สัปดาห์นี้เราคุยกันเรื่อง "เจตน์จำนงค์" ผมชวนคุยเรื่องสำคัญนี้ เพราะสมาชิกส่วนใหญ่ที่มาร่วมกิจกรรมวันนี้เกือบทั้งหมดเป็น "รุ่นพี่" และ รุ่นน้องปี ๑ ที่จัดได้ว่าเป็นนิสิตแกนนำ ที่จะร่วมกัน "ขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง"
"พิธีกรรมกระบวนการ" ที่ทำกันวันนี้ เริ่มที่การสวดมนต์ไหว้พระ ทำวัตรเย็นเช่นเคย บทมนต์คาถาที่เราสวดเป็นประจำ ได้แก่
- บทสักการะ นมัสการ บูชา (มินา, อะระหัง, นุสสติ)
- ระลึกถึง พรรณนา และสรรเสริญพระรัตนตรัย (ภิคีติ)
- บทพิจารณาปัจจัยสี่ "คุณค่าแท้ คุณค่าเทียม" (อตีตปัจเวกขณปาฐะ)
- บทพิจารณาสังขาร "สิ่งที่ต้องระลึกรู้อยู่เนืองๆ" (อภิณหะปัจเวกขณปาฐะ)
- บทอุทิศส่วนบุญกุศล (อุททิสนาธิฎฐานะคาถา)
- บทแผ่เมตตา (บทเมตตา บทกรุณา บทอุเบกขา)
ดังที่บอกไว้ กลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่วันนี้คือ "รุ่นพี่" และ "แกนนำขับเคลื่อน" วง PLC ที่ดีต้องมี "เป้าหมายร่วม" หรือ "วิสัยทัศน์ร่วม" เพื่อนำไปสู่ "ค่านิยมร่วม" กัน ผมในฐานะ "วิทยากรกระบวนการ" หรือ "กระบวนกร" จึงออกแบบทันที ปรับเอากิจกรรมทำ "เจตน์จำนงค์" ที่เคยเรียนรู้จากเวทีอาจารย์ชัยวัตน์ ถิระพันธ์ มาใช้ทันที
พวกเราแบ่งกันออกเป็นกลุ่มๆ ละ ๓-๔ คน รับอุปกรณ์เป็น "กระดาษร่วมใจ" ๑ แผ่น (กระดาษปลู๊ฟ) และสีชอร์ค ๑ แผ่น ใช้เวลา ๑๕ นาที ให้พูดคุยกันในกลุ่มว่า "เจตนา" และ ความ "จำนงค์" หรือวัตถุประสงค์ ที่เรามารวมกัน ไม่ใช่เฉพาะวันนี้ แต่เป็นกิจกรรมดีๆ ที่เราจะร่วมกันทำไปทั้งหมดในภายหน้า แล้วสรุปเป็น "รูปภาพ" ที่นำเสนอ "เจตนา และ ความประสงค์" หรือเรียกว่า "เจตน์จำนงค์" ของเราคืออะไร
แล้วก็มานั่งล้อมวงนำเสนอและแนะนำตัวกัน
กลุ่มแรกแม้เวลาจะจำกัด แต่ "เจตน์จำนงค์" ชัดว่า เราจะใช้กลุ่มนี้ เป็นที่ปลูกฝังและบ่มเพาะความดีด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา เพื่อความก้าวหน้าอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับโลกที่เปลี่ยนไป
กลุ่มที่ ๒ จากน้องบัญชีและการจัดการ บอกว่า เราต้อง "ร่วมมือ" กันใช้กลุ่มนี้สร้างความดีให้เป็น "กิจวัตร" ตอนเช้ามีการทำบุญตักบาตร ตอนเย็นมีไหว้พระสวดมนต์ มีกิจกรรมไป "พัฒนา" และ "ประชาสัมพันธ์" ให้ "คนดี" มารวมกันทำความดีเยอะๆ ... ในฐานะที่พวกเขาอยู่ชมรมพุทธศาสน์ จะมาช่วยงานเต็มที่....
รุ่นพี่ ป.โท บอกว่า เราควรเริ่มจาก "ตนเอง" เริ่มจากการฝึกฝนเรียนรู้วิธีการอยู่ให้ได้ด้วยตนเอง "พึ่งตนเอง" จากประสบการณ์ของพี่ๆ เราควรส่งเสริมความดีในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่การออม การรักษาสุขภาพ หวังดีต่อตนเองและผู้อื่น เช่น เราสามารถหารายได้ระหว่างดำเนินชีวิตในมหาวิทยาลัย ได้ด้วยการ ทำ "แซนวิชเพื่อสุขภาพ" ไปขาย นอกจากทำให้คนหันมากินอาหารปลอดสารพิษ และมีรายได้ตามสมควร แล้ว ยังได้ช่วยฝึกทักษะชีวิตและการทำงานของตนเองด้วย
ผมและน้องอุ้ม ในฐานะที่ทำงานเป็นผู้ประสานงาน เปรียบ "เจตน์จำนงค์" ของเราว่า จะเป็นเหมือน "เสาหลัก" ในการรวบรวม "คนดี" และ "ความดี" จากทุกคณะ หน่วยงาน ที่พอจะประสานได้ ให้เวทีนี้กลายเป็นเหมือน เทียนพรรษา ที่จุดเมื่อไรจะให้กำลังแสงส่องสว่าง นำทางไปสู่ "ปัญญา" ตาม "ปรัชญา" ของมหาวิทยาลัยต่อไป
กลุ่มรุ่นพี่ปี ๒-๓ บอกว่า ต้องเอาคำว่า "ส่วนรวม" เป็นสำคัญ คือนิยาม "ความดี" คือการทำเพื่อส่วนรวม ฝึกฝนให้ตนและเป็นปัจจัยให้คนอื่น "เห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน"
กลุ่มพี่ปี ๔ นิติศาสตร์ บอกว่า ขอนำเสนอตัวอย่าง เป้าหมายของกลุ่มตน ซึ่งแต่ก่อนแต่ละคนในกลุ่มอาจแตกต่าง แต่วันนี้เรามีเป้าหมายเดียวกัน คือ เราจะเป็น "ศาลยุติธรรม" ทำงานเป็นที่พึ่งด้านความเป็นธรรมในสังคม
น้องมายด์ตัวแทนกลุ่มสุดท้าย บอกว่า เราทุกคน จะมาร่วมกัน ฟันฝ่าอุปสรรคตามลำดับขั้น ไปสู่ความสำเร็จ ความฝันของแต่ละคน ในคือ "ประสบความสำเร็จในชีวิต"
ขั้นตอนสุดท้ายคือ การนำ "เจตน์จำนงค์" ของทุกกลุ่มมาเป็นองค์ประกอบของ "เจตน์จำนงค์ร่วม" รวมไว้ในใจ เราร่วมกันสรุปได้ว่า
"เราจะมาปลูกฝังและบ่มเพาะความดีด้วยการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการทำวัตรปฏิบัติกิจกรรมความดีอย่างสม่ำเสมอ เพื่อฝึกฝนตนให้พึ่งตนเองได้ ร่วมไม้ร่วมมือกันทำความดีเพื่อส่วนรวม ยึดมั่นความเป็นธรรม ก้าวไปสู่ความสำเร็จในชีวิตร่วมกัน"
"เด็กดีมีที่เรียน" ที่เข้ามาอ่าน อาจารย์อยากเชิญชวน ให้สร้างบล็อคบน www.gotoknow.org แล้วมาเขียนแลกเปลี่ยนแบ่งปันความดีกันครับ ....
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น