วันจันทร์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

หนังสือเปลี่ยนชีวิต "ไม่ด่วนแต่สำคัญ"

วันอาทิตย์ ที่ ๒ พ.ย. ๒๕๕๗ CADL ขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงภายในมหาวิทยาลัย แบบ "ไร้รูปแบบ" กับนิสิตกลุ่มเป้าหมายที่มาร่วมเพียง ๒ คน  จากที่ได้ประชาสัมพันธ์ไปยังกลุ่ม "เด็กดีมีที่เรียน" แล้วล่วงหน้าและเป็นระบบ




สาเหตุของการไม่ได้มาร่วมงานนี้ ประเด็นหลักๆ คือ กิจกรรมของแต่ละคณะ  รุ่นพี่คณะนัดเข้าสแตนด์ ซ้อมเชียร์ อีกอย่างหนึ่งคือ วันเวลาตรงกันวันอาทิตย์ ที่สอดคล้องกับวันเวลาที่ "พี่พริม"  เดินทางมาจังหวัดมหาสารคาม...  ผมเห็นถึงความตั้งใจของคุณภาณุพงศ์ คงสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสนทนา และ คุณพริม ก็รู้สึกเกรงใจและเสียดายแทนนิสิตที่ไม่ได้มาร่วมสนทนา เรียนรู้ "ปัญญา จาก ชีวิตจริง" ที่มหาวิทยาลัยไม่เคยสอน...แต่ไม่เป็นไรครับ สำหรับนิสิตที่สนใจ สามารถอ่านเรื่องราวประสบการณ์ชีวิตของเธอ แบบที่ต้องเรียกว่า "เปลี่ยนความคิด ชีวิตก็เปลี่ยนตาม" ได้ที่นี่

ผมตั้งใจจะไปร่วมวงสนทนาด้วย แต่มี "พันธกิจของชีวิต" คือ "ต้องติดลูกสาว" ไปด้วย จึงต้องเดินไปเดินมา เลยแก้ปัญหาด้วยการอัดคลิปวีดีโอตอนที่คุณพริมเล่าประสบการณ์ตอนก่อนจบ ม.๖ ความผิดหวังกับการสอบเข้าคณะ สาขา หรือมหาวิทยาลัยที่ต้องการ จนกระทั่งเธอ "เธอเปลี่ยนความคิด" และชีวิตเธอก็เปลี่ยนไป.... สิ่งที่น่าสนใจคือ อะไรทำให้เธอเปลี่ยนความคิด จุดไหนคือจุดพลิกผันในชีวิตของเธอ เสียดายที่ผมไม่ได้นั่งฟังตลอด แต่เท่าที่ประมวลความได้ เข้าใจว่า สิ่งที่ทำให้เธอเปลี่ยนความคิดและชีวิตของเธอ มี ๒ อย่าง หนึ่งคือ "พระอาจารย์ที่เธอเคารพนับถือท่านหนึ่ง" และ สองคือ "หนังสือที่เธออ่าน" และผม "ฟันธง" ว่า หนังสือสำคัญเล่มหนึ่ง ที่เปลี่ยนชีวิตของเธอคือ "๗ อุปนิสัยสำหรับผู้ทรงประสิทธิผลยิ่ง" (The 7 Habits of Highly Effective People by Stephen R. Covey)  โดยเฉพาะอุปนิสัยที่ ๓ การจัดลำดับความสำคัญ (Put First Thing First; the habit of personal leadership) ที่เธอนำมาปรับใช้และถ่ายทอดในแบบของเธอ.. ดังจะได้กล่าวต่อไป

ผมเองเคยอ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว และประทับใจมากๆ แต่ตนเองไม่ค่อยได้นำมาปฏิบัติต่อเนื่องกับทุกเรื่อง อีกทั้งยังเป็นคนที่ไม่เข้มงวดกับตนเองนัก ชีวิตจึงไม่ได้เปลี่ยนไปเพราะหนังสือเล่มนี้ อย่างไรก็ดี สิ่งดีๆ ที่เราได้รู้เห็นในชีวิต แม้เราจะ"ไม่ได้เป็น" แต่เราก็น่าจะชี้บอกแนะนำต่อได้... นี่คือธรรมะข้อหนึ่งที่ผมยึดมั่นหลังจากที่ได้เรียนรู้ "ธรรมะแนวดูจิต" มาระยะหนึ่งจนเปลี่ยนชีวิตตนเอง

ดร.สตีเฟ่น โควีย์ แนะนำวิธีปฏิบัติในการจัดลำดับความสำคัญของกิจกรรมต่างๆ ในการดำเนินชีวิตด้วย ตารางเมตริกท์ ๒ แถว ๒ หลัก กำหนดองค์ประกอบของแถวเป็น "สำคัญ" และ "ไม่สำคัญ" องค์ประกอบของหลักเป็น "จำเป็น" และ "ไม่จำเป็น" ทำให้ได้องค์ประกอบของเมตริกท์ ดังนี้


ดร.สตีเฟ่น บอกว่า "การตัดสินใจ" ว่ากิจกรรมอะไรที่จะทำก่อนหลัง สำคัญ ไม่สำคัญ จะแตกต่างกันไปแล้วแต่ว่า ใครจะใช้อะไรเป็นศูนย์กลางของชีวิตระหว่าง การงาน เงินทอง ครอบครัว ความรัก(แฟน) เพื่อนฝูง สังคม ความรู้สึกของตน (ฯลฯ) หรือจะเป็นเหตุผลบนความเป็นจริง  เช่น
  • ถ้านิสิตกำลังจะไปเรียนหนังสือ แต่แฟนโทรมา บอกว่าเหงามาก อยากให้พาไปทานข้าว  นิสิต "ตัดสินใจ" ไม่ไปเรียน เลือกพาแฟนไปทานข้าว... แบบนี้เรียกว่า เอาความรักเป็นจุดศูนย์กลาง 
  • ถ้าคนโทรมาเป็นเพื่อน นิสิต "ตัดสินใจ" บอกว่า เอาไว้คราวหน้า ... แบบนี้เรียกว่า เอาเรื่องงานหรือหน้าที่เป็นศูนย์กลาง ณ ขณะนั้น 
  • ฯลฯ
เมื่อนิสิตมี "ศูนย์กลาง" เป็นอะไร ก็จะมีแนวโน้มที่จะใช้เวลาและทรัพยากรไปกับเรื่องนั้นๆ มาก ซึ่งคนส่วนใหญ่ ปล่อยให้กิจกรรมที่ตนเองทำในแต่ละวัน เลื่อนลอยไปกับสิ่งเร้าที่มากระทบ  ... ผมตีความว่า คนที่จะ "ตัดสินใจ" ได้ดี เป็นผู้มีประสิทธิผลยิ่งนี้ ต้องเป็นผู้มี "สติ" และ "สมาธิ" เป็นพื้นฐาน มีความ "พอประมาณ" กับศักยภาพของตน และเป็นผู้มี "เหตุผล" และ "ภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี" .... เหล่านี้ก็คือ ผู้มีอุปนิสัย "พอเพียง" นั่นเองครับ

ถ้าพื้นที่ของแต่ละองค์ประกอบของเมตริกท์แทนด้วยปริมาณเวลาที่ต้องใช้ไป ดร.สตีเฟ่น แนะนำว่า การจัดลำดับความสำคัญที่ดี ควรจะมีลักษณะดังภาพต่อไปนี้ 


พื้นที่ๆ (๒) คือ ให้เวลากับสิ่ง "สำคัญ" ที่ "ไม่เร่งด่วน" หมายถึง บริหารจัดการ วางแผน ทำตามแผน ปฏิเสธเรื่องไม่ได้อยู่ในแผนงาน เว้นเสียแต่จะจำเป็นจริงๆ  จะเห็นว่าพื้นที่ๆ (๓) น้อยที่สุด นั่นคือ สิ่งด่วนๆ ที่ไม่จำเป็น เช่น แฟนโทรศัพท์มาให้พาไปกินข้าว  (ไม่มีขาหรือไง บอกไปได้เลย...) ดื่ม เที่ยวกลางคืน ฯลฯ


คุณพริมยกตัวอย่างการนำวิธีของ ดร.โควีย์ มาปรับใช้ โดย เริ่มให้มองไปข้างหน้าว่า เป้าหมายในชีวิตของเราคืออะไร แล้วกำหนดไว้ให้มั่น ... (ช่างเหมือนกับที่ รศ.ดร.นารีรัตน์ กำลังพา "เด็กดีมีที่เรียน" ทำในสัปดาห์ที่แล้ว) แล้วก็วางแผนว่า อะไรจำเป็น ไม่จำเป็น อะไรเร่งด่วน ไม่เร่งด่วน เพื่อที่จะก้าวไปให้ถึงจุดนั้น ... ดังตัวอย่างที่เธอเสนอต่อน้องสองคนนั้น




ผมวิเคราะห์ว่า เป้าหมายของคุณพริมคือ "รวยเป็นเศรษฐี" เธอประทับใจข้อความในหนังสือเล่มหนึ่งที่บอกว่า "...หากอยู่ใกล้กับเศรษฐี ๑๐ คน เราจะเป็นเศรษฐีคนที่ ๑๑ แต่ถ้าอยู่ใกล้กับยาจก ๑๐ คน ตนเองจะกลายเป็นยาจกคนที่ ๑๑..." เธอต้องได้เป็นเศรษฐีแน่ และจะได้เป็นเศรษฐีที่ดีมากๆ ด้วย (ซึ่งหาพบได้ไม่มากนักในเมืองไทย) เพราะจิตอาสา ที่จะช่วยให้น้องๆ ได้พัฒนาตนเอง ดังที่เธอได้มาถ่ายทอดสู่น้องๆ ในวันนี้ ... ก็น่าจะเป็นเหตุการณ์ที่เป็นหลักฐานของ "คนดี" ในตัวเธอแล้ว...


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น