เป้าหมายของการจัดการเรียนรู้รายวิชาศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยมหาสารคาม คือ สร้างบัณฑิตที่เป็นคนที่มีจิตอาสา และมีจิตสาธารณะ สำนักศึกษาทั่วไปกำลังปรับปรุงหลักสูตรให้มีรายวิชา "๑ หลักสูตร ๑ ชุมชน" เพื่อปลูกฝังจิตอาสาอย่างเป็นระบบ (อ่านร่างข้อเสนอร่างคำอธิบายรายวิชาและแนวทางการจัดการเรียนการสอนที่นี่) บันทึกนี้ขอเสนอกลยุทธ์ในการปลูกฝังจิตสาธารณะอย่างเป็นระบบ ให้ท่านลองพิจารณา ...
แนวคิดคือ ใช้ "คะแนนจิตสาธารณะ" เป็นเครื่องมือในการควบคุมให้นิสิตเคารพและปฏิบัติตามกฎระเบียบ กติกาของมหาวิทยาลัยและสังคม โดยกำหนดให้ทุกวิชาของรายวิชาศึกษาทั่วไปมีการประเมินผลด้านพฤติกรรมด้านจิตสาธารณะ (ส่วนใหญ่ทุกวิชามีการให้คะแนนจิตพิสัย หรือคะแนนเข้าเรียนอยู่แล้ว)
สิ่งสำคัญคือทุกคนต้องเข้าใจคำว่า "จิตสาธารณะ" ตรงกัน ทุกคนในที่นี้หมายถึง นิสิตผู้เรียน อาจารย์ผู้สอนรายวิชาที่นิสิตเรียนอยู่ อาจารย์ทุกคนในมหาวิทยาลัย บุคลากรทุกคน โดยเฉพาะที่สำคัญที่สุดคือ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในมหาวิทยาลัย เพราะจะมีบทบาทหลักในการตรวจจับนิสิตที่ทำผิดระเบียบ กติกา ที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน แล้วส่งรหัสนิสิตมายังสำนักศึกษาทั่วไป เพื่อจัดส่งให้อาจารย์ผู้สอนรายวิชาศึกษาทั่วไปในภาคการศึกษานั้นตัด "คะแนนจิตสาธารณะ" ในทุกรายวิชาที่เขากำลังเรียนอยู่ในภาคการศึกษานั้น อาจสร้างระบบแจ้ง "คะแนนจิตสาธารณะ" ที่ถูกตัดพร้อมๆ กับระบบคะแนนสอบปลายภาค
ผมขอเสนอ ให้ "ทุกคน" ร่วมกันกำหนดและยอมรับ ในกฎระเบียบ และกติกาสำคัญๆ ที่กำลังเป็นปัญหา เพื่อควบคุมและปลูกฝังให้นิสิตเป็นผู้รักษากฎระเบียบวินัยของสังคม เช่น
- จอดรถในที่ๆ จัดไว้ให้ หรือที่ๆ สามารถจอดได้ "ไม่จอดในที่ห้ามจอด"
- ข้บรถถูกต้องตามกฎจราจร ถูกต้องตามทิศทางที่กำหนดให้ "ไม่ขับรถย้อนศร"
- ใส่หมวกกันน็อคเมื่อขับรถมอเตอร์ไซด์
- เป็นผู้รักษาเวลา มาเรียนตามเวลาที่กำหนด "ไม่มาสาย" โดยเฉพาะการมาสายเป็นประจำ
- ฯลฯ
ในกรณีของนิสิตที่มาสายเป็นประจำ แม้ว่าจะเรียนรายวิชาที่ไม่ใช่รายวิชาศึกษาทั่วไป แต่หากอาจารย์ผู้สอนส่งรหัสนิสิตและรายชื่อมายังสำนักศึกษาทั่วไป ถ้านิสิตคนนั้นกำลังเรียนรายวิชาศึกษาทั่วไปใดอยู่ จะถูกตัดคะแนนจิตพิสัยเช่นกัน
ท่านผู้อ่านว่าไงครับ..... ถ้าอนุมัติผมจะหาทางจัดให้ทันทีครับ .....
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น