วันพุธที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2561

โครงการเด็กดีมีที่เรียน_๒๒: แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนิสิตในโครงการ มมส.และ มรม.

วันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๖๑ กองส่งเสริมการศึกษา สพม.๒๖ มหาสารคาม จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้นิสิตนักศึกษาในโนโครงการเด็กดีมีที่เรียนของทั้งจาก มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) และ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม (มรม.) กลุ่มเป้าหมายเป็นนิสิตในโครงการฯ ชั้นปี ๑-๔ ปี จำนวนมหาวิทยาลัยละ ๕๐ คน มีนิสิตมาร่วมประมาณ ๘๐ คน เป็นนิสิตจาก มมส. ๕๐ และจาก มรม. ๓๐ ... ผมขอขอบพระคุณ ท่าน ผอ.สุดใจ สุปัญบุตร ผู้อำนวยการกองฯ และ อาจารย์พรพรรณ โชติพฤกษวัน ผู้ดูแลโครงการฯหลักที่ สพฐ. .และขอเป็นกำลังใจให้ท่านทั้งสองขับเคลื่อนเรื่องนี้ต่อไป

ผม AAR ว่าเวทีนี้ ประสบความสำเร็จมาก ทั้งได้ข้อมูลเชิงปริมาณของการทำกิจกรรมของนิสิตในโครงากร สามารถเสริมพลังให้ทุกคนที่เข้าร่วม และเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีที่ก่อนเวทียังไม่มีมาก่อนให้เกิดขึ้น ได้ภาพร่างของทางเดินของนิสิตชัด และทั้งยังได้แผนที่ทางเดินร่วมกันระหว่าง สพม. ๒๖ มรม. และ มมส. ชัดเจน ดังจะขอสรุปให้เห็นพอสังเขปต่อไป

กิจกรรมกระบวนการ

กิจกรรมทั้งหมดดำเนินไปโดยทีมกระบวนกรจากชมรมต้นกล้าพันธุ์ดี นำโดยแสน ธีระวุฒิ ศรีมังคละ เจ้าของหลักสูตร ๓ กำลัง ส. (อ่านที่นี่)  กำหนดการกระบวนการเต็ม ๑ วัน ทีมกระบวนการทีมนี้ออกแบบทั้งหมด ดังตารางด้านล่าง โดยช่วงเวลา ๑๕.๐๐ น. เป็นต้นไป เป็นคิวของการทำ DAR (During Aciton Review)  ซึ่งผมออกแบบคำถามดังภาพด้านล่าง ก่อนจะร่วมกันวางแผน มองไปข้างหน้าว่าจะดำเนินกิจกรรมอันใกล้ไปในแนวทางใด





ขอเล่าด้วยภาพและคลิป เก็บไว้ในความทรงจำ ดังนี้ครับ



  • ปรบแปะปรบมือ


  • วางมือ-มือวาง
  • นกน้อยโผบิน
  • แม่หมีลูกหมี


  •  ผู้นำสี่ทิศ


  •  สัตว์ปกสัตว์น้ำ


  •  กลมและเหลี่ยม



  •  กิจกรรมเกาะร้างสร้างธรรมภิบาล ... กิจกรรมนี้สร้างสรรค์มากๆ  เรื่องมีอยู่ว่า แบ่งกลุ่มให้นิสิตแต่ละกลุ่มเท่าๆ กัน สมมติว่า ทุกกลุ่มล่องเรือไปในมหาสมุทร  ไปติดเกาะแห่งหนึ่งจึงสำรวจพบว่าเกาะมีภูมิศาสตร์เป็นรูป....... ให้จินตนาการวาด (ตัวอย่างเช่นกะโหลก) 


  •  เช่น เกาะกะโหลก ...  


  • มีพร้อมทุกอย่าง ทรัพยากรทุกอย่าง จึงได้อาศัยอยู่จนมีจำนวนคนเพิ่มขึ้น  ประสบกับปัญหาต่างๆ ดังอักษรสีแดงในภาพ 


  •  โจทย์มีอยู่ว่า ......  ๑) ให้พัฒนาระบบผังเมืองใหม่ให้น่าอยู่มากขึ้น และ ๒) ให้สร้างธรรมภิบาลของชุมชนขึ้น ตามรายละเอียดที่กำหนดแต่ละขั้นตอน 


  •  ตลาดนัดความรู้



  • เหล่านี้คือตัวอย่างผลงานเมืองใหม่ที่แต่ละกลุ่มสร้างสรรค์ขึ้น และแลกเปลี่ยนกัน


  •  สองผู้นำต่างวัยต่างมหาวิทยาลัย ใจเดียวกัน...



  • ทิวา ผู้นำนิสิต มรม. 


  • แสน@สรุป ด้วยสไลด์นี้ ธรรมภิบาล ๖ ด้าน 

ผลการ DAR

ผมได้เรียนรู้มากจากการสังเกตกระบวนการนี้ทั้งวัน และสิ่งที่นิสิตนำเสนอกันในวันนี้นั้น คือก็คือเป้าหมายในการสร้างคนของโครงการเด็กดีมีที่เรียนนั่นเอง จึงวาดภาพสรุปไว้ในสไลด์นี้



  • บทบาทของพวกเขา(ในอนาคต) เหมือนจะดูยิ่งใหญ่ เกินกำลังความสามารถ แต่หากวันหนึ่ง พวกเขาได้เป็นผู้นำสังคมหรือชุมชน เช่น เป็นนายกรัฐมนตรี ฯลฯ สิ่งเหล่านั้นก็ไม่เกินวิสัยจะทำได้ หรือแม้แต่จะดำรงชีวิตอยู่อย่างธรรมดา ก็สามารถจะสร้างสรรค์หน่วยที่เล็กที่สุดอย่างครอบครัว ให้มีหลักธรรมภิบาลได้ 
  • เป้าหมายแม้จะยิ่งใหญ่ ทำได้ลำบาก แต่หากระลึกเสมอว่า เราคือนักเรียน นิสิต นักศึกษา ที่มาจากโครงการเด็กดีมีที่เรียน  "กรอบแห่งศรัทธา" นี้จะนำพาให้เดินไปถึงเป้าหมายนี้ในระดับใดระดับหนึ่งแน่นอน สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมได้แน่นอน
  • บนเส้นทางนี้ อาจแบ่งพันธกิจได้เป็น ๔ ระดับ ได้แก่
    • ระดับ ๑ เข้าร่วมกิจกรรม คือ เป็นผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่บำเพ็ญประโยชน์เพื่อส่วนรวม
    • ระดับ ๒ ร่วมกับคนอื่นสร้างกิจกรรมเพื่อส่วนรวม  เช่น เป็นกรรมการ หรือผู้มีส่วนร่วมในการจัดโครงการหรือกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวมนั้นๆ 
    • ระดับ ๓ เป็นผู้ริเริ่ม สร้างสรรค์กิจกรรมเพื่อส่วนรวม หรือ พัฒนากิจกรรมที่ดีมีอยู่แล้ว ให้ดีมากขึ้น 
    • ระดับ ๔ ขับเคลื่อนขยายผลจากตนเองสู่ผู้อื่น 
ในช่วงท้ายที่สุดของวัน ได้สำรวจจำนวนกิจกรรมที่แต่ละคนได้ทำตามพันธกิจในแต่ละระดับเท่าใด โดยให้เขียนชื่อ สาขา และสถาบัน  ได้ผลที่น่าสนใจ ดังนี้ 

นิสิต มมส. ที่สะท้อนข้อมูล จำนวน ๓๖ คน
  • นิสิตที่เดินทางอยู่ในระดับ ๑ คือเข้าร่วมกิจกรรม แต่ยังไม่ได้มีส่วนร่วมในการจัดงาน จำนวนทั้งหมด ๑๑ คน เกือบทั้งหมดเป็นนิสิตชั้นปี ๑  โดยบอกว่าตนเองเข้าร่วมกิจกรรมอยู่ที่ ๖-๑๓ ครั้ง เฉลี่ยอยู่ที่ ๙.๙ ครั้ง
  • นิสิตที่ตอบว่าตนเองอยู่ในระดับ ๒ คือ ได้ร่วมเป็นกรรมการหรือมีส่วนในการสร้างกิจกรรมเพื่อส่วนรวม มีจำนวน ๙ คน บอกว่าได้ร่วมสร้างกิจกรรมหรือโครงการ...
    • ๑ กิจกรรมหรือโครงการ จำนวน ๒ คน
    • ๒ กิจกรรมหรือโครงการ จำนวน ๒ คน
    • ๓ กิจกรรมหรือโครงการ จำนวน ๒ คน
    • ๔ กิจกรรมหรือโครงการ จำนวน ๑ คน
    • ๑๐ กิจกรรมหรือโครงการ จำนวน ๑ คน
  • นิสิตที่ตอบว่าตนเองมาถึงระดับ ๓ คือ ได้ริเริ่มสร้างสรรค์กิจกรรมเพื่อส่วนรวม มีจำนวน ๒ คน คนหนึ่งบอกว่าริเริ่ม ๓ กิจกรรม อีกคนบอกว่าได้ริเริ่ม ๑ กิจกรรม
  • นิสิตที่ตอบว่าตนเองมาถึงระดับ ๔ คือ มีการขับเคลื่อนขยายผลจากตนเองสู่ผู้อื่น มีมากถึง ๑๔ คน 
    • บอกมา ๑ กิจกรรมหรือโครงการ จำนวน ๔ คน
    • บอกว่าตนเองทำ ๒ กิจกรรมหรือโครงการ จำนวน ๓ คน 
    • บอกว่าตนเองทำ ๓ กิจกรรมหรือโครงการ จำนวน ๒ คน 
    • บอกว่าตนเองทำ ๔ กิจกรรมหรือโครงการ จำนวน ๒ คน 
    • บอกว่าตนเองทำมากกว่า ๕ กิจกรรม ๒ คน  คนหนึ่งเป็นนิสิตชั้นปี ๑ สะท้อนว่าได้ขยายผลไป ๙ กิจกรรมหรือโครงการแล้ว
นิสิต มรม. ที่สะท้อนข้อมูล จำนวน ๑๗ คน
  • นักศึกษาที่บอกว่าตนเองอยู่เพียงระดับ ๑  มี ๑ คน เข้าร่วม ๔ กิจกรรม ตอนนี้อยู่ปี ๒
  • นักศึกษาที่บอกว่าตนเองมาถึงระดับ ๒ มีจำนวน ๕ คน บอกว่า ๑ กิจกรรมหรือโครงการ ๓ คน อีก ๒ คนบอกว่า มีส่วนร่วมสร้าง ๔ กิจกรรมหรือโครงการ 
  • นักศึกษาบอกว่าตนเองอยู่ระดับ ๓ จำนวน ๑ คน ริเริ่ม ๑ กิจกรรมหรือโครงการ 
  • นักศึกษาที่สะท้อนว่าตนเองได้ขยายผลจากตนสู่คนอื่นแล้วทั้งหมด ๑๐ คน (ส่วนใหญ่เป็นนิสิตชั้นปี ๔ มีปี ๓ ๓ คน และปี ๕ ศึกษาศาสตร์ ๑ คน )
    • บอกว่า ๑ กิจกรรมหรือโครงการ  จำนวน ๔ คน  
    • บอกว่า ๒ กิจกรรมหรือโครงการ  จำนวน ๕ คน 
    • บอกว่า ๔ กิจกรรมหรือโครงการ  จำนวน ๑ คน 
ข้อสังเกต
  • นิสิตนักศึกษาส่วนใหญ่ในโครงการเด็กดีมีที่เรียน เมื่อเข้ามาในมหาวิทยาลัย สามารถก้าวไปถึงพันธกิจระดับ ๔ คือ สามารถขยายผลกิจกรรมเพื่อส่วนร่วมจากตนสู่คนอื่นได้ 
แผนการขับเคลื่อนต่อไป 
  • ก่อนเริ่มกิจกรรมของนิสิต ผอ.สุดใจ ท่านได้เล่าประสบการณ์การไปศึกษาดูงาน โครงการเด็กดีมีที่เรียนของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และได้ลงพื้นที่เยี่ยมโรงเรียนเครือข่าย พบตัวอย่างที่ดี เป็น BP ของการเตรียมนักเรียนเข้าสู่โครงการอย่างเป็นระบบตั้งแต่ ม.๓ 
  • ความจริงเราก็ควรทำ และเราเคยทำโครงการเด็กดีคืนถิ่น (อ่านตัวอย่างบางโรงเรียนที่เราไปที่นี่) โดยให้นิสิตในโครงการออกไปพาน้องๆ เรียนรู้ตนเอง ให้รู้จักตนเองตั้งแต่ตอน ม.๓ โดยไม่ใช่ไปแนะแนว ไม่ใช่ไปหาคนมาเรียน แต่เป็นการส่งเสริมพี่ในโครงการเด็กดีฯ ให้กลับไปคืนถิ่นไปทำความดี 
  • ผมได้เสนอเรื่องนี้ ท่าน ผอ.สุดใจ ท่านเห็นด้วยและพร้อมจะดำเนินการ ดร.ประมวล จาก มรม. ก็เห็นด้วย ที่จะทำโครงการนี้แบบร่วมมือ แบบไม่ต้องไปในนามมหาวิทยาลัย แต่ไปในนามโครงการเด็กดีฯ ตอนท้ายเมื่อนำเรื่องนี้สอบถามนิสิตก่อนจบกิจกรรม นิสิตก็เห็นด้วย
  • จึงได้แนวทางในการเดินงานประสานต่อ ดังนี้ 
    • จัดทำหลักสูตร "เด็กดีมีที่เรียน คืนถิ่นทำดี" เพื่อพัฒนานิสิตนักศึกษา ให้เป็นกระบวนกร 
    • จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ สร้างกระบวนกรการเรียนรู้ (Learning Facilitator) จัดเป็นทีมๆ ละ ๕-๑๐ คน
    • ประสานเครือข่ายโรงเรียน เพื่อขอความร่วมมือและการสนับสนุนค่าเดินทางและค่าอาหาร  
    • ดำเนินการโครงการ "คืนถิ่นทำดี" เพื่อ สร้างกระบวนการเรียนรู้ให้น้อง ม.๓-๔ รู้จักตนเอง รับรู้และตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงของสังคมในยุคโลกาภิวัตน์ และตระหนักถึงการเลือกอนาคตด้วยตนเอง
  • ผมอาสาจะเข้าไปเป็นกรรมการขับเคลื่อนเรื่องนี้ทุกวิถีและโอกาส 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น