วันอังคารที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2558

ข้อเสนอวิธีการพัฒนาคุณลักษณะที่พึงประสงค์ด้าน "ตรงต่อเวลา" และ "ความรับผิดชอบ" ในชั้นเรียน อย่างเป็นระบบ

ข้อเสนอต่อผู้บริหารเรื่อง "คะแนนจิตสาธารณะ" (อ่านที่นี่) ได้ความเห็นชอบจากทีมผู้บริหารสำนักศึกษาทั่วไป ให้ฝ่าย CADL เริ่มดำเนินการในปีการศึกษาหน้า ทำให้ผมยินดีและมีไฟ มีแรงบันดาลใจที่จะสร้างระบบช่วยอาจารย์ผู้สอน ให้สามารถปลูกฝังคุณลักษณะของนิสิตที่พึงประสงค์หมวดวิชาศึกษาทั่วไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงขอเสนอ "ระบบปลูกฝังวินัยโดยใช้นิสิตผู้ช่วยอาจารย์"

เป้าหมายและปัญหาที่ผ่านมา

ผลการเรียนหรือคุณลักษณะของนิสิตที่พึงประสงค์หมวดวิชาศึกษาทั่วไปด้านคุณธรรม จริยธรรม กำหนดเป้าหมายของการศึกษาทั่วไป ให้เป็นผู้มีวินัย ตรงต่อเวลา และมีความรับผิดชอบ แต่กระบวนการปลูกฝังผ่านกิจกรรมการจัดการเรียนการสอนทำได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากจำนวนนิสิตต่อห้องเรียนมาก ๑๐๐ - ๒๕๐ คน (ห้องเรียนขนาดใหญ่) ที่ผ่านมามีแนวคิดเรื่องระบบสแกนลายนิ้วมือมาใช้ แต่ยังคงต้องใช้เวลามากอยู่ดี เพราะนิสิตต้องมารอต่อคิดสแกนทีละคน ไม่สอดคล้องกับเวลาเรียนเพียง ๑ ชั่วโมง ๓๐ นาที อาจารย์ผู้สอนก็ยังคงต้องรับภาระกรอกคะแนนเก็บและติดหรือลงประกาศคะแนนเก็บให้นิสิตรู้ เพื่อลดปัญหาการแก้ไขเกรดเหมือนเดิม

ระบบปลูกฝังวินัยด้านวินัย ตรงต่อเวลา และความรับผิดชอบ โดยใช้ "นิสิตผู้ช่วยอาจารย์" สามารถแก้ปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นได้ทั้งหมด
  • นิสิตผู้ช่วยอาจารย์ จะสามารถเช็คชื่อผู้เข้าเรียนให้แล้วเสร็จได้ภายในเวลาไม่เกิน ๕ นาที (ด้วยเทคนิควิธีการที่จะเสนอต่อไป) หรือสามารถตรวจเช็คขณะที่อาจารย์กำลังสอนโดยไม่รบกวนอาจารย์เลย  วิธีนี้จะช่วยให้อาจารย์ปลูกฝังวินัยเรื่องการตรงต่อเวลา โดยใช้เกณฑ์การหักคะแนนเมื่อไม่รักษาเวลา
  • นิสิตผู้ช่วยอาจารย์ จะนำเอางานหรือการบ้านที่อาจารย์ตรวจแล้ว ไปกรอกคะแนนลงในใบรายชื่อ (excel หรือระบบฐานข้อมูล ที่สามารถพัฒนาขึ้นได้) และนำมาประกาศหน้าห้อง (หรือในฐานข้อมูลออนไลน์) ให้นิสิตทราบก่อนอาจารย์จะเข้าสอนทุกสัปดาห์หรือตามที่อาจารย์บอก วิธีนี้จะช่วยแบ่งเบาภาระของอาจารย์ได้มาก และช่วยให้อาจารย์ออกแบบและมอบหมายงานเพื่อฝึกความรับผิดชอบของนิสิตได้อย่างเหมาะสม
  • นิสิตผู้ช่วยอาจารย์ จะมีความสามารถได้การใช้สื่อมัลติมิเดียหรือระบบเสียงต่างๆ ในชั้นเรียน โดยทางสำนักศึกษาทั่วไป จะมีการฝึกอบรมนิสิตก่อนจะประกาศให้เป็น "นิสิตผู้ช่วยอาจารย์" อย่างเป็นระบบ ดังนั้น ก่อนจะอาจารย์จะเข้าสอนจะมีการตรวจสอบและเตรียมระบบสื่อ เสียง แสง และมีผู้ช่วยแก้ปัญหาเบื้องต้น และนำปัญหาและความต้องการกลับมายังสำนักศึกษาทั่วไปเพื่อแก้ไขต่อไป
  • นอกจากนี้แล้ว นิสิตผู้ช่วยอาจารย์จะอยู่ตลอดการสอนของอาจารย์ จึงเหมือนเป็นผู้ช่วยในการจัดการเรียนการสอน เช่น การช่วยแจกหรือเก็บอุปกรณ์การเรียน เป็นต้น 
วิธีการดำเนินการ

รับสมัครนิสิตจิตอาสาที่สมัครใจ โดยเฉพาะนิสิตในโครงการเด็กดีมีที่เรียน จำนวนไม่เกินจำนวนกลุ่มเรียนที่เปิดสอนในภาคการศึกษานั้นๆ  เข้ามารับการฝึกอบรม "หลักสูตรนิสิตผู้ช่วยอาจารย์" จากสำนักศึกษาทั่วไป ผู้อ่านการอบรมจะรู้หน้าที่และขั้นตอนการทำงานที่ทางสำนักฯ ได้สื่อสารไว้กับอาจารย์ผู้สอนแล้วเป็นอย่างดี  เช่น

  • วิธีเช็คชื่อนิสิตเข้าเรียน ทำได้ง่ายๆ และเร็วด้วยวิธีการใช้แผนผังที่นั่ง ดังรูป โดยในคาบเรียนแรกๆ นิสิตผู้ช่วยอาจารย์จะอธิบายกับนิสิตเรื่องแผนผังการนั่งประจำประจำเพื่อเช็คชื่อก่อนเริ่มเรียน นิสิตทุกคนจะมีเลขที่นั่งเหมือนกับเลขที่นั่งสอบ ใครไม่มาเรียนจะทราบทันที สามารถบันทึกง่ายๆ ด้วยการกากบาททับที่ว่างนั้นบนแผนผัง


  • นิสิตผู้ช่วยอาจารย์ จะสร้างกลุ่มบน Social  Network เช่น Facebook เพื่อสื่อสารคะแนนต่างๆ เช่น การส่งงาน การนัดแนะอื่นๆ รูปภาพกิจกรรมสำคัญๆ ในชั้นเรียน หรือนิสิตเองก็สามารถส่งงานมาทางออนไลน์ได้ หากอาจารย์ต้องการ 
  • นิสิตผู้ช่วยอาจารย์ จะได้รับการฝึกอบรมให้สามารถสื่อ มัลติมิเดีย ระบบแสง เสียง ในชั้นเรียนอย่างดี จนมีทักษะสามารถเปิด ปิด และแก้ปัญหาเบื้องต้นได้ดี  และรู้จักแนวปฏิบัติเมื่อไม่สามารถแก้ปญหาได้
  • นิสิตผู้ช่วยอาจารย์ จะจัดเก็บข้อมูลงานของนิสิตทุกคนในรูปอิเล็คทรอนิคส์ไฟล์ แล้วจัดเก็บไว้ (ในฐานข้อมูล หากอาจารย์ต้องการ) อย่างเป็นระบบ เพื่อให้ง่ายต่อการนำไปศึกษา ถอดบทเรียนต่อไป 
วิธีนี้จะดีสำหรับอาจารยผู้สอน ที่จะสะดวก มีเวลาในการตรวจงานและเตรียมการสอนมากขึ้นแล้ว ยังจะได้นิสิตแกนนำที่มีวินัย ตรงต่อเวลา และมีความรับผิดชอบ ถือได้ว่า มีนิสิตแกนนำที่มีคุณลักษณะของนิสิตที่พึงประสงค์ฯ พร้อมๆ กับการปลูกฝังค่านิยมตรงต่อเวลา และรับผิดชอบให้กับนิสิตทุกคนด้วยเพราะนิสิตทุกคนต้องลงทะเบียนเรียนตามหลักสูตรอยู่แล้ว ส่วนนิสิตช่วยงานที่ไม่สามารถทำตามที่กำหนดไว้ จะถูกประเมินให้ปรับปรุงหรือประเมินออกโดยอาจารย์ผู้สอน

ที่สำคัญงบประมาณค่าจ้าง "นิสิตช่วยงาน" ที่มหาวิทยาลัยตั้งเกณฑ์ไว้ แม้จะไม่มาก แต่ก็น่าจะเป็นค่าตอบแทนที่ช่วยแบ่งเบาภาระทางบ้านของนิสิต หรือถือเป็นเงินเก็บจากการฝึกทำงานระหว่างเรียนก็ได้ นอกจากนี้แล้ว การเคร่งครัดกับการมาเรียน อาจสามารถแก้ปัญหาเรื่องลิฟท์ที่เป็นอยู่ตอนนี้ก็เป็นได้ครับ

วันจันทร์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2558

CADL ขับเคลื่อน ปศพพ. ใน มมส. _ ๐๘ : นโยบายที่ชัดเจนยิ่ง

วันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๘ ที่มีการจัดประชุมร่วมกันกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา (อ่านได้จากบันทึกนี้) ตอนบ่ายของวันเดียวกัน มีการประชุมกันของผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยและมูลนิธิยุวสถิรคุณ ข้อสรุปของการประชุมอาจจะเปลี่ยนแปลงชีวิตของคนดีที่ไม่เคยมีโอกาส ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน สังคม และชาติ อย่างมีนัยสำคัญ

ผมนั่งฟังแนวคิดและนโยบายที่ผู้ใหญ่คุยกันอย่างตั้งใจ อีกทั้งยังบันทึกเสียงนำกลับมาฟังอีกหลายรอบ ท่านได้มอบหมายให้ผมลองไปคิดต่อ และร่างแนวทางการสร้างหลักสูตรนี้ต่อ ...ผมถือว่านี่เป็นโอกาสสำคัญอีกครั้งของชีวิตตนเอง ที่ได้รับโอกาสให้เข้าไปมีส่วนร่วมในการเดินตามรอยเท้าพ่อ...


มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีวิสัยทัศน์ที่จะเป็นที่พึ่งและผู้นำในการพัฒนาชุมชนและสังคม ความมุ่งมั่นนี้ถือเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาเชิงพื้นที่ที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและแตกต่างระหว่างบริบทในสังคมไทยในศตวรรษที่ ๒๑  กอปรกับค่านิยมองค์กร "TAKASILAW ที่ประกาศในงานถ่ายทอดนโยบายสู่การปฏิบัติของปี ๒๕๕๘ ในวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ ที่ผ่านมา ได้กำหนดไว้ในตัวอักษร "S" ที่กำหนดเป็นคำว่า Sufficiency Economy หรือ เศรษฐกิจพอเพียง แสดงให้เห็นความ "ชัดเจน" ของนโยบาย ที่จะใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการพัฒนามหาวิทยาลัยเพื่อส่วนรวม สังคม ประเทศชาติอย่างจริงจัง

นโยบายการขับเคลื่อนในมหาวิทยาลัย มุ่งน้อมนำมาปรัชใช้ทั้ง ๒ แนวทาง ได้แก่ ๑) การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา ที่พุ่งเป้าไปที่การพัฒนาบุคลากรและนิสิตทุกคนในมหาวิทยาลัย โดยเริ่มที่การสร้างนิสิตแกนนำอย่างเป็นระบบด้วยโครงการ "เด็กดีมีที่เรียน" และ ๒) การสร้างผู้นำชุมชน หรือคนต้นแบบในอนาคต ด้วยการเปิดหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเศรษฐิจพอเพียง โดยมีหลักการดังจะได้กล่าวต่อไป


เป้าหมายสูงสุดของการขับเคลื่อน ปศพพ. คือการสร้างคน ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุด คือมอบหมายให้สำนักศึกษาทั่วไปซึ่งมีพันธกิจที่จะสร้างนิสิตให้เป็นดีตามคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของรายวิชาศึกษาทั่วไปอยู่แล้ว

การจัดการเรียนการสอนของรายวิชาศึกษาทั่วไปที่เหมาะสมกับนิสิตในศตวรรษใหม่ ต้องไม่ใช่ "สอนวิชา" หรือเน้นเพียง "เนื้อหา" แต่ต้องเปลี่ยนมาสร้างค่านิยมร่วมในการ "สอนคน" "สอนชวิต" และกำหนดเป้าหมายที่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน (Learning Outcome) ด้านทักษะในศตวรรษที่ ๒๑ และพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงจากภายในอย่างแท้จริง (transformation) การจัดการเรียนรู้ควรจะประกอบด้วยองค์ประกอบ ๓ ประการดังรูป (ปรับจากกรอบผลสัมฤทธิ์ที่คาดหวังและระบบสนับสนุนที่นี่)


องค์ประกอบ ๓ ประการได้แก่ ๑) การพัฒนาอาจารย์และกระบวนการเรียนรู้ ๒) การสร้างสื่อ สิ่งแวดล้อม และนวัตกรรมการเรียนรู้ที่ทันสมัย สอดคล้อง เหมาะสมกับบริบท และ ๓) มีการวิจัยและมีมาตรฐานการประเมินผล  โดยมีระบบและกลไกสนับสนุนและการบริหารจัดการที่ดี และมีการพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อบ่มเพาะ ปลูกฝัง และฝึกฝนให้นิสิตเป็นผู้มีอุปนิสัย "พอเพียง" ที่มีองค์ความรู้ในตนที่จำเป็น มีสมรรถนะสำหรับศตวรรษใหม่ทั้ง ๓ ด้าน ได้แก่ ด้านการเรียนรู้ ทักษะชีวิตและการทำงาน และทักษะด้านเทคโนโลยีและการสื่อสาร

แนวคิดการสร้างหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเศรษฐกิจพอเพียง

แนวคิดการสร้างหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเศรษฐกิจพอเพียง (ศศ.บ.ปศพพ.) นี้ จึงน่าจะเป็นหลักสูตรหนึ่งในกระบวนการพัฒนาหลักสูตรเพื่อสร้างบัณฑิตที่พึงประสงค์ฯ เพียงแต่ต่างไปตรงที่ เป็นหลักสูตรที่ใหม่ไม่เฉพาะกับผู้เรียน แต่กระบวนการพัฒนาอาจารย์ผู้สอนเป็นอีกส่วนสำคัญที่ต้องดำเนินการอย่างจริงจัง  ส่วนปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมและวัสดุอุปกรณ์นั้นไม่ใช่ปัญหา เพราะมหาวิทยาลัยมหาสารคามพร้อมทุกด้าน โดยเฉพาะด้านการส่งเสริมเกษตรทฤษฎีใหม่ ที่สามารถทำได้ทันที เพราะทั้งฟาร์มมหาวิทยาลัยและพื้นที่หลายๆ ส่วนเหมาะสมที่จะเป็นแปลงฝึกสำหรับนิสิตอยู่แล้ว และมีบุคลากรที่เชี่ยวชาญทั้งศาสตร์ด้านการเกษตร และเรื่องระเบียบวิธีวิจัยและการสร้างเครื่องมือวัดประเมินต่างๆ อย่างไรก็ดี ยังมีส่วนที่ต้องแสวงหาภาคีเข้ามาร่วมมือในการสร้างหลักสูตรฯ คือ ด้านองค์ความรู้ในการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สื่อการสอน หนังสือ นวัตกรรม หรือแหล่งเรียนรู้หลักการทรงงานของในหลวง และที่สำคัญคือ งบประมาณสนับสนุนเป็นทุนการศึกษาที่จะมอบสมทบด้านค่ากินอยู่ตลอดหลักสูตรฯ ๔ ปี ร่วมกับค่าเล่าเรียนและค่าที่พักที่มหาวิทยาลัยจะเป็นผู้สนับสนุน


นิสิตที่สำเร็จหลักสูตร ศศ.บ.ปศพพ. นี้ ต้องมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์สำคัญ ๒ ประการ ได้แก่ ๑) เป็นผู้ภาคภูมิใจและหวงแหนท้องถิ่นภูมิปัญญา มีอุดมการณ์ที่จะกลับไปปรับใช้ในการประกอบอาชีพบนพื้นแผ่นดินถิ่นตนเอง และ ๒) คือต้องเป็นคนดี มีคุณธรรม จริยธรรม คิดและทำเพื่อส่วนรวม  ความคาดหวังในภายหน้า หลังจากที่นิสิตน้อมนำไปทำเกษตรทฤษฎีใหม่อย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยน่าจะได้เกษตรกรต้นแบบหรือประชาชนต้นแบบ ซึ่งจะเป็นผู้นำรุ่นใหม่ที่มี "หัวใจพอเพียง" เพิ่มๆ ปีละ ๑๐ - ๒๕ คน จากหลักสูตรนี้


จุดแข็งของหลักสูตรฯ คือ ความสอดคล้องกับทั้งปัญหาและยุทธศาสตร์ของประเทศในขณะปัจจุบัน ที่ต้องร่วมกันสร้างประชาชนต้นแบบให้มากที่สุด  ความมุ่งมั่นของมหาวิทยาลัยที่จะน้อมนำไปใช้ในการพัฒนาชุมชนและสังคม และนโยบายของผู้บริหารมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะอธิการบดีที่มีฉันทะในเรื่องนี้อย่างยิ่ง

แนวคิดในการจัดการเรียนรู้ตามหลักสูตร ศศ.บ.ปศพพ.

การจัดการเรียนรู้ในหลักสูตร ศศ.บ.ปศพพ. ต้องริเริ่มและร่างขึ้นใหม่ ทุกรายวิชาต้องบูรณาการและน้อมนำ ปศพพ. ไปใช้ใจการฝึกคิด ฝึกทำ และสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ขึ้นใหม่ให้สอดคล้องกับหลักการ "สอนคน" "สอนชีวิต" ให้เป็นผู้มีอุปนิสัย "พอเพียง" มีทักษะชีวิตและศักยภาพในการประกอบอาชีพด้านการเกษตรดีเยี่ยม มีทักษะในการเรียนรู้และสร้างสรรค์ มีทักษะการสื่อสาร รู้จักใช้ประโยชน์จากวิทยาการสารสนเทศสมัยใหม่ และมีความคิดความอ่านหรือทักษะพื้นฐานตามยุคสมัย อันเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก สามารถพึ่งตนเองได้ รักและหวงแหนทรัพยการธรรมชาติ ภูมิใจในภูมิปัญญาท้องถิ่น และมีภาวะความผู้นำ

ดังนั้นการจัดการเรียนรู้ต้องเป็นหลักสูตรที่เน้นการปฏิบัติ เรียนด้วยการลงมือทำ (Learning by doing) หรือเรียนด้วยการทำงาน (Work-based Learning) ผู้เรียนจะต้องฝึกฝนทั้งร่างกายและจิตใจ ความคิดสติปัญญา ให้เป็นผู้ใฝ่เรียนรู้ สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ซึ่งน่าจะแบ่งกระบวนการเรียนรู้ออกเป็น ๓ ระยะ ได้แก่

ระยะที่ ๑) เรียนรู้องค์ความรู้พื้นฐานวิทยาการที่จำเป็น เรียนรู้ทฤษฏีเศรษฐกิจพอเพียงและหลักการทรงงาน  โดยการศึกษาค้นคว้าและการศึกษาดูงานจากความสำเร็จจากโครงการหลวงต่างๆ  รวมทั้งแนวปฏิบัติที่ดีเยี่ยม (best practices) จากปราชญ์ชาวบ้านทั้งในและนอกพื้นที่ ฯลฯ อาจารย์ผู้สอนในส่วนนี้ อาจเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัย หรือคณาจารย์ที่มีจิตอาสาที่จะมาร่วมพัฒนานิสิตแกนนำต้นแบบตามแนวทางนี้

ระยะที่ ๒) ลงมือปฏิบัติทดลองน้อมนำมาใช้ด้วยตนเอง (เรียนรู้จากการปฏิบัติ) นิสิตแต่ละคนจะได้รับมอบหมายพื้นที่แปลงฝึกให้รับผิดชอบ ลองน้อมนำหลัก ปศพพ. มาใช้ด้านการเกษตร ทดลองทำเกษตรทฤษฎีใหม่ในมหาวิทยาลัย  ภายใต้การดูแลของ "ครูฝึก" ที่เป็นบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญและรับผิดชอบในแต่ละด้าน เช่น ผู้จัดการฟาร์ม ลุงป้าน้าอาคนงาน อาจารย์คณะเทคโนเกษตร ฯลฯ  หรือปราชญ์ชาวบ้านที่เป็นเครือข่าย

ระยะที่ ๓) เรียนรู้จากการทำงาน (work based learning) ในแปลงเกษตรจริงๆ ในพื้นที่มหาวิทยาลัยที่ได้รับมอบหมาย กระบวนการเรียนรู้ต้องเหมือนจริงในการประกอบอาชีพจริง มีการลงทุน มีการริเริ่มสร้างสรรค์ มีการผลิต มีกระบวนการนำไปส่งขาย หรือแปรรูปขายในตลาดในมหาวิทยาลัยหรือภายนอก 


ในกระบวนการคัดกรองนิสิตผู้เข้ารับทุนการศึกษาในหลักสูตรนี้ น่าจะมีกระบวนการแบบ ๓๖๐ องศา และใช้ระยะเวลาในการทดสอบและพิสูจน์ "ฉันท" และ "วิริยะ" ของผู้สมัคร นิสิตที่มีใจและมีพื้นฐานและประสบการณ์ที่ดี จะทำให้โอกาสในการบรรลุเป้าหมายที่คาดหวังไว้สำเร็จได้สูงขึ้น เพราะกระบวนการเรียนรู้จากประสบการณ์เดิม (Experiential Learning) นั้นสำเร็จได้ง่ายกว่าการเรียนรู้ใหม่ทั้งหมด บันทึกหน้าจะได้นำเสนอแนวทางการคัดกรองนิสิตต่อไป

สุดท้าย ผมเสนอว่าสิ่งที่ต้องคำนึงไว้ในใจ ตลอดเวลา คือ หลักสูตรนี้จะต้องจัดการศึกษาให้เกิดการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning)  การเรียนรู้หลัก ปศพพ. ด้วยใจที่ใคร่ครวญ (จิตตปัญญาศึกษา) หรือการศึกษาตามแนวทางวิธีพุทธ น่าจะเป็นจุดหนึ่งที่ต้องพิจารณาร่วมกันต่อไป

วันพฤหัสบดีที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2558

พัฒนาการจัดการเรียนการสอน GenEdu _ ๐๑ : แนวทางการพัฒนาหลักสูตรและการขับเคลื่อนฯ

นโยบายของผู้บริหารมหาวิทยาลัย ในการปรับปรุงหลักสูตรวิชาศึกษาทั่วไป (หลักสูตรปรับปรุง ๒๕๕๘) ส่วนหนึ่งเพื่อก้าวสู่วิสัยทัศน์ที่จะเป็นผู้นำด้านมหาวิทยาลัยเพื่อชุมชน และสังคมโดยการบูรณาการการเรียนการสอนกับโครงการ ๑ หลักสูตร ๑ ชุมชน และอีกส่วนหนึ่งคือการเตรียมความพร้อมด้านภาษาสู่การเปิด มีส่วนที่มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญ ๒ ประการ ประชาคมอาเซียน จึงมีการปรับโครงสร้างหลักสูตรใหม่ ดังนี้

๑) ปรับให้มีรายวิชา "๑ หลักสูตร ๑ ชุมชน" เป็นรายวิชาบังคับ ให้นิสิตทุกคนต้องเรียน โดยเปิดโอกาสให้คณะ-วิทยาลัยต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนร่วมกัน เพื่อให้เกิดการบูรณาการกับโครงการ ๑ หลักสูตร ๑ ชุมชน อย่างเหมาะสม

๒) ปรับให้มีรายวิชาภาษาอังกฤษพื้นฐานสำหรับวิชาชีพ เป็นวิชาเลือก โดยเปิดโอกาสให้คณะต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมกับการจัดการเรียนการสอน เช่นกัน

ทั้งสองประเด็นนี้ถือเป็นนโยบายจากผู้บริหารมหาวิทยาลัย ที่ต้องนำไปปฏิบัติต่อไป ...

อย่างไรก็ดี... แม้จะมีหลักสูตรดีอย่างไรก็ตาม แต่หากกระบวนการเรียนรู้ไม่ดี การจะสร้างบัณฑิตที่เป็นคนสมบูรณร์หรือเป็นคนดีนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ

ถ้าวิเคราะห์จากเกณฑ์ประกันคุณภาพทั้งภายในและภายนอก จะพบตามลำดับดังนี้ว่า
  • นิสิตจะมีคุณภาพต้องมีการจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ 
  • การจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพต้องประกอบด้วย จะต้องมี ๑) มีหลักสูตรที่มีคุณภาพ ๒) มีอาจารย์ที่มีคุณภาพ (ในความหมาของเกณฑ์ประกันคือมีตำแหน่งทางวิชาการ)  ๓) การเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ๔) มีสื่อการสอนและนวัตกรรมการสอนที่เหมาะสม  และ ๕) มีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนการสอน หมายถึงห้องเรียน อุปกรณ์โสตทัศน์ หนังสือ ห้องสมุด แหล่งเรียนรู้ และบรรยากาศที่ดี 
  • ต้องมีกิจกรรมพัฒนานิสิตที่เหมาะสม ส่งเสริมสอดคล้องทั้ง ๕ ด้าน ได้แก่ วิชาการ นันทนากร กีฬา ทำนุบำรุง บริการชุมชนและสังคม 
  • ต้องมีการบูรณาการระหว่างการสอน การวิจัย และการบริการวิชาการ 
หัวใจสำคัญของการจัดการเรียนการสอนโดยรายวิชาศึกษาทั่วไปคือ การจัดการเรียนการสอน ซึ่งจะมีคุณภาพไม่ได้เลย ถ้า "อาจารย์ไม่ได้สอน" หรือ "ไม่ตั้งใจสอน" หรือ "สอนแบบเดิมๆ โดยใช้ตนเองเป็นศูนย์กลาง" คำถามคือ สำนักศึกษาทั่วไป มีระบบหรือกลไกในการตรวจสอบหรือประเมินผลอาจารย์ผู้สอนอย่างไรหรือไม่....

คำตอบ... ที่มีผู้ทำสำเร็จแล้วคือ สร้างระบบติดตามและระบบฐานข้อมูลบันทึกการเข้าสอนของอาจารย์โดยใช้เจ้าหน้าที่ของคณะฯ ... อย่างไรก็ดี ผมคิดว่าวิธีนี้ไม่น่าจะให้ผลดีต่อการพัฒนาในระยะยาวสำหรับรายวิชาศึกษาทั่วไป เว้นแต่จะทำการสำรวจไปยังนิสิตโดยตรง หรือตัวแทนนิสิต โดยอาจารย์ผู้สอนเองก็ต้องยอมรับก่อนจะมีระบบติดตามนี้

แนวคิดของผู้บริหารสำนักศึกษาทั่วไปขณะนี้คือสร้างเครือข่ายและความร่วมมือของอาจารย์ผู้สอน คณะ/สาขา/วิทยาลัย  ให้ทุกคนเข้าใจบทบาทของสำนักศึกษาทั่วไป ที่จะเน้นเป็นผู้ประสานงานกลาง เป็นผู้เอื้ออำนวยการให้อาจารย์ผู้สอนซึ่งควรเป็นส่วนหนึ่งของสำนักศึกษาทั่วไป สามารถร่วมกันพัฒนาและออกแบบแนวทางการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนภายใต้นโยบายของผู้บริหารมหาวิทยาลัย

ข้อเสนอต่อผู้บริหาร เพื่อพัฒนาคุณลักษณะที่พึงประสงค์ด้านจิตสาธารณะอย่างเป็นระบบ


เป้าหมายของการจัดการเรียนรู้รายวิชาศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยมหาสารคาม คือ สร้างบัณฑิตที่เป็นคนที่มีจิตอาสา และมีจิตสาธารณะ สำนักศึกษาทั่วไปกำลังปรับปรุงหลักสูตรให้มีรายวิชา "๑ หลักสูตร ๑ ชุมชน" เพื่อปลูกฝังจิตอาสาอย่างเป็นระบบ (อ่านร่างข้อเสนอร่างคำอธิบายรายวิชาและแนวทางการจัดการเรียนการสอนที่นี่) บันทึกนี้ขอเสนอกลยุทธ์ในการปลูกฝังจิตสาธารณะอย่างเป็นระบบ ให้ท่านลองพิจารณา ...

แนวคิดคือ ใช้ "คะแนนจิตสาธารณะ" เป็นเครื่องมือในการควบคุมให้นิสิตเคารพและปฏิบัติตามกฎระเบียบ กติกาของมหาวิทยาลัยและสังคม โดยกำหนดให้ทุกวิชาของรายวิชาศึกษาทั่วไปมีการประเมินผลด้านพฤติกรรมด้านจิตสาธารณะ (ส่วนใหญ่ทุกวิชามีการให้คะแนนจิตพิสัย หรือคะแนนเข้าเรียนอยู่แล้ว)

สิ่งสำคัญคือทุกคนต้องเข้าใจคำว่า "จิตสาธารณะ" ตรงกัน ทุกคนในที่นี้หมายถึง นิสิตผู้เรียน อาจารย์ผู้สอนรายวิชาที่นิสิตเรียนอยู่ อาจารย์ทุกคนในมหาวิทยาลัย บุคลากรทุกคน โดยเฉพาะที่สำคัญที่สุดคือ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในมหาวิทยาลัย เพราะจะมีบทบาทหลักในการตรวจจับนิสิตที่ทำผิดระเบียบ กติกา ที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน แล้วส่งรหัสนิสิตมายังสำนักศึกษาทั่วไป เพื่อจัดส่งให้อาจารย์ผู้สอนรายวิชาศึกษาทั่วไปในภาคการศึกษานั้นตัด "คะแนนจิตสาธารณะ" ในทุกรายวิชาที่เขากำลังเรียนอยู่ในภาคการศึกษานั้น อาจสร้างระบบแจ้ง "คะแนนจิตสาธารณะ" ที่ถูกตัดพร้อมๆ กับระบบคะแนนสอบปลายภาค


ผมขอเสนอ ให้ "ทุกคน" ร่วมกันกำหนดและยอมรับ ในกฎระเบียบ และกติกาสำคัญๆ ที่กำลังเป็นปัญหา เพื่อควบคุมและปลูกฝังให้นิสิตเป็นผู้รักษากฎระเบียบวินัยของสังคม เช่น
  • จอดรถในที่ๆ จัดไว้ให้ หรือที่ๆ สามารถจอดได้ "ไม่จอดในที่ห้ามจอด"
  • ข้บรถถูกต้องตามกฎจราจร ถูกต้องตามทิศทางที่กำหนดให้ "ไม่ขับรถย้อนศร"
  • ใส่หมวกกันน็อคเมื่อขับรถมอเตอร์ไซด์ 
  • เป็นผู้รักษาเวลา มาเรียนตามเวลาที่กำหนด  "ไม่มาสาย"  โดยเฉพาะการมาสายเป็นประจำ 
  • ฯลฯ
วิธีการคือ ให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของมหาวิทยาลัยหรือรวมทั้งอาจารย์ทุกท่าน ส่งรหัสนิสิตและชื่อนิสิตที่จับได้ว่าทำผิดกฎกติกาที่เสนอข้างต้นนี้ มายังสำนักศึกษาทั่วไป โดยสร้างระบบหรือระบบออนไลน์ที่เข้าถึงและจัดส่งได้สะดวก  สำนักศึกษาทั่วไปส่ง "คะแนนจิตสาธารณะ" ที่ถูกหักไปยังอาจารย์ผู้สอนรายศึกษาทั่วไปที่นิสิตกำลังเรียนในภาคการศึกษานั้นเพื่อตัดคะแนนจิตพิสัย

ในกรณีของนิสิตที่มาสายเป็นประจำ แม้ว่าจะเรียนรายวิชาที่ไม่ใช่รายวิชาศึกษาทั่วไป แต่หากอาจารย์ผู้สอนส่งรหัสนิสิตและรายชื่อมายังสำนักศึกษาทั่วไป ถ้านิสิตคนนั้นกำลังเรียนรายวิชาศึกษาทั่วไปใดอยู่ จะถูกตัดคะแนนจิตพิสัยเช่นกัน

ท่านผู้อ่านว่าไงครับ..... ถ้าอนุมัติผมจะหาทางจัดให้ทันทีครับ .....