วันเสาร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

CADL ขับเคลื่อน ปศพพ. ใน มมส. _ ๐๗ : รู้แล้วว่าการขับเคลื่อนฯ ควรเริ่มที่ไหน

วันที่ ๑๒ พ.ย. ๒๕๕๗ รศ.ดร.นารีรัตน์ รักวิจิตรกุล เป็นวิทยากรจิตอาสา มาพัฒนานิสิตกลุ่มเด็กดีมีที่เรียนเป็นสัปดาห์ที่ ๓ ติดต่อกัน ท่านบอกว่า "ฉันไม่ได้มาเลคเชอร์เธอนะ ... ฉันมาสร้าง inspiration มาสร้างแรงบันดาลใจให้เธอ..."  และเน้นย้ำด้วยประโยคสั้นๆ ว่า "การวางแผนที่ดี เท่ากับสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง" ก่อนจะเริ่มคุยกับนิสิตที่มาร่วมในวันนั้น

ผมตั้งเป้าหมายว่าจะต้องเรียนรู้จากท่าน(แบบ "ครูพักลักจำ") ให้ได้มากที่สุด แม้ว่าครั้งนี้ผมจะติดราชการ ไปศึกษาดูงาน "ธรรมศาสตร์เพื่อประชาชน" ที่รังสิต ผมใช้วิธีฟังเทปบันทึก(ที่นี่ )ที่อุ้ม (คุณภาณุพงศ์) เขียนสรุปไว้  แล้วนำมาตีความในมุมมองตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อที่จะทำความเข้าใจกับนิสิตที่จะเป็นแกนนำขับเคลื่อนฯ ต่อไปในมหาวิทยาลัย

ท่านเริ่มนำนิสิตเข้าสู่บทเรียนโดยใช้ไดอารี่ของท่านเอง เป็นตอนก่อนจะเดินทางไปเรียนต่อที่อเมริกา บันทึกประมาณเพียงไม่กี่บรรทัดที่ท่านอ่านให้ฟัง  แสดงให้เห็นตัวอย่างของการวางเป้าหมายชีวิตหนึ่งเดียวที่แน่วแน่ การวิเคราะห์ต้นทุนของตนเองและทรัพยกรที่ต้องใช้อย่างชัดเจน ท่านบอกว่า สิ่งที่มั่นใจคือความสามารถด้านภาษาอังกฤษ มีเงินเก็บที่สามารถอยู่ที่อเมริกาได้โดยไม่ต้องทำงาน ๑ เทอม สิ่งที่ต้องทำคือ ไปสอบวัดผล TOEFL ให้ผ่านเกณฑ์ สิ่งที่ยังทำไม่ได้ตอนนั้นคือ ขับรถและพิมพ์สัมผัส ฯลฯ และบันทึกก็บอกด้วยว่า ต้องไปทำอย่างไรถึงจะได้ตามเป้าหมายนั้นๆ ...

บรรยายเรื่อง ๗ อุปนิสัยสู่การเป็นผู้ทรงประสิทธิภาพยิ่ง (The 7th Habits of Highly Effective People) ของ Stephen Covey


ท่านเกริ่นภาพรวมว่า ๒ สัปดาห์ที่ผ่านมานั้น เราได้กำหนดเป้าหมายชีวิตและวิเคราะห์ตนเองมาแล้ว วันนี้ท่านจะพูดถึง ๗ อุปนิสัยที่ทำให้คนเป็นผู้ทรงประสิทธิผลยิ่ง ของสตีเฟน โควีย์ ซึ่งได้ไปทำวิจัยสัมภาษณ์ผู้ทรงประสิทธิผลระดับโลก แล้วนำมาสังเคราะห์เขียนว่า คนเหล่านั้นมี ๗ อุปนิสัยนี้ ได้แก่
  • อุปนิสัยที่ ๑ ต้องเป็น Proactive  คือ ต้องเป็นฝ่ายเริ่มก่อน 
  • อุปนิสัยที่ ๒ เริ่มที่จุดมุ่งหมายภายในใจ 
  • อุปนิสัยที่ ๓ ทำตามลำดับความสำคัญ
  • อุปนิสัยที่ ๔ ต้องคิดแบบชนะ-ชนะ
  • อุปนิสัยที่ ๕ ต้องเข้าใจคนอื่นก่อนให้คนอื่นมาเข้าใจเรา
  • อุปนิสัยที่ ๖ ประสานพลัง
  • อุปนิสัยที่ ๗ ต้องลับเลื่อนให้คม 

อุปนิสัยคืออะไร 

"...ต้องมีความรู้ ต้องรู้ว่าต้องทำอะไร ต้องทำอย่างไร และคุณมีความต้องการจะทำไหม มีความปรารถนาจะทำหรือเปล่า จริงๆ เธอต้องการเป็นผู้พิพากษาหรือเปล่า หรือพ่อเธอบอก เธอจึงอยากเป็น ? เช่น ครูรู้ว่า จะไปเรียนเมืองนอก ครูต้องผ่าน TOEFL ต้องขับรถเป็น  ต้องรู้ด้วยว่าต้องทำอย่างไร ฉันก็ไปติว ไปเรียนพิมพ์ดีดที่นี่ ให้คนช่วยหัดขับรถ..."


ผมตีความคำว่าอุปนิสัย (Habit) ที่ศาสตราจารย์โควีย์เสนอว่าประกอบกันขึ้นจาก ๓ องค์ประกอบคือ ความรู้ ทักษะ และความต้องการนั้น  ถ้าจะทำให้เป็นคนดีมีประสิทธิผล การปฏิบัติจะสอดคล้องกับหลักคิดของเศรษฐกิจพอเพียง เช่น ความต้องการหรือความปรารถนาต้อง "พอประมาณ"  ทักษะและความสามารถที่มีต้องเพียงพอ ทำได้ และตั้งอยู่บนเหตุผลของความเป็นจริง และการมีความรู้ถือได้ว่าเป็นภูมิคุ้มกันอันดีที่จะทำให้สำเร็จ แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่ขาดไม่ได้ต้องมีคุณธรรมประจำใจ ...


ประสิทธิผลคืออะไร

"...คือความสมดุลระหว่าง Production (ผลผลิต) กับ Production Capability (ความสามารถในการผลิต) เช่น ถ้าเธอต้องการเงินเดือน ๓๐,๐๐๐ เธอมีความสามารถไหม เธอพูดภาษาอังกฤษได้ไหม เธอพิมพ์สัมผัสได้ไหม  หรือถ้าเธอซื้อมือถือมา เธอสามารถใช้กี่ปีให้คุ้มค่า... เราสามารถใช้ความสามารถของเราเพื่อเติมเต็มให้สมดุลกับความสามารถในการผลิต เช่น เราต้องออกกำลังกาย เตรียมร่างกายและจิตใจให้พร้อม ที่จะใช้ความสามารถของเราได้อย่างเต็มที่ในการสร้างสรรค์หรือผลิต..."

อุปนิสัยที่ ๑ Proactive เป็นผู้เริ่มต้นก่อน 

"...ถ้าเป็นคนทำงานในองค์กรจะรอนายสั่ง แบบนั้นเขาเรียกพวก Reactive ไม่ใช่ Proactive ... Proactive จะวิเคราะห์ปัญหา แล้วเอาปัญหาที่สำคัญๆ มาหาทางแก้ไข แล้วค่อยขยายขอบเขตของปัญหานั้นออกไปให้ครอบคลุ่มปัญหาทั้งหมด..."
 

อุปนิสัยที่ ๒ เริ่มที่จุดมุ่งหมายภายในใจ

"...ข้อนี้เราทำมาในสองสัปดาห์ที่ผ่านมาแล้ว...ที่ครูให้พวกเราวางแผนอาชีพน่ะ เป็นแผนระยะยาว...  แต่การกระทำทุกอย่างเราต้องมีเป้าหมายภายในใจเสมอ..."

อุปนิสัยที่ ๓ จัดลำดับความสำคัญ 

พิจารณาโดยแบ่งตารางกิจกรรมออกเป็น ๔ ช่อง  ได้แก่ สำคัญและเร่งด่วน สำคัญแต่ไม่เร่งด่วน เร่งด่วนแต่ไม่สำคัญ  และทั้งไม่สำคัญและไม่เร่งด่วน


...เร่งด่วนแต่ไม่สำคัญคืออะไร เช่น รับโทรศัพท์ ไลน์ เฟสบุ๊ค หนังจะออกจากโรงพรุ่งนี้ ยังไม่ได้ไปดู...เร่งด่วนและสำคัญ... เช่น  พรุ่งนี้ต้องนำเสนอ ทำ ppt เสร็จหรือยัง...  โปรเจคจะส่งแล้วเสร็จหรือยัง...ไม่สำคัญและไม่เร่งด่วน เช่น ลอยกระทง  (ดูหนัง ฟังเพลง เที่ยว) ... ที่สำคัญและไม่เร่งด่วนคือ กิจกรรมเพิ่ม PC (Production Capability) หรือกิจกรรมเพิ่มประสิทธิภาพ เช่น ออกกำลังกาย อ่านหนังสือเพิ่มความรู้ ฝึกทักษะ...

...หลักสำคัญคือ เธอต้องวางแผนให้มีกิจกรรมที่ไม่สำคัญและไม่เร่งด่วนให้มาก คือต้องมีกิจกรรมเพิ่ม PC ทุกวันนะ...ทำให้กิจกรรมนั้นๆ อยู่ในการวางแผนของเธอ...


การบ้าน

สิ่งที่ท่านเน้นอีกเรื่องหนึ่งคือ บทบาทในชีวิต ทุกคนต้องรู้จักบทบาทในชีวิตของตนเอง  ...ฉันมีบทบาทเป็นลูก ฉันมีบทบาทเป็นผู้ใหญ่ เป็นเพื่อน เป็นลูกศิษย์ ...  โดยท่านใช้ตารางวางแผนชีวิตด้านล่าง  (เป็นตัวอย่างของคุณภาณุพงศ์)


รายละเอียดเกี่ยวกับแต่ละอุปนิสัยแบบย่อ อ่านได้ที่นี่   ท่านได้มอบหมายให้นิสิตทุกคนลองไปทำแบบวางแผนประจำสัปดาห์ของตนเอง คราวหน้าจะมาติดตามอีกครั้งหนึ่ง

หลังจาก ๓ สัปดาห์ที่ท่านมาเป็นวิทยากรให้กับกลุ่มเด็กดีมีที่เรียน ผมรู้แล้วว่า การขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในมหาวิทยาลัย ควรจะเริ่มจากที่ไหน เราต้องเริ่มจาก "ตนเอง" ในที่นี้คือ เริ่มจากการพัฒนาเชิงปฏิบัติกับกลุ่มนิสิตกลุ่มเด็กดีมีที่เรียนอย่างจริงจังในภาคการศึกษาต่อไป โดยเรียนเชิญท่านเป็นวิทยากรประจำสัปดาห์ และจะเรียนรู้และพัฒนาเป็น "หลักสูตร"ที่จะนำไปใช้กับ "เด็กดี" ทุกๆ ปีต่อไป ...

วันศุกร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

CADL ขับเคลื่อน ปศพพ. ใน มมส. _ ๐๕ : การแบ่งเวลา ๘๐/๒๐ ของพาเรโต้

สืบเนื่องจากสัปดาห์ที่ ๑
สืบเนื่องจากสัปดาห์ที่ ๒

การขับเคลื่อนฯ นิสิตแกนนำขับเคลื่อน ปศพพ. ใน มมส. วันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ นอกจากจะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อผู้ที่มาร่วมในวั้นนั้นแล้ว ประสบการณ์และองค์ความรู้ที่ รศ.ดร.นารีรัตน์ รักวิจิตรกุลท่านสอนในวันนั้น น่าจะเป็นประโยชน์ต่อนิสิตที่ไม่ได้ได้มาด้วย จึงขอนำมาแบ่งปันไว้ในบันทึกนี้



หลังจากที่ทุกคนได้กำหนดเป้าหมายในชีวิต(ด้านอาชีพ)ของตนเอง คำถามที่สำคัญคือ "มโนมั้ย" ...สิ่งที่เธออยากเป็นจริงๆ น่ะ ที่เธอพูดน่ะ มันใช่ตัวตนจริงๆ ของคุณหรือเปล่า... ท่านบอกว่า ในทางจิตวิทยา จะแบ่ง "ตัวตน" ของการมองตนเองของคนออกเป็น ๒ แบบคือ ตัวตนที่เป็นจริง (Real Self) คือตัวตนตามข้อเท็จจริงๆ ที่เป็น และตัวตนในอุดมคติ (Ideal Self) คือความอยากมีอยากเป็น ..หากเราเขียนระยะห่างระหว่าง Ideal Self และ Real Self  สมมติเป็น A กับ  B  นะ ... ถ้ามันห่างกันมาก คนๆ นั้น มีแนวโน้มจะเป็นโรคจิต  แต่ถ้าใกล้มากๆ แสดงว่าคนนั้นสุขภาพจิตดี ... ดังนั้นต้องกลับไปดูตัวเองนะ... ตนในอุดมคติเป็นสิ่งที่มีใครเขากำหนดให้เราหรือเปล่า...







ท่านเล่าประสบการณ์ตนเองเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนมาก ...

" ...วันที่ครูขอเตี่ยครูว่าจะไปเรียนเมืองนอก ... ท่านบอกว่า ไม่เอา อายุป่านนี้แล้ว ใครมาขอก็จะแต่งหมดล่ะ... ฉันไม่ทำอะไรเลย...ฉันนั่งร้องไห้อย่างเดียว วันรุ่งขึ้นเตี่ยฉันก็มาบอกฉันว่า เอ้อๆ อยากไปก็ไป แต่กลัวว่าจะไม่มีเงินส่ง... ครูบอกว่าครูจะหางานทำ ครูวางแผน...ว่า ตนในอุดมคติของครูเนี่ย ต้องเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเท่านั้น และการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย.. ต้องเรียนโทและเอก แต่ถ้าโทเมืองไทย ฉันสอบสู้เขาไม่ได้ ฉันรู้  เพราะฉันเอกประถม จะไปสอบสาขาอะไรก็สู้เขาไม่ได้  แต่ฉันรู้ว่า ฉันเก่งภาษาอังกฤษ ไปเรียนเมืองนอกได้ ฉันก็มาดูว่า จะไปอินเดียหรืออเมริกา ในที่สุดไปอเมริกา  ... แล้วมีปัจจัยอะไรจะไปอเมริกา... ตั้งแต่เล็กจนโต...คนจีนเขาให้อั้งเปาไว้...ฉันฝากมีเงินอยู่ ๔๔,๐๐๐ บาท ...ฉันสามารถอยู่อเมริกาได้ ๑ เทอมโดยไม่ต้องทำงาน ...เรียนจบแล้ว (ป.ตรี ก่อนไปเอริกา) ฉันมาทำงานกับเตี่ย ประมาณ ๙ เดือน ได้เดือนละ ๓,๐๐๐ บาท ... เป็น ๒๗,๐๐๐ บาท นี่พอค่าเครื่องบิน เนี่ยคือการวางแผน... เข้าใจมั้ยค่ะ..."

การบ้าน

สรุปว่าทุกคนต้องวิเคราะห์ตนที่แท้จริงว่า  เรามีปัจจัยอะไรบ้าง พ่อแม่สนับสนุนหรือไม่ มีเงินพอไหม ตนเองเก่งอะไร ถนัดอะไร จะสามารถพัฒนาไปสู่จุดสูงสุดอะไรได้บ้าง ข้อดีของตนเอง ขยัน อดทนสูง ข้อด้อยทั้งทางนิสัยและทักษะความสามารถ ฯลฯ  และให้ทุกคนไปวางแผนสำรองในกรณีที่เป้าหมายแรกไม่อาจสำเร็จได้



ผมตีความว่านี่คือการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้นั่นเอง

ท้ายสุดของวันนั้น ท่านถ้าสมมติว่าทุกคนพร้อมเรื่องปัจจัยภายนอกครบทุกประการ ท่านถามว่า "ปัจจัยส่วนตัว" อะไรที่จะทำให้สามารถไปถึงความสำเร็จได้ นิสิตช่วยกันตอบได้ดังภาพ


ผมตีความว่า นี่คือการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้กับการวางแผนชีวิตของตนเอง ท่านกำลังพานิสิตวิเคราะห์ด้วย ๓ ห่วง ๒ เงื่อนไข การวิเคราะห์ตนเองที่ผ่านมาสอดคล้องกับ "ความพอประมาณ" พอประมาณกับศักยภาพของตนเอง กับทุนทรัพย์ของตนเอง(ครอบครัว) กำหนดระยะเวลาให้เหมาะสมเป็นไปได้ ซึ่งต้องตั้งอยู่บนเหตุผลของความเป็นจริงหรือ (Real Self) ซึ่งการวางแผนที่ละเอียดรอบคอบนี้เองคือ "ภูมิคุ้มกันที่ดี" ในตัวของนิสิตเอง

ตอนท้ายๆ ท่านให้ทุกคนสมมติว่า ถ้าทุกคนพร้อมด้านปัจจัยภายนอก อีกทั้งยังมีคุณสมบัติความสามารถเหมาะสมด้วย (มีเงื่อนไขความรู้แล้ว) ถามว่า มีปัจจัยอะไรอีก ที่จะทำให้เราไปสู่เป้าหมายได้  ผมตีความว่า ท่านกำลังกระตุ้นให้นิสิตคิดถึงเงื่อนไขด้านคุณธรรม  ท่านเฉลยว่า...

"...เธอต้องขยัน อดทน ค้นคว้า สืบค้น ฝึกฝน เรียนรู้ พบผู้รู้ ประเมินตนเอง ..จริงๆ ที่ครูจะฝากวันนี้คือ ให้เธอบริหารเวลา เพราะว่า ถ้าเธอไม่บริหารเวลา เธอก็จะไม่ค้นคว้า..."

กฎ ๘๐/๒๐ ของพาเรโต้ 

ท่านเติมความรู้เรื่องการบริหารเวลา โดยใช้ "กฎ ๘๐/๒๐ ของพาเรโต้" ผมสืบค้นเจอเว็บไซต์ที่ทำให้ผมเข้าใจเรื่องนี้มากขึ้นที่นี่ 

"...มันเป็นหนังสือเล่มหนึ่งเลยนะ ... เธอโชคดีมากนะ ภายใน ๑๐ นาทีนี้ เธอจะได้ฟังหนังสือทั้งเล่ม ...ฉันสอนมา ๓๐ ปี ... "

"..กฎ ๘๐/๒๐ ในการดำเนินชีวิตคือว่า... เธอตื่นขึ้นมา เธอมีงาน ๑๐ ชิ้น เธอจะต้องทำงาน ๒ ชิ้น (๒๐ เปอร์เซ็นต์)  งาน ๒ ชิ้นนี้ จะให้ผลประโยชน์กับชีวิตเธอถึง ๘๐ เปอร์เซ็นต์ ส่วนงานอีก ๘ ชิ้นจะให้ประโยชน์ ๒๐ เปอร์เซ็นต์... ตื่นขึ้นมางาน ๒ ชิ้นไหนต้องเสร็จ กำหนดเลย... "

หลายครั้งที่เจอและได้สนทนากับผู้ใหญ่แล้วผมรู้สึกว่าถูก "เปิดกระโหลก" เหมือนได้อ่านหนังสือเป็นเล่ม ครั้งนี้ก็เช่นกัน ... จึงอยากเขียนแบ่งปันไปยังนิสิตและผู้อ่านทุกครับ ...





วันพฤหัสบดีที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

CADL ขับเคลื่อน ปศพพ. ใน มมส. _ ๐๔ : เป้าหมายชีวิตของนิสิต เป็นจริงได้กี่เปอร์เซ็นต์

สืบเนื่องจาก สัปดาห์ที่ ๑



หลังจากสวดมนต์ไหว้พระ สำรวมกายใจ ภายในสงบ มีสมาธิ ผ่อนคลาย อยู่ใหน"โหมดเรียนรู้"แล้ว รองศาสตราจารย์ ดร.นารีรัตน์ รักวิจิตรกุล (หรือที่นิสิตเรียกอย่างเคารพว่า "อาจารย์แม่") ทบทวนถึงการบ้านที่ให้นิสิตแต่ละคนไปกำหนดเป้าหมายชีวิต และพิจารณาสะท้อนต้นทุนของตนเอง วิเคราะห์โอกาส และกำหนดเส้นทางสู่เป้าหมายนั้น แล้วสรุปด้วยประโยคสั้นๆ ว่า "การวางแผนที่ดีเท่ากับทำสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง"

ท่านเริ่มให้แต่ละคนที่มาร่วมกิจกรรมได้ "ส่งการบ้าน" (ในที่นี้ หมายถึง การสนทนาแบบสดๆ โต้ตอบกันแบบเปิดอก เกี่ยวกับเป้าหมายชีวิตของแต่ละคน) ซึ่งได้ไปสะท้อนทบทวน วิเคราะห์ และวางแผน ตามที่ "อาจารย์แม่" ได้มอบหมายไว้

คำถามที่ ๑ เป้าหมายชีวิตของเธอคืออะไร 

ท่านบอกว่า ในช่วงชีวิตของนิสิตตอนนี้ ควรต้องมีเป้าหมายเกี่ยวกับ "อาชีพการงาน" อีกหน่อยพอแก่ตัวไป (ท่านยกตัวอย่างตนเอง) ค่อยไปว่ากันด้วยเรื่องสุขภาพกาย ใจ

นิสิตคนหนึ่งบอกว่า เป้าหมายชีวิตหนึ่งเดียวของเขาคือครู

...เป้าหมายเดียวของหนูคือสอบเป็นครูค่ะ...หนูกำลังเรียนระดับปริญญาโทสาขาหลักสูตรและการสอน เนื่องจากตอนเรียนปริญญาตรีไม่ได้เรียนครูค่ะ ...แต่การจะเป็นครูนั้นต้องมีประสบการสอนหนึ่งปี สอบผ่าน ๙ มาตรฐาน (เกณฑ์ที่กำหนดโดยคุรุสภา อ่านที่นี่หรือที่นี่) ถึงจะทำเรื่องขอใบประกอบวิชาชีพ ...

คำถามที่ ๒ กรอบระยะเวลา จะเรียนจบ ทำสำเร็จเมื่อไหร?

ระหว่างการสนทนากับนิสิต ท่านพยายามจะเน้นให้ทุกคนฟังและคิดตาม เพราะคำถามของท่านจะเน้นกระบวนการให้คิดตาม ...ครูพูดให้เธอไปคิดนะ เราไม่ได้มาโต้เถียงกัน เธอต้องนำไปคิดเอง...หมายถึง ถามคนเดียวแต่คนอื่นได้เรียนรู้ด้วย บทสนาของท่านกับนิสิตจึงน่าสนใจ และไม่จำเป็นต้องนำบันทึกสนทนามาเสนอทุกคน ...ดังนั้นบทสนทนากับตัวอย่างนิสิตที่มานี้จึงน่าสนใจยิ่ง

อาจารย์แม่ : กรอบระยะเวลาที่เธอคิดว่าจะทำสำเร็จ ภายในปีไหน
นิสิต :   ภายในปี ๕๙ ค่ะ อีกสองปี

อาจารย์แม่ : เธอจะเรียนจบเมื่อไหร่?.
นิสิต : ปี ๒๕๕๘ ค่ะ ปีหน้า... 

อาจารย์แม่ : ทำวิทยานิพนธ์ถึงบทที่เท่าไหร่แล้ว...
นิสิต : บทที่ ๓ ค่ะ 

อาจารย์แม่ : ป.โท ทั่วไปรุ่นพี่ๆ เธอเขาทำกี่เทอม?
นิสิต : ประมาณ ๓ เทอมค่ะ ... นั่นคือประมาณ ๑ ปี ครึ่งค่ะ ตอนนี้กำลังฝึกสอนไปด้วยค่ะ.. อีกหนึ่งปีจะจบ ป.โท ค่ะ


อาจารย์แม่ :แน่นะ... มั่นใจเหรอ... 
นิสิต : มั่นใจค่ะ 

อาจารย์แม่ : แล้วปี ๕๘ จบ แล้วเธอได้ใบประกอบวิชาชีพหรือยัง? ....
นิสิต : ยังค่ะ.. เขาต้องให้ทำเรื่องไปที่คุรุสภาก่อนค่ะ 
อาจารย์แม่ : เขาไม่ให้เธอทันทีหรอก... เธอยังบอกเลยว่ามันต้องอบรม...
นิสิต : หนูคิดว่าหนูจะอบรมไปพร้อมๆ กับเรียนเลยค่ะ ...


อาจารย์แม่ : สมมติว่า เธอได้ใบประกอบวิชาชีพครูตามแผนในปี ๕๙ แล้วตอนสอบบรรจุล่ะ เธอไปศึกษาโอกาสมาไหม โอกาสที่จะได้เป็นยังไง...
นิสิต : สอบบรรจุ เราต้องเริ่มตรงที่ ต้องรู้ก่อนว่า.. หนูจะต้องรู้ว่าเขาจะสอบอะไรบ้าง...

...เบ็ดเสร็จ....ท่านพูดตัดบท เพื่อให้นิสิตทุกคนเห็นกระบวนการของการคิดพิจารณาแนวทางการวิเคราะห์เป้าหมาย...เธอคิดว่า เธอจะไปสู่เป้าหมายนั้นภายในปีอะไร...แต่นิสิตคนนั้นก็ยังยืนยันหนักแน่นว่า ... ๕๙ ค่ะ...


อาจารย์แม่ : ..เมื่อวาน เจ๊นุช(นามสมมติ ของนิสิตที่จบไปแล้ว)โทรมา เรียนเอก Math  ๓ ปีแล้ว ยังสอบบรรจุไม่ได้เลย...
นิสิตแสดงความมั่นใจทันที : หนูไม่รู้ค่ะอาจารย์ แต่ที่หนูรู้คือ คนรอบข้างที่อยู่ใกล้หนูเขาสอบได้ และมันเป็นเหมือนแรงกระตุ้นด้วย..

อาจารย์แม่ : เธอคิดว่าเธอจะดูหนังสือวันละกี่ชั่วโมงต่อวัน...
นิสิต : ...ยังไม่ได้วางแผนค่ะ... อาจารย์ค่ะ ถ้าเราคิดว่าเราจะบรรจุไม่ได้ เราจะทำไม่ได้ แต่ถ้าเรามั่นใจเราจะทำได้....
อาจารย์แม่ : .... มโนมั๊ย...มโนมั๊ย......ฉันฝากเธอให้ไปคิดดู...ฉันไม่รู้ศักยภาพของเธอ...เธอต้องไปคิดเอง ...

คำถามที่ ๓ ตำแหน่งอะไร ต้องทำหน้าที่อะไร เขาสอบอะไรบ้าง 

นิสิตคนหนึ่งบอกว่า เป้าหมายชีวิตหลังเรียนจบคือ การเป็นทหาร  ทหารยศสัญญาบัตร ยศเรือตรี ตอนแรกคิดจะสมัครทหารบก แต่เขาไม่รับคนจบนิติศาสตร์ แต่ทหารเรือเขารับตำแหน่งที่เกี่ยวกับกฎหมาย เข้าไปช่วยทำงานด้านกฎหมายในโรงเรียน ท่านถามทันทีว่า ตำแหน่งอะไร...ใช่นักวิชาการศึกษาหรือเปล่า ...ต้องรู้อะไรถึงจะเป็นได้ ...สิ่งที่เธออยากเป็นน่ะ เธอต้องรู้ละเอียด ต้องรู้ด้วยว่าเขาจะสอบอะไร เธอต้องอ่านหนังสือวันละกี่ชั่วโมง...
ถ้าตอบไม่ได้.... อย่ามโน...ถ้าเธอคิดเรื่องนี้ตั้งแต่ปีหนึ่ง  เธอจะมีเวลาเตรียมตัวมากมายมหาศาล แต่ถ้ามาเริ่มคิดตอนปี ๔ เราจะทันมั๊ย...

คำถามที่ ๔ อย่า"มโน" สิ่งที่ว่าน่ะ...มะโนมั๊ย?...

นิสิตคนหนึ่งบอกว่าอยากจะเป็น "อัยการ" สิ่งที่ต้องมีคือ ๑) ต้องจบ ป.ตรี นิสิตศาสตร์ ๒) จบเนติบัณฑิต ๓) อายุ ๒๕ ปีขึ้นไป และ ๔) ต้องมีประสบการณ์ด้านกฎหมายอย่างน้อย ๒ ปี หรือไม่ก็จบปริญญาโท ผมคิดว่าถ้าเราจบโท เราจะมีสิทธิ์สอบ "สนามเล็ก" เราจะมีโอกาสได้เป็นมากกว่าเพราะมีคนสอบแข่งขันน้อยกว่า  ....  แต่พอผมมาพิจารณาปรากฎว่า อเมริกาค่าเทอมล้านกว่า...โอ้โฮ้...ฝรั่งเศสก็ล้านกว่า อังกฤษล้านกว่า ..ไปเจอนิวซีแลน์ นอเวย์ เยอรมันเรียนฟรี ค่าใช้จ่ายประมาณ ๕๐๐ ปอนด์ (ประมาณ ๒๕,๐๐๐ บาท) แต่ต้องเตรียมภาษาเยอรมันให้ผ่านระดับ B1 (ฺได้แกรมม่า อ่าน พูด เขียนได้เบื้องต้น สื่อสารได้บ้าง)...

...เดี๋ยวก่อนๆ... เธอเรียนภาษาอังกฤษมากี่ปีแล้ว ... How many year you have learn English? Speak it in English?

เริ่มจริงจังตั้งแต่ตอนอยู่ ม.๖ ครับ แต่ยังพูดไม่ได้ รู้แกรมม่า ... ๘  ปีครับ ...

...You still cannot speak, if you going to study German Languge, You think you can study in the field of law?....ที่ถามน่ะคือพูดให้คิดนะว่า เราเรียนภาษาอังกฤษมามากกว่า ๑๐ ปี เรายังพูดไม่ได้เลย แต่ต้องไปเรียนภาษาเยอรมัน เราจะทำได้จริงเหรอ แม้ว่าจะไปเข้าคอร์ส ๓ เดือน ๖ เดือน ... Do you think you can do that?....

นิสิตประทับใจคำตอบของนิสิตอีกคนหนึ่งที่มาจากคณะบัญชีฯ มาก ผมตีความว่า เธอกับศรัทธาและกำลังอยู่บนถนนของการสร้าง "คุณค่าของชีวิต" ในระดับที่ไม่ใช่ "มูลค่าเพื่อตนเอง" แต่เป็น "มูลค่าตนเพื่อคนอื่น" เป็นการให้คุณค่าของชีวิตคนอื่นผ่านการดำเนินชีวิตตนเอง และเมื่อถูกถามว่า "มโนมั๊ย" เธอยังตอบอย่างมั่นใจว่า "หนูจะทำได้" บอกว่า...ไม่ได้ตั้งเป้าหมายที่เป็นอาชีพอย่างชัดเจน เพราะไม่ชอบงานประจำ... เธอต้องการจะทำอะไรที่เธอทำได้เพื่อช่วยเหลือผู้อื่น ...อยากทำธุรกิจบ้านเลี้ยงเด็ก เป็นความฝันอย่างหนึ่ง เพราะจะได้ช่วยเหลือคนอื่น....ที่มาเรียนการตลาดเพราะว่า ชอบทำกิจกรรม ทุกคนในวงการตลาดคิดแต่เรื่องธุรกิจ เรื่องเงิน มันจึงเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งที่จะใช้การตลาดไปช่วยเหลือคนอื่น เป็นการย้อนทวนกระแส....

คำถามที่ ๕ มีแผนสำรองมั้ย?

เป็นอีกครั้งที่มีข้อมูลยืนยันเชิงประจักษ์ว่า มีนิสิตจำนวนมาก ที่อยากเป็นครูแต่สอบไม่ติด เลยต้องมาเรียนคณะวิทย์ ผมตีความว่า นี่คือ "แผนสำรอง" ที่นิสิตคิดกันเองว่าจะไปถึงจุดหมายนั้นได้ง่าย แต่ความจริง นี่เป็นทางอ้อม และจะยิ่งเต็มไปด้วยอุปสรรคปัญหามากมายในยุคของการแข่งขันอย่างรุนแรงต่อไป

อาจารย์แม่ยังไม่ได้เน้นย้ำกับคำตอบของคำถามว่า "มีแผนสำรองหรือไม่"  แต่ฝากไว้ให้มาคุยในสัปดาห์ต่อไป...














ช่วงหลังการสนทนา ผม AAR ว่า ผมได้เรียนรู้ในสิ่งที่มีคุณค่า ซึ่งจะหาอ่านจากตำราใดๆ คงต้องใช้เวลามาก  โดยเฉพาะทฤษฎีที่ได้รับการยอมรับกันอย่างกว้างขวาง ทั้งทางตะวันตกตะวันออก ที่ท่านบอกบรรยายในช่วงท้ายของกิจกรรม  .... (ขอแยกไปเขียนในบันทึกหน้านะครับ)

วันจันทร์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

หนังสือเปลี่ยนชีวิต "ไม่ด่วนแต่สำคัญ"

วันอาทิตย์ ที่ ๒ พ.ย. ๒๕๕๗ CADL ขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงภายในมหาวิทยาลัย แบบ "ไร้รูปแบบ" กับนิสิตกลุ่มเป้าหมายที่มาร่วมเพียง ๒ คน  จากที่ได้ประชาสัมพันธ์ไปยังกลุ่ม "เด็กดีมีที่เรียน" แล้วล่วงหน้าและเป็นระบบ




สาเหตุของการไม่ได้มาร่วมงานนี้ ประเด็นหลักๆ คือ กิจกรรมของแต่ละคณะ  รุ่นพี่คณะนัดเข้าสแตนด์ ซ้อมเชียร์ อีกอย่างหนึ่งคือ วันเวลาตรงกันวันอาทิตย์ ที่สอดคล้องกับวันเวลาที่ "พี่พริม"  เดินทางมาจังหวัดมหาสารคาม...  ผมเห็นถึงความตั้งใจของคุณภาณุพงศ์ คงสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสนทนา และ คุณพริม ก็รู้สึกเกรงใจและเสียดายแทนนิสิตที่ไม่ได้มาร่วมสนทนา เรียนรู้ "ปัญญา จาก ชีวิตจริง" ที่มหาวิทยาลัยไม่เคยสอน...แต่ไม่เป็นไรครับ สำหรับนิสิตที่สนใจ สามารถอ่านเรื่องราวประสบการณ์ชีวิตของเธอ แบบที่ต้องเรียกว่า "เปลี่ยนความคิด ชีวิตก็เปลี่ยนตาม" ได้ที่นี่

ผมตั้งใจจะไปร่วมวงสนทนาด้วย แต่มี "พันธกิจของชีวิต" คือ "ต้องติดลูกสาว" ไปด้วย จึงต้องเดินไปเดินมา เลยแก้ปัญหาด้วยการอัดคลิปวีดีโอตอนที่คุณพริมเล่าประสบการณ์ตอนก่อนจบ ม.๖ ความผิดหวังกับการสอบเข้าคณะ สาขา หรือมหาวิทยาลัยที่ต้องการ จนกระทั่งเธอ "เธอเปลี่ยนความคิด" และชีวิตเธอก็เปลี่ยนไป.... สิ่งที่น่าสนใจคือ อะไรทำให้เธอเปลี่ยนความคิด จุดไหนคือจุดพลิกผันในชีวิตของเธอ เสียดายที่ผมไม่ได้นั่งฟังตลอด แต่เท่าที่ประมวลความได้ เข้าใจว่า สิ่งที่ทำให้เธอเปลี่ยนความคิดและชีวิตของเธอ มี ๒ อย่าง หนึ่งคือ "พระอาจารย์ที่เธอเคารพนับถือท่านหนึ่ง" และ สองคือ "หนังสือที่เธออ่าน" และผม "ฟันธง" ว่า หนังสือสำคัญเล่มหนึ่ง ที่เปลี่ยนชีวิตของเธอคือ "๗ อุปนิสัยสำหรับผู้ทรงประสิทธิผลยิ่ง" (The 7 Habits of Highly Effective People by Stephen R. Covey)  โดยเฉพาะอุปนิสัยที่ ๓ การจัดลำดับความสำคัญ (Put First Thing First; the habit of personal leadership) ที่เธอนำมาปรับใช้และถ่ายทอดในแบบของเธอ.. ดังจะได้กล่าวต่อไป

ผมเองเคยอ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว และประทับใจมากๆ แต่ตนเองไม่ค่อยได้นำมาปฏิบัติต่อเนื่องกับทุกเรื่อง อีกทั้งยังเป็นคนที่ไม่เข้มงวดกับตนเองนัก ชีวิตจึงไม่ได้เปลี่ยนไปเพราะหนังสือเล่มนี้ อย่างไรก็ดี สิ่งดีๆ ที่เราได้รู้เห็นในชีวิต แม้เราจะ"ไม่ได้เป็น" แต่เราก็น่าจะชี้บอกแนะนำต่อได้... นี่คือธรรมะข้อหนึ่งที่ผมยึดมั่นหลังจากที่ได้เรียนรู้ "ธรรมะแนวดูจิต" มาระยะหนึ่งจนเปลี่ยนชีวิตตนเอง

ดร.สตีเฟ่น โควีย์ แนะนำวิธีปฏิบัติในการจัดลำดับความสำคัญของกิจกรรมต่างๆ ในการดำเนินชีวิตด้วย ตารางเมตริกท์ ๒ แถว ๒ หลัก กำหนดองค์ประกอบของแถวเป็น "สำคัญ" และ "ไม่สำคัญ" องค์ประกอบของหลักเป็น "จำเป็น" และ "ไม่จำเป็น" ทำให้ได้องค์ประกอบของเมตริกท์ ดังนี้


ดร.สตีเฟ่น บอกว่า "การตัดสินใจ" ว่ากิจกรรมอะไรที่จะทำก่อนหลัง สำคัญ ไม่สำคัญ จะแตกต่างกันไปแล้วแต่ว่า ใครจะใช้อะไรเป็นศูนย์กลางของชีวิตระหว่าง การงาน เงินทอง ครอบครัว ความรัก(แฟน) เพื่อนฝูง สังคม ความรู้สึกของตน (ฯลฯ) หรือจะเป็นเหตุผลบนความเป็นจริง  เช่น
  • ถ้านิสิตกำลังจะไปเรียนหนังสือ แต่แฟนโทรมา บอกว่าเหงามาก อยากให้พาไปทานข้าว  นิสิต "ตัดสินใจ" ไม่ไปเรียน เลือกพาแฟนไปทานข้าว... แบบนี้เรียกว่า เอาความรักเป็นจุดศูนย์กลาง 
  • ถ้าคนโทรมาเป็นเพื่อน นิสิต "ตัดสินใจ" บอกว่า เอาไว้คราวหน้า ... แบบนี้เรียกว่า เอาเรื่องงานหรือหน้าที่เป็นศูนย์กลาง ณ ขณะนั้น 
  • ฯลฯ
เมื่อนิสิตมี "ศูนย์กลาง" เป็นอะไร ก็จะมีแนวโน้มที่จะใช้เวลาและทรัพยากรไปกับเรื่องนั้นๆ มาก ซึ่งคนส่วนใหญ่ ปล่อยให้กิจกรรมที่ตนเองทำในแต่ละวัน เลื่อนลอยไปกับสิ่งเร้าที่มากระทบ  ... ผมตีความว่า คนที่จะ "ตัดสินใจ" ได้ดี เป็นผู้มีประสิทธิผลยิ่งนี้ ต้องเป็นผู้มี "สติ" และ "สมาธิ" เป็นพื้นฐาน มีความ "พอประมาณ" กับศักยภาพของตน และเป็นผู้มี "เหตุผล" และ "ภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี" .... เหล่านี้ก็คือ ผู้มีอุปนิสัย "พอเพียง" นั่นเองครับ

ถ้าพื้นที่ของแต่ละองค์ประกอบของเมตริกท์แทนด้วยปริมาณเวลาที่ต้องใช้ไป ดร.สตีเฟ่น แนะนำว่า การจัดลำดับความสำคัญที่ดี ควรจะมีลักษณะดังภาพต่อไปนี้ 


พื้นที่ๆ (๒) คือ ให้เวลากับสิ่ง "สำคัญ" ที่ "ไม่เร่งด่วน" หมายถึง บริหารจัดการ วางแผน ทำตามแผน ปฏิเสธเรื่องไม่ได้อยู่ในแผนงาน เว้นเสียแต่จะจำเป็นจริงๆ  จะเห็นว่าพื้นที่ๆ (๓) น้อยที่สุด นั่นคือ สิ่งด่วนๆ ที่ไม่จำเป็น เช่น แฟนโทรศัพท์มาให้พาไปกินข้าว  (ไม่มีขาหรือไง บอกไปได้เลย...) ดื่ม เที่ยวกลางคืน ฯลฯ


คุณพริมยกตัวอย่างการนำวิธีของ ดร.โควีย์ มาปรับใช้ โดย เริ่มให้มองไปข้างหน้าว่า เป้าหมายในชีวิตของเราคืออะไร แล้วกำหนดไว้ให้มั่น ... (ช่างเหมือนกับที่ รศ.ดร.นารีรัตน์ กำลังพา "เด็กดีมีที่เรียน" ทำในสัปดาห์ที่แล้ว) แล้วก็วางแผนว่า อะไรจำเป็น ไม่จำเป็น อะไรเร่งด่วน ไม่เร่งด่วน เพื่อที่จะก้าวไปให้ถึงจุดนั้น ... ดังตัวอย่างที่เธอเสนอต่อน้องสองคนนั้น




ผมวิเคราะห์ว่า เป้าหมายของคุณพริมคือ "รวยเป็นเศรษฐี" เธอประทับใจข้อความในหนังสือเล่มหนึ่งที่บอกว่า "...หากอยู่ใกล้กับเศรษฐี ๑๐ คน เราจะเป็นเศรษฐีคนที่ ๑๑ แต่ถ้าอยู่ใกล้กับยาจก ๑๐ คน ตนเองจะกลายเป็นยาจกคนที่ ๑๑..." เธอต้องได้เป็นเศรษฐีแน่ และจะได้เป็นเศรษฐีที่ดีมากๆ ด้วย (ซึ่งหาพบได้ไม่มากนักในเมืองไทย) เพราะจิตอาสา ที่จะช่วยให้น้องๆ ได้พัฒนาตนเอง ดังที่เธอได้มาถ่ายทอดสู่น้องๆ ในวันนี้ ... ก็น่าจะเป็นเหตุการณ์ที่เป็นหลักฐานของ "คนดี" ในตัวเธอแล้ว...


วันพฤหัสบดีที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2557

CADL ขับเคลื่อน ปศพพ. ใน มมส. _ ๐๓ : เป้าหมายของชีวิตของคุณคืออะไร

วันพุธที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๕๗ กลุ่ม "เด็กดีมีที่เรียน" จัดกิจกรรมประจำสัปดาห์ เวลา ๑๘:๐๐ น. ถึง ๒๐:oo น. ณ ห้อง GE Learning ชั้น ๑ อาคารราชนครินทร์ (ตึก RN)


ก่อนอื่นขอชี้แจงเรื่องพระประธานที่มีการเปลี่ยนแปลง หลวงพ่อเจ็ดกษัตริย์ (พระพุทธสิริสัตตราช) ได้รับอัญเชิญให้ไปประดิษฐานตรงโถงทางเดินเข้าตึก HUSOC เรียนเชิญผู้ศรัทธายังสามารถไปกราบสักการะได้ ไม่ไกลจากเดิมนักครับ ... พระประธานองค์ที่เราใช้เคารพบูชาในระยะเวลานี้ ได้รับความเมตตาจากพระอาจารย์ภิรมย์ ผลิโก เจ้าอาวาสวัดป่ากู่แก้ว ท่านอนุญาตให้อัญเชิญมาชั่วคราว ระหว่างที่สำนักศึกษาทั่วไปดำเนินการจัดหาพระประธานประจำตึก RN ต่อไป


สัปดาห์นี้มีผู้มาร่วมกิจกรรม ๒๔ คน เป็นนิสิตชั้นปี ๑ ในโครงการเด็กดีมีที่เรียนเพียง ๕ คน ที่เหลือเป็นนิสิตชั้นปี ๒ ๓ ๔ และ ป.โท อุปสรรคสำคัญคือ กิจกรรม "พี่-น้อง" ของแต่ละคณะ ดังผลสำรวจที่นี่

สิ่งที่ต้องเรียกว่า "โชคดีจริงๆ" สำหรับผู้ที่มาร่วมวันนี้คือ การได้ร่วมพิจารณากำหนดเป้าหมายชีวิตกับกระบวนการของ รองศาสตราจารย์ ดร.นารีรัตน์ รักวิจิตรกุล อาจารย์ที่ปรึกษาชมรมพุทธศาสน์ ซึ่งท่านเสียสละเวลาอันมีค่ามาเป็น "กระบวนกร" เป็นวิทยาทาน ช่วยให้ทุกคนเริ่ม "คิดและกำหนดเป้าหมายของชีวิต" อย่างจริงจัง


กิจกรรมที่ ๑ ให้ "มโน"

หลังจากสวดมนต์ไหว้พระ รวบรวมสมาธิ เจริญสติ ตามสมควรแล้ว ท่านเริ่มกิจกรรมด้วยการสำรวจผู้เข้าร่วมฟังก่อน โดยย้ายที่นั่งกันให้เป็นหมดหมู่ เรียงเวียนขวา เริ่มตั้งแต่ ปี ๑ ๒ ... ไปจน ป.โท แล้วเชิญชวนให้พวกเราทุกคน นั่งสมาธิ หลับตา ในท่าที่สบาย แล้วให้ทุกคน "มโน" หรือ "จิตนาการ" ตามเสียงภาษาที่ท่านจะว่าไป...

 ...เรามาจากครอบครัวแบบใด คุณพ่อคุณแม่เราประกอบอาชีพอะไร เรามา มมส. เนี่ย... ลองจิตนาการซิว่า ... อีก ๔ ที่เราจะจบ หรือ ปี ๒ ปี ๓  ในอีก ๒-๓ ปี ข้างหน้าน่ะ เราจะทำอะไร เรียนจบแล้วจะไปตรงไหน จบแล้วจะทำอะไร ... วาดภาพจุดสูงสุดที่จะเป็นไปได้ เมื่อเราจบการศึกษา....คนที่เรียน ป.โท อยู่ก็ให้จิตนาการว่า อีก ๒ ปีเราจะไปอยู่ที่ไหน ...ภาพอนาคตที่เราต้องการ ที่เราอยากจะเป็นคืออะไร...  แล้วปล่อยให้ทุกคนได้ใช้ "จิตนาการ" อยู่กับตนเองประมาณ ๓ นาที



กิจกรรมที่ ๒ "นโม" 

หลังจาก "มโน" ท่านให้แต่ละคนได้ แนะนำตนเองและเล่าถึงสิ่งที่ตนเองได้ "นโม" (ตั้งไว้ในใจ) โดยใช้ ๓ คำถามเป็นเบื้องต้นก่อน ได้แก่ ชื่ออะไร เรียนสาขาอะไร พ่อแม่ทำอาชีพอะไร เป้าหมายในอนาคตหลังเรียนจบเป็นอย่างไร ...

ขอละรายละเอียดซึ่งเป็นข้อมูลส่วนตัว เกี่ยวกับ ชื่อ สาขาที่เรียน และอาชีพพื้นฐานครอบครัว  แต่ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดเป็น ลูก"เกษตรกร" ลูกชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ มีบ้างที่พ่อแม่ค้าขาย ที่น่า "ตระหนักใจ" คือ ไม่มีใครอยากจะเรียนไปเป็น "เกษตรกร" เลย... ต่อไปนี้คือภาพอนาคตอันใกล้ ที่แต่ละคนได้ตั้งไว้

จะไปสอบครู...จะไปเป็นปลัดอำเภอ...จะเป็นครูและสอนพิเศษ...อยากเป็นนักสิ่งแวดล้อม...เป็นอะไรก็ได้ขอให้ได้ทำงาน...อยากเป็นทนายความ...อยากเป็นทนายความหรือนิติกรและเป็นอัยการในอนาคตต่อไป...อยากทำธุรกิจ...อยากเรียนต่อเนติฯ ทนายความ... อยากเป็นข้าราชการ ตำรวจ ทหาร ... อยากจะไปเรียนต่อปริญญาโท อยากไปประเทศญี่ปุ่น... อยากเป็นผู้พิพากษา... อยากเป็นทนายความหรือนิติกร...อยากเป็นอัยการ...อยากเป็นข้าราชการครู... อยากเป็นนิติกร...อยากมีสตูดิโอทำงานศิลปะเป็นของตนเอง ...รับราชการอัยการ...อยากเป็นทหาร.. 

กิจกรรมที่ ๓  คำถาม "มั่นใจว่าสำเร็จกี่เปอร์เซ็นต์" 

คำตอบของเราแต่ละคน คือ...

๘๐, ๖๐, ๘๐, ๕๐, ๘๐, ๗๕, ๕๐, ๗๐, ๖๐, ๕๐, ๕๐, ๕๐, ๖๐, ๗๕, ๗๐, ๘๕, ๑๐๐, ๕๐, ๙๐

เฉลี่ยรวมกันจะได้ ๖๘ เปอร์เซ็นต์  แต่เมื่อท่านถามย้ำว่า ถ้าให้คิดให้ดี และเลือกเป้าหมายเพียงอย่างเดียว "เป้าหมายเดียว" ให้เลือกแค่หนึ่ง จะเอาอะไร แล้วให้แต่ละคนบอกใหม่ ว่ามั่นใจกี่เปอร์เซนต์ คำตอบเป็นดังนี้ครับ

๘๐, ๖๐, ๘๐, ๕๐, ๘๐, ๗๕, ๕๐, ๗๐, ๖๐, ๙๐, ๕๐, ๗๐, ๗๕, ๖๐, ๘๐, ๕๐, ๑๐๐, ๕๐, ๙๐

เฉลี่ยรวมกันจะได้ ๖๙ เปอร์เซ็นต์ (เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย) ... แสดงว่า ทุกคนค่อนข้างมั่นใจว่า ในคำตอบของตนเองพอสมควร

ท่านอาจารย์ บอกว่า ...ถ้าเธอบอกว่า ๕๐ หรือ ๖๐ เนี่ย.. เธอไม่สำเร็จหรอก เธอต้องตั้งใจ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ต้องตั้งเป้าหมายเดียว  ทางเลือกอื่นๆ ต้องรองลงมา และต้อง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ... ให้ทุกคนไป Reflect ตนเองว่า โอกาสน่ะแค่ไหน ขึ้นอยู่กับตัวเรากี่เปอร์เซ็นต์  ยกตัวอย่างเช่น 

...เธอจะเป็นครูภาษาไทย ตัวเธอเป็นต้นทุนในเรื่องนี้กี่เปอร์เซ็นต์ ต้นทุนภายนอกอะไรบ้าง ... เธออยากเป็นครูภาษาไทย แต่เธอมาเรียนนิติศาสตร์ ... ดังนั้น สิ่งที่เธอพูดขึ้นมาน่ะ อยากให้ไปวิเคราะห์ต่อ ...  ว่า ถ้าเธออยากจะเป็น ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ต้องทำอย่างไร...

...เธอที่อยากเป็นปลัดอำเภอน่ะ ถามว่าปีหนึ่งเขารับปลัดอำเภอกี่คน เด็กที่เรียนสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ปีหนึ่งมีกี่คน .. มีกี่มอ (มหาวิทยาลัย) แต่ละมอเรียนกี่คน.. เธอคูณเข้าไป...

...สิ่งที่ครูพูดวันนี้ คือ ต้องการให้เธอชัดในเป้าหมาย ...ต้องมีเป้าหมายหนึ่งเดียว... ชีวิตเธอตอนนี้ไม่มีเวลาเลื่อนลอย...เป้าหมายของเธอขึ้นอยู่กับตัวเธอ (เรา) กี่เปอร์เซ็นต์ ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อม (เขา) กี่เปอร์เซ็นต์...











กิจกรรมที่ ๔ มี "การบ้าน" 

สุดท้าย... ท่านได้มอบหมาย "การบ้าน" ให้ทุกคนนำกลับมาคุยกันต่อวันพุธหน้า  ผมคุยกับน้องอุ้มว่า ให้ฝาก "การบ้าน" ไปยังน้องๆ เพื่อนๆ และพี่ ป.โท ที่ไม่ได้มาร่วมวันนี้และจะมาในวันพุธหน้า ให้ได้ทำการบ้านมาทุกคน

การบ้านคือ ให้ทุกคนที่จะมาร่วมกิจกรรมในวันพุธหน้า ไป "สะท้อนตนเอง" หรือ "Reflection" ตนเอง ในประเด็นคำถามต่อไปนี้
  • เป้าหมายชีวิตของข้าพเจ้าคืออะไร ต้องเป็นเป้าหมายหนึ่งเดียวที่มั่นใจว่าจะสำเร็จ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ... อย่าง "มโน" เกินจริง อย่าเพ้อเจ้อ ...
  • เขียนบอกด้วยว่า ปีไหน เวลาใด คือให้บอก Timing ของเป้าหมายนั้นๆ จะต้องทำอะไรเมื่อไหร่ ปีไหน ถึงจะได้เป็นสิ่งที่เป็นตามเป้าหมาย 
  • ให้วิเคราะห์ "โอกาส" ที่จะบรรลุเป้าหมาย ต้นทุนมีอะไร ต้องรู้อะไรบ้าง ต้องมีทรัพยากร (รวมทั้งทุนทรัพย์) เท่าไหร่  
  • ให้วิเคราะห์เส้นทางสู่เป้าหมาย ต้องทำอะไร อย่างไร เมื่อไหร่ ปีไหน ถึงจะไปถึงเป้าหมาย
ท้ายสุด... ท่านย้ำว่า "การวางแผนที่ดีเท่ากับสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง"


วันเสาร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ค่านิยม ๑๒ ประการของคนไทย "ปรับใหม่"

ผมเห็นมีการปรับเปลี่ยน "ค่านิยม ๑๒ ประการของคนไทย" (ที่เคยเขียนบันทึกไว้ที่นี่) ผมเข้าใจว่า เพื่อให้ "จำง่าย" ให้ "เป้าหมายชัด" จึง "ตัด" และ "จัด" คำให้สั้นและคล้องจอง ... เพื่อให้ผมเอง "จำได้" เพื่อใช้ในการขับเคลื่อน "ความดี" ของ "เด็กดีมีที่เรียน" ต่อไป จึงสร้างภาพนี้ขึ้น อาจจะมีประโยชน์...

ผมจัดคำใหม่ ให้เป็นหมวดหมู่มากขึ้น ได้ตาม ๓ บรรทัดล่าง สรุปแล้ว... ผมว่ารัฐบาลประสงค์จะ
  • ให้ทุกคนรักชาติ นับถือศาสนา เคารพเทิดทูนพระมหากษัตริย์ และภูมิใจในความเป็นไทย
  • ให้ลูกหลานเยาวชนใฝ่เรียนรู้ กตัญญู ซื่อสัตย์ เสียสละ อดทน เข้มแข็ง และแข็งแรง
  • เดินตามคำสอนในหลวง เรียนรู้ศึกษาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และน้อมนำไปใช้ในการดำรงชีวิต
..... แม้....ไม่อาจเทียบหนึ่งในล้าน ลูกขอตั้งปณิธาน สานสิ่งที่พ่อสร้างไว้ จะขอ...เดินตามรอยเท้าพ่อไป เหนื่อยยากเพียงไหน ไม่ทำให้พ่อผิดหวัง....


วันพุธที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2557

CADL ขับเคลื่อน ปศพพ. ใน มมส. _ ๐๒ : เจตน์จำนงค์

วันอังคารที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๗ กลุ่ม "เด็กดีมีที่เรียน" จัดกิจกรรมประจำสัปดาห์ เวลา ๑๘:๐๐ น. ถึง ๒๐:oo น. ณ ห้อง GE Learning ชั้น ๑ อาคารราชนครินทร์ (ตึก RN) สมาชิก "จิตอาสา" ที่มารวมกันวันนี้ นอกจากรุ่นน้อง "เด็กดีมีที่เรียน" แล้ว ยังมีรุ่นพี่ปี ๒-๓-๔ และรุ่นพี่ ป.โท มาร่วมขับเคลื่อนฯ "ความดี" ในมหาวิทยาลัย


สัปดาห์นี้เราคุยกันเรื่อง "เจตน์จำนงค์" ผมชวนคุยเรื่องสำคัญนี้ เพราะสมาชิกส่วนใหญ่ที่มาร่วมกิจกรรมวันนี้เกือบทั้งหมดเป็น "รุ่นพี่" และ รุ่นน้องปี ๑ ที่จัดได้ว่าเป็นนิสิตแกนนำ ที่จะร่วมกัน "ขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง"

"พิธีกรรมกระบวนการ" ที่ทำกันวันนี้ เริ่มที่การสวดมนต์ไหว้พระ ทำวัตรเย็นเช่นเคย บทมนต์คาถาที่เราสวดเป็นประจำ ได้แก่
ผมเสนอว่า เราควรจะมาเรียนรู้ "ความหมาย" และ "เป้าหมาย" ของการสวดมนต์และคาถามเหล่านี้ให้ดี  ผมชวนให้ อุ้ม (ประธานแกนนำ) เรียนเชิญ "อาจารย์แม่" (รองศาสตราจารย์ ดร.นารีรัตน์ รักวิจิตรกุล) มาร่วมสวดมนต์กับเราในสัปดาห์ถัดไป เพื่อเราจะได้เรียนถาม "เกร็ดธรรม" เรื่อง "อานิสงส์" ของการสวดมนต์ ต่อไป (ขณะที่เขียนบันทึกนี้ มีข่าวดีว่า ท่านรับปากแล้วว่าจะมาร่วมกับเรา)

ดังที่บอกไว้ กลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่วันนี้คือ "รุ่นพี่" และ "แกนนำขับเคลื่อน"  วง PLC ที่ดีต้องมี "เป้าหมายร่วม" หรือ "วิสัยทัศน์ร่วม" เพื่อนำไปสู่ "ค่านิยมร่วม" กัน ผมในฐานะ "วิทยากรกระบวนการ" หรือ "กระบวนกร" จึงออกแบบทันที ปรับเอากิจกรรมทำ "เจตน์จำนงค์" ที่เคยเรียนรู้จากเวทีอาจารย์ชัยวัตน์ ถิระพันธ์ มาใช้ทันที

พวกเราแบ่งกันออกเป็นกลุ่มๆ ละ ๓-๔ คน รับอุปกรณ์เป็น "กระดาษร่วมใจ" ๑ แผ่น (กระดาษปลู๊ฟ) และสีชอร์ค ๑ แผ่น ใช้เวลา ๑๕ นาที ให้พูดคุยกันในกลุ่มว่า "เจตนา" และ ความ "จำนงค์" หรือวัตถุประสงค์ ที่เรามารวมกัน ไม่ใช่เฉพาะวันนี้ แต่เป็นกิจกรรมดีๆ ที่เราจะร่วมกันทำไปทั้งหมดในภายหน้า แล้วสรุปเป็น "รูปภาพ" ที่นำเสนอ "เจตนา และ ความประสงค์" หรือเรียกว่า "เจตน์จำนงค์" ของเราคืออะไร









 แล้วก็มานั่งล้อมวงนำเสนอและแนะนำตัวกัน



กลุ่มแรกแม้เวลาจะจำกัด แต่ "เจตน์จำนงค์" ชัดว่า เราจะใช้กลุ่มนี้ เป็นที่ปลูกฝังและบ่มเพาะความดีด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา เพื่อความก้าวหน้าอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับโลกที่เปลี่ยนไป


กลุ่มที่ ๒ จากน้องบัญชีและการจัดการ บอกว่า เราต้อง "ร่วมมือ" กันใช้กลุ่มนี้สร้างความดีให้เป็น "กิจวัตร" ตอนเช้ามีการทำบุญตักบาตร ตอนเย็นมีไหว้พระสวดมนต์ มีกิจกรรมไป "พัฒนา" และ "ประชาสัมพันธ์" ให้ "คนดี" มารวมกันทำความดีเยอะๆ ... ในฐานะที่พวกเขาอยู่ชมรมพุทธศาสน์ จะมาช่วยงานเต็มที่....



รุ่นพี่ ป.โท บอกว่า เราควรเริ่มจาก "ตนเอง" เริ่มจากการฝึกฝนเรียนรู้วิธีการอยู่ให้ได้ด้วยตนเอง "พึ่งตนเอง" จากประสบการณ์ของพี่ๆ เราควรส่งเสริมความดีในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่การออม การรักษาสุขภาพ หวังดีต่อตนเองและผู้อื่น เช่น เราสามารถหารายได้ระหว่างดำเนินชีวิตในมหาวิทยาลัย ได้ด้วยการ ทำ "แซนวิชเพื่อสุขภาพ" ไปขาย นอกจากทำให้คนหันมากินอาหารปลอดสารพิษ และมีรายได้ตามสมควร แล้ว ยังได้ช่วยฝึกทักษะชีวิตและการทำงานของตนเองด้วย


ผมและน้องอุ้ม ในฐานะที่ทำงานเป็นผู้ประสานงาน เปรียบ "เจตน์จำนงค์" ของเราว่า จะเป็นเหมือน "เสาหลัก" ในการรวบรวม "คนดี" และ "ความดี" จากทุกคณะ หน่วยงาน ที่พอจะประสานได้  ให้เวทีนี้กลายเป็นเหมือน เทียนพรรษา ที่จุดเมื่อไรจะให้กำลังแสงส่องสว่าง นำทางไปสู่ "ปัญญา" ตาม "ปรัชญา" ของมหาวิทยาลัยต่อไป


กลุ่มรุ่นพี่ปี ๒-๓ บอกว่า ต้องเอาคำว่า "ส่วนรวม" เป็นสำคัญ คือนิยาม "ความดี" คือการทำเพื่อส่วนรวม ฝึกฝนให้ตนและเป็นปัจจัยให้คนอื่น "เห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน"


กลุ่มพี่ปี ๔ นิติศาสตร์ บอกว่า ขอนำเสนอตัวอย่าง เป้าหมายของกลุ่มตน ซึ่งแต่ก่อนแต่ละคนในกลุ่มอาจแตกต่าง แต่วันนี้เรามีเป้าหมายเดียวกัน คือ เราจะเป็น "ศาลยุติธรรม" ทำงานเป็นที่พึ่งด้านความเป็นธรรมในสังคม


น้องมายด์ตัวแทนกลุ่มสุดท้าย บอกว่า เราทุกคน จะมาร่วมกัน ฟันฝ่าอุปสรรคตามลำดับขั้น ไปสู่ความสำเร็จ ความฝันของแต่ละคน ในคือ "ประสบความสำเร็จในชีวิต"











ขั้นตอนสุดท้ายคือ การนำ "เจตน์จำนงค์" ของทุกกลุ่มมาเป็นองค์ประกอบของ "เจตน์จำนงค์ร่วม" รวมไว้ในใจ  เราร่วมกันสรุปได้ว่า

"เราจะมาปลูกฝังและบ่มเพาะความดีด้วยการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการทำวัตรปฏิบัติกิจกรรมความดีอย่างสม่ำเสมอ เพื่อฝึกฝนตนให้พึ่งตนเองได้ ร่วมไม้ร่วมมือกันทำความดีเพื่อส่วนรวม ยึดมั่นความเป็นธรรม ก้าวไปสู่ความสำเร็จในชีวิตร่วมกัน"

"เด็กดีมีที่เรียน" ที่เข้ามาอ่าน อาจารย์อยากเชิญชวน ให้สร้างบล็อคบน www.gotoknow.org แล้วมาเขียนแลกเปลี่ยนแบ่งปันความดีกันครับ ....

วันพฤหัสบดีที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2557

CADL ขับเคลื่อน ปศพพ. ใน มมส. _ ๐๑ : กิจกรรมประจำสัปดาห์

สืบเนื่องต่อจากที่ CADL ได้จัดค่ายรวบรวมแกนนำเมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา (อ่านที่นี่)

วันพุธที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๕๗ เวลา ๑๘:๐๐ - ๒๐:๐๐ น. กลุ่มนิสิตในโครงการ "เด็กดีมีที่เรียน" ส่วนหนึ่งมารวมร่วมกันสวดมนต์ไหว้พระ ทำวัตรเย็น ก่อนจะสนทนาหารือเกี่ยวกับการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษาในมหาวิทยาลัย

จากซ้ายไปขวามือ : ป๊อป นิติฯ,สปาย นิติฯ,แซ็ค, เจน ศึกษาปฐมวัย,โจ วิลัยการเมืองฯ ,อุ้ม สารสนเทศ,ดา เทคโนชีวภาพ ,น้อง สิ่งแวดล้อมฯ,บี้ เทคโนฯ,แป้ง เทคโนฯ ,เอ้ เทคโนฯ

นิสิตแกนนำฯ ที่มาร่วมในการ "สนทนา" ครั้งแรกนี้มี ๑๑ คน นิสิตส่วนใหญ่ไม่สามารถมาร่วมได้เพราะ นิสิตปีหนึ่งกำลังซ้อมแสตนด์เชียร์สำหรับแข่งขันในวัน "กีฬาราชพฤกษ์" ซึ่งกำลังจะเริ่มขึ้น (กีฬา freshy ประจำปีของมหาวิทยาลัย)



เราร่วมกันทำ BAR ไว้ล่วงหน้าตลอดปีนี้ว่า เราควรจะใช้พื้นที่นี้ทำอะไร อย่างไร ประเด็นความเห็นเด่น เป็นดังนี้ครับ
  • เราควรเริ่มจากตนเองก่อน ในการศึกษา "หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" ด้านการศึกษา 
  • เราจะใช้พื้นที่นี้ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การน้อมนำหลักปรัชญาฯ ไปใช้ในชีวิตประจำวันของตนเอง 
  • สิ่งสำคัญคือ "แรงบันดาลใจในการทำความดี" พื้นที่นี้ควรเป็นที่ "เสริมแรง สร้างพลัง" ให้กับทุกคน ได้ฝึกฝนตนเองผ่านการทำความดี 
  • เราจะร่วมกันขยายผล (ขับเคลื่อนฯ) ไปยังเพื่อนนิสิตในมหาวิทยาลัย อย่างค่อยเป็นค่อยไป เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ
  • สิ่งสำคัญคือ ต้องศึกษาเรียนรู้ให้ถึงแก่น ถึงเหตุ ถึงผล ที่แท้จริงของกิจกรรมที่ทำเป็น "วัตร" ของคนในสังคม เพื่อแยกให้เห็นว่า อะไรมี "คุณค่าแท้" เป็น "กระแสดี" หรือมีเพียง "คุณค่าเทียม" ของทุนนิยมแบบบริโภคสุดกู่ .... เพื่อให้ "รู้เหตุ รู้ผล รู้ตน รู้ประมาณ รู้กาลเวลา รู้บุคคล รู้ชุมชน" ต่อไป 
  • ผมเสนอว่า เราจะอยู่นอก "กระแส" ได้ เราต้อง "เห็นกระแส" เริ่มต้น เราต้องเรียนรู้ "รูปแบบ" ให้เข้าถึง "ไร้รูปแบบ" เพื่อที่จะ "ริเริ่มรูปแบบ" ใหม่ให้กับสังคมและตนเอง
  • ใช้พื้นที่ในโครงการนี้เป็นที่ "สั่งสม" ความดี
อ่านรายละเอียดที่นี่

 ตอนท้ายของกิจกรรม เรา AAR กันว่า
  • เจอกันเพื่อมาร่วมเรียนรู้แลกเปลี่ยนในกิจกรรมประจำสัปดาห์
  • กิจกรรมเรียนรู้จาก "ผู้รู้" "ครู" "ปราชญ์" หรือ "พระอาจารย์" ประจำเดือน
  • ร่วมกันขับเคลื่อนฯ ผ่านกิจกรรมจิตอาสา ภายในผ่านกิจกรรมพัฒนานิสิต ภายนอกผ่านเครือข่ายพัฒนาการศึกษา (เป็นกิจกรรมประจำโอกาส)
  • จัดค่ายรับน้อง "เด็กดีมีที่เรียน ประจำปี" 
.... ผมมีความสุข และรู้สึกว่าตนเอง "ชีวิตมีคุณค่า" มากขึ้นหลังจากที่ได้มาร่วมและรู้จักนิสิตในโครงการเด็กดีมีที่เรียน ขอบคุณ "ความดี" ที่เราได้ร่วมกันทำในวันนี้ ....

วันอังคารที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2557

เรียนรู้คุณลักษณะของนิสิตที่พึงประสงค์ จากคำแนะนำของ "ผู้ใหญ่" ในมหาวิทยาลัย

วันนี้ (๗ ตุลาคม ๒๕๕๗) ผมมีโอกาสได้เข้าเยี่ยมอาจารย์ผู้ใหญ่ในมหาวิทยาลัยท่านหนึ่ง ท่านเป็นหนึ่งในอาจารย์ (ที่ผมเข้าใจว่ามีจำนวนไม่มาก) ที่เน้น "คุณค่าแท้" มากกว่า "คุณค่าเทียม" จากการสนทนากับท่าน ทำให้ผมมั่นใจมากขึ้น ว่าสิ่งที่เราคิดเรื่องการพัฒนานิสิตในมหาวิทยาลัยนั้นต้องให้ความสำคัญกับรายวิชาศึกษาทั่วไปนั้นถูกต้องแล้ว  สิ่งที่ท่านปรารภเป็นแนวทางในการพัฒนาคุณลักษณะของนิสิตนั้น สะท้อนการคิดอย่างองค์รวมและชี้ตัวอย่างชัดเด่นจนเห็นรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ  ... เสียดายที่สถานที่ไม่เหมาะที่จะนำเสนอรูปเหตุการณ์ ... แต่อย่างไรก็ดี มุมมองและคำแนะนำดีๆ ของท่าน ควรจะถูกนำมาเผยแพร่เป็นที่สุด

ท่านบอกว่า ....

  • วิชาศึกษาทั่วไป ไม่ใช่วิชาที่จะมาลงเรียนให้ผ่านๆ ไป ใครก็สอนได้ แต่ต้องเป็นใช้กิจกรรมการเรียนการสอนในรายวิชาเหล่านี้เพื่อให้นิสิตได้เรียนรู้ "รากเหง้า" อารยธรรม ความเป็นมาของตนเอง รู้จักภูมิปัญญา รู้จักปัญหาของตนเอง ครอบครัว สังคม... ผมคิดว่าหากเราทำได้อย่างท่านแนะนำ จะทำให้นิสิตของเราภูมิใจในตนเอง ภูมิใจในท้องถิ่น ชุมชน ภูมิใจที่ได้เป็นคนไทย 
  • ส่วนด้านกายภาพ นิสิต้องรู้จักร่างกาย รู้เรื่องสมอง รู้จักดูแลรักษาร่างกาย สุขภาพ ... ท่านคงหมายถึง "กินเป็น" "อยู่เป็น" 
  • การจัดการเรียนรู้ควรเป็นไปอย่างบูรณาการ  แต่ละคณะ แต่ละวิชา มาร่วมกันคิดว่า ว่าจะช่วยกันอย่างไรให้นิสิตมีทักษะชีวิต ทักษะพื้นฐาน เช่น การใช้สิ่งของเครื่องใช้ การนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างเหมาะสม  
    • บางคนเห็นในห้องมีแอร์ ๒ ตัว เข้าใจว่า เปิดตัวเดียวดีกว่า จะประหยัดกว่า ... ผลคือแอร์ตัวนั้นทำงานหนักเกินพัง....
    • บางคนไม่รู้จักเรื่องสายดิน เสียบต่อสายไฟง่ายๆ ไม่เป็น  .... ทำอย่างไรจะทำให้นิสิตมีความรู้เบื้องต้นแบบนี้ 
    • เมื่อมีผู้เจ็บป่วย สามารถช่วยเหลือเบื้องต้นได้ไหม 
    • ในชีวิตจะมีอันตรายอะไรบ้าง จะป้องกันอย่างไร 
    • ฯลฯ
  • เรื่องภาษาอังกฤษ ควรเน้นไปที่การจัดการเรียนรู้ให้นิสิตสามารถ สื่อสารได้ พูดได้ สนทนาได้  จัดเนื้อหาให้เหมาะสม  และจัดกิจกรรมเสริมเพิ่ม จัดให้นิสิตที่มีความสามารถได้เข้ามามีส่วนร่วม เพื่อจัดให้นิสิตทุกคนได้ฝึกทักษะจริงๆ ไม่ใช่เรียนทฤษฎีแกรมม่าอย่างเดียว 
ผมตีความแบบสรุปจากการสนทนาครั้งนี้่ ว่าการพัฒนา GE นั้น ต้องมีทั้ง "ปรัชญา" และ "ปัญญา"  ต้องมีทั้ง "ศาสตร์" (วิทย์) และ "ศิลป์"  ทุกคนต้องมองว่าเราทำเพื่อมหาวิทยาลัย ทำเพื่อองค์กร และที่สำคัญคือเพื่อนิสิตนั่นเอง ....

วันอาทิตย์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2557

" พลังแผ่นดิน " ตีความบนฐานความเข้าใจ จาก "สไลด์" จากทหาร (คสช.)

ผมได้รับโทรศัพท์จากพี่ที่ผมเคารพคนหนึ่ง ท่านไปทำบุญที่สุรินทร์ พบแม่ชีผู้มีจิตอาสา ท่านกำลังพัฒนาเยาวชนของชาติ ผมคิดว่า ฟันเฟืองเล็กๆ แบบนี้ จำนวนมากๆ จะเป็นปัจจัยของความสำเร็จในการปฏิรูปประเทศ พี่บอกว่าแม่ชีอยากจะได้ความรู้ความเห็นเกี่ยวกับ "พลังแผ่นดิน" ผมอยากช่วยท่าน แต่คงจะไม่มีความรู้อะไรมาก คงเป็นเพียงความเห็นของผู้หวังดีต่อประเทศนี้คนหนึ่งเท่านั้น



ทันทีที่รับปากพี่ที่ผมเคารพว่าจะเขียนตีความสไลด์ข้างบน สิ่งแรกที่ผมคิดถึงคือชื่อของในหลวง "ภูมิพล" แปลว่า "กำลังของแผ่นดิน"

(ขออนุญาตคัดลอกบันทึกบางส่วนของ อ.วาสวัสดิ์  ที่นี่ ว่า...)

ดังที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เคยมีรับสั่งกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถึงความหมายของพระนาม "ภูมิพล" ไว้ว่า "อันที่จริงเธอก็ชื่อภูมิพล ที่แปลว่า กำลังของแผ่นดิน แม่อยากให้เธออยู่กับดิน" ต่อมาภายหลัง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชปรารภถึงสิ่งที่สมเด็จพระบรมราชชนนนีเคยรับสั่งว่า "เมื่อฟังคำพูดนี้แล้วก็กลับมาคิด ซึ่งแม่ก็คงจะสอนเรา และมีจุดมุ่งหมายว่า อยากให้เราติดดินและอยากให้ทำงานให้ทำงานแก่ประชาชน"

สไลด์บอกว่า "พลังของแผ่นดิน" ในที่นี้มี ๕ องค์ประกอบได้แก่
  • คน คือ ประชาชน-ผู้นำทุกระดับ (ทั้งที่เป็นผู้นำตามกฎหมายและผู้นำตามธรรมชาติ) ... ผมตีความว่า แม่ชีที่ท่านกำลังขับเคลื่อนเรื่องนี้ คือ ผู้นำตามธรรมชาติ 
  • ศาสนา  โดยใช้ ธรรมะในการเตือนสติคน และใช้ในการปลูกฝังให้เป็นคนดี .... ผมว่าองค์ประกอบข้อนี้ แม่ชีจะมีความถนัดและศักยภาพที่สุด
  • สติปัญญา  ผ่านวิสัยทัศน์ ภูมิปัญญา วัฒนธรรม ประเพณี (รู้หรือไม่รู้ ไม่ใช่โง่หรือฉลาด)
  • ทรัพยากรธรรมชาติ  ถือเป็นจุดแข็งที่ ประเทศไทยตั้งอยู่บนสุวรรณภูมิที่เหมาะสม
  • ความเอื้อเฟื้อ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของประชาชนชาวไทย ที่ไม่มีในต่างประเทศ 
อีกสิ่งหนึ่งที่ "แว๊ป" เข้ามาในหัว ระหว่างเขียนถึงบรรทัดนี้ คือ หลักการทำงานที่ รัฐบาลใหม่ประกาศต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติในวันแถลงนโยบาย ๑๑ ข้อของรัฐบาลชั่วคราว ท่านนายกฯ บอกว่า จะยึดหลัก "เข้าใจ เข้าถึง และ พัฒนา"  (อ่านที่นี่)  และนึกถึงคำพูดของ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ที่บอกว่า ตอนในหลวงทรงงานทางภาคเหนือ ท่านใช้คำว่า "รู้ รัก สามัคคี" ซึ่งมีความหมายสอดคล้องกับ "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" ดังที่รัฐบาลน้อมนำมาเป็นหลักในการปฏิรูปประเทศ

ผมตีความว่า องค์ประกอบข้อแรก เรื่อง "คน" หมายถึง ความสามัคคี  กล่าวคือ การปฏิรูปจะสำเร็จได้ ประชาชน และผู้นำทุกระดับ ต้องสามัคคี เสียสละ เห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว ... ขออนุโมทนาบุญกับแม่ชีที่ท่านมาทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง กับเยาวชนไทย  ซึ่งผมถือว่าเป็น "หัวใจ" และ "ไขกระดูก" ที่ต้องกลั่นกลางสร้างเม็ดเลือดใหม่ให้กับประเทศนี้ ....  แน่นอนว่า สิ่งที่ต้องปลูกฝังเข้าไปในหัวใจของพวกเขาคือ "ความสามัคคี"

องค์ประกอบด้านศาสนา ไม่ขอนำมะพร้าวห้าวมาขายสวน  แม้ว่าอยากจะให้ท่านช่วยอ่านการตีความ ค่านิยม ๑๒ ประการ ที่ผมเขียนไว้ที่นี่

องค์ประกอบอีก ๓ ประการ คือ สติปัญญา ทรัพยากรธรรมชาติ และ ความเอื้อเฟื้อ ผมเห็นเป็นส่วนหนึ่งของการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ปศพพ.) และหลักการทรงงานของในหลวง มาปรับใช้ในการปฏิรูปประเทศ ดังนี้

ในการทำสิ่งใดๆ นั้น ต้อง "รู้" ("เข้าใจ") ตั้งแต่ รู้จักตนเองทั้ง ๔ มิติ (วัตถุ/เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม) จนถึงการมีองค์ความรู้ และหลักวิชาต่างๆ ซึ่งถือเป็นงื่อนไขตามหลัก ปศพพ. กล่าวคือ ต้องใช้สติปัญญา กำหนดวิสัยทัศน์ให้เหมาะสมกับตนเอง เหมาะกับศักยภาพและความต้องการของตนเอง องค์ประกอบของ "พลังแผ่นดิน"  ด้านทรัพยากรธรรมชาติ ที่บอกว่าประเทศเราตั้งอยู่ในภูมิประเทศที่เปรียบเหมือน "สุวรรณภูมิ" นั้น ถือเป็นมิติด้าน วัตถุและสิ่งแวดล้อม  องค์ประกอบข้อสุดท้าย ที่ระบุถึง "ความเอื้อเฟื้อ" ว่าเป็นเอกลักษณ์ ถือเป็นผลจากการพิจารณาตนเองในมิติของสังคม

คำว่า "รัก" และ "เข้าถึง" หมายถึง การเห็นคุณค่าตนเอง เห็นความสำคัญและภูมิใจต่อสิ่งต่างๆ ที่ตนเองมี ตนเองเป็น ในทีนี้หมายถึง รักและหวงแหนทรัพยากร ภูมิปัญญา วัฒนธรรม ประเพณีไทย  รักชาติ มีศรัทธาและมีปัญญาในศาสนา 

สำหรับผมแล้ว "พลังแผ่นดิน" ที่เรากำลังกล่าวถึงนี้ คือ "พลัง" จาก "พระมหากษัตริย์" ของเรานั่นเอง



วันศุกร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2557

ค่านิยม ๑๒ ประการ ของคนไทย (คสช.)

หากใครกำลังทำหน้าที่หรือมีอุดมการณ์ที่จะพัฒนาคน หรือพัฒนาการเรียนรู้ของเยาวชน เพื่ออนาคตของ "มหาชน" หรือ "คนไทย" ต่อไปในภายหน้า คงจะรู้ว่า อะไรคือ ค่านิยมที่พึงประสงค์ของ "คนไทย" ที่ คสช. ประกาศให้เป็นแนวทางร่วมกันในการ "ฟื้นฟู" ประเทศ

ผม ขอคัดลอก ค่านิยมหลัก ๑๒ ประการ ที่หัวหน้า คสช. ได้ประกาศไว้ และเผยแพร่ทั่วไปในสื่อสิ่งพิมพ์ ดังนี้ (ขอบคุณหนังสือพิมพ์ไทยรัฐออนไลน์ ที่นี่)

1.รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.ซื่อสัตย์ เสียสละ อดทน มีอุดมการณ์ในสิ่งที่ดีงาม-เพื่อส่วนรวม
3.กตัญญูต่อพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูบาอาจารย์
4.ใฝ่หาความรู้ หมั่นศึกษาเล่าเรียน
5.รักษาวัฒนธรรมประเพณีไทยอันงดงาม
6.มีศีลธรรม รักษาความสัตย์ หวังดีต่อผู้อื่น เผื่อแผ่และแบ่งปัน
7.เข้าใจเรียนรู้การเป็นประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่ถูกต้อง
8.มีระเบียบวินัย เคารพกฎหมาย ผู้น้อยรู้จักเคารพผู้ใหญ่
9.มีสติ รู้ตัว รู้คิด รู้ทำ รู้ปฏิบัติ ตามพระราชดำรัสพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
10.รู้จักดำรงตนอยู่ โดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
11.มีความเข้มแข็งทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่ยอมแพ้ต่ออำนาจฝ่ายต่ำหรือกิเลส มีความละอายเกรงกลัวต่อบาปตามหลักของศาสนา
12.คำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวมและต่อชาติมากกว่าผลประโยชน์ของตนเอง

และนำมาเสนอเป็นภาพดังนี้


 ถ้าลองแบ่งค่านิยมทั้ง ๑๒ ประการ ออกเป็น ๓ ส่วน ที่เกี่ยวข้องกับ ๓ ฐาน ของการเรียนรู้และแสดงพฤติกรรมของมนุษย์ ได้แก่ ฐานใจ ฐานคิด และฐานกายหรือ ใช้คำให้ง่ายขึ้นว่า "จิต" "คิด" และ "ทำ" จะสังเกตได้ว่า ค่านิยมที่เกี่ยวข้องกับ "จิต" ซึ่งเป็น "ระดับบุคคล" ซึ่งคนไทยทุกคนต้องมี "ประจำตน" ไว้ ขยายความออกมาจาก "พุทธธรรม" ทั้งหมด
  • มีสติ (สติรู้ตัว สติรู้คิด สติรู้ทำ)
  • กตัญญู (ความกตัญญูเป็นเครื่องหมายของคนดี)
  • หิริโอตัปปะ (ละอายและเกรงกลัวต่อการทำบาป)
  • ฆารวาสธรรม ๔ 
    • สัจจะ = ความซื่อสัตย์ การรักษาความสัตย์
    • ทมะ = การข่มใจ ไม่ยอมแพ้ต่ออำนาจฝ่ายต่ำ
    • ขันติ = ความอดทน
    • จาคะ = การเสียสละ
  • ใฝ่เรียนรู้
ส่วนระดับ "ชุมชน" หรือ "สังคม" ที่เน้นการอยู่ร่วมกัน เน้น ๒ ประการคือ
  • เคารพกฎระเบียบ และมีวินัย 
  • เข้าใจเรียนรู้ประชาธิปไตยที่ถูกต้อง
และในระดับ "ประเทศ" หรือ "ชาติ"  ซึ่งเน้นเป็นพิเศษ เรื่อง การเห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว และการรักษาวัฒนธรรมไทย รักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์

ทั้งหมดทั้งมวล รวมลงตรง "รอยเท้าช้าง" คือ การรู้จักดำรงตนอยู่ในหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง

หรือเรียกให้สั้นๆ ว่าอุปนิสัย "พอเพียง" นั่นเอง ....





วันจันทร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

รายวิชาศึกษาทั่วไป : มนุษย์กับการเรียนรู้ _๐๑

วันที่ ๑๔ บ่าย - ๑๕ เช้า ของเดือน กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ เราชาวผู้สอนรายวิชา "มนุษย์กับการเรียนรู้" ได้จัดเวที "ถอดบทเรียน" แลกเปลี่ยนประสบการณ์งานสอนที่ผ่านมา ผมเองไม่ได้มีอะไรไปแลกเปลี่ยนมากนัก เพราะเทอมนี้ไม่ได้เป็นผู้สอน ... แต่เทอมหน้าผมพิจารณาดีแล้ว หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงแบบ "เปลี่ยนสี" ผมจะทำให้ดีที่สุดในฐานะผู้สอน....

เราพูดคุยกันหลายเรื่องครับ คุยไปคุยมา จนตกผลึกว่า เทอมหน้าเราจะ เน้น "สอนคน สอนชีวิต" โดยไม่ยึดติดกับตำรา หรือ วิชาทฤษฎี โดยมีโครงสร้างดังรูปนี้ครับ



แบ่งโครงสร้างรายวิชาเป็น ๒ ช่วง ๕ ขั้นตอน ดังนี้

ช่วงที่ ๑ ในห้องเรียน

ช่วงนี้เน้นการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนหรือสถานที่ภายในมหาวิทยาลัย วัตถุประสงค์หลักคือ ทำให้นิสิตได้เรียนรู้หลักการเรียนรู้ และทักษะสำคัญๆ ที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ร่วมกันผู้อื่น โดยเน้นการเรียนผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่ทีมผู้สอนเลือกใช้ตามความเหมาะสม โดยพิจารณาจากความพร้อมของนิสิตขณะนั้นๆ  การเรียนในช่วงนี้แบ่งออกเป็น ๔ ขั้นตอน ได้แก่
  • ขั้นที่ ๑ สร้างพื้นที่ปลอดภัย  หมายถึง สร้างพื้นที่ๆ เหมาะสมให้ "ใจ" ของนิสิตพร้อมที่จะเรียนรู้ร่วมกัน  และให้ทุกคนรู้เป้าหมายแบะกระบวนทัศน์ของรายวิชา ก่อนจะจัดแบ่งกลุ่มเพื่อเรียนรู้ทีมและหน้าที่ต่อไป 
  • ขั้นที่ ๒ ต้องปูพื้นเรื่อง "การฟัง" และ "สุนทรียสนทนา" เพราะสองทักษะนี้คือพื้นฐานและเป็นต้นทางของการเรียนรู้ร่วมกันของสังคม... หากเรียนรู้วิธีฟังได้จนเข้าถึง "เสียงจากภายใน" ก็ถือได้ว่า "ใจ" พร้อม "เริ่ม เรียน รับ" สำหรับทุกอย่างแล้ว 
  • ขั้นที่ ๓ ตามด้วยการ "ฝึก" คือลงมือเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติทั้งฐานกาย ฐานคิด และฐานใจ ผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่ผู้สอนออกแบบให้ในเบื้องแรก หากเป็นไปตามความคาดหวัง นิสิตจะมีพลังสมาธิ มีสติตื่นรู้ (อย่างน้อยในเบื้องต้น) และหากฝึกฝนหนักเข้า เขาอาจจะเปลี่ยน "กระบวนทัศน์" ได้เลยทีเดียว....ซึ่งเรียกได้ว่า "รู้จักตนเอง"
  • ขั้นที่ ๔ เรียนรู้ผู้อื่น ด้วยกิจกรรมนำปฏิบัติตามหลักของ "จิตตปัญญาศึกษา" เพื่อพัฒนาทักษะ 7C และ 2L โดยเฉพาะ Learning และ Leadership ซึ่งก็คือ การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงนั่นเอง .....
ช่วงที่ ๒ นอกห้องเรียน

ช่วงนี้ผู้สอนมุ่งส่งเสริมและออกแบบ "กระบวนการ" ให้นิสิตที่ได้เรียนรู้ผ่านทักษะย่อยๆ ต่างๆ ที่ผ่านมา ได้นำเอาทักษะเหล่านั้นมาบูรณาการปรับใช้ในชีวิตจริง สถานการณ์จริงๆ ของชีวิต คือเน้นให้นิสิตได้ "เรียนชีวิต" นำสิ่งที่ได้เรียนใน "วิชา" ออกไปทดลองแก้ปัญหาชีวิต โดยเน้นให้ทำงานกันเป็นกลุ่มเพื่อพัฒนาทักษะการทำงานเป็นทีม อันเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในชีวิตจริงในศตวรรษที่ ๒๑ ...

  • ขั้นที่ ๕ เป็นการกำหนดให้นิสิตแต่ละกลุ่ม ทำโครงงานความดี ที่พอดีกับศักยภาพ พอเหมาะกับทรัพยกรณ์ของตนเองที่มีอยู่ เพื่อสร้างประโยชน์และคุณค่าต่อผู้อื่น เรียนรู้วิถีแห่งความจริง ความดี ความงาม และพัฒนาทักษะชีวิตให้เกิดทั้ง "ประโยชน์ตนเอง" และ "ประโยชน์ผู้อื่น" ด้วย "สติ" "สมาธิ" ความ "ตระหนักรู้" หรือก็คือ "ความไม่ประมาท" นั่นเอง....

ผมเรียกกระบวนการทั้งหมดนี้ว่า การออกแบบการเรียนการสอนโดยเน้น "กระบวนการ" ผ่านหลักคิดและหลักปฏิบัติตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา... ที่ผมกำลังทำด้วยจิตอาสาอย่างเต็มกำลังที่ CADL สำนักศึกษาทั่วไป

ท่านเห็นว่าไงครับ

๑๘  กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗
ฤทธิกร


แด่เธอผู้หนุ่มสาว : แลกเปลี่ยนกระบวนทัศน์ เกี่ยวกับขัอวัตรเรื่อง "เครื่องแต่งกาย"

เมื่อเย็นวานนี้ (๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗) ผมมีโอกาสได้สนทนา "ถกเถียง" ตามคำชวนจากนิสิตกลุ่มหนึ่ง ซึ่งรวมหลากหลายทั้งสาขาและชั้นปี มีทั้งคณะศึกษาศาสตร์ (สาขาสังคมศึกษา สาขาวิทยาศาสตร์ทั่วไป) คณะวิทยาลัยการเมืองการปกครอง คณะบัญชี คณะศิลปกรรม ฯลฯ  จำนวนประมาณ ๑๐ คน มาสนทนาแลกเปลี่่ยนกระบวนทัศน์เรื่องหลากหลายเรื่อง เรื่องที่เราคุยกันมากสุดคือ เรื่อง นิสิตกับเครื่องแต่งกาย เขาบอกผมว่านี่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ "แด่เธอผู้หนุ่มสาว" ที่พวกเขากำลังกระตุ้นให้ เยาวชนรุ่นใหม่ตระหนักในอิสรภาพของใจตนเอง ....

หลังจากคุยไปได้พักใหญ่ ธีรธรรม วงศ์สา (น่าจะเป็นพี่ผู้นำกลุ่มโดยธรรมชาติคนหนึ่ง) ได้โยนประเด็น  FUFS (Free Uniform Free Spiritual) ที่พวกเขา "คิด" และกำลังทำอยู่ในขณะนี้.. เพื่อให้แต่ละคนแสดงความคิดเห็น....  ผมเสนอว่า "การรู้จักตนเอง" ดีที่สุด ดังนี้ครับ

เมื่อมนุษย์สำคัญว่าตนเอง "มีตัวตน" มีตนเอง และมาอยู่ร่วมกันกับคนอื่นเป็นสังคม เกือบทั้งหมดสวม "หัวโขน" บนบริบทและฐานะต่างๆ ทางสังคม บ้างเป็นพ่อ บ้างเป็นแม่ บ้างเป็นพี่ เป็นน้อง บ้างเป็นหมอ ตำรวจ ครู ชาวนา รวมถึง พระสงฆ์องค์เจ้า ก็ถือได้ว่าเป็น "หัวโขน" หนึ่งที่แสดงสู่สังคม เมื่อสวม "หัวโขน" คำว่า "คน" จึงเหมาะสมกว่าคำว่า "มนุษย์"

เมื่อสวม "หัวโขน" คนก็เริ่มใส่เสื้อผ้าหรือใส่ชุด ที่คิดว่าเหมาะสมกับฐานะของตนเอง แสดงถึงความเป็น "เรา" เป็น "ฉัน" มีชุดนักเรียน ชุดนิสิต ชุดพยาบาล ชุดตำรวจ ชุดข้าราชการ ฯลฯ เกิดขึ้นมากมาย ด้วยวัตถุประสงค์เกินไปกว่า "คุณค่าแท้" ของเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ที่ไม่ได้มีไว้ "เชยชม" แต่มีไว้ห่อลมบังแดดและปกปิดความอุจาดตา ป้องกันตัณหาราคะดิบของ "ทรชน" เพื่อความสุขของสังคมส่วนรวม

นอกจากจะสวม "หัวโขน" หลายอัน คนยังใส่เสื้อหลายตัว ทั้งเสื้อที่มองเห็นและมองไม่เห็น มนุษย์ทั่วไปส่วนใหญ่จะรู้ว่ากำลังใส่เสื้อตัวหลังนี้อยู่ ความไม่รู้ "ตัวเอง" นี่เองที่สร้างความขัดแย้งและปัญหามากมาย....

ผมชี้ให้นิสิตในกลุ่มเห็นว่า ทุกคนกำลังใส่เสื้อของ "คุณธรรมพื้นฐานของความเป็นมนุษย์" หรือเรียกว่า "เสื้อคุณธรรม"  ที่เรียกว่าพื้นฐาน หมายถึง หากไม่ใส่จะอยู่สังคมไม่ได้ เสื้อตัวแรกนี้ก็คือ "กฎหมาย" สำหรับผมที่มีศรัทธาทางพุทธศาสนาแล้ว เสื้อคุณธรรมตัวนี้ก็คือ ความดีตาม "ศีล ๕" นั่นเองครับ  เมื่อไหร่ที่ไม่ใส่เสื้อ ไปฆ่าหรือทำร้ายคนอื่น ต้องไปอยู่แยกจากสังคม ในที่นี้คือ ติดคุกติดตาราง ซึ่งเป็นบทลงโทษของสังคม จนกว่าจะมีสิทธิ์ตามกติกาว่าจะได้สวมเสื้อนี้อีกและถูกปล่อยตัวออกมา  การลักขโมย การละเมิดสิทธิ์ทางกาม การโกหกคอรัปชั่น ก็ถือเป็นการถอดเสื้อคุณธรรม ที่ต้องรับโทษทัณฑ์สักวันข้างหน้าแน่นอน  ข้อควรระวังที่สำคัญคือ แม้จะไม่ตั้งใจถอดเสื้อตัวนี้ แต่หากดื่มสุราเมรัย ใจขาดสติครอง ก็อาจต้องรับโทษได้เช่นกัน เพราะท่านจะเผลอถอดเสื้อได้โดยไม่รู้ตัว ทางพุทธจึงห้ามข้อนี้ด้วย

มีนิสิตคนหนึ่งแสดงชัดว่าเข้าใจในสิ่งที่ผมนำเสนอ เขาบอกว่า ผมเข้าใจแล้วว่า การใส่ชุดนิสิตก็เป็นการสวมเสื้อตัวหนึ่ง และการยึดว่าไม่ต้องใส่ชุดนิสิต ก็เป็นการสวมเสื้ออีกตัวหนึ่ง.... ถูกต้องแล้ว การยึดมั่นว่าต้องทำอย่างนี้เท่านั้น ไม่ใช่ทางที่จะทำให้พวกเขาเข้าใกล้ "อิสรภาพ" ได้เลย ....  นั่นคือข้อสรุปเบื้องต้นว่า Free Uniform ไม่ได้ช่วยให้พวกเขา  Free Spiritual ... เป็นเพียงการทิ้งสิ่งหนึ่ง ต่อต้านสิ่งหนึ่ง แล้วไปปล่อยให้ "ใจ" ไปยึดสิ่งใหม่ เท่านั้นเอง ....หากวิเคราะห์ดังนี้ คำตอบคือ "No"

เสื้อตัวที่ ๒ คือ "เสื้อสังคม" ในที่นี้ก็คือ เสื้อที่มาพร้อม "หัวโขน" ฐานะทางสังคม เช่น ชุดตำรวจ ชุดนิสิต ชุดข้าราชการ ฯลฯ เสื้อตัวนี้ เมื่อใส่แล้ว จะต้องปฏิบัติตนตาม "ระเบียบ กติกา" บางอย่าง ที่ถูกสร้างขึ้นจากสังคมนั้นๆ เพื่อความสุข สงบเรียบร้อยของส่วนรวม แม้บางปัจเจกชนหรือบุคคลใดจะไม่พึงใจปฏิบัติตาม ลุกขึ้นมาตั้งคำถามเพื่อหาคำตอบให้ตนเอง (ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี) เพราะยังไม่ได้คำตอบ จึงไม่ปฏิบัติตาม จึงส่งผลทันทีกับคนอื่นหรือส่วนรวม เกิด "กลุ่ม" ซึ่งหมายถึง "เหมือน" (คนใน "กลุ่ม" ย่อมมีความคิดอะไรบ้างอย่างเหมือนกัน)

การเปลี่ยนแปลง "กติกา" หรือ "ระเบียบ" หรือในที่นี้คือ เปลี่ยน "เสื้อสังคม" สามารถทำได้ ซึ่งย่อมมีแนวทางหรือกระบวนการปรับเปลี่ยนได้ ผู้ต้องการเปลี่ยนเสื้อตัวนี้ ควรศึกษาให้ดี และผมคิดว่าเขาจะพบว่ามีทางทำได้.... แต่อาจจะมีข้อแม้ว่าผู้เปลี่ยนเปลี่ยนแปลงจะต้องมีหัวใจประชาธิปไตยเต็มเปี่ยม....

ผมพยายามตอบคำถามนิสิตทุกๆ คน ที่ตั้งความเห็นในประเด็นนี้อย่างหลากหลาย... ซึ่งหลายๆ ประเด็นย่อยไม่ตรงกับความเข้าใจของผม เช่น

  • บอกว่า ..หากพวกเขาตั้งใจเรียน ทำงานตามที่ตนเองรับผิดชอบ มาสอบตรงตามเวลา ก็ไม่น่าจะมาบังคับว่าต้องใส่ชุดนิสิต ...การเรียนได้ดี เกี่ยวกับสมอง ไม่เกี่ยวกับชุดนิสิต... ส่วนผมเข้าใจว่า นิสิตมีหน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ "การปฏิบัติตนตามกฎระเบียบกติกาของมหาวิทยาลัย" ซึ่ง โดยเจตนาแล้ว สิ่งนี้มีไว้ฝึกฝน "กาย" "ใจ" ให้พวกเขาเป็นผู้มี "สัมมาทิฐิ" หรือมีปัญญาและเป็นอยู่เพื่อมหาชน ตามปรัชญาของมหาวิทยาลัยต่อไป 
  • บอกว่า ..ชุดนิสิตทุกวันนี้ ใส่แล้วไม่น่าภูมิใจ บางคนใส่สั้น รัดอกแน่นติ้ว บางคนลอยชาย ขาเดฟ ดูแล้วไม่เรียบร้อย....   ผมตอบทันทีว่า นี่คือสิ่งที่น่าเสียดาย ชุดที่ผมเห็นตอนนี้ตามที่พูดมานั้น ไม่ใช่ชุดนิสิต ไม่ใช่ชุดนิสิตที่ถูกระเบียบ... นิสิตที่แต่งกายไม่ถูกระเบียบเหล่านั้นเอง ที่เป็นผู้ทำลายความภาคภูมิใจของตนเองไป .... ดังนั้น การ Free Uniform  จึงเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ในมุมหนึ่งเป็นเพียงต้นเหตุในใจที่ตกเป็น "ทาส" ของกระแสแฟชั่น ความสะดวกสะบาย อยากได้อยากเป็นเช่นที่ตนอยากให้เป็น... ซึ่งแน่นอนว่า ไม่ใช่ "Free Spiritual"
  • บอกว่า ...ชุดนิสิตหรือ "เสื้อสังคม" อื่นๆ ทำให้เกิดการดูหมิ่น ดูแคลน แบ่งชนชั้น ของคนในสังคม ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำต่ำสูงกันมากขึ้น  เช่น คนที่มีเงินมีฐานะในสังคม จะมีชุดนิสิตใหม่ ผ้าเนื้อดี ราคาแพง แตกต่างจากชุดเก่าเอามาซ่อมหรือใช้มานานของคนจน .... ผมชี้ให้นิสิตเห็นว่า ความเหลื่อมล้ำในลักษณะนี้จะเกิดขึ้นอย่างมากแบบที่คาดไม่ถึงทีเดียวหากเรา "Free Uniform"..... นี่ก็ไม่ใช่ทางที่จะ "Free Spiritual" 
  • ฯลฯ
มีนิสิตคนหนึ่งเสนอว่า ที่เราต้องมีชุดนิสิตแบบนี้ หรือมีวัฒนธรรมแบบนี้ ถือเป็น "บริบท" หรือ "วัฒนธรรม" ของเรา ซึ่งจะเอาไปเปรียบเทียบกับ "ต่างชาติ ปราชญ์ ตะวันตก" ไม่ได้ ...  ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งในประเด็นนี้ ผมใช้เวลาพอสมควรในการอธิบายความเข้าใจเรื่อง "บริบท" ของตนเองให้นิสิตฟัง

ผมเห็นพลังบางอย่างในกลุ่ม "แด่เธอผู้หนุ่มสาว" นี้ที่ผมไม่เคยเห็น  ผมฝันว่า พลังนี้จะถูกใช้ไปในทางที่ถูกและเป็นประโยชน์ทั้งตัวพวกเขาเองและแด่สังคมของ"เธอผู้หนุ่มสาวอื่นๆ" ในวงกว้างต่อไป เลยถือโอกาสตอนท้าย สรุปให้พวกเขาฟังหลายอย่าง พอสรุปเป็น "หลัก" ในการเดินทางของพวกเขา ว่า...
  • เราต้องไม่ตกอยู่ใน "กระแส" แม้จะปฏิบัติตนตามกระแส สิ่งเร้าที่พุ่งเข้ามาใจ จะต้องถูกวินิจฉัยอย่างรอบด้านรอบคอบด้วยตน ด้วยความไม่ประมาท และถือเป็นการฝึกฝน "ตนเอง" เพื่อให้รู้จักตนเองดีขึ้นเรื่อยๆ 
  • การศึกเพื่อใคร? การศึกษาคือ การเรียนรู้เพื่อพัฒนาฝึกฝนตนเองเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น การศึกษาหรือการกระทำใดๆ จะดีที่สุด ถ้าถึงพร้อมด้วย "ประโยชน์ตน" และ "ประโยชน์ท่าน" หรือก็คือประโยชน์ส่วนรวมนั่นเอง ....สิ่งนี้สำคัญต่อประเทศไทยมาก โดยเฉพาะขณะนี้ 
  • ดังนั้นก่อนที่กลุ่มจะทำอะไรๆ ต่อไป ให้พิจารณาว่า สิ่งที่จะทำต่อไปนั้นถือเป็นเหตุ ที่จะก่อให้เกิดสิ่งใดหรือส่งผลกระทบต่อใครอย่างไรบ้าง จะมีผลดีผลเสียอย่างไรหรือไม่ เป็นผลดีมากกว่าผลเสีย หรือเป็นผลเสียมากกว่าผลดี 
ตอนท้ายๆ เราคุยกันเรื่องประเด็นอื่นๆ  ที่น่าสนใจ และผมเองก็ยินดีที่จะสนับสนุนทุกวิธีที่ทำได้ ให้พวกเขาต่อสู้กับสิ่งเหล่านั้น

แต่วันนี้ โดยส่วนตัว ผมคิดว่า การ Free Uniform ไม่ได้ Free Spiritual ครับผม