วันเสาร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

CADL ขับเคลื่อน ปศพพ. ใน มมส. _ ๐๗ : รู้แล้วว่าการขับเคลื่อนฯ ควรเริ่มที่ไหน

วันที่ ๑๒ พ.ย. ๒๕๕๗ รศ.ดร.นารีรัตน์ รักวิจิตรกุล เป็นวิทยากรจิตอาสา มาพัฒนานิสิตกลุ่มเด็กดีมีที่เรียนเป็นสัปดาห์ที่ ๓ ติดต่อกัน ท่านบอกว่า "ฉันไม่ได้มาเลคเชอร์เธอนะ ... ฉันมาสร้าง inspiration มาสร้างแรงบันดาลใจให้เธอ..."  และเน้นย้ำด้วยประโยคสั้นๆ ว่า "การวางแผนที่ดี เท่ากับสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง" ก่อนจะเริ่มคุยกับนิสิตที่มาร่วมในวันนั้น

ผมตั้งเป้าหมายว่าจะต้องเรียนรู้จากท่าน(แบบ "ครูพักลักจำ") ให้ได้มากที่สุด แม้ว่าครั้งนี้ผมจะติดราชการ ไปศึกษาดูงาน "ธรรมศาสตร์เพื่อประชาชน" ที่รังสิต ผมใช้วิธีฟังเทปบันทึก(ที่นี่ )ที่อุ้ม (คุณภาณุพงศ์) เขียนสรุปไว้  แล้วนำมาตีความในมุมมองตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อที่จะทำความเข้าใจกับนิสิตที่จะเป็นแกนนำขับเคลื่อนฯ ต่อไปในมหาวิทยาลัย

ท่านเริ่มนำนิสิตเข้าสู่บทเรียนโดยใช้ไดอารี่ของท่านเอง เป็นตอนก่อนจะเดินทางไปเรียนต่อที่อเมริกา บันทึกประมาณเพียงไม่กี่บรรทัดที่ท่านอ่านให้ฟัง  แสดงให้เห็นตัวอย่างของการวางเป้าหมายชีวิตหนึ่งเดียวที่แน่วแน่ การวิเคราะห์ต้นทุนของตนเองและทรัพยกรที่ต้องใช้อย่างชัดเจน ท่านบอกว่า สิ่งที่มั่นใจคือความสามารถด้านภาษาอังกฤษ มีเงินเก็บที่สามารถอยู่ที่อเมริกาได้โดยไม่ต้องทำงาน ๑ เทอม สิ่งที่ต้องทำคือ ไปสอบวัดผล TOEFL ให้ผ่านเกณฑ์ สิ่งที่ยังทำไม่ได้ตอนนั้นคือ ขับรถและพิมพ์สัมผัส ฯลฯ และบันทึกก็บอกด้วยว่า ต้องไปทำอย่างไรถึงจะได้ตามเป้าหมายนั้นๆ ...

บรรยายเรื่อง ๗ อุปนิสัยสู่การเป็นผู้ทรงประสิทธิภาพยิ่ง (The 7th Habits of Highly Effective People) ของ Stephen Covey


ท่านเกริ่นภาพรวมว่า ๒ สัปดาห์ที่ผ่านมานั้น เราได้กำหนดเป้าหมายชีวิตและวิเคราะห์ตนเองมาแล้ว วันนี้ท่านจะพูดถึง ๗ อุปนิสัยที่ทำให้คนเป็นผู้ทรงประสิทธิผลยิ่ง ของสตีเฟน โควีย์ ซึ่งได้ไปทำวิจัยสัมภาษณ์ผู้ทรงประสิทธิผลระดับโลก แล้วนำมาสังเคราะห์เขียนว่า คนเหล่านั้นมี ๗ อุปนิสัยนี้ ได้แก่
  • อุปนิสัยที่ ๑ ต้องเป็น Proactive  คือ ต้องเป็นฝ่ายเริ่มก่อน 
  • อุปนิสัยที่ ๒ เริ่มที่จุดมุ่งหมายภายในใจ 
  • อุปนิสัยที่ ๓ ทำตามลำดับความสำคัญ
  • อุปนิสัยที่ ๔ ต้องคิดแบบชนะ-ชนะ
  • อุปนิสัยที่ ๕ ต้องเข้าใจคนอื่นก่อนให้คนอื่นมาเข้าใจเรา
  • อุปนิสัยที่ ๖ ประสานพลัง
  • อุปนิสัยที่ ๗ ต้องลับเลื่อนให้คม 

อุปนิสัยคืออะไร 

"...ต้องมีความรู้ ต้องรู้ว่าต้องทำอะไร ต้องทำอย่างไร และคุณมีความต้องการจะทำไหม มีความปรารถนาจะทำหรือเปล่า จริงๆ เธอต้องการเป็นผู้พิพากษาหรือเปล่า หรือพ่อเธอบอก เธอจึงอยากเป็น ? เช่น ครูรู้ว่า จะไปเรียนเมืองนอก ครูต้องผ่าน TOEFL ต้องขับรถเป็น  ต้องรู้ด้วยว่าต้องทำอย่างไร ฉันก็ไปติว ไปเรียนพิมพ์ดีดที่นี่ ให้คนช่วยหัดขับรถ..."


ผมตีความคำว่าอุปนิสัย (Habit) ที่ศาสตราจารย์โควีย์เสนอว่าประกอบกันขึ้นจาก ๓ องค์ประกอบคือ ความรู้ ทักษะ และความต้องการนั้น  ถ้าจะทำให้เป็นคนดีมีประสิทธิผล การปฏิบัติจะสอดคล้องกับหลักคิดของเศรษฐกิจพอเพียง เช่น ความต้องการหรือความปรารถนาต้อง "พอประมาณ"  ทักษะและความสามารถที่มีต้องเพียงพอ ทำได้ และตั้งอยู่บนเหตุผลของความเป็นจริง และการมีความรู้ถือได้ว่าเป็นภูมิคุ้มกันอันดีที่จะทำให้สำเร็จ แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่ขาดไม่ได้ต้องมีคุณธรรมประจำใจ ...


ประสิทธิผลคืออะไร

"...คือความสมดุลระหว่าง Production (ผลผลิต) กับ Production Capability (ความสามารถในการผลิต) เช่น ถ้าเธอต้องการเงินเดือน ๓๐,๐๐๐ เธอมีความสามารถไหม เธอพูดภาษาอังกฤษได้ไหม เธอพิมพ์สัมผัสได้ไหม  หรือถ้าเธอซื้อมือถือมา เธอสามารถใช้กี่ปีให้คุ้มค่า... เราสามารถใช้ความสามารถของเราเพื่อเติมเต็มให้สมดุลกับความสามารถในการผลิต เช่น เราต้องออกกำลังกาย เตรียมร่างกายและจิตใจให้พร้อม ที่จะใช้ความสามารถของเราได้อย่างเต็มที่ในการสร้างสรรค์หรือผลิต..."

อุปนิสัยที่ ๑ Proactive เป็นผู้เริ่มต้นก่อน 

"...ถ้าเป็นคนทำงานในองค์กรจะรอนายสั่ง แบบนั้นเขาเรียกพวก Reactive ไม่ใช่ Proactive ... Proactive จะวิเคราะห์ปัญหา แล้วเอาปัญหาที่สำคัญๆ มาหาทางแก้ไข แล้วค่อยขยายขอบเขตของปัญหานั้นออกไปให้ครอบคลุ่มปัญหาทั้งหมด..."
 

อุปนิสัยที่ ๒ เริ่มที่จุดมุ่งหมายภายในใจ

"...ข้อนี้เราทำมาในสองสัปดาห์ที่ผ่านมาแล้ว...ที่ครูให้พวกเราวางแผนอาชีพน่ะ เป็นแผนระยะยาว...  แต่การกระทำทุกอย่างเราต้องมีเป้าหมายภายในใจเสมอ..."

อุปนิสัยที่ ๓ จัดลำดับความสำคัญ 

พิจารณาโดยแบ่งตารางกิจกรรมออกเป็น ๔ ช่อง  ได้แก่ สำคัญและเร่งด่วน สำคัญแต่ไม่เร่งด่วน เร่งด่วนแต่ไม่สำคัญ  และทั้งไม่สำคัญและไม่เร่งด่วน


...เร่งด่วนแต่ไม่สำคัญคืออะไร เช่น รับโทรศัพท์ ไลน์ เฟสบุ๊ค หนังจะออกจากโรงพรุ่งนี้ ยังไม่ได้ไปดู...เร่งด่วนและสำคัญ... เช่น  พรุ่งนี้ต้องนำเสนอ ทำ ppt เสร็จหรือยัง...  โปรเจคจะส่งแล้วเสร็จหรือยัง...ไม่สำคัญและไม่เร่งด่วน เช่น ลอยกระทง  (ดูหนัง ฟังเพลง เที่ยว) ... ที่สำคัญและไม่เร่งด่วนคือ กิจกรรมเพิ่ม PC (Production Capability) หรือกิจกรรมเพิ่มประสิทธิภาพ เช่น ออกกำลังกาย อ่านหนังสือเพิ่มความรู้ ฝึกทักษะ...

...หลักสำคัญคือ เธอต้องวางแผนให้มีกิจกรรมที่ไม่สำคัญและไม่เร่งด่วนให้มาก คือต้องมีกิจกรรมเพิ่ม PC ทุกวันนะ...ทำให้กิจกรรมนั้นๆ อยู่ในการวางแผนของเธอ...


การบ้าน

สิ่งที่ท่านเน้นอีกเรื่องหนึ่งคือ บทบาทในชีวิต ทุกคนต้องรู้จักบทบาทในชีวิตของตนเอง  ...ฉันมีบทบาทเป็นลูก ฉันมีบทบาทเป็นผู้ใหญ่ เป็นเพื่อน เป็นลูกศิษย์ ...  โดยท่านใช้ตารางวางแผนชีวิตด้านล่าง  (เป็นตัวอย่างของคุณภาณุพงศ์)


รายละเอียดเกี่ยวกับแต่ละอุปนิสัยแบบย่อ อ่านได้ที่นี่   ท่านได้มอบหมายให้นิสิตทุกคนลองไปทำแบบวางแผนประจำสัปดาห์ของตนเอง คราวหน้าจะมาติดตามอีกครั้งหนึ่ง

หลังจาก ๓ สัปดาห์ที่ท่านมาเป็นวิทยากรให้กับกลุ่มเด็กดีมีที่เรียน ผมรู้แล้วว่า การขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในมหาวิทยาลัย ควรจะเริ่มจากที่ไหน เราต้องเริ่มจาก "ตนเอง" ในที่นี้คือ เริ่มจากการพัฒนาเชิงปฏิบัติกับกลุ่มนิสิตกลุ่มเด็กดีมีที่เรียนอย่างจริงจังในภาคการศึกษาต่อไป โดยเรียนเชิญท่านเป็นวิทยากรประจำสัปดาห์ และจะเรียนรู้และพัฒนาเป็น "หลักสูตร"ที่จะนำไปใช้กับ "เด็กดี" ทุกๆ ปีต่อไป ...

วันศุกร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

CADL ขับเคลื่อน ปศพพ. ใน มมส. _ ๐๕ : การแบ่งเวลา ๘๐/๒๐ ของพาเรโต้

สืบเนื่องจากสัปดาห์ที่ ๑
สืบเนื่องจากสัปดาห์ที่ ๒

การขับเคลื่อนฯ นิสิตแกนนำขับเคลื่อน ปศพพ. ใน มมส. วันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ นอกจากจะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อผู้ที่มาร่วมในวั้นนั้นแล้ว ประสบการณ์และองค์ความรู้ที่ รศ.ดร.นารีรัตน์ รักวิจิตรกุลท่านสอนในวันนั้น น่าจะเป็นประโยชน์ต่อนิสิตที่ไม่ได้ได้มาด้วย จึงขอนำมาแบ่งปันไว้ในบันทึกนี้



หลังจากที่ทุกคนได้กำหนดเป้าหมายในชีวิต(ด้านอาชีพ)ของตนเอง คำถามที่สำคัญคือ "มโนมั้ย" ...สิ่งที่เธออยากเป็นจริงๆ น่ะ ที่เธอพูดน่ะ มันใช่ตัวตนจริงๆ ของคุณหรือเปล่า... ท่านบอกว่า ในทางจิตวิทยา จะแบ่ง "ตัวตน" ของการมองตนเองของคนออกเป็น ๒ แบบคือ ตัวตนที่เป็นจริง (Real Self) คือตัวตนตามข้อเท็จจริงๆ ที่เป็น และตัวตนในอุดมคติ (Ideal Self) คือความอยากมีอยากเป็น ..หากเราเขียนระยะห่างระหว่าง Ideal Self และ Real Self  สมมติเป็น A กับ  B  นะ ... ถ้ามันห่างกันมาก คนๆ นั้น มีแนวโน้มจะเป็นโรคจิต  แต่ถ้าใกล้มากๆ แสดงว่าคนนั้นสุขภาพจิตดี ... ดังนั้นต้องกลับไปดูตัวเองนะ... ตนในอุดมคติเป็นสิ่งที่มีใครเขากำหนดให้เราหรือเปล่า...







ท่านเล่าประสบการณ์ตนเองเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนมาก ...

" ...วันที่ครูขอเตี่ยครูว่าจะไปเรียนเมืองนอก ... ท่านบอกว่า ไม่เอา อายุป่านนี้แล้ว ใครมาขอก็จะแต่งหมดล่ะ... ฉันไม่ทำอะไรเลย...ฉันนั่งร้องไห้อย่างเดียว วันรุ่งขึ้นเตี่ยฉันก็มาบอกฉันว่า เอ้อๆ อยากไปก็ไป แต่กลัวว่าจะไม่มีเงินส่ง... ครูบอกว่าครูจะหางานทำ ครูวางแผน...ว่า ตนในอุดมคติของครูเนี่ย ต้องเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเท่านั้น และการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย.. ต้องเรียนโทและเอก แต่ถ้าโทเมืองไทย ฉันสอบสู้เขาไม่ได้ ฉันรู้  เพราะฉันเอกประถม จะไปสอบสาขาอะไรก็สู้เขาไม่ได้  แต่ฉันรู้ว่า ฉันเก่งภาษาอังกฤษ ไปเรียนเมืองนอกได้ ฉันก็มาดูว่า จะไปอินเดียหรืออเมริกา ในที่สุดไปอเมริกา  ... แล้วมีปัจจัยอะไรจะไปอเมริกา... ตั้งแต่เล็กจนโต...คนจีนเขาให้อั้งเปาไว้...ฉันฝากมีเงินอยู่ ๔๔,๐๐๐ บาท ...ฉันสามารถอยู่อเมริกาได้ ๑ เทอมโดยไม่ต้องทำงาน ...เรียนจบแล้ว (ป.ตรี ก่อนไปเอริกา) ฉันมาทำงานกับเตี่ย ประมาณ ๙ เดือน ได้เดือนละ ๓,๐๐๐ บาท ... เป็น ๒๗,๐๐๐ บาท นี่พอค่าเครื่องบิน เนี่ยคือการวางแผน... เข้าใจมั้ยค่ะ..."

การบ้าน

สรุปว่าทุกคนต้องวิเคราะห์ตนที่แท้จริงว่า  เรามีปัจจัยอะไรบ้าง พ่อแม่สนับสนุนหรือไม่ มีเงินพอไหม ตนเองเก่งอะไร ถนัดอะไร จะสามารถพัฒนาไปสู่จุดสูงสุดอะไรได้บ้าง ข้อดีของตนเอง ขยัน อดทนสูง ข้อด้อยทั้งทางนิสัยและทักษะความสามารถ ฯลฯ  และให้ทุกคนไปวางแผนสำรองในกรณีที่เป้าหมายแรกไม่อาจสำเร็จได้



ผมตีความว่านี่คือการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้นั่นเอง

ท้ายสุดของวันนั้น ท่านถ้าสมมติว่าทุกคนพร้อมเรื่องปัจจัยภายนอกครบทุกประการ ท่านถามว่า "ปัจจัยส่วนตัว" อะไรที่จะทำให้สามารถไปถึงความสำเร็จได้ นิสิตช่วยกันตอบได้ดังภาพ


ผมตีความว่า นี่คือการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้กับการวางแผนชีวิตของตนเอง ท่านกำลังพานิสิตวิเคราะห์ด้วย ๓ ห่วง ๒ เงื่อนไข การวิเคราะห์ตนเองที่ผ่านมาสอดคล้องกับ "ความพอประมาณ" พอประมาณกับศักยภาพของตนเอง กับทุนทรัพย์ของตนเอง(ครอบครัว) กำหนดระยะเวลาให้เหมาะสมเป็นไปได้ ซึ่งต้องตั้งอยู่บนเหตุผลของความเป็นจริงหรือ (Real Self) ซึ่งการวางแผนที่ละเอียดรอบคอบนี้เองคือ "ภูมิคุ้มกันที่ดี" ในตัวของนิสิตเอง

ตอนท้ายๆ ท่านให้ทุกคนสมมติว่า ถ้าทุกคนพร้อมด้านปัจจัยภายนอก อีกทั้งยังมีคุณสมบัติความสามารถเหมาะสมด้วย (มีเงื่อนไขความรู้แล้ว) ถามว่า มีปัจจัยอะไรอีก ที่จะทำให้เราไปสู่เป้าหมายได้  ผมตีความว่า ท่านกำลังกระตุ้นให้นิสิตคิดถึงเงื่อนไขด้านคุณธรรม  ท่านเฉลยว่า...

"...เธอต้องขยัน อดทน ค้นคว้า สืบค้น ฝึกฝน เรียนรู้ พบผู้รู้ ประเมินตนเอง ..จริงๆ ที่ครูจะฝากวันนี้คือ ให้เธอบริหารเวลา เพราะว่า ถ้าเธอไม่บริหารเวลา เธอก็จะไม่ค้นคว้า..."

กฎ ๘๐/๒๐ ของพาเรโต้ 

ท่านเติมความรู้เรื่องการบริหารเวลา โดยใช้ "กฎ ๘๐/๒๐ ของพาเรโต้" ผมสืบค้นเจอเว็บไซต์ที่ทำให้ผมเข้าใจเรื่องนี้มากขึ้นที่นี่ 

"...มันเป็นหนังสือเล่มหนึ่งเลยนะ ... เธอโชคดีมากนะ ภายใน ๑๐ นาทีนี้ เธอจะได้ฟังหนังสือทั้งเล่ม ...ฉันสอนมา ๓๐ ปี ... "

"..กฎ ๘๐/๒๐ ในการดำเนินชีวิตคือว่า... เธอตื่นขึ้นมา เธอมีงาน ๑๐ ชิ้น เธอจะต้องทำงาน ๒ ชิ้น (๒๐ เปอร์เซ็นต์)  งาน ๒ ชิ้นนี้ จะให้ผลประโยชน์กับชีวิตเธอถึง ๘๐ เปอร์เซ็นต์ ส่วนงานอีก ๘ ชิ้นจะให้ประโยชน์ ๒๐ เปอร์เซ็นต์... ตื่นขึ้นมางาน ๒ ชิ้นไหนต้องเสร็จ กำหนดเลย... "

หลายครั้งที่เจอและได้สนทนากับผู้ใหญ่แล้วผมรู้สึกว่าถูก "เปิดกระโหลก" เหมือนได้อ่านหนังสือเป็นเล่ม ครั้งนี้ก็เช่นกัน ... จึงอยากเขียนแบ่งปันไปยังนิสิตและผู้อ่านทุกครับ ...





วันพฤหัสบดีที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

CADL ขับเคลื่อน ปศพพ. ใน มมส. _ ๐๔ : เป้าหมายชีวิตของนิสิต เป็นจริงได้กี่เปอร์เซ็นต์

สืบเนื่องจาก สัปดาห์ที่ ๑



หลังจากสวดมนต์ไหว้พระ สำรวมกายใจ ภายในสงบ มีสมาธิ ผ่อนคลาย อยู่ใหน"โหมดเรียนรู้"แล้ว รองศาสตราจารย์ ดร.นารีรัตน์ รักวิจิตรกุล (หรือที่นิสิตเรียกอย่างเคารพว่า "อาจารย์แม่") ทบทวนถึงการบ้านที่ให้นิสิตแต่ละคนไปกำหนดเป้าหมายชีวิต และพิจารณาสะท้อนต้นทุนของตนเอง วิเคราะห์โอกาส และกำหนดเส้นทางสู่เป้าหมายนั้น แล้วสรุปด้วยประโยคสั้นๆ ว่า "การวางแผนที่ดีเท่ากับทำสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง"

ท่านเริ่มให้แต่ละคนที่มาร่วมกิจกรรมได้ "ส่งการบ้าน" (ในที่นี้ หมายถึง การสนทนาแบบสดๆ โต้ตอบกันแบบเปิดอก เกี่ยวกับเป้าหมายชีวิตของแต่ละคน) ซึ่งได้ไปสะท้อนทบทวน วิเคราะห์ และวางแผน ตามที่ "อาจารย์แม่" ได้มอบหมายไว้

คำถามที่ ๑ เป้าหมายชีวิตของเธอคืออะไร 

ท่านบอกว่า ในช่วงชีวิตของนิสิตตอนนี้ ควรต้องมีเป้าหมายเกี่ยวกับ "อาชีพการงาน" อีกหน่อยพอแก่ตัวไป (ท่านยกตัวอย่างตนเอง) ค่อยไปว่ากันด้วยเรื่องสุขภาพกาย ใจ

นิสิตคนหนึ่งบอกว่า เป้าหมายชีวิตหนึ่งเดียวของเขาคือครู

...เป้าหมายเดียวของหนูคือสอบเป็นครูค่ะ...หนูกำลังเรียนระดับปริญญาโทสาขาหลักสูตรและการสอน เนื่องจากตอนเรียนปริญญาตรีไม่ได้เรียนครูค่ะ ...แต่การจะเป็นครูนั้นต้องมีประสบการสอนหนึ่งปี สอบผ่าน ๙ มาตรฐาน (เกณฑ์ที่กำหนดโดยคุรุสภา อ่านที่นี่หรือที่นี่) ถึงจะทำเรื่องขอใบประกอบวิชาชีพ ...

คำถามที่ ๒ กรอบระยะเวลา จะเรียนจบ ทำสำเร็จเมื่อไหร?

ระหว่างการสนทนากับนิสิต ท่านพยายามจะเน้นให้ทุกคนฟังและคิดตาม เพราะคำถามของท่านจะเน้นกระบวนการให้คิดตาม ...ครูพูดให้เธอไปคิดนะ เราไม่ได้มาโต้เถียงกัน เธอต้องนำไปคิดเอง...หมายถึง ถามคนเดียวแต่คนอื่นได้เรียนรู้ด้วย บทสนาของท่านกับนิสิตจึงน่าสนใจ และไม่จำเป็นต้องนำบันทึกสนทนามาเสนอทุกคน ...ดังนั้นบทสนทนากับตัวอย่างนิสิตที่มานี้จึงน่าสนใจยิ่ง

อาจารย์แม่ : กรอบระยะเวลาที่เธอคิดว่าจะทำสำเร็จ ภายในปีไหน
นิสิต :   ภายในปี ๕๙ ค่ะ อีกสองปี

อาจารย์แม่ : เธอจะเรียนจบเมื่อไหร่?.
นิสิต : ปี ๒๕๕๘ ค่ะ ปีหน้า... 

อาจารย์แม่ : ทำวิทยานิพนธ์ถึงบทที่เท่าไหร่แล้ว...
นิสิต : บทที่ ๓ ค่ะ 

อาจารย์แม่ : ป.โท ทั่วไปรุ่นพี่ๆ เธอเขาทำกี่เทอม?
นิสิต : ประมาณ ๓ เทอมค่ะ ... นั่นคือประมาณ ๑ ปี ครึ่งค่ะ ตอนนี้กำลังฝึกสอนไปด้วยค่ะ.. อีกหนึ่งปีจะจบ ป.โท ค่ะ


อาจารย์แม่ :แน่นะ... มั่นใจเหรอ... 
นิสิต : มั่นใจค่ะ 

อาจารย์แม่ : แล้วปี ๕๘ จบ แล้วเธอได้ใบประกอบวิชาชีพหรือยัง? ....
นิสิต : ยังค่ะ.. เขาต้องให้ทำเรื่องไปที่คุรุสภาก่อนค่ะ 
อาจารย์แม่ : เขาไม่ให้เธอทันทีหรอก... เธอยังบอกเลยว่ามันต้องอบรม...
นิสิต : หนูคิดว่าหนูจะอบรมไปพร้อมๆ กับเรียนเลยค่ะ ...


อาจารย์แม่ : สมมติว่า เธอได้ใบประกอบวิชาชีพครูตามแผนในปี ๕๙ แล้วตอนสอบบรรจุล่ะ เธอไปศึกษาโอกาสมาไหม โอกาสที่จะได้เป็นยังไง...
นิสิต : สอบบรรจุ เราต้องเริ่มตรงที่ ต้องรู้ก่อนว่า.. หนูจะต้องรู้ว่าเขาจะสอบอะไรบ้าง...

...เบ็ดเสร็จ....ท่านพูดตัดบท เพื่อให้นิสิตทุกคนเห็นกระบวนการของการคิดพิจารณาแนวทางการวิเคราะห์เป้าหมาย...เธอคิดว่า เธอจะไปสู่เป้าหมายนั้นภายในปีอะไร...แต่นิสิตคนนั้นก็ยังยืนยันหนักแน่นว่า ... ๕๙ ค่ะ...


อาจารย์แม่ : ..เมื่อวาน เจ๊นุช(นามสมมติ ของนิสิตที่จบไปแล้ว)โทรมา เรียนเอก Math  ๓ ปีแล้ว ยังสอบบรรจุไม่ได้เลย...
นิสิตแสดงความมั่นใจทันที : หนูไม่รู้ค่ะอาจารย์ แต่ที่หนูรู้คือ คนรอบข้างที่อยู่ใกล้หนูเขาสอบได้ และมันเป็นเหมือนแรงกระตุ้นด้วย..

อาจารย์แม่ : เธอคิดว่าเธอจะดูหนังสือวันละกี่ชั่วโมงต่อวัน...
นิสิต : ...ยังไม่ได้วางแผนค่ะ... อาจารย์ค่ะ ถ้าเราคิดว่าเราจะบรรจุไม่ได้ เราจะทำไม่ได้ แต่ถ้าเรามั่นใจเราจะทำได้....
อาจารย์แม่ : .... มโนมั๊ย...มโนมั๊ย......ฉันฝากเธอให้ไปคิดดู...ฉันไม่รู้ศักยภาพของเธอ...เธอต้องไปคิดเอง ...

คำถามที่ ๓ ตำแหน่งอะไร ต้องทำหน้าที่อะไร เขาสอบอะไรบ้าง 

นิสิตคนหนึ่งบอกว่า เป้าหมายชีวิตหลังเรียนจบคือ การเป็นทหาร  ทหารยศสัญญาบัตร ยศเรือตรี ตอนแรกคิดจะสมัครทหารบก แต่เขาไม่รับคนจบนิติศาสตร์ แต่ทหารเรือเขารับตำแหน่งที่เกี่ยวกับกฎหมาย เข้าไปช่วยทำงานด้านกฎหมายในโรงเรียน ท่านถามทันทีว่า ตำแหน่งอะไร...ใช่นักวิชาการศึกษาหรือเปล่า ...ต้องรู้อะไรถึงจะเป็นได้ ...สิ่งที่เธออยากเป็นน่ะ เธอต้องรู้ละเอียด ต้องรู้ด้วยว่าเขาจะสอบอะไร เธอต้องอ่านหนังสือวันละกี่ชั่วโมง...
ถ้าตอบไม่ได้.... อย่ามโน...ถ้าเธอคิดเรื่องนี้ตั้งแต่ปีหนึ่ง  เธอจะมีเวลาเตรียมตัวมากมายมหาศาล แต่ถ้ามาเริ่มคิดตอนปี ๔ เราจะทันมั๊ย...

คำถามที่ ๔ อย่า"มโน" สิ่งที่ว่าน่ะ...มะโนมั๊ย?...

นิสิตคนหนึ่งบอกว่าอยากจะเป็น "อัยการ" สิ่งที่ต้องมีคือ ๑) ต้องจบ ป.ตรี นิสิตศาสตร์ ๒) จบเนติบัณฑิต ๓) อายุ ๒๕ ปีขึ้นไป และ ๔) ต้องมีประสบการณ์ด้านกฎหมายอย่างน้อย ๒ ปี หรือไม่ก็จบปริญญาโท ผมคิดว่าถ้าเราจบโท เราจะมีสิทธิ์สอบ "สนามเล็ก" เราจะมีโอกาสได้เป็นมากกว่าเพราะมีคนสอบแข่งขันน้อยกว่า  ....  แต่พอผมมาพิจารณาปรากฎว่า อเมริกาค่าเทอมล้านกว่า...โอ้โฮ้...ฝรั่งเศสก็ล้านกว่า อังกฤษล้านกว่า ..ไปเจอนิวซีแลน์ นอเวย์ เยอรมันเรียนฟรี ค่าใช้จ่ายประมาณ ๕๐๐ ปอนด์ (ประมาณ ๒๕,๐๐๐ บาท) แต่ต้องเตรียมภาษาเยอรมันให้ผ่านระดับ B1 (ฺได้แกรมม่า อ่าน พูด เขียนได้เบื้องต้น สื่อสารได้บ้าง)...

...เดี๋ยวก่อนๆ... เธอเรียนภาษาอังกฤษมากี่ปีแล้ว ... How many year you have learn English? Speak it in English?

เริ่มจริงจังตั้งแต่ตอนอยู่ ม.๖ ครับ แต่ยังพูดไม่ได้ รู้แกรมม่า ... ๘  ปีครับ ...

...You still cannot speak, if you going to study German Languge, You think you can study in the field of law?....ที่ถามน่ะคือพูดให้คิดนะว่า เราเรียนภาษาอังกฤษมามากกว่า ๑๐ ปี เรายังพูดไม่ได้เลย แต่ต้องไปเรียนภาษาเยอรมัน เราจะทำได้จริงเหรอ แม้ว่าจะไปเข้าคอร์ส ๓ เดือน ๖ เดือน ... Do you think you can do that?....

นิสิตประทับใจคำตอบของนิสิตอีกคนหนึ่งที่มาจากคณะบัญชีฯ มาก ผมตีความว่า เธอกับศรัทธาและกำลังอยู่บนถนนของการสร้าง "คุณค่าของชีวิต" ในระดับที่ไม่ใช่ "มูลค่าเพื่อตนเอง" แต่เป็น "มูลค่าตนเพื่อคนอื่น" เป็นการให้คุณค่าของชีวิตคนอื่นผ่านการดำเนินชีวิตตนเอง และเมื่อถูกถามว่า "มโนมั๊ย" เธอยังตอบอย่างมั่นใจว่า "หนูจะทำได้" บอกว่า...ไม่ได้ตั้งเป้าหมายที่เป็นอาชีพอย่างชัดเจน เพราะไม่ชอบงานประจำ... เธอต้องการจะทำอะไรที่เธอทำได้เพื่อช่วยเหลือผู้อื่น ...อยากทำธุรกิจบ้านเลี้ยงเด็ก เป็นความฝันอย่างหนึ่ง เพราะจะได้ช่วยเหลือคนอื่น....ที่มาเรียนการตลาดเพราะว่า ชอบทำกิจกรรม ทุกคนในวงการตลาดคิดแต่เรื่องธุรกิจ เรื่องเงิน มันจึงเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งที่จะใช้การตลาดไปช่วยเหลือคนอื่น เป็นการย้อนทวนกระแส....

คำถามที่ ๕ มีแผนสำรองมั้ย?

เป็นอีกครั้งที่มีข้อมูลยืนยันเชิงประจักษ์ว่า มีนิสิตจำนวนมาก ที่อยากเป็นครูแต่สอบไม่ติด เลยต้องมาเรียนคณะวิทย์ ผมตีความว่า นี่คือ "แผนสำรอง" ที่นิสิตคิดกันเองว่าจะไปถึงจุดหมายนั้นได้ง่าย แต่ความจริง นี่เป็นทางอ้อม และจะยิ่งเต็มไปด้วยอุปสรรคปัญหามากมายในยุคของการแข่งขันอย่างรุนแรงต่อไป

อาจารย์แม่ยังไม่ได้เน้นย้ำกับคำตอบของคำถามว่า "มีแผนสำรองหรือไม่"  แต่ฝากไว้ให้มาคุยในสัปดาห์ต่อไป...














ช่วงหลังการสนทนา ผม AAR ว่า ผมได้เรียนรู้ในสิ่งที่มีคุณค่า ซึ่งจะหาอ่านจากตำราใดๆ คงต้องใช้เวลามาก  โดยเฉพาะทฤษฎีที่ได้รับการยอมรับกันอย่างกว้างขวาง ทั้งทางตะวันตกตะวันออก ที่ท่านบอกบรรยายในช่วงท้ายของกิจกรรม  .... (ขอแยกไปเขียนในบันทึกหน้านะครับ)

วันจันทร์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

หนังสือเปลี่ยนชีวิต "ไม่ด่วนแต่สำคัญ"

วันอาทิตย์ ที่ ๒ พ.ย. ๒๕๕๗ CADL ขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงภายในมหาวิทยาลัย แบบ "ไร้รูปแบบ" กับนิสิตกลุ่มเป้าหมายที่มาร่วมเพียง ๒ คน  จากที่ได้ประชาสัมพันธ์ไปยังกลุ่ม "เด็กดีมีที่เรียน" แล้วล่วงหน้าและเป็นระบบ




สาเหตุของการไม่ได้มาร่วมงานนี้ ประเด็นหลักๆ คือ กิจกรรมของแต่ละคณะ  รุ่นพี่คณะนัดเข้าสแตนด์ ซ้อมเชียร์ อีกอย่างหนึ่งคือ วันเวลาตรงกันวันอาทิตย์ ที่สอดคล้องกับวันเวลาที่ "พี่พริม"  เดินทางมาจังหวัดมหาสารคาม...  ผมเห็นถึงความตั้งใจของคุณภาณุพงศ์ คงสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสนทนา และ คุณพริม ก็รู้สึกเกรงใจและเสียดายแทนนิสิตที่ไม่ได้มาร่วมสนทนา เรียนรู้ "ปัญญา จาก ชีวิตจริง" ที่มหาวิทยาลัยไม่เคยสอน...แต่ไม่เป็นไรครับ สำหรับนิสิตที่สนใจ สามารถอ่านเรื่องราวประสบการณ์ชีวิตของเธอ แบบที่ต้องเรียกว่า "เปลี่ยนความคิด ชีวิตก็เปลี่ยนตาม" ได้ที่นี่

ผมตั้งใจจะไปร่วมวงสนทนาด้วย แต่มี "พันธกิจของชีวิต" คือ "ต้องติดลูกสาว" ไปด้วย จึงต้องเดินไปเดินมา เลยแก้ปัญหาด้วยการอัดคลิปวีดีโอตอนที่คุณพริมเล่าประสบการณ์ตอนก่อนจบ ม.๖ ความผิดหวังกับการสอบเข้าคณะ สาขา หรือมหาวิทยาลัยที่ต้องการ จนกระทั่งเธอ "เธอเปลี่ยนความคิด" และชีวิตเธอก็เปลี่ยนไป.... สิ่งที่น่าสนใจคือ อะไรทำให้เธอเปลี่ยนความคิด จุดไหนคือจุดพลิกผันในชีวิตของเธอ เสียดายที่ผมไม่ได้นั่งฟังตลอด แต่เท่าที่ประมวลความได้ เข้าใจว่า สิ่งที่ทำให้เธอเปลี่ยนความคิดและชีวิตของเธอ มี ๒ อย่าง หนึ่งคือ "พระอาจารย์ที่เธอเคารพนับถือท่านหนึ่ง" และ สองคือ "หนังสือที่เธออ่าน" และผม "ฟันธง" ว่า หนังสือสำคัญเล่มหนึ่ง ที่เปลี่ยนชีวิตของเธอคือ "๗ อุปนิสัยสำหรับผู้ทรงประสิทธิผลยิ่ง" (The 7 Habits of Highly Effective People by Stephen R. Covey)  โดยเฉพาะอุปนิสัยที่ ๓ การจัดลำดับความสำคัญ (Put First Thing First; the habit of personal leadership) ที่เธอนำมาปรับใช้และถ่ายทอดในแบบของเธอ.. ดังจะได้กล่าวต่อไป

ผมเองเคยอ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว และประทับใจมากๆ แต่ตนเองไม่ค่อยได้นำมาปฏิบัติต่อเนื่องกับทุกเรื่อง อีกทั้งยังเป็นคนที่ไม่เข้มงวดกับตนเองนัก ชีวิตจึงไม่ได้เปลี่ยนไปเพราะหนังสือเล่มนี้ อย่างไรก็ดี สิ่งดีๆ ที่เราได้รู้เห็นในชีวิต แม้เราจะ"ไม่ได้เป็น" แต่เราก็น่าจะชี้บอกแนะนำต่อได้... นี่คือธรรมะข้อหนึ่งที่ผมยึดมั่นหลังจากที่ได้เรียนรู้ "ธรรมะแนวดูจิต" มาระยะหนึ่งจนเปลี่ยนชีวิตตนเอง

ดร.สตีเฟ่น โควีย์ แนะนำวิธีปฏิบัติในการจัดลำดับความสำคัญของกิจกรรมต่างๆ ในการดำเนินชีวิตด้วย ตารางเมตริกท์ ๒ แถว ๒ หลัก กำหนดองค์ประกอบของแถวเป็น "สำคัญ" และ "ไม่สำคัญ" องค์ประกอบของหลักเป็น "จำเป็น" และ "ไม่จำเป็น" ทำให้ได้องค์ประกอบของเมตริกท์ ดังนี้


ดร.สตีเฟ่น บอกว่า "การตัดสินใจ" ว่ากิจกรรมอะไรที่จะทำก่อนหลัง สำคัญ ไม่สำคัญ จะแตกต่างกันไปแล้วแต่ว่า ใครจะใช้อะไรเป็นศูนย์กลางของชีวิตระหว่าง การงาน เงินทอง ครอบครัว ความรัก(แฟน) เพื่อนฝูง สังคม ความรู้สึกของตน (ฯลฯ) หรือจะเป็นเหตุผลบนความเป็นจริง  เช่น
  • ถ้านิสิตกำลังจะไปเรียนหนังสือ แต่แฟนโทรมา บอกว่าเหงามาก อยากให้พาไปทานข้าว  นิสิต "ตัดสินใจ" ไม่ไปเรียน เลือกพาแฟนไปทานข้าว... แบบนี้เรียกว่า เอาความรักเป็นจุดศูนย์กลาง 
  • ถ้าคนโทรมาเป็นเพื่อน นิสิต "ตัดสินใจ" บอกว่า เอาไว้คราวหน้า ... แบบนี้เรียกว่า เอาเรื่องงานหรือหน้าที่เป็นศูนย์กลาง ณ ขณะนั้น 
  • ฯลฯ
เมื่อนิสิตมี "ศูนย์กลาง" เป็นอะไร ก็จะมีแนวโน้มที่จะใช้เวลาและทรัพยากรไปกับเรื่องนั้นๆ มาก ซึ่งคนส่วนใหญ่ ปล่อยให้กิจกรรมที่ตนเองทำในแต่ละวัน เลื่อนลอยไปกับสิ่งเร้าที่มากระทบ  ... ผมตีความว่า คนที่จะ "ตัดสินใจ" ได้ดี เป็นผู้มีประสิทธิผลยิ่งนี้ ต้องเป็นผู้มี "สติ" และ "สมาธิ" เป็นพื้นฐาน มีความ "พอประมาณ" กับศักยภาพของตน และเป็นผู้มี "เหตุผล" และ "ภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี" .... เหล่านี้ก็คือ ผู้มีอุปนิสัย "พอเพียง" นั่นเองครับ

ถ้าพื้นที่ของแต่ละองค์ประกอบของเมตริกท์แทนด้วยปริมาณเวลาที่ต้องใช้ไป ดร.สตีเฟ่น แนะนำว่า การจัดลำดับความสำคัญที่ดี ควรจะมีลักษณะดังภาพต่อไปนี้ 


พื้นที่ๆ (๒) คือ ให้เวลากับสิ่ง "สำคัญ" ที่ "ไม่เร่งด่วน" หมายถึง บริหารจัดการ วางแผน ทำตามแผน ปฏิเสธเรื่องไม่ได้อยู่ในแผนงาน เว้นเสียแต่จะจำเป็นจริงๆ  จะเห็นว่าพื้นที่ๆ (๓) น้อยที่สุด นั่นคือ สิ่งด่วนๆ ที่ไม่จำเป็น เช่น แฟนโทรศัพท์มาให้พาไปกินข้าว  (ไม่มีขาหรือไง บอกไปได้เลย...) ดื่ม เที่ยวกลางคืน ฯลฯ


คุณพริมยกตัวอย่างการนำวิธีของ ดร.โควีย์ มาปรับใช้ โดย เริ่มให้มองไปข้างหน้าว่า เป้าหมายในชีวิตของเราคืออะไร แล้วกำหนดไว้ให้มั่น ... (ช่างเหมือนกับที่ รศ.ดร.นารีรัตน์ กำลังพา "เด็กดีมีที่เรียน" ทำในสัปดาห์ที่แล้ว) แล้วก็วางแผนว่า อะไรจำเป็น ไม่จำเป็น อะไรเร่งด่วน ไม่เร่งด่วน เพื่อที่จะก้าวไปให้ถึงจุดนั้น ... ดังตัวอย่างที่เธอเสนอต่อน้องสองคนนั้น




ผมวิเคราะห์ว่า เป้าหมายของคุณพริมคือ "รวยเป็นเศรษฐี" เธอประทับใจข้อความในหนังสือเล่มหนึ่งที่บอกว่า "...หากอยู่ใกล้กับเศรษฐี ๑๐ คน เราจะเป็นเศรษฐีคนที่ ๑๑ แต่ถ้าอยู่ใกล้กับยาจก ๑๐ คน ตนเองจะกลายเป็นยาจกคนที่ ๑๑..." เธอต้องได้เป็นเศรษฐีแน่ และจะได้เป็นเศรษฐีที่ดีมากๆ ด้วย (ซึ่งหาพบได้ไม่มากนักในเมืองไทย) เพราะจิตอาสา ที่จะช่วยให้น้องๆ ได้พัฒนาตนเอง ดังที่เธอได้มาถ่ายทอดสู่น้องๆ ในวันนี้ ... ก็น่าจะเป็นเหตุการณ์ที่เป็นหลักฐานของ "คนดี" ในตัวเธอแล้ว...