมูลมาวิเคราะห์ในชั้นเรียนในสัปดาห์ที่ ๙ และสรุปบัญชีฯ และสะท้อนการเรียนรู้ของตนเองส่งตอนปลายภาคเรียน  ส่วนนี้ประเมินเป็นคะแนนเก็บ ๕ คะแนน
  • เข้าร่วมกิจกรรมการสวดมนต์ คือ สวดอิติปิโสฯ ๑๐๘ จบ อย่างน้อย ๒ ครั้ง ที่วัดป่ากู่แก้ว โดยนิสิตต้องจองเวลาล่วงหน้าเพื่อการบริหารจัดการและเตรียมการรองรับ  ส่วนนี้จะมีการลงทะเบียนเพื่อตรวจเช็ค ให้คะแนนครั้งละ ๕ คะแนน รวมสองครั้งเป็น ๑๐ คะแนน
  • นิสิตแต่ละกลุ่มจะได้รับมอบหมายให้ทำ "หนังสั้น" ถ่ายทอดผลการน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการทำประโยชน์สุขต่อผู้อื่น ซึ่งจะเปิดโอกาสให้นำเสนอตอนปลายภาคเรียน โดยมีคะแนนในส่วนนี้ถึง ๑๕ คะแนน
สัปดาห์ที่ ๒ ประวัติความเป็นมาของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง   นิสิตชมวีดีทัศน์สรุป ความเป็นมาและความสำคัญของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ก่อนจะร่วมกันศึกษาค้นคว้าจากเอกสารประกอบการสอนในประเด็นดังกล่าว แล้วร่วมกันอภิปราย สรุป และเขียนสะท้อนการเรียนรู้ลงในใบงาน

ส้ปดาห์ที่ ๓ ศาสตร์พระราชา  นิสิตชมวีดีทัศน์สรุปพระราชกรณียกิจ และหลักการทรงงาน แล้วศึกษารายละเอียดจากเอกสาร แล้วร่วมกันอภิปราย สะท้อนการเรียนรู้ และสรุปผลการเรียนรู้ลงในใบงาน

สัปดาห์ที่ ๔-๕ หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อทำความเข้าใจ หลักปรัชญาฯ ๒ เงื่อนไข ๓ ห่วง ๔ มิติ สู่ความมั่นคง ยั่งยืน และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง โดยการศึกษาความรู้จากเอกสารประกอบการสอน ร่วมกันอภิปรายกลุ่ม ก่อนจะใช้กระบวนการเรียนรู้ด้วยการ "ถอดบทเรียน" ในใบงาน

สัปดาห์ที่ ๖-๗ วิเคราะห์ตนเอง สถานการณ์ และสิ่งแวดล้อม  เพื่อให้รู้จักตนเองอันจะเป็นพื้นฐานสำคัญสู่การตัดสินใจอย่างพอประมาณกับตนเอง และการวางแผนได้อย่างรอบด้านและรอบคอบ เพื่อการกระทำใดๆ สู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง  กิจกรรมการเรียนรู้จะเป็นการ "ถอดบทเรียน" ลงในใบงาน การสืบค้นจากอินเตอร์เน็ต และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

สัปดาห์ที่ ๘ สอบกลางภาคเรียน เพื่อประเมินผลองค์ความรู้ที่นิสิตจำเป็นต้องรู้ ส่วนนี้เก็บคะแนน ๓๐ คะแนน

สัปดาห์ที่ ๙ เรียนรู้เกี่ยวกับการทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย และสรุปบัญชีรายรับ-รายจ่ายของตนเอง

สัปดาห์ที่ ๑๐ วางแผนชีวิต นิสิตวางแผนชีวิตอย่างจริงจัง โดยใช้ศาสตร์สากลเช่น กฎของ Maslow การวิเคราะห์โอกาส (SWOT), อุปนิสัยทั้ง ๗ ของผู้มีประสิทธิผลยิ่งของสตีเฟ่น โควี ฯลฯ เพื่อกำหนดเป้าหมายและแนวทางในการดำเนินชีวิตของตนเอง

สัปดาห์ที่ ๑๑-๑๓ เรียนรู้เกี่ยวกับกรณีตัวอย่างของการน้อมนำหลักปรัชญาฯ ไปใช้ในการดำรงชีวิต เช่น เกษตรทฤษฎีใหม่ และกรณีศึกษาอื่นๆ

สัปดาห์ที่ ๑๔-๑๕ นำเสนอหนังสั้น ของแต่ละกลุ่ม และอภิปรายสรุปวิธีการน้อมนำไปใช้ทำประโยชน์สุขต่อส่วนรวมอย่างหลากหลาย

สัปดาห์ที่ ๑๖  ถอดบทเรียนการเรียนรู้ทั้งหมดร่วมกัน (AAR: After Action Review)

สัปดาห์ที่ ๑๗ สอบปลายภาค เพื่อประเมินความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับการน้อมนำไปประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิต

เน้นอีกครั้งก่อนจะจบบันทึกนี้ว่า  นี่เป็นเพียง "ตุ๊กตา" ที่จะนำมาสู่วงอภิปรายและวิพากษ์ของอาจารย์ผู้สอนที่จะมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันตอนปลายเดือนมิถุนายนนี้