วันพฤหัสบดีที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2557

CADL ขับเคลื่อน ปศพพ. ใน มมส. _ ๐๓ : เป้าหมายของชีวิตของคุณคืออะไร

วันพุธที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๕๗ กลุ่ม "เด็กดีมีที่เรียน" จัดกิจกรรมประจำสัปดาห์ เวลา ๑๘:๐๐ น. ถึง ๒๐:oo น. ณ ห้อง GE Learning ชั้น ๑ อาคารราชนครินทร์ (ตึก RN)


ก่อนอื่นขอชี้แจงเรื่องพระประธานที่มีการเปลี่ยนแปลง หลวงพ่อเจ็ดกษัตริย์ (พระพุทธสิริสัตตราช) ได้รับอัญเชิญให้ไปประดิษฐานตรงโถงทางเดินเข้าตึก HUSOC เรียนเชิญผู้ศรัทธายังสามารถไปกราบสักการะได้ ไม่ไกลจากเดิมนักครับ ... พระประธานองค์ที่เราใช้เคารพบูชาในระยะเวลานี้ ได้รับความเมตตาจากพระอาจารย์ภิรมย์ ผลิโก เจ้าอาวาสวัดป่ากู่แก้ว ท่านอนุญาตให้อัญเชิญมาชั่วคราว ระหว่างที่สำนักศึกษาทั่วไปดำเนินการจัดหาพระประธานประจำตึก RN ต่อไป


สัปดาห์นี้มีผู้มาร่วมกิจกรรม ๒๔ คน เป็นนิสิตชั้นปี ๑ ในโครงการเด็กดีมีที่เรียนเพียง ๕ คน ที่เหลือเป็นนิสิตชั้นปี ๒ ๓ ๔ และ ป.โท อุปสรรคสำคัญคือ กิจกรรม "พี่-น้อง" ของแต่ละคณะ ดังผลสำรวจที่นี่

สิ่งที่ต้องเรียกว่า "โชคดีจริงๆ" สำหรับผู้ที่มาร่วมวันนี้คือ การได้ร่วมพิจารณากำหนดเป้าหมายชีวิตกับกระบวนการของ รองศาสตราจารย์ ดร.นารีรัตน์ รักวิจิตรกุล อาจารย์ที่ปรึกษาชมรมพุทธศาสน์ ซึ่งท่านเสียสละเวลาอันมีค่ามาเป็น "กระบวนกร" เป็นวิทยาทาน ช่วยให้ทุกคนเริ่ม "คิดและกำหนดเป้าหมายของชีวิต" อย่างจริงจัง


กิจกรรมที่ ๑ ให้ "มโน"

หลังจากสวดมนต์ไหว้พระ รวบรวมสมาธิ เจริญสติ ตามสมควรแล้ว ท่านเริ่มกิจกรรมด้วยการสำรวจผู้เข้าร่วมฟังก่อน โดยย้ายที่นั่งกันให้เป็นหมดหมู่ เรียงเวียนขวา เริ่มตั้งแต่ ปี ๑ ๒ ... ไปจน ป.โท แล้วเชิญชวนให้พวกเราทุกคน นั่งสมาธิ หลับตา ในท่าที่สบาย แล้วให้ทุกคน "มโน" หรือ "จิตนาการ" ตามเสียงภาษาที่ท่านจะว่าไป...

 ...เรามาจากครอบครัวแบบใด คุณพ่อคุณแม่เราประกอบอาชีพอะไร เรามา มมส. เนี่ย... ลองจิตนาการซิว่า ... อีก ๔ ที่เราจะจบ หรือ ปี ๒ ปี ๓  ในอีก ๒-๓ ปี ข้างหน้าน่ะ เราจะทำอะไร เรียนจบแล้วจะไปตรงไหน จบแล้วจะทำอะไร ... วาดภาพจุดสูงสุดที่จะเป็นไปได้ เมื่อเราจบการศึกษา....คนที่เรียน ป.โท อยู่ก็ให้จิตนาการว่า อีก ๒ ปีเราจะไปอยู่ที่ไหน ...ภาพอนาคตที่เราต้องการ ที่เราอยากจะเป็นคืออะไร...  แล้วปล่อยให้ทุกคนได้ใช้ "จิตนาการ" อยู่กับตนเองประมาณ ๓ นาที



กิจกรรมที่ ๒ "นโม" 

หลังจาก "มโน" ท่านให้แต่ละคนได้ แนะนำตนเองและเล่าถึงสิ่งที่ตนเองได้ "นโม" (ตั้งไว้ในใจ) โดยใช้ ๓ คำถามเป็นเบื้องต้นก่อน ได้แก่ ชื่ออะไร เรียนสาขาอะไร พ่อแม่ทำอาชีพอะไร เป้าหมายในอนาคตหลังเรียนจบเป็นอย่างไร ...

ขอละรายละเอียดซึ่งเป็นข้อมูลส่วนตัว เกี่ยวกับ ชื่อ สาขาที่เรียน และอาชีพพื้นฐานครอบครัว  แต่ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดเป็น ลูก"เกษตรกร" ลูกชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ มีบ้างที่พ่อแม่ค้าขาย ที่น่า "ตระหนักใจ" คือ ไม่มีใครอยากจะเรียนไปเป็น "เกษตรกร" เลย... ต่อไปนี้คือภาพอนาคตอันใกล้ ที่แต่ละคนได้ตั้งไว้

จะไปสอบครู...จะไปเป็นปลัดอำเภอ...จะเป็นครูและสอนพิเศษ...อยากเป็นนักสิ่งแวดล้อม...เป็นอะไรก็ได้ขอให้ได้ทำงาน...อยากเป็นทนายความ...อยากเป็นทนายความหรือนิติกรและเป็นอัยการในอนาคตต่อไป...อยากทำธุรกิจ...อยากเรียนต่อเนติฯ ทนายความ... อยากเป็นข้าราชการ ตำรวจ ทหาร ... อยากจะไปเรียนต่อปริญญาโท อยากไปประเทศญี่ปุ่น... อยากเป็นผู้พิพากษา... อยากเป็นทนายความหรือนิติกร...อยากเป็นอัยการ...อยากเป็นข้าราชการครู... อยากเป็นนิติกร...อยากมีสตูดิโอทำงานศิลปะเป็นของตนเอง ...รับราชการอัยการ...อยากเป็นทหาร.. 

กิจกรรมที่ ๓  คำถาม "มั่นใจว่าสำเร็จกี่เปอร์เซ็นต์" 

คำตอบของเราแต่ละคน คือ...

๘๐, ๖๐, ๘๐, ๕๐, ๘๐, ๗๕, ๕๐, ๗๐, ๖๐, ๕๐, ๕๐, ๕๐, ๖๐, ๗๕, ๗๐, ๘๕, ๑๐๐, ๕๐, ๙๐

เฉลี่ยรวมกันจะได้ ๖๘ เปอร์เซ็นต์  แต่เมื่อท่านถามย้ำว่า ถ้าให้คิดให้ดี และเลือกเป้าหมายเพียงอย่างเดียว "เป้าหมายเดียว" ให้เลือกแค่หนึ่ง จะเอาอะไร แล้วให้แต่ละคนบอกใหม่ ว่ามั่นใจกี่เปอร์เซนต์ คำตอบเป็นดังนี้ครับ

๘๐, ๖๐, ๘๐, ๕๐, ๘๐, ๗๕, ๕๐, ๗๐, ๖๐, ๙๐, ๕๐, ๗๐, ๗๕, ๖๐, ๘๐, ๕๐, ๑๐๐, ๕๐, ๙๐

เฉลี่ยรวมกันจะได้ ๖๙ เปอร์เซ็นต์ (เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย) ... แสดงว่า ทุกคนค่อนข้างมั่นใจว่า ในคำตอบของตนเองพอสมควร

ท่านอาจารย์ บอกว่า ...ถ้าเธอบอกว่า ๕๐ หรือ ๖๐ เนี่ย.. เธอไม่สำเร็จหรอก เธอต้องตั้งใจ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ต้องตั้งเป้าหมายเดียว  ทางเลือกอื่นๆ ต้องรองลงมา และต้อง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ... ให้ทุกคนไป Reflect ตนเองว่า โอกาสน่ะแค่ไหน ขึ้นอยู่กับตัวเรากี่เปอร์เซ็นต์  ยกตัวอย่างเช่น 

...เธอจะเป็นครูภาษาไทย ตัวเธอเป็นต้นทุนในเรื่องนี้กี่เปอร์เซ็นต์ ต้นทุนภายนอกอะไรบ้าง ... เธออยากเป็นครูภาษาไทย แต่เธอมาเรียนนิติศาสตร์ ... ดังนั้น สิ่งที่เธอพูดขึ้นมาน่ะ อยากให้ไปวิเคราะห์ต่อ ...  ว่า ถ้าเธออยากจะเป็น ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ต้องทำอย่างไร...

...เธอที่อยากเป็นปลัดอำเภอน่ะ ถามว่าปีหนึ่งเขารับปลัดอำเภอกี่คน เด็กที่เรียนสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ปีหนึ่งมีกี่คน .. มีกี่มอ (มหาวิทยาลัย) แต่ละมอเรียนกี่คน.. เธอคูณเข้าไป...

...สิ่งที่ครูพูดวันนี้ คือ ต้องการให้เธอชัดในเป้าหมาย ...ต้องมีเป้าหมายหนึ่งเดียว... ชีวิตเธอตอนนี้ไม่มีเวลาเลื่อนลอย...เป้าหมายของเธอขึ้นอยู่กับตัวเธอ (เรา) กี่เปอร์เซ็นต์ ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อม (เขา) กี่เปอร์เซ็นต์...











กิจกรรมที่ ๔ มี "การบ้าน" 

สุดท้าย... ท่านได้มอบหมาย "การบ้าน" ให้ทุกคนนำกลับมาคุยกันต่อวันพุธหน้า  ผมคุยกับน้องอุ้มว่า ให้ฝาก "การบ้าน" ไปยังน้องๆ เพื่อนๆ และพี่ ป.โท ที่ไม่ได้มาร่วมวันนี้และจะมาในวันพุธหน้า ให้ได้ทำการบ้านมาทุกคน

การบ้านคือ ให้ทุกคนที่จะมาร่วมกิจกรรมในวันพุธหน้า ไป "สะท้อนตนเอง" หรือ "Reflection" ตนเอง ในประเด็นคำถามต่อไปนี้
  • เป้าหมายชีวิตของข้าพเจ้าคืออะไร ต้องเป็นเป้าหมายหนึ่งเดียวที่มั่นใจว่าจะสำเร็จ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ... อย่าง "มโน" เกินจริง อย่าเพ้อเจ้อ ...
  • เขียนบอกด้วยว่า ปีไหน เวลาใด คือให้บอก Timing ของเป้าหมายนั้นๆ จะต้องทำอะไรเมื่อไหร่ ปีไหน ถึงจะได้เป็นสิ่งที่เป็นตามเป้าหมาย 
  • ให้วิเคราะห์ "โอกาส" ที่จะบรรลุเป้าหมาย ต้นทุนมีอะไร ต้องรู้อะไรบ้าง ต้องมีทรัพยากร (รวมทั้งทุนทรัพย์) เท่าไหร่  
  • ให้วิเคราะห์เส้นทางสู่เป้าหมาย ต้องทำอะไร อย่างไร เมื่อไหร่ ปีไหน ถึงจะไปถึงเป้าหมาย
ท้ายสุด... ท่านย้ำว่า "การวางแผนที่ดีเท่ากับสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง"


วันเสาร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ค่านิยม ๑๒ ประการของคนไทย "ปรับใหม่"

ผมเห็นมีการปรับเปลี่ยน "ค่านิยม ๑๒ ประการของคนไทย" (ที่เคยเขียนบันทึกไว้ที่นี่) ผมเข้าใจว่า เพื่อให้ "จำง่าย" ให้ "เป้าหมายชัด" จึง "ตัด" และ "จัด" คำให้สั้นและคล้องจอง ... เพื่อให้ผมเอง "จำได้" เพื่อใช้ในการขับเคลื่อน "ความดี" ของ "เด็กดีมีที่เรียน" ต่อไป จึงสร้างภาพนี้ขึ้น อาจจะมีประโยชน์...

ผมจัดคำใหม่ ให้เป็นหมวดหมู่มากขึ้น ได้ตาม ๓ บรรทัดล่าง สรุปแล้ว... ผมว่ารัฐบาลประสงค์จะ
  • ให้ทุกคนรักชาติ นับถือศาสนา เคารพเทิดทูนพระมหากษัตริย์ และภูมิใจในความเป็นไทย
  • ให้ลูกหลานเยาวชนใฝ่เรียนรู้ กตัญญู ซื่อสัตย์ เสียสละ อดทน เข้มแข็ง และแข็งแรง
  • เดินตามคำสอนในหลวง เรียนรู้ศึกษาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และน้อมนำไปใช้ในการดำรงชีวิต
..... แม้....ไม่อาจเทียบหนึ่งในล้าน ลูกขอตั้งปณิธาน สานสิ่งที่พ่อสร้างไว้ จะขอ...เดินตามรอยเท้าพ่อไป เหนื่อยยากเพียงไหน ไม่ทำให้พ่อผิดหวัง....


วันพุธที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2557

CADL ขับเคลื่อน ปศพพ. ใน มมส. _ ๐๒ : เจตน์จำนงค์

วันอังคารที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๗ กลุ่ม "เด็กดีมีที่เรียน" จัดกิจกรรมประจำสัปดาห์ เวลา ๑๘:๐๐ น. ถึง ๒๐:oo น. ณ ห้อง GE Learning ชั้น ๑ อาคารราชนครินทร์ (ตึก RN) สมาชิก "จิตอาสา" ที่มารวมกันวันนี้ นอกจากรุ่นน้อง "เด็กดีมีที่เรียน" แล้ว ยังมีรุ่นพี่ปี ๒-๓-๔ และรุ่นพี่ ป.โท มาร่วมขับเคลื่อนฯ "ความดี" ในมหาวิทยาลัย


สัปดาห์นี้เราคุยกันเรื่อง "เจตน์จำนงค์" ผมชวนคุยเรื่องสำคัญนี้ เพราะสมาชิกส่วนใหญ่ที่มาร่วมกิจกรรมวันนี้เกือบทั้งหมดเป็น "รุ่นพี่" และ รุ่นน้องปี ๑ ที่จัดได้ว่าเป็นนิสิตแกนนำ ที่จะร่วมกัน "ขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง"

"พิธีกรรมกระบวนการ" ที่ทำกันวันนี้ เริ่มที่การสวดมนต์ไหว้พระ ทำวัตรเย็นเช่นเคย บทมนต์คาถาที่เราสวดเป็นประจำ ได้แก่
ผมเสนอว่า เราควรจะมาเรียนรู้ "ความหมาย" และ "เป้าหมาย" ของการสวดมนต์และคาถามเหล่านี้ให้ดี  ผมชวนให้ อุ้ม (ประธานแกนนำ) เรียนเชิญ "อาจารย์แม่" (รองศาสตราจารย์ ดร.นารีรัตน์ รักวิจิตรกุล) มาร่วมสวดมนต์กับเราในสัปดาห์ถัดไป เพื่อเราจะได้เรียนถาม "เกร็ดธรรม" เรื่อง "อานิสงส์" ของการสวดมนต์ ต่อไป (ขณะที่เขียนบันทึกนี้ มีข่าวดีว่า ท่านรับปากแล้วว่าจะมาร่วมกับเรา)

ดังที่บอกไว้ กลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่วันนี้คือ "รุ่นพี่" และ "แกนนำขับเคลื่อน"  วง PLC ที่ดีต้องมี "เป้าหมายร่วม" หรือ "วิสัยทัศน์ร่วม" เพื่อนำไปสู่ "ค่านิยมร่วม" กัน ผมในฐานะ "วิทยากรกระบวนการ" หรือ "กระบวนกร" จึงออกแบบทันที ปรับเอากิจกรรมทำ "เจตน์จำนงค์" ที่เคยเรียนรู้จากเวทีอาจารย์ชัยวัตน์ ถิระพันธ์ มาใช้ทันที

พวกเราแบ่งกันออกเป็นกลุ่มๆ ละ ๓-๔ คน รับอุปกรณ์เป็น "กระดาษร่วมใจ" ๑ แผ่น (กระดาษปลู๊ฟ) และสีชอร์ค ๑ แผ่น ใช้เวลา ๑๕ นาที ให้พูดคุยกันในกลุ่มว่า "เจตนา" และ ความ "จำนงค์" หรือวัตถุประสงค์ ที่เรามารวมกัน ไม่ใช่เฉพาะวันนี้ แต่เป็นกิจกรรมดีๆ ที่เราจะร่วมกันทำไปทั้งหมดในภายหน้า แล้วสรุปเป็น "รูปภาพ" ที่นำเสนอ "เจตนา และ ความประสงค์" หรือเรียกว่า "เจตน์จำนงค์" ของเราคืออะไร









 แล้วก็มานั่งล้อมวงนำเสนอและแนะนำตัวกัน



กลุ่มแรกแม้เวลาจะจำกัด แต่ "เจตน์จำนงค์" ชัดว่า เราจะใช้กลุ่มนี้ เป็นที่ปลูกฝังและบ่มเพาะความดีด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา เพื่อความก้าวหน้าอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับโลกที่เปลี่ยนไป


กลุ่มที่ ๒ จากน้องบัญชีและการจัดการ บอกว่า เราต้อง "ร่วมมือ" กันใช้กลุ่มนี้สร้างความดีให้เป็น "กิจวัตร" ตอนเช้ามีการทำบุญตักบาตร ตอนเย็นมีไหว้พระสวดมนต์ มีกิจกรรมไป "พัฒนา" และ "ประชาสัมพันธ์" ให้ "คนดี" มารวมกันทำความดีเยอะๆ ... ในฐานะที่พวกเขาอยู่ชมรมพุทธศาสน์ จะมาช่วยงานเต็มที่....



รุ่นพี่ ป.โท บอกว่า เราควรเริ่มจาก "ตนเอง" เริ่มจากการฝึกฝนเรียนรู้วิธีการอยู่ให้ได้ด้วยตนเอง "พึ่งตนเอง" จากประสบการณ์ของพี่ๆ เราควรส่งเสริมความดีในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่การออม การรักษาสุขภาพ หวังดีต่อตนเองและผู้อื่น เช่น เราสามารถหารายได้ระหว่างดำเนินชีวิตในมหาวิทยาลัย ได้ด้วยการ ทำ "แซนวิชเพื่อสุขภาพ" ไปขาย นอกจากทำให้คนหันมากินอาหารปลอดสารพิษ และมีรายได้ตามสมควร แล้ว ยังได้ช่วยฝึกทักษะชีวิตและการทำงานของตนเองด้วย


ผมและน้องอุ้ม ในฐานะที่ทำงานเป็นผู้ประสานงาน เปรียบ "เจตน์จำนงค์" ของเราว่า จะเป็นเหมือน "เสาหลัก" ในการรวบรวม "คนดี" และ "ความดี" จากทุกคณะ หน่วยงาน ที่พอจะประสานได้  ให้เวทีนี้กลายเป็นเหมือน เทียนพรรษา ที่จุดเมื่อไรจะให้กำลังแสงส่องสว่าง นำทางไปสู่ "ปัญญา" ตาม "ปรัชญา" ของมหาวิทยาลัยต่อไป


กลุ่มรุ่นพี่ปี ๒-๓ บอกว่า ต้องเอาคำว่า "ส่วนรวม" เป็นสำคัญ คือนิยาม "ความดี" คือการทำเพื่อส่วนรวม ฝึกฝนให้ตนและเป็นปัจจัยให้คนอื่น "เห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน"


กลุ่มพี่ปี ๔ นิติศาสตร์ บอกว่า ขอนำเสนอตัวอย่าง เป้าหมายของกลุ่มตน ซึ่งแต่ก่อนแต่ละคนในกลุ่มอาจแตกต่าง แต่วันนี้เรามีเป้าหมายเดียวกัน คือ เราจะเป็น "ศาลยุติธรรม" ทำงานเป็นที่พึ่งด้านความเป็นธรรมในสังคม


น้องมายด์ตัวแทนกลุ่มสุดท้าย บอกว่า เราทุกคน จะมาร่วมกัน ฟันฝ่าอุปสรรคตามลำดับขั้น ไปสู่ความสำเร็จ ความฝันของแต่ละคน ในคือ "ประสบความสำเร็จในชีวิต"











ขั้นตอนสุดท้ายคือ การนำ "เจตน์จำนงค์" ของทุกกลุ่มมาเป็นองค์ประกอบของ "เจตน์จำนงค์ร่วม" รวมไว้ในใจ  เราร่วมกันสรุปได้ว่า

"เราจะมาปลูกฝังและบ่มเพาะความดีด้วยการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการทำวัตรปฏิบัติกิจกรรมความดีอย่างสม่ำเสมอ เพื่อฝึกฝนตนให้พึ่งตนเองได้ ร่วมไม้ร่วมมือกันทำความดีเพื่อส่วนรวม ยึดมั่นความเป็นธรรม ก้าวไปสู่ความสำเร็จในชีวิตร่วมกัน"

"เด็กดีมีที่เรียน" ที่เข้ามาอ่าน อาจารย์อยากเชิญชวน ให้สร้างบล็อคบน www.gotoknow.org แล้วมาเขียนแลกเปลี่ยนแบ่งปันความดีกันครับ ....

วันพฤหัสบดีที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2557

CADL ขับเคลื่อน ปศพพ. ใน มมส. _ ๐๑ : กิจกรรมประจำสัปดาห์

สืบเนื่องต่อจากที่ CADL ได้จัดค่ายรวบรวมแกนนำเมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา (อ่านที่นี่)

วันพุธที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๕๗ เวลา ๑๘:๐๐ - ๒๐:๐๐ น. กลุ่มนิสิตในโครงการ "เด็กดีมีที่เรียน" ส่วนหนึ่งมารวมร่วมกันสวดมนต์ไหว้พระ ทำวัตรเย็น ก่อนจะสนทนาหารือเกี่ยวกับการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษาในมหาวิทยาลัย

จากซ้ายไปขวามือ : ป๊อป นิติฯ,สปาย นิติฯ,แซ็ค, เจน ศึกษาปฐมวัย,โจ วิลัยการเมืองฯ ,อุ้ม สารสนเทศ,ดา เทคโนชีวภาพ ,น้อง สิ่งแวดล้อมฯ,บี้ เทคโนฯ,แป้ง เทคโนฯ ,เอ้ เทคโนฯ

นิสิตแกนนำฯ ที่มาร่วมในการ "สนทนา" ครั้งแรกนี้มี ๑๑ คน นิสิตส่วนใหญ่ไม่สามารถมาร่วมได้เพราะ นิสิตปีหนึ่งกำลังซ้อมแสตนด์เชียร์สำหรับแข่งขันในวัน "กีฬาราชพฤกษ์" ซึ่งกำลังจะเริ่มขึ้น (กีฬา freshy ประจำปีของมหาวิทยาลัย)



เราร่วมกันทำ BAR ไว้ล่วงหน้าตลอดปีนี้ว่า เราควรจะใช้พื้นที่นี้ทำอะไร อย่างไร ประเด็นความเห็นเด่น เป็นดังนี้ครับ
  • เราควรเริ่มจากตนเองก่อน ในการศึกษา "หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" ด้านการศึกษา 
  • เราจะใช้พื้นที่นี้ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การน้อมนำหลักปรัชญาฯ ไปใช้ในชีวิตประจำวันของตนเอง 
  • สิ่งสำคัญคือ "แรงบันดาลใจในการทำความดี" พื้นที่นี้ควรเป็นที่ "เสริมแรง สร้างพลัง" ให้กับทุกคน ได้ฝึกฝนตนเองผ่านการทำความดี 
  • เราจะร่วมกันขยายผล (ขับเคลื่อนฯ) ไปยังเพื่อนนิสิตในมหาวิทยาลัย อย่างค่อยเป็นค่อยไป เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ
  • สิ่งสำคัญคือ ต้องศึกษาเรียนรู้ให้ถึงแก่น ถึงเหตุ ถึงผล ที่แท้จริงของกิจกรรมที่ทำเป็น "วัตร" ของคนในสังคม เพื่อแยกให้เห็นว่า อะไรมี "คุณค่าแท้" เป็น "กระแสดี" หรือมีเพียง "คุณค่าเทียม" ของทุนนิยมแบบบริโภคสุดกู่ .... เพื่อให้ "รู้เหตุ รู้ผล รู้ตน รู้ประมาณ รู้กาลเวลา รู้บุคคล รู้ชุมชน" ต่อไป 
  • ผมเสนอว่า เราจะอยู่นอก "กระแส" ได้ เราต้อง "เห็นกระแส" เริ่มต้น เราต้องเรียนรู้ "รูปแบบ" ให้เข้าถึง "ไร้รูปแบบ" เพื่อที่จะ "ริเริ่มรูปแบบ" ใหม่ให้กับสังคมและตนเอง
  • ใช้พื้นที่ในโครงการนี้เป็นที่ "สั่งสม" ความดี
อ่านรายละเอียดที่นี่

 ตอนท้ายของกิจกรรม เรา AAR กันว่า
  • เจอกันเพื่อมาร่วมเรียนรู้แลกเปลี่ยนในกิจกรรมประจำสัปดาห์
  • กิจกรรมเรียนรู้จาก "ผู้รู้" "ครู" "ปราชญ์" หรือ "พระอาจารย์" ประจำเดือน
  • ร่วมกันขับเคลื่อนฯ ผ่านกิจกรรมจิตอาสา ภายในผ่านกิจกรรมพัฒนานิสิต ภายนอกผ่านเครือข่ายพัฒนาการศึกษา (เป็นกิจกรรมประจำโอกาส)
  • จัดค่ายรับน้อง "เด็กดีมีที่เรียน ประจำปี" 
.... ผมมีความสุข และรู้สึกว่าตนเอง "ชีวิตมีคุณค่า" มากขึ้นหลังจากที่ได้มาร่วมและรู้จักนิสิตในโครงการเด็กดีมีที่เรียน ขอบคุณ "ความดี" ที่เราได้ร่วมกันทำในวันนี้ ....

วันอังคารที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2557

เรียนรู้คุณลักษณะของนิสิตที่พึงประสงค์ จากคำแนะนำของ "ผู้ใหญ่" ในมหาวิทยาลัย

วันนี้ (๗ ตุลาคม ๒๕๕๗) ผมมีโอกาสได้เข้าเยี่ยมอาจารย์ผู้ใหญ่ในมหาวิทยาลัยท่านหนึ่ง ท่านเป็นหนึ่งในอาจารย์ (ที่ผมเข้าใจว่ามีจำนวนไม่มาก) ที่เน้น "คุณค่าแท้" มากกว่า "คุณค่าเทียม" จากการสนทนากับท่าน ทำให้ผมมั่นใจมากขึ้น ว่าสิ่งที่เราคิดเรื่องการพัฒนานิสิตในมหาวิทยาลัยนั้นต้องให้ความสำคัญกับรายวิชาศึกษาทั่วไปนั้นถูกต้องแล้ว  สิ่งที่ท่านปรารภเป็นแนวทางในการพัฒนาคุณลักษณะของนิสิตนั้น สะท้อนการคิดอย่างองค์รวมและชี้ตัวอย่างชัดเด่นจนเห็นรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ  ... เสียดายที่สถานที่ไม่เหมาะที่จะนำเสนอรูปเหตุการณ์ ... แต่อย่างไรก็ดี มุมมองและคำแนะนำดีๆ ของท่าน ควรจะถูกนำมาเผยแพร่เป็นที่สุด

ท่านบอกว่า ....

  • วิชาศึกษาทั่วไป ไม่ใช่วิชาที่จะมาลงเรียนให้ผ่านๆ ไป ใครก็สอนได้ แต่ต้องเป็นใช้กิจกรรมการเรียนการสอนในรายวิชาเหล่านี้เพื่อให้นิสิตได้เรียนรู้ "รากเหง้า" อารยธรรม ความเป็นมาของตนเอง รู้จักภูมิปัญญา รู้จักปัญหาของตนเอง ครอบครัว สังคม... ผมคิดว่าหากเราทำได้อย่างท่านแนะนำ จะทำให้นิสิตของเราภูมิใจในตนเอง ภูมิใจในท้องถิ่น ชุมชน ภูมิใจที่ได้เป็นคนไทย 
  • ส่วนด้านกายภาพ นิสิต้องรู้จักร่างกาย รู้เรื่องสมอง รู้จักดูแลรักษาร่างกาย สุขภาพ ... ท่านคงหมายถึง "กินเป็น" "อยู่เป็น" 
  • การจัดการเรียนรู้ควรเป็นไปอย่างบูรณาการ  แต่ละคณะ แต่ละวิชา มาร่วมกันคิดว่า ว่าจะช่วยกันอย่างไรให้นิสิตมีทักษะชีวิต ทักษะพื้นฐาน เช่น การใช้สิ่งของเครื่องใช้ การนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างเหมาะสม  
    • บางคนเห็นในห้องมีแอร์ ๒ ตัว เข้าใจว่า เปิดตัวเดียวดีกว่า จะประหยัดกว่า ... ผลคือแอร์ตัวนั้นทำงานหนักเกินพัง....
    • บางคนไม่รู้จักเรื่องสายดิน เสียบต่อสายไฟง่ายๆ ไม่เป็น  .... ทำอย่างไรจะทำให้นิสิตมีความรู้เบื้องต้นแบบนี้ 
    • เมื่อมีผู้เจ็บป่วย สามารถช่วยเหลือเบื้องต้นได้ไหม 
    • ในชีวิตจะมีอันตรายอะไรบ้าง จะป้องกันอย่างไร 
    • ฯลฯ
  • เรื่องภาษาอังกฤษ ควรเน้นไปที่การจัดการเรียนรู้ให้นิสิตสามารถ สื่อสารได้ พูดได้ สนทนาได้  จัดเนื้อหาให้เหมาะสม  และจัดกิจกรรมเสริมเพิ่ม จัดให้นิสิตที่มีความสามารถได้เข้ามามีส่วนร่วม เพื่อจัดให้นิสิตทุกคนได้ฝึกทักษะจริงๆ ไม่ใช่เรียนทฤษฎีแกรมม่าอย่างเดียว 
ผมตีความแบบสรุปจากการสนทนาครั้งนี้่ ว่าการพัฒนา GE นั้น ต้องมีทั้ง "ปรัชญา" และ "ปัญญา"  ต้องมีทั้ง "ศาสตร์" (วิทย์) และ "ศิลป์"  ทุกคนต้องมองว่าเราทำเพื่อมหาวิทยาลัย ทำเพื่อองค์กร และที่สำคัญคือเพื่อนิสิตนั่นเอง ....