วันจันทร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2562

ชมรมตามรอยเท้าพ่อ_ (๖) ศาตร์พระราชาแก้ไขและพัฒนาดินเค็ม

สัปดาห์ที่ผ่านมา นิสิตในชมรมเดินตามรอยเท้าพ่อ มาเล่าให้ฟังว่า พวกเขากำลังพัฒนาโครงการที่จะน้อมนำเอาศาสตร์พระราชาเพื่อนำไปแก้ปัญหาของชุมชน หลังจากที่แต่ละคนได้ไปเข้าร่วมอบรมของสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ... ผมสังเกตว่าพวกเขามี "ไฟ" ในใจเต็มพิกัด สิ่งนี้สำคัญ ใจใฝ่ลุยนี้เองที่เป็นใจใฝ่เรียน

ในฐานะที่ปรึกษา ได้แนะนำว่าให้ไปลงลุยดูพื้นที่ก่อน โดยยึดเอาขั้นตอนการทรงงาน ๕ ประการ ได้แก่ 
  • ศึกษาข้อมูลอย่างเป็นระบบ
  • ลงพื้นที่ ศึกษาข้อมูลในพื้นที่
  • ศึกษาข้อมูลอีก แล้วจัดทำโครงการ (เขียนแผนในกระดาษ)
  • ดำเนินโครงการตามแผน
  • ติดตามประเมินผล
เข้าใจว่า นิสิตได้ศึกษาข้อมูลเบื้องต้นมาพอสมควร  จึงแนะนำให้ประชุมกันและนำเสนอข้อมูลกันอย่างเป็นระบบขึ้น และลงชุมชนใกล้ ๆ มหาวิทยาลัย ที่ผมรู้จักดีที่สุด บ้านดอนเวียงจันทน์ ... โดยนัดเวลาเป็นช่วงเย็นวันถัดมา (๗ มิ.ย.๖๒)


  • สัมภาษณ์ คุณแม่ของผู้ใหญ่บ้าน ท่านบอกว่า ท่านไปอบรมมายาวนานถึง ๑๕ วัน จากโครงการของรัฐ ที่กำลังขับเคลื่อนเรื่องการเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ 

  • ได้พบและสัมภาษณ์ ผู้ใหญ่เสี่ย ผู้ใหญ่บ้านบ้านดอนเวียงจันทน์  ท่านบอกว่า ปัญหาหนักหนาคือ เรื่อง ดินเค็ม น้ำเสีย และภัยแล้ง ...
  • นิสิตตัดสินใจว่าสนใจจะลองแก้ปัญหาดินเค็ม
  • ผู้ใหญ่เสี่ยจึงพาไปหาคุณยายเจ้าของนาที่มีปัญหา คุณยายบอกว่า ได้ปล่อยให้หลายชายเช่าทำงานมาหลายปีแล้ว 


  • พื้นที่นาตรงนี้มีปัญหาดินเค็มอย่างรุนแรง ปีที่แล้วชาวบ้านที่มาเช่า พยายามดำไป ๒ รอบ แต่ไม่ได้ผลผลิตเลย 
  • คุณยายเล่าว่า แต่ก่อนไม่เค็มขนาดนี้ แต่พอมีความเจริญเข้ามา มีการถมที่นาสวนในหมู่บ้าน และปรับแต่งพื้นที่รอบห้วยสายคอใหม่ ทำให้น้ำที่ไหลชะล้างดินในหมู่บ้านซึ่งเคยไหลผ่านไปลงห้วย ไหลไปขับในพื้นที่นาแปลงนี้  พอหลายปีเข้าจึงเค็มจัดอย่างที่เห็น 
  • ปัญหาคือมีน้ำขัง ยากจะปฏิบัติการศึกษาทดลองแบบหลากหลายเงื่อนไข ... นิสิตจึงไปสำรวจที่ใหม่ด้วย 

  • เมื่อวาน (๒๔ มิ.ย. ๖๒) ทีมชมรมบอกว่า ได้สถานที่ใหม่ ที่เหมาะสมกว่าในการปฏิบัติงานศึกษาทดลองพัฒนา อยู่ถัดจากวัดบ้านดอนสวน (หมู่บ้านถัดจากบ้านดอนเวียงจันทน์ไปทางทิศเหนือ) 
  • นิสิตได้ลงปักหลัก มาร์คหมายพื้นที่ไว้ดังในภาพ ลักษณะเป็นดินทรายเค็มจัด แม้แต่หญ้าก็ไม่สามารถขึ้นได้... เป็นปัญหาใหญ่ งานหิน มาก ๆ 


  • ครึ่งหนึ่งของแปลงนี้ มีต้นธูปฤาษีขึ้นได้บ้าง ท้าย ๆ ของแปลงนี้ชาวบ้านปลูกต้นกก ต้นไหล ไว้ทอเสื่อ ... ก็น่าจะเป็นอีกทางหนึ่ง 



  • แปลงดินข้าง ๆ ที่ติดกับแปลงเป้าหมาย  มีลางน้ำสาธารณะไหลผ่าน ดูสีน้ำแล้ว เป็นน้ำเสียที่ไหลจากชุมชนรอบมหาวิทยาลัย ... หากจะนำไปใช้คงต้องพิจารณากันอีกที
นิสิตแจ้งอีกว่า  ตอนนี้มีสมาชิกชมรมฯ กำลังศึกษาศาสตร์พระราชาเรื่องการแก้ปัญหาดินเค็ม ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน จ.สกลนคร  ...  ผมรู้สึกตื่นเต้นที่จะได้เรียนรุ้กับเด็ก ๆ ผ่าน 3PBL นี้อีกครั้ง 

สุดท้าย ได้แนะนำให้นิสิต ลองศึกษาวิธีการนำศาสตร์พระราชาไปรักษาดินเค็ม ๓ ศาสตร์ ได้แก่  การห่มดิน การคัดเลือกพันธุ์พืช และการล้างดิน ที่ ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร (อ.ยักษ์) ท่านอธิบายและสาธิตไว้ในคลิปด้านล่าง 



รอเชียร์ และติดตามตอนต่อไปครับ 

วันจันทร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2562

ติดตามชมรมต้นกล้าพันธุ์ดี _ ๐๒ : ค่ายพัฒนาจิต รู้จักเป้าหมายชีวิตตนเอง ของนักเรียน English Access Program รุ่น ๓


วันที่ ๙ - ๑๐ มีนาคม ๒๕๖๒ ทีมวิทยากรกระบวนการของชมรมต้นกล้าพันธุ์ดี  "รันร่วม" ค่ายพัฒนาจิต รู้จักเป้าหมายชีวิต ของนักเรียน English Access Program รุ่นที่ ๓  (ผมบันทึกกิจกรรมของรุ่น ๑ ไว้ที่นี่, รุ่น ๒ ไม่ได้ไป "รันร่วม")  โดยกำหนด "หัวปลา" BAR ไว้ ๒ ประการ ว่า  ๑) ให้รู้จักกัน และ ๒) ให้รู้จักตนเอง ก่อนจะปิดกิจกรรมค่าย ผม AAR โดยให้ นั่งหลับตา ทำสมาธิ แล้วระลึกถึงชื่อเพื่อนที่จำได้ให้ได้มากที่สุดใน ๒ นาที  ปรากฎว่า ต่ำสุด จำได้ ๕ คน สูงสุดจำได้มากถึง ๒๔ คน ความถี่มากสุดอยู่ที่ประมาณ ๑๕ คน ... สะท้อนว่า ประสบผลสำเร็จยิ่งสำหรับวัตถุประสงค์ข้อแรก ส่วนเป้าข้อที่ ๒ สังเกตจากกิจกรรมต่าง ๆ  เช่น สัตว์สี่ทิศ อิคิไก ฯลฯ ลองถามและอ่านงานดู ประมาณว่านักเรียนนั้นได้เรียนรู้ตนเองมาก ๆ  แต่จะเกิดผลรู้ภายในจริง ๆ หรือไม่ อย่างไร ก็ไม่อาจจะทราบได้ ... ขอบันทึกสังเคราะห์ให้เห็นประเด็น ๆ ไป ว่าอะไรน่าจะเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จของทีม  เพียงเพื่อเก็บไว้ในความทรงจำร่วมกันเท่านั้น ดังต่อไปนี้ 






๑) วิทยากรกระบวนการ

ปัจจัยสำคัญอันดับหนึ่งก็คือ ทีมกระบวนกรนั่นเอง โดยส่วนตัวผมเข้าใจว่า ทีมชมรมต้นกล้าพันธุ์ดี เป็นทีมเดียวที่จัดกิจกรรมในลักษณะนี้ ลักษณะที่เน้นกระบวนการเรียนรู้นำ ทุกกิจกรรมตั้งอยู่บนฐานของความการเรียนรู้ โดยเฉพาะการเรียนรู้จากภายใน ผ่านกระบวนการ สนุก สุข สร้างสรรค์  (อ่านโมเดล ๓ กำลัง ส. ได้ที่นี่) นี่คือพวกเขาครับ กระบวนกรจากชมรมต้นกล้าพันธุ์ดี

ไมค์เบอร์ ๑ ออกแบบกิจกรรม นำกระบวนกร แสน ศึกษาศาสตร์ สังคม ปี ๔ 
ไมค์เบอร์ ๒ น้องปอ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง ปี ๑ 
staff training  พี่แอ๊ การท่องเที่ยว ปี ๓
staff traing บีปี ๒ มนุษย์ฯ 
ไมค์หมาบเลข ๕ เนส ศึกษาศาสตร์ สังคม ปี ๓
มือกลอง กาย ศึกษาศาสตร์ สังคม ปี ๑ 
เมย์ ศึกษาศาสตร์ ปฐมวัย ปี ๔  แม่ครัว - แม่งาน 
แฟน ศึกษาศาสตร์ สังคม ปี ๑  ไมค์-กลอง

๒) กระบวนสันทนาการ "การสนุก
"

ต้องยอมรับว่า "สนุก" คือประตูเปิดสู่สิ่งใด ๆ ทั้งหมด  เป็นด่านแรกที่ต้องผ่านให้ได้ ละลายพฤติกรรมไม่ ไม่สนุกจากภายใน งานนั้นจะไม่ได้ผล โดยเฉพาะการจัดกิจกรรมกับเด็ก ๆ  เยาวชน  เพลง กิจกรรม และวิธีการนำต่าง ๆ ได้เผยแพร่ไปแล้ว และยังคงคิดใหม่ และเผยแพร่ไปเป็นวิทยาทานอย่างต่อเนื่อง



๓) กิจกรรมเรียนรู้แบบ Active Learning  (เรียนรู้อย่างมีความสุข)

กิจกรรมการเรียนรู้ทั้งหมด เป็นแบบตื่นตัว  (Active Learning) บนฐานของกิจกรรม หรือมักเรียกว่า Activity-based Learning (ABL)  เช่น ถุงใบใหญ่ คาร์ดเกมส์ สัตว์สี่ทิศ อิคิไก มหาสมุทรเลือด ฯลฯ ... หากใครสนใจจริง ๆ  ผมแนะนำให้มาร่วมกิจกรรมกับพวกเขาครับ  ... ผมเองน่าจะแก่เกินไปที่จะมาเขียนให้ท่านฟังในรายละเอียด









๔) มีเป้าหมาย 

สิ่งที่ทำให้กิจกรรมเป็นไปอย่างไหลรื่น และสนุกอย่างหนึ่งคือ การเติมเงื่อนไขให้กระตุ้นความพยายามของตนและคนในทีม ส่งเสริมการทำงานเป็นทีม โดยทีมกระบวนการใช้ จำนวนเงิน "แบงค์กาโม่"  และมีการสรุปสุดท้ายให้ได้ชื่นชมความสำเร็จร่วมกัน


ขอจบด้วยภาพประทับใจ เก็บไว้ดูเมื่อระลึกถึง




ขอบใจนิสิตชมรมต้นกล้าพันธุ์ดีทุกคนที่มา "รันร่วม" ขอเป็นกำลังใจให้ส่งต่อทีม "วิทยากรกระบวนการ" แบบนี้ต่อไปสุ่รุ่นน้อง ๆ  ต่อ ๆ ไป  สร้างประโยชน์น้อยใหญ่ให้กับส่วนรวมครับ

วันเสาร์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ชมรมตามรอยเท้าพ่อ_ (๕) เรียนรู้เรื่องน้ำเสีย

วันที่ ๙-๑๐ พ.ย. ๒๕๖๑ ชมรมตามรอยเท้าพ่อ ได้เรียนรู้เรื่องการบำบัดน้ำเสียภาคปฏิบัติจาก ผศ.ดร.เพชร เพ็งชัย ผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำเสีย จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มมส. (นี้เอง) ท่านมาแบบจิตอาสาและพาทำ พร้อมทั้งสนับสนุนงบซื้อจุลินทรีย์ที่เขาใช้กันในการบำบัดน้ำเสียทั้งหมด แถมยังซื้อปั๊มฉีดจุลินทรีย์เพียงเพื่อจะให้นิสิตจิตอาสาที่มาร่วมวันนี้ได้เรียนรู้จากการลงมือทำ ลงมือฉีดจุลินทรีย์ด้วยตนเอง  เป็นกิจกรรมที่ดีมากๆ เข้าใจว่า เป็นความร่วมมือกันของกลุ่มเครือข่ายนิสิตจิตอาสาและชมรมตามรอยเท้าพ่อ ... ก็ขออนุโมทนากับทั้ง ดร.เพชร และนิสิตที่ไปร่วมทุกคน ณ ตรงนี้อีกครั้งครับ



ความเป็นไปต่อมา (อัพเดทเหตุการณ์ต่อจากบันทึกก่อน)

การแนะนำให้นิสิตชมรมตามรอยเท้าพ่อทดลองเอาผักตบชวามาบำบัดน้ำเสียและวัดค่าคุณภาพน้ำเป็นระยะที่ผ่าน มุ่งประโยชน์ด้านการเรียนรู้วิธีการ "เดินตามรอยเท้าพ่อ" ของนิสิตในชมรมเป็นสำคัญ มุ่งหวังผลด้านการศึกษาและเรียนรู้วิธีการใช้ "อธรรมปราบอธรรม" ตามหลักการทรงงาน การมุ่งหวังจะบำบัดหรือป้องกันน้ำในสระเสียนั้น เกินกำลัง เกินศักยภาพของชมรมฯ (ปริมาณผักตบชวาต้องมีมากกว่าที่เห็นเยอะ ไม่น่าจะควบคุมได้ไหว)... ผู้สนใจอ่านบันทึกที่ผ่านมาอย่างละเอียดเถิด (บันทึก  และ  )

ช่วง ๒ เดือนก่อน เกิดความเข้าใจผิดของนิสิตส่วนหนึ่ง (น่าจะกลุ่มใหญ่พอสมควร ผมเข้าใจอย่างนั้น) ว่า ผักตบชวาที่ชมรมฯ เอามาลงสระนั้น เป็นต้นเหตุของน้ำเสียในสระ กอปรกับแปลงผักตบชวาที่แตกกระจายไปอยู่ตามขอบรอบสระประปราย ทำให้ดูไม่เรียบร้อย (เหตุเพราะกำลังคนน้อย) แม้ว่าชมรมจะจัดระเบียบแปลงผักตบชวาส่วนใหญ่ ไปผูกไว้ข้างสะพานรื้อผักตบแล้ว ทั้งที่ความจริงผักตบช่วยดูดซับสารอาหารและสารโลหะหนักในน้ำทำให้น้ำดีขึ้น (ตามที่ทรงทำให้เห็นเป็นตัวอย่างแล้ว)  ความเข้าใจผิดนี้ทำให้เกิดการอภิปรายกันอย่างกว้างขวางในบรรดากลุ่มแกนนำนิสิต ... ซึ่งถือเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ดีโดยบังเอิญ

ผมได้เรียนไปในบันทึกที่แล้ว (บันทึกที่ ) ว่าผมเป็นผู้ทำ "สะพานรื้อผักตบชวา" ขึ้นมาเอง เป็นสะพานไม้ชั่วคราว ด้วยเหตุผลว่า หากปล่อยไว้นานเกินไปจะไม่สามารถควบคุมผักตบชวาได้ ไม่สามารถจะรอให้นิสิตทำโครงการทำเองตามปกติ และตามทฤษฎีจะต้องลงเก็บผักตบชวาที่แก่เต็มที่ออกจากแปลงทุก ๆ ๔๕ วัน รวมถึงแผนที่จะส่งเสริมให้นิสิตทดลองสร้างผลิตภัณฑ์จากผักตบชวา สร้างสรรค์และพัฒนาให้เกิดปัญญาปฏิบัติ (Phronesis) ต่อไป ...  มหาวิทยาลัยเป็นเหมือนบ้านของผม ผมเห็นอะไรจะดีต่อบ้านหลังนี้และทำได้ ผมจะทำเลยทันทีหลังจากที่ใคร่ครวญดีแล้วว่าเกิดผลดีกับมหาวิทยาลัย และไม่ส่งผลเสียต่อใครแน่ๆ

ผมเองรู้ดีและมั่นใจว่าผักตบชวาสามารถบำบัดน้ำเสียได้จริง (เหมาะสมกับปริมาณที่มี) และเป็นเพราะผักตบชวานั่นเองที่ทำให้ส่วนสระน้ำทิศตะวันตกเฉียงใต้ใกล้สามแยกไฟแดงไม่ส่งกลิ่นเหม็น  แต่ผมตั้งใจพานิสิตรื้อผักตบชวาบริเวณนั้นออกด้วย เอาผักตบไปรวมไว้ไกลฝรั่งข้างถนน เพื่อไม่ให้ไปรกหูตาของผู้สัญจรไปมาและรวบรวมไว้ให้สามารถควบคุมปริมาณได้... เพียง ๒ สัปดาห์น้ำเสียบริเวณนั้นส่งกลิ่นเหม็นจนกลายมาเป็นประเด็นให้เกิดการอภิปรายกันมาก   แม้ว่านิสิตหลายคนอาจไม่เข้าใจ แต่การ "ชี้แจงเชิงประจักษ์" ครั้งนี้ สามารถทำให้ทุกคนเห็นชัดว่าผักตบชวาแก้ปัญหากลิ่นและน้ำได้จริง ...  สิ่งที่คุ้มค่าที่สุดก็คือ การทำให้สมาชิกชมรมฯ เอง เกิดความมั่นใจและศรัทธากับการแก้ปัญหาตาม "ศาสตร์พระราชา" ที่เราเพียรทำมาตั้งแต่ต้น

ความรู้เรื่องน้ำเสีย

น้ำเสียคือน้ำที่นำไปใช้ไม่ได้ ปลาอาศัยอยู่ก็ไม่ได้ รวมถึงสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ด้วย นักวิทยาศาสตร์บอกว่าน้ำเสียหรือไม่ด้วยค่า DO (Dissolved Oxygen) คือ ปริมาณออกซิเจนที่ละลายอยู่ในน้ำ น้ำเสียจะมีค่า DO น้อยกว่า ๓ มิลลิกรัมต่อลิตร ถ้าค่า DO มีค่าตั้งแต่ ๓ ขึ้นไป จัดไว้ว่าเป็นน้ำดี

น้ำเสียสามารถแบ่งออกได้เป็น ๕ ประเภท ตามชนิดของสารเคมีหลักที่เป็นเหตุให้เกิดน้ำเสีย ได้แก่

  • น้ำเสียที่เกิดจากสารอินทรีย์ ซึ่งเกิดจากน้ำกินน้ำใช้ไหลลงสู่แหล่งน้ำ นักวิทยาศาสตร์จะพิจารณาค่าน้ำเน่าเสียจากค่า BOD (Biochemical Oxygen Demand) เป็นค่าที่บ่งบอกปริมาณออกซิเจนที่แบคทีเรียต้องการในการย่อยสลายสารอินทรีย์ น้ำที่มีค่า BOD ตั้งแต่ ๑๐๐ มิลลิกรัมต่อลิตรขึ้นไปจัดเป็นน้ำเสีย  ส่วนน้ำที่มีค่า BOD น้อยกว่า ๑๐๐ ถือเป็นน้ำดี 
  • น้ำเสียที่เกิดจากสารเคมี ซึ่งมักเกิดจากการปล่อยหรือทิ้งสารเคมีลงในแหล่งน้ำ หรือเป็นน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม นักวิทยาศาสตร์จะวัดค่าน้ำเสียประเภทนี้ด้วยค่า COD (Chemical Oxygen Demand) คือ ปริมาณของออกซิเจนที่ต้องการในการออซิไดซ์เพื่อให้ได้คาร์บอนไดออกไซด์และน้ำ ค่า COD จะมากกว่า BOD เสมอ  ... ค่า DO, BOD จะบอกว่าน้ำเสียหรือไม่ ค่า COD จะบอกว่า น้ำนั้นเสียเพราะสารอินทรีย์หรือสารเคมี 
  • น้ำเสียในรูปแบบของสารแขวนลอย  คือน้ำเสียที่มีสารแขวนลอยผสมอยู่มาก นักวิทยาศาสตร์จะพิจารณาปริมาณสารแขวนลอยด้วยค่า TDS (Total Dissolved Solid) และวัดค่าความเป็นกรด-เบสด้วย
  • น้ำเสียประเภทที่มีโลหะหนัก (จากโรงงานอุตสาหกรรม)
  • น้ำเสียจากสารเคมีอื่น ๆ
วิธีการบำบัดน้ำเสีย

วิธีการบำบัดน้ำเสียอาจแบ่งได้เป็น ๓ ประเภทตามระดับความรุนแรงของการเน่าเสีย ได้แก่

  • การบำบัดทางกายภาพ  สำหรับน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมหรือชุมชนขนาดใหญ่ ได้แก่วิธีต่างๆ ต่อไปนี้ เช่น 
    • การดักขยะขนาดใหญ่ 
    • การดักไขมันและน้ำมัน 
    • การตกตะกอนด้วยสารเคมี 
    • การกำจัดสารโลหะหนัก 
  • การบำบัดทางชีวภาพ  คือการบำบัดน้ำเสียโดยใช้จุลินทรีย์ย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำ เหมาะสำหรับน้ำเสียจากชุมชนขนาดใหญ่หรือน้ำเสียจากนิคมอุตสาหกรรม ฯลฯ  สามารถแบ่งออกได้ตามประเภทของจุลินทรีย์ เป็น ๒ ประเภท ได้แก่ 
    • จุลินทรีย์ที่ต้องการอากาศ  (ออกซิเจน) ในการเจริญเติบโต และ 
    • จุลินทรีย์ที่ไม่ต้องการอากาศ 


  • วิธีการบำบัดน้ำเสียโดยใช้จุลินทรีย์ที่ต้องใช้ออกซิเจนคือ ต้องเติมอากาศลงไปในน้ำโดยทำให้น้ำเคลื่อนไหวไหลวนหรือใช้กังหันตีฟองล่องลอยไปในอากาศก่อนตกลงไปในน้ำ ทำให้แบคทีเรียได้รับออกซิเจน จึงจะขยายตัวเปลี่ยนสารอินทรีย์ในน้ำ ไนโตรเจน และฟอสฟอรัส  เป็นคาร์บอนไดออกไซด์ น้ำ พลังงาน และเซลล์ใหม่ ซึ่งจะจับกันเป็นตะกอนหล่นลงก้อนสระ 


  • วิธีบำบัดน้ำเสียโดยใช้จุลินทรีย์ที่ไม่ใช้ออกซิเจน เป็นที่นิยมมากสำหรับการบำบัดน้ำเสียจากชุมชน เพราะทำได้ง่าย ทำเป็นก้อนจุลินทรีย์แล้วโยนลงในน้ำ แต่ปัญหาคือ ผลิตผลที่ได้จากการย่อยสลายสารอินทรีย์นั้นเป็นก๊าซมีเทนและมีกลิ่นเหม็น 

(ที่มา http://www.stou.ac.th/Schools/Shs/booklet/6_2548/OccHealth.htm )

การบำบัดน้ำเสียด้วยแบคทีเรีย Bacillus subtilis 

จุลินทรีย์ที่ ดร.เพชร  นำมาพาฉีดวันนี้ ชื่อ แบคซิลลัส ซัปทิลลิส (bacillus subtillis) ความจริงท่านบอกว่ามี ๗๗ ชนิด แต่ชนิดนี้เป็นหลัก  เป็นแบคทีเรียชนิดใช้ออกซิเจน เป็นผลงานวิจัยของหน่วยงานเทคนิคเกษตรของญี่ปุ่นและใต้หวัน เป็นจุลินทรีย์ที่ขยายพันธุ์เร็ว เพิ่มขึ้นเป็นแสนเท่าภายใน ๒๐ นาที  เป็นแบคทีเรียนที่เข้มแข็ง ปลอดภัย ไร้สารพิษ มีสรรพคุณ ดังนี้

  • รักษาความชื้นได้อย่างแข็งขัน ดีเยี่ยม ในกรณีที่ฉีดที่ผิวดิน 
  • มีพลังในการย่อยสลายที่เข้มข้น ขยายพันธุ์รวดเร็ว
  • สร้างสรรค์สารอินทรีย์ต่างๆ ที่เป็นอาหารพืชสัตว์ได้มากมายหลายชนิด
  • มีพลังในการยึดครองพื้นที่ ป้องกันไม่ให้จุลินทรีย์ที่ไม่ดี ป้องกันไม่ให้จุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคขยายตัว 
  • กำจัดกลิ่นเหม็นได้อย่างมีประสิทธิภาพ  สามารถขจัดกลิ่นของสารประกอบอินทรีย์ประเภทกัมมะถัน ไนโตรเจน ทำให้สภาพแวดล้อมดีขึ้น 
การฉีดวันนี้ผสมด้วยอัตรา  ๑ ฝา ต่อน้ำ ๒๐๐ ลิตร ท่านบอกว่า หมดน้ำยาไป ๑.๕ ลิตร (ขวดครึ่ง ราคาขวดละพันกว่าบาท) ท่านแสดงภาพก่อน กำลัง และหลังฉีดไว้ดังภาพนี้ 






(ขอขอบคุณภาพจากเฟสบุ๊ค ดร.เพชรครับ)

ช่วงเย็นวันนี้ก่อนจะกลับมาบ้าน  ผมเดินไปพิสูจน์กลิ่น ... ผมไม่ได้กลิ่นเหม็นแล้วครับ อาจจะเพราะชินหรือฝนเพิ่งตกไม่รู้  วันจันทร์นี้ไปดูอีกที ...




สุดท้ายนี้ก็ขออนุโมทนาบุญกับ ผศ.ดร.เพชร เพ็งชัย อีกครั้งครับ ทางชมรมตามรอยเท้าพ่อ ได้มอบพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ลายเส้นที่ประธานชมรมฯ เพียรวาดด้วยตนเอง เพื่อมอบให้เป็นสัญลักษณ์แทนความขอบคุญจากทางชมรมฯ ... ผมรู้สึกว่าเด็กๆ รู้สึกภูมิใจและมีความสุขมาก

วันพุธที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2561

โครงการเด็กดีมีที่เรียน_๒๒: แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนิสิตในโครงการ มมส.และ มรม.

วันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๖๑ กองส่งเสริมการศึกษา สพม.๒๖ มหาสารคาม จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้นิสิตนักศึกษาในโนโครงการเด็กดีมีที่เรียนของทั้งจาก มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) และ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม (มรม.) กลุ่มเป้าหมายเป็นนิสิตในโครงการฯ ชั้นปี ๑-๔ ปี จำนวนมหาวิทยาลัยละ ๕๐ คน มีนิสิตมาร่วมประมาณ ๘๐ คน เป็นนิสิตจาก มมส. ๕๐ และจาก มรม. ๓๐ ... ผมขอขอบพระคุณ ท่าน ผอ.สุดใจ สุปัญบุตร ผู้อำนวยการกองฯ และ อาจารย์พรพรรณ โชติพฤกษวัน ผู้ดูแลโครงการฯหลักที่ สพฐ. .และขอเป็นกำลังใจให้ท่านทั้งสองขับเคลื่อนเรื่องนี้ต่อไป

ผม AAR ว่าเวทีนี้ ประสบความสำเร็จมาก ทั้งได้ข้อมูลเชิงปริมาณของการทำกิจกรรมของนิสิตในโครงากร สามารถเสริมพลังให้ทุกคนที่เข้าร่วม และเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีที่ก่อนเวทียังไม่มีมาก่อนให้เกิดขึ้น ได้ภาพร่างของทางเดินของนิสิตชัด และทั้งยังได้แผนที่ทางเดินร่วมกันระหว่าง สพม. ๒๖ มรม. และ มมส. ชัดเจน ดังจะขอสรุปให้เห็นพอสังเขปต่อไป

กิจกรรมกระบวนการ

กิจกรรมทั้งหมดดำเนินไปโดยทีมกระบวนกรจากชมรมต้นกล้าพันธุ์ดี นำโดยแสน ธีระวุฒิ ศรีมังคละ เจ้าของหลักสูตร ๓ กำลัง ส. (อ่านที่นี่)  กำหนดการกระบวนการเต็ม ๑ วัน ทีมกระบวนการทีมนี้ออกแบบทั้งหมด ดังตารางด้านล่าง โดยช่วงเวลา ๑๕.๐๐ น. เป็นต้นไป เป็นคิวของการทำ DAR (During Aciton Review)  ซึ่งผมออกแบบคำถามดังภาพด้านล่าง ก่อนจะร่วมกันวางแผน มองไปข้างหน้าว่าจะดำเนินกิจกรรมอันใกล้ไปในแนวทางใด





ขอเล่าด้วยภาพและคลิป เก็บไว้ในความทรงจำ ดังนี้ครับ



  • ปรบแปะปรบมือ


  • วางมือ-มือวาง
  • นกน้อยโผบิน
  • แม่หมีลูกหมี


  •  ผู้นำสี่ทิศ


  •  สัตว์ปกสัตว์น้ำ


  •  กลมและเหลี่ยม



  •  กิจกรรมเกาะร้างสร้างธรรมภิบาล ... กิจกรรมนี้สร้างสรรค์มากๆ  เรื่องมีอยู่ว่า แบ่งกลุ่มให้นิสิตแต่ละกลุ่มเท่าๆ กัน สมมติว่า ทุกกลุ่มล่องเรือไปในมหาสมุทร  ไปติดเกาะแห่งหนึ่งจึงสำรวจพบว่าเกาะมีภูมิศาสตร์เป็นรูป....... ให้จินตนาการวาด (ตัวอย่างเช่นกะโหลก) 


  •  เช่น เกาะกะโหลก ...  


  • มีพร้อมทุกอย่าง ทรัพยากรทุกอย่าง จึงได้อาศัยอยู่จนมีจำนวนคนเพิ่มขึ้น  ประสบกับปัญหาต่างๆ ดังอักษรสีแดงในภาพ 


  •  โจทย์มีอยู่ว่า ......  ๑) ให้พัฒนาระบบผังเมืองใหม่ให้น่าอยู่มากขึ้น และ ๒) ให้สร้างธรรมภิบาลของชุมชนขึ้น ตามรายละเอียดที่กำหนดแต่ละขั้นตอน 


  •  ตลาดนัดความรู้



  • เหล่านี้คือตัวอย่างผลงานเมืองใหม่ที่แต่ละกลุ่มสร้างสรรค์ขึ้น และแลกเปลี่ยนกัน


  •  สองผู้นำต่างวัยต่างมหาวิทยาลัย ใจเดียวกัน...



  • ทิวา ผู้นำนิสิต มรม. 


  • แสน@สรุป ด้วยสไลด์นี้ ธรรมภิบาล ๖ ด้าน 

ผลการ DAR

ผมได้เรียนรู้มากจากการสังเกตกระบวนการนี้ทั้งวัน และสิ่งที่นิสิตนำเสนอกันในวันนี้นั้น คือก็คือเป้าหมายในการสร้างคนของโครงการเด็กดีมีที่เรียนนั่นเอง จึงวาดภาพสรุปไว้ในสไลด์นี้



  • บทบาทของพวกเขา(ในอนาคต) เหมือนจะดูยิ่งใหญ่ เกินกำลังความสามารถ แต่หากวันหนึ่ง พวกเขาได้เป็นผู้นำสังคมหรือชุมชน เช่น เป็นนายกรัฐมนตรี ฯลฯ สิ่งเหล่านั้นก็ไม่เกินวิสัยจะทำได้ หรือแม้แต่จะดำรงชีวิตอยู่อย่างธรรมดา ก็สามารถจะสร้างสรรค์หน่วยที่เล็กที่สุดอย่างครอบครัว ให้มีหลักธรรมภิบาลได้ 
  • เป้าหมายแม้จะยิ่งใหญ่ ทำได้ลำบาก แต่หากระลึกเสมอว่า เราคือนักเรียน นิสิต นักศึกษา ที่มาจากโครงการเด็กดีมีที่เรียน  "กรอบแห่งศรัทธา" นี้จะนำพาให้เดินไปถึงเป้าหมายนี้ในระดับใดระดับหนึ่งแน่นอน สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมได้แน่นอน
  • บนเส้นทางนี้ อาจแบ่งพันธกิจได้เป็น ๔ ระดับ ได้แก่
    • ระดับ ๑ เข้าร่วมกิจกรรม คือ เป็นผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่บำเพ็ญประโยชน์เพื่อส่วนรวม
    • ระดับ ๒ ร่วมกับคนอื่นสร้างกิจกรรมเพื่อส่วนรวม  เช่น เป็นกรรมการ หรือผู้มีส่วนร่วมในการจัดโครงการหรือกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวมนั้นๆ 
    • ระดับ ๓ เป็นผู้ริเริ่ม สร้างสรรค์กิจกรรมเพื่อส่วนรวม หรือ พัฒนากิจกรรมที่ดีมีอยู่แล้ว ให้ดีมากขึ้น 
    • ระดับ ๔ ขับเคลื่อนขยายผลจากตนเองสู่ผู้อื่น 
ในช่วงท้ายที่สุดของวัน ได้สำรวจจำนวนกิจกรรมที่แต่ละคนได้ทำตามพันธกิจในแต่ละระดับเท่าใด โดยให้เขียนชื่อ สาขา และสถาบัน  ได้ผลที่น่าสนใจ ดังนี้ 

นิสิต มมส. ที่สะท้อนข้อมูล จำนวน ๓๖ คน
  • นิสิตที่เดินทางอยู่ในระดับ ๑ คือเข้าร่วมกิจกรรม แต่ยังไม่ได้มีส่วนร่วมในการจัดงาน จำนวนทั้งหมด ๑๑ คน เกือบทั้งหมดเป็นนิสิตชั้นปี ๑  โดยบอกว่าตนเองเข้าร่วมกิจกรรมอยู่ที่ ๖-๑๓ ครั้ง เฉลี่ยอยู่ที่ ๙.๙ ครั้ง
  • นิสิตที่ตอบว่าตนเองอยู่ในระดับ ๒ คือ ได้ร่วมเป็นกรรมการหรือมีส่วนในการสร้างกิจกรรมเพื่อส่วนรวม มีจำนวน ๙ คน บอกว่าได้ร่วมสร้างกิจกรรมหรือโครงการ...
    • ๑ กิจกรรมหรือโครงการ จำนวน ๒ คน
    • ๒ กิจกรรมหรือโครงการ จำนวน ๒ คน
    • ๓ กิจกรรมหรือโครงการ จำนวน ๒ คน
    • ๔ กิจกรรมหรือโครงการ จำนวน ๑ คน
    • ๑๐ กิจกรรมหรือโครงการ จำนวน ๑ คน
  • นิสิตที่ตอบว่าตนเองมาถึงระดับ ๓ คือ ได้ริเริ่มสร้างสรรค์กิจกรรมเพื่อส่วนรวม มีจำนวน ๒ คน คนหนึ่งบอกว่าริเริ่ม ๓ กิจกรรม อีกคนบอกว่าได้ริเริ่ม ๑ กิจกรรม
  • นิสิตที่ตอบว่าตนเองมาถึงระดับ ๔ คือ มีการขับเคลื่อนขยายผลจากตนเองสู่ผู้อื่น มีมากถึง ๑๔ คน 
    • บอกมา ๑ กิจกรรมหรือโครงการ จำนวน ๔ คน
    • บอกว่าตนเองทำ ๒ กิจกรรมหรือโครงการ จำนวน ๓ คน 
    • บอกว่าตนเองทำ ๓ กิจกรรมหรือโครงการ จำนวน ๒ คน 
    • บอกว่าตนเองทำ ๔ กิจกรรมหรือโครงการ จำนวน ๒ คน 
    • บอกว่าตนเองทำมากกว่า ๕ กิจกรรม ๒ คน  คนหนึ่งเป็นนิสิตชั้นปี ๑ สะท้อนว่าได้ขยายผลไป ๙ กิจกรรมหรือโครงการแล้ว
นิสิต มรม. ที่สะท้อนข้อมูล จำนวน ๑๗ คน
  • นักศึกษาที่บอกว่าตนเองอยู่เพียงระดับ ๑  มี ๑ คน เข้าร่วม ๔ กิจกรรม ตอนนี้อยู่ปี ๒
  • นักศึกษาที่บอกว่าตนเองมาถึงระดับ ๒ มีจำนวน ๕ คน บอกว่า ๑ กิจกรรมหรือโครงการ ๓ คน อีก ๒ คนบอกว่า มีส่วนร่วมสร้าง ๔ กิจกรรมหรือโครงการ 
  • นักศึกษาบอกว่าตนเองอยู่ระดับ ๓ จำนวน ๑ คน ริเริ่ม ๑ กิจกรรมหรือโครงการ 
  • นักศึกษาที่สะท้อนว่าตนเองได้ขยายผลจากตนสู่คนอื่นแล้วทั้งหมด ๑๐ คน (ส่วนใหญ่เป็นนิสิตชั้นปี ๔ มีปี ๓ ๓ คน และปี ๕ ศึกษาศาสตร์ ๑ คน )
    • บอกว่า ๑ กิจกรรมหรือโครงการ  จำนวน ๔ คน  
    • บอกว่า ๒ กิจกรรมหรือโครงการ  จำนวน ๕ คน 
    • บอกว่า ๔ กิจกรรมหรือโครงการ  จำนวน ๑ คน 
ข้อสังเกต
  • นิสิตนักศึกษาส่วนใหญ่ในโครงการเด็กดีมีที่เรียน เมื่อเข้ามาในมหาวิทยาลัย สามารถก้าวไปถึงพันธกิจระดับ ๔ คือ สามารถขยายผลกิจกรรมเพื่อส่วนร่วมจากตนสู่คนอื่นได้ 
แผนการขับเคลื่อนต่อไป 
  • ก่อนเริ่มกิจกรรมของนิสิต ผอ.สุดใจ ท่านได้เล่าประสบการณ์การไปศึกษาดูงาน โครงการเด็กดีมีที่เรียนของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และได้ลงพื้นที่เยี่ยมโรงเรียนเครือข่าย พบตัวอย่างที่ดี เป็น BP ของการเตรียมนักเรียนเข้าสู่โครงการอย่างเป็นระบบตั้งแต่ ม.๓ 
  • ความจริงเราก็ควรทำ และเราเคยทำโครงการเด็กดีคืนถิ่น (อ่านตัวอย่างบางโรงเรียนที่เราไปที่นี่) โดยให้นิสิตในโครงการออกไปพาน้องๆ เรียนรู้ตนเอง ให้รู้จักตนเองตั้งแต่ตอน ม.๓ โดยไม่ใช่ไปแนะแนว ไม่ใช่ไปหาคนมาเรียน แต่เป็นการส่งเสริมพี่ในโครงการเด็กดีฯ ให้กลับไปคืนถิ่นไปทำความดี 
  • ผมได้เสนอเรื่องนี้ ท่าน ผอ.สุดใจ ท่านเห็นด้วยและพร้อมจะดำเนินการ ดร.ประมวล จาก มรม. ก็เห็นด้วย ที่จะทำโครงการนี้แบบร่วมมือ แบบไม่ต้องไปในนามมหาวิทยาลัย แต่ไปในนามโครงการเด็กดีฯ ตอนท้ายเมื่อนำเรื่องนี้สอบถามนิสิตก่อนจบกิจกรรม นิสิตก็เห็นด้วย
  • จึงได้แนวทางในการเดินงานประสานต่อ ดังนี้ 
    • จัดทำหลักสูตร "เด็กดีมีที่เรียน คืนถิ่นทำดี" เพื่อพัฒนานิสิตนักศึกษา ให้เป็นกระบวนกร 
    • จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ สร้างกระบวนกรการเรียนรู้ (Learning Facilitator) จัดเป็นทีมๆ ละ ๕-๑๐ คน
    • ประสานเครือข่ายโรงเรียน เพื่อขอความร่วมมือและการสนับสนุนค่าเดินทางและค่าอาหาร  
    • ดำเนินการโครงการ "คืนถิ่นทำดี" เพื่อ สร้างกระบวนการเรียนรู้ให้น้อง ม.๓-๔ รู้จักตนเอง รับรู้และตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงของสังคมในยุคโลกาภิวัตน์ และตระหนักถึงการเลือกอนาคตด้วยตนเอง
  • ผมอาสาจะเข้าไปเป็นกรรมการขับเคลื่อนเรื่องนี้ทุกวิถีและโอกาส