วันจันทร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2562

ชมรมตามรอยเท้าพ่อ_ (๖) ศาตร์พระราชาแก้ไขและพัฒนาดินเค็ม

สัปดาห์ที่ผ่านมา นิสิตในชมรมเดินตามรอยเท้าพ่อ มาเล่าให้ฟังว่า พวกเขากำลังพัฒนาโครงการที่จะน้อมนำเอาศาสตร์พระราชาเพื่อนำไปแก้ปัญหาของชุมชน หลังจากที่แต่ละคนได้ไปเข้าร่วมอบรมของสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ... ผมสังเกตว่าพวกเขามี "ไฟ" ในใจเต็มพิกัด สิ่งนี้สำคัญ ใจใฝ่ลุยนี้เองที่เป็นใจใฝ่เรียน

ในฐานะที่ปรึกษา ได้แนะนำว่าให้ไปลงลุยดูพื้นที่ก่อน โดยยึดเอาขั้นตอนการทรงงาน ๕ ประการ ได้แก่ 
  • ศึกษาข้อมูลอย่างเป็นระบบ
  • ลงพื้นที่ ศึกษาข้อมูลในพื้นที่
  • ศึกษาข้อมูลอีก แล้วจัดทำโครงการ (เขียนแผนในกระดาษ)
  • ดำเนินโครงการตามแผน
  • ติดตามประเมินผล
เข้าใจว่า นิสิตได้ศึกษาข้อมูลเบื้องต้นมาพอสมควร  จึงแนะนำให้ประชุมกันและนำเสนอข้อมูลกันอย่างเป็นระบบขึ้น และลงชุมชนใกล้ ๆ มหาวิทยาลัย ที่ผมรู้จักดีที่สุด บ้านดอนเวียงจันทน์ ... โดยนัดเวลาเป็นช่วงเย็นวันถัดมา (๗ มิ.ย.๖๒)


  • สัมภาษณ์ คุณแม่ของผู้ใหญ่บ้าน ท่านบอกว่า ท่านไปอบรมมายาวนานถึง ๑๕ วัน จากโครงการของรัฐ ที่กำลังขับเคลื่อนเรื่องการเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ 

  • ได้พบและสัมภาษณ์ ผู้ใหญ่เสี่ย ผู้ใหญ่บ้านบ้านดอนเวียงจันทน์  ท่านบอกว่า ปัญหาหนักหนาคือ เรื่อง ดินเค็ม น้ำเสีย และภัยแล้ง ...
  • นิสิตตัดสินใจว่าสนใจจะลองแก้ปัญหาดินเค็ม
  • ผู้ใหญ่เสี่ยจึงพาไปหาคุณยายเจ้าของนาที่มีปัญหา คุณยายบอกว่า ได้ปล่อยให้หลายชายเช่าทำงานมาหลายปีแล้ว 


  • พื้นที่นาตรงนี้มีปัญหาดินเค็มอย่างรุนแรง ปีที่แล้วชาวบ้านที่มาเช่า พยายามดำไป ๒ รอบ แต่ไม่ได้ผลผลิตเลย 
  • คุณยายเล่าว่า แต่ก่อนไม่เค็มขนาดนี้ แต่พอมีความเจริญเข้ามา มีการถมที่นาสวนในหมู่บ้าน และปรับแต่งพื้นที่รอบห้วยสายคอใหม่ ทำให้น้ำที่ไหลชะล้างดินในหมู่บ้านซึ่งเคยไหลผ่านไปลงห้วย ไหลไปขับในพื้นที่นาแปลงนี้  พอหลายปีเข้าจึงเค็มจัดอย่างที่เห็น 
  • ปัญหาคือมีน้ำขัง ยากจะปฏิบัติการศึกษาทดลองแบบหลากหลายเงื่อนไข ... นิสิตจึงไปสำรวจที่ใหม่ด้วย 

  • เมื่อวาน (๒๔ มิ.ย. ๖๒) ทีมชมรมบอกว่า ได้สถานที่ใหม่ ที่เหมาะสมกว่าในการปฏิบัติงานศึกษาทดลองพัฒนา อยู่ถัดจากวัดบ้านดอนสวน (หมู่บ้านถัดจากบ้านดอนเวียงจันทน์ไปทางทิศเหนือ) 
  • นิสิตได้ลงปักหลัก มาร์คหมายพื้นที่ไว้ดังในภาพ ลักษณะเป็นดินทรายเค็มจัด แม้แต่หญ้าก็ไม่สามารถขึ้นได้... เป็นปัญหาใหญ่ งานหิน มาก ๆ 


  • ครึ่งหนึ่งของแปลงนี้ มีต้นธูปฤาษีขึ้นได้บ้าง ท้าย ๆ ของแปลงนี้ชาวบ้านปลูกต้นกก ต้นไหล ไว้ทอเสื่อ ... ก็น่าจะเป็นอีกทางหนึ่ง 



  • แปลงดินข้าง ๆ ที่ติดกับแปลงเป้าหมาย  มีลางน้ำสาธารณะไหลผ่าน ดูสีน้ำแล้ว เป็นน้ำเสียที่ไหลจากชุมชนรอบมหาวิทยาลัย ... หากจะนำไปใช้คงต้องพิจารณากันอีกที
นิสิตแจ้งอีกว่า  ตอนนี้มีสมาชิกชมรมฯ กำลังศึกษาศาสตร์พระราชาเรื่องการแก้ปัญหาดินเค็ม ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน จ.สกลนคร  ...  ผมรู้สึกตื่นเต้นที่จะได้เรียนรุ้กับเด็ก ๆ ผ่าน 3PBL นี้อีกครั้ง 

สุดท้าย ได้แนะนำให้นิสิต ลองศึกษาวิธีการนำศาสตร์พระราชาไปรักษาดินเค็ม ๓ ศาสตร์ ได้แก่  การห่มดิน การคัดเลือกพันธุ์พืช และการล้างดิน ที่ ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร (อ.ยักษ์) ท่านอธิบายและสาธิตไว้ในคลิปด้านล่าง 



รอเชียร์ และติดตามตอนต่อไปครับ 

วันจันทร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2562

ติดตามชมรมต้นกล้าพันธุ์ดี _ ๐๒ : ค่ายพัฒนาจิต รู้จักเป้าหมายชีวิตตนเอง ของนักเรียน English Access Program รุ่น ๓


วันที่ ๙ - ๑๐ มีนาคม ๒๕๖๒ ทีมวิทยากรกระบวนการของชมรมต้นกล้าพันธุ์ดี  "รันร่วม" ค่ายพัฒนาจิต รู้จักเป้าหมายชีวิต ของนักเรียน English Access Program รุ่นที่ ๓  (ผมบันทึกกิจกรรมของรุ่น ๑ ไว้ที่นี่, รุ่น ๒ ไม่ได้ไป "รันร่วม")  โดยกำหนด "หัวปลา" BAR ไว้ ๒ ประการ ว่า  ๑) ให้รู้จักกัน และ ๒) ให้รู้จักตนเอง ก่อนจะปิดกิจกรรมค่าย ผม AAR โดยให้ นั่งหลับตา ทำสมาธิ แล้วระลึกถึงชื่อเพื่อนที่จำได้ให้ได้มากที่สุดใน ๒ นาที  ปรากฎว่า ต่ำสุด จำได้ ๕ คน สูงสุดจำได้มากถึง ๒๔ คน ความถี่มากสุดอยู่ที่ประมาณ ๑๕ คน ... สะท้อนว่า ประสบผลสำเร็จยิ่งสำหรับวัตถุประสงค์ข้อแรก ส่วนเป้าข้อที่ ๒ สังเกตจากกิจกรรมต่าง ๆ  เช่น สัตว์สี่ทิศ อิคิไก ฯลฯ ลองถามและอ่านงานดู ประมาณว่านักเรียนนั้นได้เรียนรู้ตนเองมาก ๆ  แต่จะเกิดผลรู้ภายในจริง ๆ หรือไม่ อย่างไร ก็ไม่อาจจะทราบได้ ... ขอบันทึกสังเคราะห์ให้เห็นประเด็น ๆ ไป ว่าอะไรน่าจะเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จของทีม  เพียงเพื่อเก็บไว้ในความทรงจำร่วมกันเท่านั้น ดังต่อไปนี้ 






๑) วิทยากรกระบวนการ

ปัจจัยสำคัญอันดับหนึ่งก็คือ ทีมกระบวนกรนั่นเอง โดยส่วนตัวผมเข้าใจว่า ทีมชมรมต้นกล้าพันธุ์ดี เป็นทีมเดียวที่จัดกิจกรรมในลักษณะนี้ ลักษณะที่เน้นกระบวนการเรียนรู้นำ ทุกกิจกรรมตั้งอยู่บนฐานของความการเรียนรู้ โดยเฉพาะการเรียนรู้จากภายใน ผ่านกระบวนการ สนุก สุข สร้างสรรค์  (อ่านโมเดล ๓ กำลัง ส. ได้ที่นี่) นี่คือพวกเขาครับ กระบวนกรจากชมรมต้นกล้าพันธุ์ดี

ไมค์เบอร์ ๑ ออกแบบกิจกรรม นำกระบวนกร แสน ศึกษาศาสตร์ สังคม ปี ๔ 
ไมค์เบอร์ ๒ น้องปอ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง ปี ๑ 
staff training  พี่แอ๊ การท่องเที่ยว ปี ๓
staff traing บีปี ๒ มนุษย์ฯ 
ไมค์หมาบเลข ๕ เนส ศึกษาศาสตร์ สังคม ปี ๓
มือกลอง กาย ศึกษาศาสตร์ สังคม ปี ๑ 
เมย์ ศึกษาศาสตร์ ปฐมวัย ปี ๔  แม่ครัว - แม่งาน 
แฟน ศึกษาศาสตร์ สังคม ปี ๑  ไมค์-กลอง

๒) กระบวนสันทนาการ "การสนุก
"

ต้องยอมรับว่า "สนุก" คือประตูเปิดสู่สิ่งใด ๆ ทั้งหมด  เป็นด่านแรกที่ต้องผ่านให้ได้ ละลายพฤติกรรมไม่ ไม่สนุกจากภายใน งานนั้นจะไม่ได้ผล โดยเฉพาะการจัดกิจกรรมกับเด็ก ๆ  เยาวชน  เพลง กิจกรรม และวิธีการนำต่าง ๆ ได้เผยแพร่ไปแล้ว และยังคงคิดใหม่ และเผยแพร่ไปเป็นวิทยาทานอย่างต่อเนื่อง



๓) กิจกรรมเรียนรู้แบบ Active Learning  (เรียนรู้อย่างมีความสุข)

กิจกรรมการเรียนรู้ทั้งหมด เป็นแบบตื่นตัว  (Active Learning) บนฐานของกิจกรรม หรือมักเรียกว่า Activity-based Learning (ABL)  เช่น ถุงใบใหญ่ คาร์ดเกมส์ สัตว์สี่ทิศ อิคิไก มหาสมุทรเลือด ฯลฯ ... หากใครสนใจจริง ๆ  ผมแนะนำให้มาร่วมกิจกรรมกับพวกเขาครับ  ... ผมเองน่าจะแก่เกินไปที่จะมาเขียนให้ท่านฟังในรายละเอียด









๔) มีเป้าหมาย 

สิ่งที่ทำให้กิจกรรมเป็นไปอย่างไหลรื่น และสนุกอย่างหนึ่งคือ การเติมเงื่อนไขให้กระตุ้นความพยายามของตนและคนในทีม ส่งเสริมการทำงานเป็นทีม โดยทีมกระบวนการใช้ จำนวนเงิน "แบงค์กาโม่"  และมีการสรุปสุดท้ายให้ได้ชื่นชมความสำเร็จร่วมกัน


ขอจบด้วยภาพประทับใจ เก็บไว้ดูเมื่อระลึกถึง




ขอบใจนิสิตชมรมต้นกล้าพันธุ์ดีทุกคนที่มา "รันร่วม" ขอเป็นกำลังใจให้ส่งต่อทีม "วิทยากรกระบวนการ" แบบนี้ต่อไปสุ่รุ่นน้อง ๆ  ต่อ ๆ ไป  สร้างประโยชน์น้อยใหญ่ให้กับส่วนรวมครับ