วันอาทิตย์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2559

เดี่ยว STARTUP "บริษัทเปิดใหม่ในยุคดิจิทัล"

วันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๕๙ สำนักศึกษาทั่วไป ร่วมกับศูนย์ความร่วมมือภาคอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จัดกิจกรรมเสริมการเรียนรู้ เรื่อง "STARTUP จุดประกายความคิดการเริ่มต้นเป็นผู้ประกอบการธุรกิจแบบใหม่ในยุคดิจิทัล" หวังจะให้นิสิตที่เรียนรายวิชาศึกษาทั่วไป ได้เข้าฟังบรรยายพิเศษจากผู้มีประสบการณ์และประสบผลสำเร็จในการทำงานจริง ๆ ซึ่งจะจัดเป็นประจำทุกปีการศึกษา  โดยการจัดงานคราวนี้ ศูนย์ความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม (UIC) ได้เชิญวิทยากร ๓ ท่าน นำโดยโค้ชเดี่ยว (อาจารย์ธรรมศักดิ์ อรชุนวงศ์) The Trainer ของบริษัท Perfect Training and Service จำกัด ซึ่งเป็นผู้จัดการด้านการตลาดของบริษัท Alliance Business Consultancy จำกัด  คุณบอย อัจริยะ ดาโรจน์ เจ้า Jump Space ขอนแก่น Co-working Space แห่งภาคอีสาน และศิลปินนักร้องเจ้าของผลงานเพลง "ใจให้ไป" คุณโอ้ เสกสรรค์ ปานประทีป


เชิญมา ๓ ท่าน แต่เวลามางานจริง ปรากฎว่าโค้ชเดี่ยวชวนเพื่อน ๆ ผู้ประสบความสำเร็จจาก STARTUP มาร่วมอีก ๒ ท่าน คุณเสกสรรค์ ชวนน้องนักดนตรีมาอีก ๑ รวมแล้วมีวิทยากรถึง ๖ ท่าน จึงเป็นงานใหญ่ที่สุดเวทีหนึ่ง เสียดายที่มีนิสิตเข้าฟังเพียง ๔๘๑ คนเท่านั้น สำหรับผู้ที่พลาดไป สามารถดูย้อนหลังได้จากคลิปด้านล่างนี้






หากท่านยังไม่ทราบว่า ทำไมคนรุ่นใหม่ จะต้องสนใจ STARTUP ให้คลิกอ่าน ไทยแลนด์ ๔.๐ ที่นี่ครับ

นอกจากได้เห็นตัวอย่าง STARTUP ของไทยแล้ว หลังจากดูคลิปนี้แล้ว ท่านผู้อ่านน่าจะตระหนักถึงความแตกต่างของคนในแต่ละยุคสมัย โลกาภิวัตน์ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยน คนเปลี่ยนเป็นอย่างชัดเจนแยกได้เป็นหลาย Generation  X, Y, Z  สังคมเปลี่ยน  ดังนั้น กระบวนการเรียนรู้ของคนจะต้องเปลี่ยนตาม  การเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ จะต้องเป็นประเด็นที่ทุกคนเห็นความสำคัญ  เพื่อให้เท่าทันและสร้างสรรค์ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ต่อไป







ผมจับประเด็น จากการฟังคลิปบันทึกการบรรยายไว้ที่นี่ ใครสนใจเชิญครับ

วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2559

CADL โครงการเด็กดีมีที่เรียน_18: เตรียมสอบโอเน็ต


เทคนิคเตรียมตัวสำหรับการเตรียมตัวสอบ O-Net ขอแนะนำให้ทำดังนี้

พ่อแม่และครู

ให้พ่อแม่และครูเตรียมอุปกรณ์ต่อไปนี้ ให้พร้อม  หากพ่อแม่ไม่มี ให้ครูเตรียมให้มีที่โรงเรียน และให้นักเรียนไปรวมตัวกันที่โรงเรียน แทนที่จะเรียนที่บ้าน
  • คอมพิวเตอร์ + อินเตอร์เน็ต 
  • ปริ๊นเตอร์ + กระดาษ
  • สมุดไม่มีเส้น + ปากกาหลายๆ สี ไว้เขียน Mind Map 
  • ปากกาไฮไลด์
รู้จักเว็บไซต์
  • google.com  หรือ  google.co.th  คงไม่มีใครไม่รู้จัก Google  เริ่มจากตรงนี้แหละครับ 
  • http://www.dek-d.com/  น่าจะเป็นเว็บไซด์บังคับที่เด็กมัธยมต้องรู้จัก ....   ลองคลิกที่นี่ซิ มีสิ่งดีๆ ให้ดาวน์โหลดเพียบ
  • http://www.trueplookpanya.com/  มีคลิปติวและองค์ความรู้มากกมาย  ไม่ต้องไปติวที่ไหนให้เสียเงิน เสียคน ...
  • https://www.eduzones.com/  มีข้อสอบ แบบทดสอบ และให้ข้อมูลข่าวสารทางการศึกษาที่ทันสมัยมาก

ผู้เรียน 

ก่อนอื่นโหลดเอกสารเตรียมตัวได้ที่นี่  
จากนั้นก็เริ่มเรียนรู้เองท่องไปบนเว็บไซต์ ตามอัธยาศัย

คณิตศาสตร์



วิทยาศาสตร์




ภาษาไทย



สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม



ภาษาอังกฤษ




ครูสมศรี


 ครูพี่แนน


อ.ต๊อบ



ตื่นมาติว


ครูลิลลี่


พี่วา ป.ตรี ประสานมิตร


ครูติ่ง (ติวมาม่า)

เป็นต้น


วันอาทิตย์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

หลักคิดในการฝึกตนเอง สำหรับนิสิตจิตอาสาขับเคลื่อนคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของหมวดวิชาศึกษาทั่วไป

ปรัชญาของหมวดวิชาศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยมหาสารคาม คือ "เข้าใจตนเองและผู้อื่น อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข" คุณลักษณะนิสิตที่พึงประสงค์ของหมวดวิชาศึกษาทั่วไปกำหนดไว้ ๙ ประการ ได้แก่ (เฉพาะคำสำคัญ)
  • เป็นคนดีที่ "พอเพียง" 
  • รู้รอบรู้กว้างขวาง
  • เห็นคุณค่าของตนเองและผู้อื่น
  • มีจิตอาสา จิตสาธารณะ 
  • เป็นผู้ใฝ่รู้ (เรียนรู้ตลอดชีวิต)
  • คิดเป็น (คิดอย่างมีวิจารณญาณและองค์รวม)
  • เป็นผู้มีความสุข (นำความรู้ไปใช้ อยู่ได้ในสังคมอย่างดี)
  • รู้ทันทันสมัย (นำเทคโนโลยีและไอซีทีไปใช้ได้)
  • สื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ (ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย)
คำถามคือ ทำอย่างไรนิสิตสามารถพัฒนาตนเองไปสู่คุณลักษณะข้างต้นนี้ได้ด้วยตนเอง?  คำตอบน่าจะมีหลากหลายตามลักษณะนิสิต ซึ่งหลักคิดในการพัฒนา ต้องยึดเอาพวกเขาเป็นศูนย์กลาง   อย่างไรก็ดี  วิธีที่เราเลือกทำคือ การฝึกอบรมนิสิตจิตอาสาแกนนำฯ  เพื่อบ่มภาวะ "จิตตื่นรู้" เพื่อเป็นก้าวแรกสู่การรู้จักและเข้าใจตนเอง เพื่อการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาด้วยตนเองต่อไป

ผมสรุปหลักคิดในการฝึกตนเอง สำหรับให้นิสิตจิตอาสาฯ นำไปพิจารณาเรียนรู้ด้วยตนเอง  กระบวนการเรียนรู้ภายใน ๔ ประเภทดังภาพด้านล่างนี้ มาจากหลักปฏิบัติตามพุทธธรรม ดังนั้นนิสิตควรจะมั่นใจและเปิดใจเรียนรู้และนำไปปรับปฏิบัติด้วยตนเอง พร้อมๆ ไปกับศึกษาพระธรรมภาคปฏิบัติไปด้วย


 คำอธิบายภาพ 
  • เบื้องต้นที่สุด เราเรียนรู้จากสิ่งแวดล้อม จากสิ่งเร้า จากสิ่งที่มาสัมผัสทาง ตา หู จมูก ลิ้น ผิวกาย และใจ   สิ่งที่กำหนดการเรียนรู้คือ "สิ่งแวดล้อม"   ลองพิจารณาต้นพญาสัตบันที่เติบโตสูงถึงระบบตึกแปดชั้นที่อาคารราชนครินทร์ ฯลฯ 
  • แบบที่ ๑ บุคคลทั่วไปที่ "ไม่ฝ่เรียนรู้"  จะมีรูปบบของการดำเนินชีวิตแบบ "สะท้อนทันที"  กล่าวคือ เมื่อมีสิ่งใดมากระทบสัมผัสทั้ง ๕ หนึ่งนึกคิดขึ้นมาได้ (จากใจ) จะตอบสนองหรือแสดงหรือสะท้อนออกไปทางกาย วาจา หรือใจ ทันที  โดยเป็นไปตาม ร่องความคิดเดิมๆ ความคุ้นชินเดิมๆ นิสัยเดิม ความรู้จำเดิมๆ ที่มีอยู่  ในขั้นนี้ นอกจากประสบการณ์ผ่านกายที่สั่งสมในรูปของทักษะแล้ว จะไม่เกิดองค์ความรู้ใดๆ
  • แบบที่ ๒ บุคคลทั่วไปที่ใฝ่รู้ใฝ่เรียน เขียน อ่าน นักวิชาการ หรือผู้มีประสบการณ์  และรวมถึงคนที่สังคมสมัยนี้ยกย่องว่าเป็น "ปัญญาชน"  จะมีมีรูปแบบของการดำเนินชีวิตแบบ " ๓ เหลี่ยม" กล่าวคือ เมื่อมีสิ่งสัมผัสแล้ว จะนำมาคิดพิจารณา ใคร่ครวญ อย่างเป็นเหตุเป็นผล เทียบเคียงกับประสบการณ์และองค์ความรู้เดิมของตนก่อนจะตัดสินใจตอบสนองและแสดงพฤติกรรมออกไป  ผลการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในขั้นนี้ นอกจากจะเกิดทักษะและความชำนาญแล้ว  ยังทำให้ได้องค์ความรู้เชิงทฤษฎี หลักการ ปรัชญา ซึ่งถือได้ว่าเป็นความรู้ภายนอก หรือความรู้ชัดแจ้ง (Explicit Knowledge) หรือเรียกว่า ปัญญาทางโลก
  • แบบที่ ๓ คือ การดำเนินชีวิตแบบครบวงจร "๔ เหลี่ยม"   แตกต่างจากแบบ "๓ เหลี่ยม" ตรงที่ จะต้องฝึกตนเองให้เป็นผู้มี "สัมมาสติ" คือ สติปัฏฐาน ระลึกรู้กายรู้ใจ ซึ่งเป็นฐานของการปฏิบัติวิปัสนา ศึกษาการเกิดดับของสรรพสิ่ง  ผลการเรียนรู้ในขั้นนี้ คือ การรู้จักตนเอง การรู้เห็นตามเป็นจริง และรวมไปถึงการยกระดับจิตใจ จิตวิญญาณให้สูงขึ้น กลายเป็นจิตใหญ่ ใจจักรวาล จนพ้นทุกข์ต่อไป หรืออาจเรียกรวมว่า  ได้ปัญญาทางธรรม 
สรุปคือ ให้ทุกคนพยายามศึกษาหาทางฝึกฝนตนเองให้เป็นคนแบบ "๔ เหลี่ยม" ครับ

ต่อไปนี้เป็นรูปที่ผมก๊อปปี้มาจากเฟสบุ๊คของแสน (ธีระวุฒิ ศรีมังคละ)  นักเดินทางต่างวัย ที่ก้าวมาเป็นผู้นำนิสิตจิตอาสาในปีนี้






 Cr. แสน ศรีมังคละ

วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

โครงการนิสิต LA _ ๐๖ : ต้องทำอย่างไรถึงจะเบิก ๒๕ บาท/ชั่วโมง ได้ทันเวลา

ค่าตอบแทนของนิสิต LA กำหนดด้วยระเบียบของมหาวิทยาลัย คือ ๒๕ บาทต่อชั่วโมง ไม่เกิน ๘ ชั่วโมงต่อวัน หากทำงานทั้งวันจะได้วันละ ๒๐๐ บาท โดยที่เวลาปฏิบัติงานต้องไม่ตรงกับตารางเรียนของตนเอง สำหรับวิชา ๒ หน่วยกิต (๒-๐-๔) นิสิต LA จะได้ค่าตอบแทนตลอดภาคเรียน ๗๕๐ บาท หากทำ ๔ รายวิชา จะได้ค่าตอบแทน ๓,๐๐๐ บาท ต่อภาคเรียน แทบจะไม่ได้ค่าเช่าที่พักด้วยซ้ำ เทียบกับอเมริกาญี่ปุ่นที่นักศึกษาสามารถทำงานหาทุนเที่ยวได้ไม่ลำบาก .... ฝากผู้บริหารที่ "เสียงดัง" ด้วยก็แล้วกันครับ อย่างไรก็ดี แม้จะเป็นเงินจำนวนไม่มาก แต่การเบิกจ่ายตามระเบียบราชการนั้น ยากสำหรับผู้มาใหม่มาก แต่ถ้าหากได้ศึกษาระเบียบราชการ ก็จะได้ประสบการณ์ด้านนี้ไปใช้ทำงานในอนาคตแน่

บันทึกนี้จะบอกวิธีเตรียมหลักฐานด้านการเงินสำหรับเบิกจ่ายค่าตอบแทนนิสิต LA  บอกแนวปฏิบัติในการในการส่งหลักฐานนั้นให้อาจาย์เซ็นรับรองและส่งให้ทางสำนักศึกษาทั่วไป  นิสิต LA ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ละเอียด รอบคอบ เพราะถ้าผิดนิดเดียว ต้องกลับมาทำใหม่ ต้องวิ่งไปขอลายเซ็นต์อาจารย์ใหม่ วุ่นวายไม่รู้จบ....

หลักฐานที่ต้องใช้ในการเบิกค่าตอบแทน 

หลักฐานคือ เอกสาร ๓ อย่าง ได้แก่  บัญชีลงเวลาปฏิบัติงานนิสิตช่วยปฏิบัติงานราชการ  ตารางสรุปผลการปฏิบัติงาน และ แบบรายงานผลการปฏิบัติงานนิสิตช่วยปฏิบัติราชการ  ดูรายละเอียดไปทีละอันครับ
  • บัญชีลงเวลาปฏิบัติงานนิสิตช่วยปฏิบัติงานราชการ 
นิสิต LA สามารถไปปริ๊นบัญชีลงเวลาได้เอง จากคอมพิวเตอร์ที่ตั้งไว้ให้บริการที่ห้อง CADL (RN-107)  ตึกราชนครินทร์ โดยเตรียมและเติมข้อมูลวันที่ เดือน ปี พ.ศ. และชื่อตัวเองรอไว้ก่อนการเข้าปฏิบัติงานในชั้นเรียน  ทุกครั้งที่เข้าปฏิบัติงานต้องไม่ลืมให้อาจารย์ผู้สอนลงชื่อ (เซ็นต์ชื่อ) รับรองในช่อง "ผู้ตรวจ"  การเติมข้อมูลให้ปฏิบัติดังนี้
    • ต้องเขียนชื่อตนเองให้ถูกต้อง อาจพิมพ์แล้วปริ๊นหรือเขียนด้วยปากกา 
    • ให้ลงเวลาให้เต็มชั่วโมง ไม่ให้เสร็จนาที เพื่อความสะดวกในการนับจำนวนชั่วโมง เช่น รายวิชา ๒(๒-๐-๔) ให้เติม ๘.๐๐ - ๑๐.๐๐  แม้เวลาในตารางทำงานจะเป็น ๘.๐๐ - ๙.๓๐ น. เพราะอาจารย์อาจมอบงานให้ไปกรอกคะแนนนอกเวลาเรียนอีก
    • ต้องเติมรายละเอียดทั้งหมดรวมทั้งลงรายมือชื่อตนเอง ในช่องลายมือชื่อ ก่อนจะนำไปให้อาจารย์ผู้สอนลงชื่อในช่อง "ผู้ตรวจ" 
    • ให้เขียนมุมขวาบนของแบบฟอร์มด้วยดินสอว่า เป็นรายวิชาใด กลุ่มการเรียนใด เพื่อให้ง่ายต่อการคัดแยกและจดจำ 
    • ในการเตรียมเอกสาบัญชีลงเวลาฯ เพื่อยื่นเรื่องขอเบิกค่าตอบแทน จะต้องเรียงลำดับตามวันเวลาที่ปฏิบัติงาน  โดยไม่แยกรายวิชาหรือกลุ่มการเรียนในกรณีที่ทำมากกว่าหนึ่งรายวิชาหรือมากกว่าหนึ่งกลุ่มการเรียน 
    • ดังนั้น ในหนึ่งหน้ากระดาษ A4 ที่มีบัญชีลงเวลาปฏิบัติงานฯ  ๓ ครั้ง จะต้องเรียงลำดับวันเวลาจากอดีตมาปัจจุบัน 
  •  ตารางสรุปผลการปฏิบัติงานนิสิตช่วยปฏิบัติงานราชการ 


นิสิต LA จะมีนัดประชุมเพื่อสรุปผลการปฏิบัติงานประจำเดือน  ทุกคนต้องนำบัญชีลงเวลาปฏิบัติงานฯ มาส่งให้กับเจ้าหน้าที่สำนักศึกษาทั่วไป และกรอกผลการปฏิบัติงานลงในตารางสรุปดังตัวอย่างตามภาพด้านบน

  • แบบรายงานผลการปฏิบัติงานนิสิตช่วยปฏิบัติราชการ
สุดท้ายคือ แบบรายงานผลการปฏิบัติงานฯ ซึ่งจะต้องมีลายเซ็นต์ของนิสิต LA ของอาจารย์ผู้สอน ผู้บริหารของสำนักฯ ที่รับผิดชอบ และลายเซ็นต์ผู้อำนวยการสำนักฯ  ดังนั้นต้องระวังไม่ให้พิมพ์ผิดในเรื่องต่อไปนี้
    • ชื่อนิสิต 
    • ชื่อรายวิชา
    • ชื่ออาจารย์ผู้สอน 
    • การเว้นวรรค
    • วันเวลา
    • ฯลฯ 
ขั้นตอนนี้จะมีเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาและช่วยตรวจทานอย่างละเอียด  นิสิต LA ต้องตั้งใจทำความเข้าใจและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด มิเช่นนั้น จะเกิดปัญหาความล่าช้าตามมา

ขั้นตอนการปฏิบัติงานและการเบิกค่าตอบแทน แสดงดังสไลด์ของคุณภาณุพงศ์ ดังนี้




นิสิต LA ต้องอ่านและทำความเข้าใจด้วยตนเองก่อนเป็นเบื้องต้น  เมื่อไม่เข้าใจจึงถามคุณภาณุพงศ์ต่อไป (ไม่ใช่ว่าถามตั้งแต่ต้นจนจบ)

สู้ครับ.... นิสิต LA เป็นหนึ่งในนิสิตแกนนำขับเคลื่อนคุณลักษณะนิสิตที่พึงประสงค์ของหมวดวิชาศึกษาทั่วไป จึงต้องปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่าง และเข้มงวดกับน้องๆ เพื่อฝึกวินัยด้านตรงต่อเวลา รับผิดชอบ และความซื่อสัตย์

วันเสาร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

โครงการนิสิต LA _ ๐๕ : วิธีการเช็คชื่อให้เสร็จภายใน ๑๕ นาที

จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนิสิต LA มาแล้ว ๒ รุ่น พบว่า ส่วนใหญ่จะไม่สามารถเช็คชื่อเข้าชั้นเรียนได้ภายในเวลา ๑๕ นาที  อุปสรรคที่ใหญ่ที่ทำให้ไม่สามารถทำได้ คือ อาจารย์หลายท่านไม่ให้ความสำคัญกับการเช็คสาย มักใช้วิธีจากการเช็คการเข้าเรียนจากใบงานหรือใบกิจกรรมที่ให้ทำในชั้นเรียน ซึ่งนิสิต LA บอกว่า ไม่สามารถแยกได้ว่าใครตรงต่อเวลาหรือมาสาย  ยิ่งไปกว่านั้น มีการทำงานแทนกัน ซึ่งเป็นการปลูกฝัง "การโกง" โดยไม่รู้ตัว หลายท่านมอบงานให้เป็นการบ้านซึ่งหลายครั้งสร้างภาระงานให้นิสิตโดยไม่จำเป็น แล้วหลายคนใจดีให้ส่งย้อนหลังด้วย ทำให้ความหวังในการปลูกฝังความตรงต่อเวลาและความรับผิดชอบ หายไป

อย่างไรก็ดี  นิสิต LA ปี ๓/๒๕๕๘ นี้ เราจะเข้มงวดกับเรื่องนี้ให้มาก โดยเฉพาะในวิชาที่เน้นทักษะที่จัดการเรียนการสอนแบบเน้นกิจกรรม ซึ่งหากนิสิตไม่มาเรียนไม่ร่วมกิจกรรมก็จะไม่ได้ผ่านกระบวนการ  เช่น วิชา ๐๐๓๒๐๐๕ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่เน้นทักษะการคิดบนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง วิชา ๐๐๓๒๐๐๔ ความเป็นมนุษย์และการเรียนรู้ ซึ่งเน้นกระบวนการเรียนรู้ด้วยประสบการณ์ตรงจากภายโนโดยใช้กิจกรรมจิตตปัญญาศึกษา และวิชาภาษาอังกฤษที่เน้นให้ฝึกพูดสื่อสาร เป็นต้น  โดยกำหนดเกณฑ์ในการให้คะแนนเข้าเรียน ดังนี้
  • ให้มีคะแนนเข้าเรียน ๑๐%  ในทุกรายวิชาที่จะมีนิสิต LA ปฏิบัติงาน
  • มาเรียนเกิน ๑๕ นาที ถือว่ามาสาย ตัดคะแนนเข้าเรียน
  • มาเรียนสาย ๒ ครั้ง เท่ากับขาด ๑ ครั้ง 
  • การลาต้องมีใบลาและหลักฐานประกอบ
  • กรณีของใบงานหรือใบกิจกรรมที่ให้ส่งท้ายคาบเรียน  ไม่อนุญาตให้ส่งย้อนหลัง  หากขาดเรียน คะแนนส่วนนั้นหายไป 
  • กรณีมอบหมายให้เป็นงานกลุ่มหรือการบ้านที่ต้องใช้การสืบค้น การส่งงานช้าต้องถูกหักคะแนน
  • เป็นต้น .... อาจารย์ผู้สอนสามารถกำหนดเพิ่มเติมได้เพื่อปลูกฝังคุณลักษณะที่พึงประสงค์ 
เพื่อให้เกณฑ์เหล่านี้สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง จึงขอเสนอแนวทางในการปฏิบัติดังนี้

การเช็คชื่อให้เสร็จภายใน ๑๕ นาที

ห้องเรียนรวมแบ่งเป็น ๒ แบบตามชนิดเก้าอี้เล็คเชอร์ คือ ยึดติดกับพื้นและแบบไม่ยึดติดกับพื้น  วิธีการเช็คชื่อให้รวดเร็วที่สุด ๒ วิธีสำหรับห้องเรียนเก้าอี้แต่ละแบบ ทำได้ดังนี้

สำหรับห้องเรียนที่เก้าอี้ยึดติดกับพื้น (เช่นห้องเรียนที่ตึก RN และ SC) ให้กำหนดเลขที่นั่งประจำเหมือนการกำหนดเลขที่นั่งสอบ เช่น  A1, A2.....  B1, B2,....


โดยเรียงจากหน้าห้องไปยังหลังห้อง  แต่ละห้องเรียนจะมีผังการวางเก้าอี้ไม่เหมือนกัน ดังนั้น นิสิต LA ต้องทำผังที่นั่งคล้ายดังภาพด้านบนนี้เอง  จากนั้นให้ประกาศเลขที่นั่งประจำให้นิสิตทุกคนทราบ เรียงลำดับตามใบรายชื่อ ดังภาพด้านล่าง


เมื่อกำหนดดังนี้แล้ว  ให้ทำข้อตกลงกับนิสิต ดังต่อไปนี้
  • เมื่อเข้าเรียน ให้นั่งตามหมายเลขที่นั่งของตนเองทุกครั้ง จนกว่าการเช็คชื่อเข้าเรียนเสร็จ 
  • หากเข้าชั้นเรียนสายเกิน ๑๕ นาที  จะถือว่าสาย  คะแนนเข้าเรียนจะถูกหักครึ่งหนึ่ง (กรอกลงใน excel 0.5) 
  • การมาสาย ๒ ครั้ง มีจะมีค่าเท่ากับขาดเรียน ๑ ครั้ง (เว้นแต่อาจารย์ผู้สอนจะกำหนดเป็นอย่างอื่น)
  • การลาต้องมีใบลาประกอบหลักฐานที่สมควร 
วิธีการเดินเช็คชื่อ ให้เริ่มตรวจเช็คตั้งแต่นาทีที่ ๕ โดยเดินเช็คกลับไปกลับมาเป็นรอบๆ ตามสมควร และเริ่มตรวจเช็ครอบสุดท้ายเมื่อครบ ๑๕ นาที  เมื่อเช็คเสร็จให้นิสิต LA ไปนั่งดักรอนิสิตผู้สายตรงประตูทางเข้า  หากมีประตูสองข้างให้ปิดไว้ข้างหนึ่ง

สำหรับห้องเรียนที่เก้าอี้ไม่ยึดติดกับพื้น เช่น ห้องเรียนของตึกสาธารณสุข (ที่ขึ้นต้นด้วย PH) และตึกวิศวะ (EN) สามารถทำได้หลากหลายวิธี เช่น

๑) ถ้ารายวิชานั้นมีใบกิจกรรมหรือใบงานประจำสัปดาห์ที่แยกต่างหากจากหนังสือเรียน (อย่าแจกใบงานล่วงหน้า) ให้นิสิต LA นำใบงานไปแจกหน้าประตูเข้าห้องเรียน เมื่อครบ ๑๕ นาที ก็ให้เซ็นชื่อเขียนว่า "สาย" ลงในใบงานนั้นๆ  หรืออาจทำสัญลักษณ์ใดให้ตนเองรู้ว่านิสิตคนนั้นๆ สาย ...จะให้ดีคือเขียนบันทึกด้วยเลยครับว่าสายกี่นาที  ข้อมูลเหล่านั้นจะเป็นประโยชน์ในการมองภาพรวมของความตรงต่อเวลาต่อไป ส่วนคนที่มาทันเวลาให้เช็คจากใบงานหรือใบกิจกรรม

๒) ถ้ารายวิชานั้นมีใบกิจกรรมหรือใบงานที่รวมไว้ในเอกสารประกอบการเรียน ช่วงนาทีแรกถึงนาทีที่ ๑๕ ให้นิสิต LA ประกาศหน้าห้องเพื่อตรวจเช็คเฉพาะนิสิตที่ไม่ได้เอาเอกสารประกอบการเรียนมา  แล้วทำสัญลักษณะในใบรายชื่อให้อาจารย์เข้าใจว่ามาเรียนแต่ไม่มีใบกิจกรรม เมื่อครบ ๑๕ นาที ให้นิสิต LA ไปดักตรงประตูเข้าห้อง (หากมีสองประตูให้ปิดไว้ประตูหนึ่ง) เพื่อทำสัญลักษณ์ "สาย" (พร้อมลายเซ็นต์) ไว้บนใบงานหรือใบกิจกรรมนั้นๆ   ...ผู้ที่ลืมเอาเอกสารประกอบการเรียนมาควรมีมาตรการหักคะแนนเช่นกัน...

๓) ถ้ารายวิชานั้นไม่มีใบงานหรือใบกิจกรรม หรือมีแต่ไม่ประจำ ขอแนะนำให้ทำใบเซ็นชื่อเข้าเรียน แล้วส่งให้เวียนเซ็นต์ไปเรื่อยๆ  แล้วนับจำนวนนิสิตเทียบกับจำนวนลายเซ็นที่นิสิตลงชื่อให้ตรงกัน  หากไม่ตรง ต้องหาวิธีตรวจให้พบนิสิตที่โกงและต้องมีมาตรการลงโทษและหักคะแนน  ส่วนการเช็คสายทำได้โดยให้นิสิต LA ไปดักรอที่ประตูตั้งแต่นาทีที่ ๑๕ ถึงนาทีที่ ๓๐ หากมาสายเกินกว่านั้นก็ให้ถือว่าขาดเรียน (แล้วแต่ดุลยพินิจของอาจารย์ผู้สอน)

เทคนิคสำคัญคือ ให้ใช้ "เลขที่" แทนรหัสประจำตัว เหมือนกับตอนที่เราเรียนชั้นประถม ที่แต่ละคนจะมีเลขที่ประจำตัว  ประสบการณ์ที่ผ่านมาบอกว่า สะดวกที่สุด


วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

โครงการนิสิต LA _ ๐๔ : วิธีการเตรียมไฟล์ Excel สำหรับกรอกคะแนนการเข้าเรียน

หลังจากทราบตารางปฏิบัติงานเรียบร้อยแล้ว นิสิต LA ทุกคน ต้องไปพบอาจารย์ผู้สอน โดยเร็วที่สุด  แนะนำตนเอง อธิบายหน้าที่ของนิสิต LA และตกลงกับอาจารย์ผู้สอนเกี่ยวกับรายละเอียดในการทำงานต่างๆ  โดยเฉพาะเรื่องการเช็คชื่อเข้าชั้นเรียนหรือร่วมกิจกรรมของนิสิต  ให้ชี้แจงกับอาจารย์ดังนี้

๑) ขอไฟล์รายชื่อนิสิตที่ลงทะเบียนเรียนในรายวิชานั้นๆ  ซึ่งอาจารย์ผู้สอนเท่านั้นที่จะสามารถเข้าไปในระบบระเบียน (reg.msu.ac.th) และดาวน์โหลดไฟล์มาได้  ไฟล์รายชื่อจะเป็นไฟล์ชนิด .rtf  ที่เปิดได้ด้วยโปรแกรม microsoft word

๒) เมื่อได้ไฟล์รายชื่อแล้ว ให้นิสิต LA นำข้อมูลรายชื่อใส่ลงในโปรแกรม microsoft excel  (ดูคลิปด้านล่าง)  การบันทึกคะแนนด้วยไฟล์ excel จะทำให้อาจารย์ผู้สอนสามารถ import คะแนน ลงในระบบระเบียนได้สะดวกและผิดพลาดน้อย



๓) ให้ทำการเช็คชื่อเข้าเรียนอย่างเข้มงวด  โดยใช่เลข 1 กรณีมาเรียนหรือมาร่วมกิจกรรม  เลข 0 กรณีขาดเรียนหรือไม่เข้าร่วมกิจกรรม เลข 0.5 กรณีสายเกินกว่า ๑๕ นาที และใส่ตัวอักษร "ล" สำหรับการลาโดยมีใบลาและหลักฐาน

ปัญหาที่พบในการเรียนการสอนที่ผ่านมา คือ การมาสายถึงกว่า ๒๐ เปอร์เซนต์ และขาดเรียนจำนวนมากในกรณีที่ไม่มีการเช็คชื่อเข้าเรียน  หากทุกรายวิชาเข้มงวดและกวดขันเรื่องนี้ จะเป็นการฝึกวินัยเรื่องการตรงต่อเวลาและความรับผิดชอบ  และทำให้นิสิตได้เข้าร่วมกิจกรรมในชั้นเรียนอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนากิจกรรมการเรียนการสอนต่อไป ...

๔) ประกาศคะแนนให้นิสิตทราบอย่างน้อยเดือนละ ๒ ครั้ง เพื่อให้นิสิตแต่ละคนได้ตรวจสอบคะแนนเข้าเรียนและงานของตนเอง หากมีปัญหาเช่น งานหายไป ก็สามารถมาร้องเรียนได้  การประกาศให้นิสิตรู้สามารถทำได้หลายวิชา  วิธีที่แนะนำคือ การสร้างกลุ่ม Facebook เพื่อสื่อสารกับนิสิต แล้วส่งไฟล์รูปหรือไฟล์ pdf ของคะแนนที่จะประกาศให้ทราบ  อีกวิธีหนึ่งคือ การประกาศหน้าชั้นเรียน ก่อนอาจารย์ผู้สอนจะเริ่มสอน  .... การประกาศคะแนนให้ทราบอย่างสม่ำเสมอ จะลดปัญหาความไม่เข้าใจกัน และทำให้นิสิตสามารถพัฒนาตนเองเกี่ยวกับการวางแผนการทำงานได้ง่ายขึ้น


บันทึกต่อไป มาดูตัวอย่างแนวปฏิบัติในการตรวจเช็คชื่อครับ


โครงการนิสิต LA _ ๐๔ : หน้าที่พื้นฐาน ๕ ประการของนิสิต LA

บันทึกเกี่ยวกับ "นิสิต LA" ครั้งล่าสุด ผมเล่าเรื่อง กระบวนการรับสมัครและพัฒนานิสิตผู้ช่วยอาจารย์ อ่านได้(ที่นี่)  ครั้งนี้มีรายละเอียดในส่วนการฝึกอบรมนิสิตช่วยงานที่คุณภาณุพงศ์ (น้องอุ้ม) ผู้รับผิดชอบ ส่งมาให้ ผมคิดว่าการอบรมฯ ครั้งนี้พัฒนาขึ้นจาก ๒ ครั้งที่ผ่านพอสมควร น่าจะสามารถนำมาแลกเปลี่ยนแบ่งปัน น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับท่านที่สนใจหรืออาจารย์ผู้สอนรายวิชาศึกษาทั่วไป ที่ยังไม่ค่อยเข้าใจเรื่อง "นิสิต LA" ได้ไม่มากก็คงไม่น้อย

ภาพรวมการะบวนการ

หลังจากกระบวนการรับสมัคร -> ภาคเช้าสอบสัมภาษณ์-> ภาคบ่ายอบรมเชิงปฏิบัติการ  โดยเริ่มจากการเกริ่นที่เหตุผล ๕ ประการที่ต้องมี LA (อ่านได้ที่นี่) -> อธิบายหน้าที่พื้นฐาน ๕ ประการของนิสิต LA -> แนวปฏิบัติในการทำหน้าที่นิสิต LA ได้แก่ วิธีการเตรียมไฟล์ Excel ->วิธีการกรอกคะแนน ->วิธีการเช็คชื่อภายใน ๑๕ นาที ->วิธีการประกาศคะแนน -> วิธีการเปิดปิดอุปกรณ์เครื่องฉายและไมค์-> คุณลักษณะเน้นสำหรับการเป็นนิสิต LA ดังมีสาระในแต่ละขั้นตอน ดังนี้

หน้าที่พื้นฐาน ๕ ประการของนิสิต LA



๑) ช่วย "เช็คชื่อ" คือ ตรวจสอบการเข้าเรียนหรือการเข้าร่วมกิจกรรมของนิสิต เพื่อปลูกวินัยและความรับผิดชอบของนิสิต และส่งเสริมทักษะชีวิตด้านคุณธรรม จริยธรรม ความซื่อสัตย์ ระเบียบเครื่องแต่งกาย ฯลฯ โดยในเบื้องต้นนี้ ให้เป็นดุลพินิจของอาจารย์ผู้สอนว่าจะกำหนดเกณฑ์ในการประเมินอย่างไรในแต่ละด้าน



๒) ช่วยกรอกคะแนน คือ การนำเอาใบงาน การบ้าน หรือชิ้นงาน หรือผลงาน จากกิจกรรมการเรียนการสอน ซึ่งอาจารย์ตรวจให้คะแนนแล้ว มากรอกคะแนนลงในใบรายชื่อ และบันทึกลงในไฟล์ Excel เพื่อให้สะดวกต่ออาจารย์ ในการ Import ลงในระบบทะเบียนของนิสิตต่อไป



๓) ประกาศคะแนน หรือประสานให้นิสิตเข้าตรวจสอบคะแนนเก็บ เป็นระยะ หรืออย่างน้อย 1 ครั้งก่อนจะสอบปลายภาค เพื่อตรวจสอบความถูกต้องในการส่งงานและผู้ตรวจงาน ให้แน่ใจว่า ไม่มีงานที่ส่งแต่อาจารย์ไม่ได้ลงบันทึกคะแนน โดยกำหนดช่วงเวลาที่นิสิตสามารถมาแจ้งกับนิสิต LA ซึ่งทำหน้าที่รวบรวมแจ้งให้อาจารย์ทราบ และ/หรือ ประสานไปยังนิสิตทุกคนให้เข้าดูคะแนนของตนในระบบเมื่ออาจารย์นำคะแนนลงในระบบแล้ว หากเลยช่วงเวลาดังกล่าว ให้ถือว่านิสิตยอมรับว่าคะแนนนั้นถูกต้อง ไม่มีสิทธิ์ร้องเรียนในภายหลัง การใช้สื่อสังคมออนไลน์เช่น Facebook ทำให้การติดต่อประสานระหว่างนิสิต LA กับนิสิตผู้เรียนทุกคนสามารถทำได้



๔) ช่วยเปิดสื่ออุปกรณ์ เตรียมความพร้อมของห้องเรียน ก่อนอาจารย์จะเข้าสอน



๕) ช่วยปิดสื่อโสตทัศน์และอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ เมื่อแน่ใจว่า ไม่มีผู้ใช้ห้องเรียนต่อหน้าที่ 5



ประการนี้ ถูกกำหนดขึ้นด้วยความตั้งใจ จะช่วยแบ่งเบาภาระงานของอาจารย์ผู้สอนกลุ่มใหญ่ เพื่อทำให้อาจารย์ได้มีเวลาในการเตรียมการสอน และออกแบบปรับปรุงการเรียนการสอนให้ดีขึ้น และหวังจะเป็นกลไกหนึ่งในการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริการของสำนักศึกษาทั่วไป เอื้อให้อาจารย์ได้สอนในห้องเรียนที่พร้อมที่สุด และใช้ทรัพยากรของมหาวิทยาลัยอย่างคุ้มค่าที่สุด
บันทึกหน้า มาว่าเรื่องแนวปฏิบัติต่อของนิสิต LA กันต่อครับ