วันศุกร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

โครงการนิสิต LA _ ๐๒ : กระบวนการรับสมัครและพัฒนา นิสิตผู้ช่วยอาจารย์ (Lecturer Assistant: LA)

ตามที่ได้เล่าที่มา ที่ไป ความตั้งใจ และความคาดหวังไว้ที่บันทึกนี้  ปัญหาคือ จะทำอย่างไรให้บรรลุเป้าหมายนี้ให้ได้... บันทึกนี้คือ "ระบบและกลไก" ที่เราวางไว้และเริ่มใช้นำร่องแล้ว ภาคเรียนที่ ๒/๒๕๕๘ นี้จะนำส่วนที่ดีมาทำอีกและหลีกเลี่ยงและพัฒนาแก้ปัญหาที่เราพบ  ซึ่งจะเล่าไว้ในบันทึกนี้เฉพาะในส่วนที่จะมีประโยชน์ในการสื่อสารกับ นิสิตที่กำลังจะสมัครใหม่ และอาจารย์ผู้สอนที่ประสงค์จะใช้นิสิต LA (Lecturer Assistant) ในภาคการศึกษานี้ และภาคการศึกษาถัดไปตราบที่ยังมีโครงการนี้อยู่

จำทำอย่างไรถ้าอยากเป็นนิสิต LA

การสร้างนิสิต LA เริ่มที่คุณสบัติของนิสิตเบื้องต้น คือ ต้องเป็นนิสิตชั้นปี ๓ ปี ๔ ที่มีความประพฤติดี สำคัญที่สุดคือซื่อสัตย์ ตรงต่อเวลา มนุษย์สัมพันธ์ดี และรับผิดชอบต่องาน และเพื่อให้แน่ใจว่า จะไม่มีผลกระทบต่อการเรียน จึงกำหนดเกรดเฉลี่ยไว้ไม่ต่ำกว่า ๒.๕๐ (GPAX) ไว้ด้วย  นิสิตที่มีคุณสมบัติตามนี้ คลิกกรอกใบสมัครไว้ก่อนเลยที่นี่ครับ



(หรือคลิกที่นี่)

เมื่อสมัครแล้วเบื้องต้น  สามารถเตรียมเอกสารยื่นที่ห้อง CADL ฝ่ายพัฒนานิสิตของสำนักศึกษาทั่วไป รายละเอียดอ่านในประกาศที่นี่ครับ   

มีหลักฐานอย่างหนึ่งที่ทั้งนิสิตและอาจารย์ผู้สอนอาจจะสงสัย ว่าทำไมต้องมีใบรับรองจากอาจารย์ที่ปรึกษา หรือใบรับรองจากอาจารย์ผู้สอนรายวิชาศึกษาทั่วไป  จึงขอแบ่งอธิบายเป็น ๒ กรณี ดังนี้ 

๑) กรณีนิสิตผู้สนใจทั่วไป   จะต้องให้อาจารย์ที่ปรึกษารับทราบว่า ประสงค์จะมาเป็นนิสิต LA เพื่อให้ท่านช่วยพิจารณาตัดสินใจว่า จะมีผลต่อการเรียนในสาขาหรือไม่  และเพื่อความสะดวกต่อการสื่อสาร ติดตาม และรายงาน ให้อาจารย์ที่ปรึกษาทราบ 

๒) กรณีที่อาจารย์ผู้สอนรายวิชาศึกษาทั่วไป ประสงค์จะระบุตัวนิสิตที่จะมาปฏิบัติงานในรายวิชาที่ตนสอนในภาคเรียนนั้นๆ นิสิตผู้สมัครต้องได้รับการรับรองจากอาจารย์ผู้สอนฯ  ถือเป็นการคัดเลือกเบื้องต้นจากอาจารย์ผู้ใช้บริการนิสิต LA   เปรียบเสมือนการส่งรายชื่อมาจากอาจารย์โดยตรง  ซึ่งในแต่ละรายวิชา อาจารย์จะสามารถส่งจำนวนรายชื่อนิสิตได้ไม่เกินเกณฑ์ที่ทางสำนักศึกษาทั่วไปได้ประกาศ ดาวน์โหลดรายละเอียดได้ที่นี่   

อย่างไรก็ดี นิสิตผู้สนใจในทั้งสองช่องทางนี้ จะต้องผ่านการตรวจสอนคุณสมบัติต่างๆ ที่กำหนดในประกาศ และผ่านการสัมภาษณ์จากสำนักศึกษาทั่วไป เพื่อจัดเก็บข้อมูลและจัดทำข้อตกลงร่วมกัน รวมทั้ง ต้องเข้ารับการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อให้ได้รับรู้ เข้าใจ และมั่นใจว่า จะสามารถทำหน้าที่ได้  ก่อนจะได้รับการประกาศให้เป็นนิสิต LA ต่อไป ... ดังแผนผังด้านล่าง




ทำไมฉันอยากเป็นนิสิต LA

ขอเขียนความเห็นของตนเอง ในฐานะอาจารย์คนหนึ่ง ที่อยากให้นิสิตชั้นปี ๓ ปี ๔ ทุกคนที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด มาลองเป็นนิสิต LA  โดยจะเรียงลำดับตามความสำคัญจากมากไปน้อย ดังนี้ 
  • เป็นการฝึกประสบการณ์การทำงาน  ผู้ที่ผ่านการปฏิบัติงานและสำเร็จลุล่วงตามเป้าหมาย ได้รับการประเมิน "ผ่าน" จากอาจารย์ผู้ใช้งานนิสิต LA  ต้องมีความรับผิดชอบ มีความซื่อสัตย์ รอบคอบ มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี มีสัมมาคารวะ   ทั้งหมดนี้ จึงได้รับใบประกาศนียบัตร รับรองว่าเป็น "นิสิตผู้ช่วยอาจารย์"  และสามารถมาขอรับงาน LA ได้ในภาคเรียนถัดๆ ไป โดยไม่ต้องสมัครใหม่ 
  • เป็นการฝึกฝน "จิตอาสา" ภายในตน นอกจากจะปฏิบัติงานเป็นผู้ช่วย่อาจารย์แล้ว นิสิต LA จะได้รับข้อมูลข่าวสาร เชิญชวน ให้เข้าร่วมกิจกรรมที่สำคัญๆ ต่างๆ ของทั้งสำนักศึกษาทั่วไป และของมหาวิทยาลัย  และจะได้รับการรับรองเป็นกิจกรรม "จิตอาสา" ในบันทึกของกองกิจการนิสิต
  • มีสิทธิ์ได้รับทุนการศึกษา "นิสิตแกนนำขับเคลื่อนคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของหมวดวิชาศึกษาทั่วไปต้นแบบ" หรือ "นิสิตจิตอาสาต้นแบบ" 
  • ได้รับค่าตอบแทน ชั่วโมงละ ๒๕ บาท คำนวณแล้วประมาณรายวิชาละ ๗๕๐ บาท ต่อภาคการศึกษา (หากรับผิดชอบ ๔ กลุ่มเรียน หรือ ทำงาน ๘ ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จะได้ค่าตอบแทนประมาณ ๓,๐๐๐ บาท ต่อภาคการศึกษา) 
  • ฯลฯ

ขอจบเท่านี้ครับ 
หากท่านมีจิตอาสา ก้าวเข้ามาเลยครับ 


วันพุธที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

CADL ขับเคลื่อน ปศพพ. ใน มมส. _ ๑๐ : วิชาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง "กิจกรรมส่งเสริมสติและสมาธิ ตามหลักศาสนาที่ตนนับถือ"

ภาคการศึกษาแรกที่รายวิชาใหม่ ๐๐๓๒๐๐๕ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในหลักสูตรหมวดวิชาศึกษาทั่วไป (ปรับปรุง พ.ศ. ๒๕๕๘) ให้นิสิตใหม่รหัส ๕๘ ได้ลงทะเบียนเรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา มีผู้มาลงทะเบียนกว่า ๔,๗๐๐ คน ๓๒ กลุ่มเรียน มีอาจารย์ผู้สอนจำนวน ๒๕ ท่าน หลายท่านต้องสอนมากกว่า ๑ กลุ่มเรียน เวียนสอนมากว่า ๑ ครั้งในเนื้อหาเดียวกันเนื่องจากข้อจำกัดของขนาดชั้นเรียน

เนื้อหาในเอกสารประกอบการสอนที่ใช้ในภาคเรียนแรกนี้ อ้างอิงเนื้อหาส่วนใหญ่จากหนังสือที่เขียนโดย ดร.ปรียานุช ธรรมปิยา ผู้นำการขับเคลื่อนหลักปรัชญาด้านการศึกษาของประเทศ รวมทั้งกิจกรรมท้ายชั่วโมงเรียน ก็ปรับเขียนขึ้นจากแนวคิดกิจกรรมที่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์การขับเคลื่อนร่วมกับมูลนิธิสยามกัมมาจล ตลอด ๒ ปีที่ผ่านมา... จุดเด่นขอวิธีการนี้คือ มีเอกภาพในการจัดการเรียนการสอนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา จุดอ่อนคือ การมีส่วนร่วมในการพัฒนาของอาจารย์ผู้อาสามาสอนยังน้อย ... ซึ่งคงต้องค่อยๆ พัฒนาร่วมกันต่อไป...  สมบูรณ์เพียงพอเมื่อใด จะนำมาเผยแพร่ให้ทราบโดยทั่วกันต่อไป

ในภาคเรียนนี้ เรากำหนดกิจกรรม ให้นิสิตที่ลงทะเบียนทุกคน ต้องเข้าร่วมกิจกรรม "ส่งเสริมสติและสมาธิตามหลักศาสนาที่ตนนับถือ" โดยกำหนดให้เป็นส่วนหนึ่งในการประเมินผลการเรียนด้วย  เกิดคำถามตามมากมาย จึงขอใช้บันทึกนี้อธิบาย ให้เข้าใจถึงความตั้งใจ โดยเฉพาะศาสนาพุทธ ที่กำหนดให้ไปสวดอิติปิโส ๑๐๘ จบ ที่วัดป่ากู่แก้ว อย่างน้อย ๑ ครั้ง  ดังภาพ







หน้าที่ชาวพุทธ

หน้าที่ของพุทธศาสนิกชน  ๓ ประการ ที่นิสิตจำเป็นต้องรู้และปฏิบัติ ได้แก่

๑) ศีลสิกขา คือรู้เรื่องศีลและปฏิบัติรักษาศีล เป็นการขัดเกลากิเลสส่วนหยาบ ได้แก่ ไม่ฆ่าใครไม่ทำร้ายสัตว์อื่น  ไมลักขโมยของคนอื่น ไม่ผิดในลูกและคนรักหรือไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่พูดโกหก พูดหยาบ พูดส่อเสียด หรือพูดเพ้อเจ้อ  และไม่ดื่มสุรา เมรัย ให้ตนเองมึนเมาจนเสียสติ  นิสิตจำเป็นต้องมี "สติ" ถึงจะสามารถรักษาศีลได้ ... ดังนั้นการมาสวดมนต์เป็นกุศโลบายหนึ่งในการฝึกสติ และตลอดช่วงเวลาเกือบ ๒ ชั่วโมง ที่นิสิตมาสวดมนต์นี้ ทุกคนในรักษาศีลอย่างครบถ้วน ...

๒) จิตสิกขา คือ ศึกษาเกี่ยวกับจิต เรียนรู้จิตใจของตนเอง เมื่อมีศีลเบื้องต้น มีสติดีขึ้น  การเฝ้ารู้เฝ้าดูจิตใจของตนเอง ตามความเป็นจริง  จะทำให้นิสิตมีสติและสมาธิตั้งมั่น รู้จักกายและใจของตนเองมากขึ้นตามลำดับ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการเรียนรู้ตนเอง .... การสวดมนต์โดยสังเกตการเคลื่อนไหวไหลไปของจิต ออกจากบทสวดไปคิดเรื่องต่างๆ  จำทำให้นิสิตได้ฝึกสติ และสมาธิประเภท "สมาธิตั้งมั่น" หรือ "สติปัฏฐาน"  หรือ นิสิตบางคนจะ ฝึกใจให้จดจ่ออยู่กับสิ่งเดียว ในที่นี้คือบทสวดมนต์ สวดมนต์ได้อย่างถูกต้อง แม่นยำตามพระอาจารย์ผู้นำสวด ก็เป็นการฝึกสติและสมาธิจดจ่อ  ซึ่งจำเป็นสำหรับทำการงานในชีวิตประจำวัน

๓) ปัญญาสิกขา  คือ การศึกษาและพัฒนา หรือ ภาวนา เพื่อให้เกิดความเจริญทางด้านจิตใจ มีปัญญาในอริยสัจ ตามลำดับ  ซึ่งมีลักษณะสำคัญ "ผู้ปฏิบัติย่อมรู้ได้ด้วยตนเอง" ผู้อื่นทำให้ไม่ได้  และ "ผู้ปฏิบัติจะรู้ได้เฉพาะตน" ทำให้ผู้อื่นไม่ได้  ...  กิจกรรมในปีการศึกษาถัด ๆ ไป  น่าจะมีกิจกรรมส่งเสริมต่อไป

กิจกรรมนี้เกี่ยวข้องกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างไร

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นทั้งหลักคิด และหลักปฏิบัติ ในการดำเนินชีวิตบนทางสายกลาง ตัดสินใจบนเงื่อนไขและปัจจัยที่มีอย่างพอประมาณบนเหตุผลของความถูกต้องตามความเป็นจริง และไม่เสี่ยงเกินไป มีภูมิคุ้มกันที่ดีทั้งภายในใจนั่นคือ ภายใต้เงื่อนไขของคุณธรรม และภูมิคุ้มที่ดีในการกระทำต่างๆ นั่นคือ ความรู้ นำสู่การดำเนินชีวิต ครอบคลุม ๔ มิติ ทั้งวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม

ผมมีความเห็นว่า การฝึกสติปัฏฐาน และสมาธิตั้งมั่น นั้น เป็นการสร้างเสริม "ภูมิคุ้มกันภายในที่ดี"  เพราะสติและสมาธินั้น เป็นปัจจัยของความรู้ ความคิด และปัญญา ที่รอบคอบ ระมัดระวัง

หากถามว่าทำไมต้องสวดอิติปิโส ๑๐๘ จบ มีประโยชน์และอานิสงค์อะไร...?  มีผู้ให้คำตอบไว้มากมาย หากสืบค้นด้วย google  ... อย่างไรก็ดี มีคำสอนว่าไม่ให้เชื่อ ก่อนจะได้ลองปฏิบัติและพิจารณาด้วยตนเองเสียก่อน รวมทั้งลักษณะของปัญญาพุทธ ๒ ประการ ข้างต้น ...  ดังนั้น ผู้ถาม ควรจะลองเปิดใจและไปสวดดู จะทราบคำตอบ

ส่วนความเห็นผม ณ ขณะนี้ วัตถุประสงค์ คือ เปิดโอกาสให้นิสิตได้เรียนรู้ภาคปฏิบัติเกี่ยวกับสติและสมาธิ ซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันภายในใจ ซึ่ง "...จำเป็นในที่ทุกสถานในการณ์ทุกเมื่อ..." ดังคำที่ครูบาอารย์ท่านสอนบ่อยๆ  นอกจากนี้แล้วยังมีประโยชน์โดยอ้อมสำคัญ ดังนี้

  • นิสิต "มาถึง" วัดป่ากู่แก้ว  ... นิสิตที่นับถือศาสนาพุทธและลงทะเบียนเรียนรายวิชานี้   จะไม่มีคำถามว่ วัดกู่แก้วอยู่ที่ไหน?  จะไปทำบุญหรือร่วมงานประเพณีทำนุบำรุงศิลปะวัฒนธรรมใกล้ๆ ที่ไหนดี?  วัดป่ากู่แก้วเป็นอย่างไร? ...ฯลฯ 
  • นิสิตได้ฝึกความอดทน โดยเฉพาะคนที่มาสวดมนต์ครั้งแรก  การสวดมนต์ยาวนานเกือบ ๒ ชั่วโมง ต้องอดทน และได้เรียนรู้เกี่ยวกับทุกข์พอสมควร
  • ได้ร่วมกันทำบุญกุศลแด่สัพสัตว์ทั้งหลาย ตามคติชาวพุทธ 
  • ได้ร่วมถวายการสวดมนต์เป็นพระราชกุศลแด่องค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ทรงหายจากพระอาการประชวร 
  • ได้รู้จักเพื่อนๆ และได้สนทนาปัญหาเกี่ยวกับธรรมะ หรือเกี่ยวกับ "สติ" และ "สมาธิ" ... ได้เรียนรู้ภาคปฏิบัติ 
  • ฯลฯ 
ผลจะเป็นอย่างไรนั้น จะทำวิจัยมาเล่าให้ฟังต่อไปครับ 




วันจันทร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

โครงการนิสิต LA _ ๐๑ : ที่มาที่ไป ความตั้งใจ และความคาดหวัง

ขณะที่เขียนบันทึกนี้ "โครงการนิสิตผู้ช่วยอาจารย์" หรือ Lecturer Assistant ได้ดำเนินการมาเกือบจะครบภาคการศึกษาแล้ว มีทั้งเสียงสะท้อนทั้ง "ว่าดี" และทั้งที่บอกว่า "ต้องทำให้ดีขึ้น" จากอาจารย์ผู้สอน  อย่างไรก็ดีสำนักศึกษาทั่วไปยังคงดำเนินโครงการนี้ต่อไปในภาคเรียนหน้า  ขณะนี้ได้ประกาศรับ "นิสิต LA" สำหรับปีการศึกษา ๒/๒๕๕๘ แล้วอีก ๑๐๐ คน ด้วยความมุ่งมั่นภายใต้ข้อจำกัด และความตั้งใจที่พัฒนาคุณภาพของนิสิตและปรับปรุงระบบและกลไกในการบริการให้ดีขึ้น  โดยเริ่มที่บันทึกนี้ ที่จะอธิบายถึง "ที่มา ที่ไป ความตั้งใจ และความคาดหวัง" ของโครงการ เพื่อให้อาจารย์ผู้อ่าน เข้าใจและเห็นใจมากขึ้น 

ที่มาที่ไป

เหตุผล ๕ ประการ ที่ทำให้สมควรมี "ผู้ช่วยอาจารย์" ในการจัดการเรียนการสอนรายวิชาศึกษาทั่วไปของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม คือ 

๑) รายวิชาศึกษาทั่วไปจัดกลุ่มเรียนขนาดใหญ่ ตั้งแต่ ๑๕๐ ถึงเกือบ ๔๐๐ คน  ทำให้อาจารย์ต้องใช้เวลามากในการที่ต้องกรอกบันทึกคะแนน และตรวจเช็คชื่อการเข้าเรียนในแต่ละครั้ง เป็นการยากในการตรวจสอบการเข้าร่วมกิจกรรมหรือเข้าเรียน เช่น ขาด ลา มาสาย ฯลฯ  ....  นิสิต LA จะเข้ามาช่วยทำหน้าที่ตรวจเช็่คชื่อ เช็คลา มาสาย และแบ่งเบาภาระของอาจารย์ผู้สอนได้โดยนำเอางานที่อาจารย์ตรวจแล้วมากรอกคะแนนลงในไฟล์ Excel ซึ่งจะสามารถ Import เข้าไปในระบบระเบียนได้อย่างสะดวก  

๒) ปัญหาการแก้เกรด ทั้งที่เป็นความผิดของนิสิตที่ส่งงานผิดที่ การตัดชื่อนิสิตออกในกรณีชำระค่าลงทะเบียนช้า แล้วปรากฎรายชื่อเข้ามาในระบบทะเบียนในภายหลัง ทำให้คะแนนเก็บบางส่วนหายไป หรือแม้แต่ความผิดพลาดจากการกรอกคะแนนของอาจารย์เอง ฯลฯ  ...  เราคาดว่าปัญหานี้จะหมดไป ถ้ามีการประกาศและกำชับให้นิสิตทุกคน ได้ตรวจสอบคะแนนเก็บและผลคะแนนสอบกลางภาคของตนเอง ก่อนจะมีการสอบปลายภาค  ด้วยการทำเป็นประกาศและขั้นตอนปฏิบัติให้นิสิตทุกคนต้องปฏิบัติ โดยหมายเหตุว่า หากไม่ตรวจสอบหรือท้วงติงตามวันเวลาที่กำหนด ถือว่ายอมรับคะแนนเก็บนั้นๆ  จะไม่สามารถเรียกร้องให้ตรวจสอบได้ภายหลัง ...  ทั้งนี้ หน้าที่ของ "นิสิต LA" คือต้องประสานงานกับนิสิตทุกคน 

๓) ปัญหาเรื่องการใช้สื่อโสตทัศนอุปกรณ์ ซึ่งหลายครั้งที่มักมีปัญหาให้อาจารย์ต้องโทรตามเจ้าหน้าที่บริการ (บร.) เพราะอุปกรณ์ในหลายชั้นเรียนยังเป็นระบบเก่าที่ค่อนข้างซับซ้อนสำหรับอาจารย์ที่ไม่สันทัดเรื่องเทคโนโลยี   ...  นิสิต LA จะไปเปิดอุปกรณ์เล่นสื่อหรือโสตทัศนอุปกรณ์ เตรียมพร้อมไว้ ก่อนจะอาจารย์จะเข้าสอน และช่วยแก้ปัญหาการใช้งาน ซึ่งนิสิต LA จะได้รับการฝึกอบรมมาก่อน

๔) ช่วยประหยัดไฟฟ้าและรายงานปัญหาห้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่ บร. เช่น แอร์เสีย  พัดลมไม่ทำงาน หรือระบบเสียงชำรุด ฯลฯ  ... เนื่องจากจำนวนเจ้าหน้าที่ บร. และแม่บ้าน มีจำนวนไม่มากพอจะเดินสำรวจตรวจดูทุกห้องเรียน ทำให้หลายครั้งมหาวิทยาลัยต้องสิ้นเปลืองพลังงานไปกับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่มีใครปิด  ... นิสิต LA จะช่วยตรวจตราและกำชับให้นิสิตปิดเครื่องใช้ไฟ้ฟ้าต่างๆ ก่อนจะออกจากห้อง โดยเฉพาะกรณีที่ไม่มีใครใช้ห้องเรียนนั้นแล้วในแต่ละวัน 

๕) เป็นการส่งเสริมการหารายได้ระหว่างเรียน  แม้ว่าค่าตอบแทนจะไม่มาก เพียง ๒๕ บาทต่อชั่วโมง แต่ถ้าหากใช้อย่างประหยัด และจัดการเวลาให้รับงานได้สัก ๔ กลุ่มเรียน  ก็จะได้ค่าตอบแทนประมาณสัปดาห์ละ ๒๐๐ บาท ภาคการศึกษาละ ๓,๐๐๐ บาท ก็พอจะแบ่งเบาภาระผู้ปกครองพอสมควร  ....  นอกจากเรื่องค่าตอบแทน นิสิต LA ที่ได้รับการยอมรับจากอาจารย์ผู้สอนว่าทำงานดี มีความรับผิดชอบ จะได้รับประกาศนียบัตรรรับรองประสบการณ์อย่างเป็นทางการ และมีสิทธิ์ที่จะสมัครขอรับทุนนิสิตจิตอาสาของสำนักศึกษทั่วไป ... รายละเอียดจะแจ้งให้ทราบต่อไป 

ความตั้งใจ


ด้วยหลักการและเหตุผลข้างต้น สำนักศึกษาทั่วไป โดยฝ่ายพัฒนานิสิตและเครือข่ายวิชาการ จึงได้ดำเนินโครงการสร้าง "นิสิต LA" ขึ้น และทดลองนำร่องในภาคเรียนที่ ๓/๒๕๕๗ ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ มีนิสิตได้รับใบประกาศบัตร จำนวน ๑๐ คน จึงได้ดำเนินการต่อในภาคการศึกษาต่อมา คือ ๑/๒๕๕๘  มีนิสิต LA ถึง ๙๘ คน ช่วยเหลืออาจารย์ทั้งหมด ๒๖๐ กลุ่มเรียน  ผลสรุปจะอย่างไร จะได้รายงานให้ทราบต่อไป ...

ในเบื้องต้น เรากำหนดวัตถุประสงค์และบทบาทหน้าที่ของ "นิสิต LA" ไว้ ๕ ประการ ได้แก่ 

๑)  ช่วย "เช็คชื่อ" คือ ตรวจสอบการเข้าเรียนหรือการเข้าร่วมกิจกรรมของนิสิต เพื่อปลูกวินัยและความรับผิดชอบของนิสิต  และส่งเสริมทักษะชีวิตด้านคุณธรรม จริยธรรม ความซื่อสัตย์ ระเบียบเครื่องแต่งกาย ฯลฯ  โดยในเบื้องต้นนี้ ให้เป็นดุลพินิจของอาจารย์ผู้สอนว่าจะกำหนดเกณฑ์ในการประเมินอย่างไรในแต่ละด้าน 

๒) ช่วยกรอกคะแนน คือ การนำเอาใบงาน การบ้าน หรือชิ้นงาน หรือผลงาน จากกิจกรรมการเรียนการสอน ซึ่งอาจารย์ตรวจให้คะแนนแล้ว มากรอกคะแนนลงในใบรายชื่อ และบันทึกลงในไฟล์ Excel เพื่อให้สะดวกต่ออาจารย์ ในการ Import ลงในระบบทะเบียนของนิสิตต่อไป 

๓) ประกาศคะแนน หรือประสานให้นิสิตเข้าตรวจสอบคะแนนเก็บ เป็นระยะ หรืออย่างน้อย ๑ ครั้งก่อนจะสอบปลายภาค เพื่อตรวจสอบความถูกต้องในการส่งงานและผู้ตรวจงาน  ให้แน่ใจว่า ไม่มีงานที่ส่งแต่อาจารย์ไม่ได้ลงบันทึกคะแนน  โดยกำหนดช่วงเวลาที่นิสิตสามารถมาแจ้งกับนิสิต LA ซึ่งทำหน้าที่รวบรวมแจ้งให้อาจารย์ทราบ และ/หรือ ประสานไปยังนิสิตทุกคนให้เข้าดูคะแนนของตนในระบบเมื่ออาจารย์นำคะแนนลงในระบบแล้ว  หากเลยช่วงเวลาดังกล่าว ให้ถือว่านิสิตยอมรับว่าคะแนนนั้นถูกต้อง ไม่มีสิทธิ์ร้องเรียนในภายหลัง ....  การใช้สื่อสังคมออนไลน์เช่น facebook  ทำให้การติดต่อประสานระหว่างนิสิต LA  กับนิสิตผู้เรียนทุกคนสามารถทำได้ 

๔) ช่วยเปิดสื่ออุปกรณ์ เตรียมความพร้อมของห้องเรียน ก่อนอาจารย์จะเข้าสอน 

๕) ช่วยปิดสื่อโสตทัศน์และอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ เมื่อแน่ใจว่า ไม่มีผู้ใช้ห้องเรียนต่อ 

หน้าที่ ๕ ประการนี้ ถูกกำหนดขึ้นด้วยความตั้งใจ จะช่วยแบ่งเบาภาระงานของอาจารย์ผู้สอนกลุ่มใหญ่  เพื่อทำให้อาจารย์ได้มีเวลาในการเตรียมการสอน และออกแบบปรับปรุงการเรียนการสอนให้ดีขึ้น  และหวังจะเป็นกลไกหนึ่งในการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริการของสำนักศึกษาทั่วไป เอื้อให้อาจารย์ได้สอนในห้องเรียนที่พร้อมที่สุด และใช้ทรัพยากรของมหาวิทยาลัยอย่างคุ้มค่าที่สุด 

ความคาดหวัง

ความคาดหวังสำคัญ ๓ ประการ จากโครงการนี้ คือ 

๑) ได้ช่วยแบ่งเบาภาระของอาจารย์ผู้สอน ช่วยมหาวิทยาลัยประหยัดไฟ และช่วยให้สำนักศึกษาทั่วไปให้บริการอาจารย์ได้อย่างประทับใจที่สุด  

๒) ได้ช่วยแบ่งเบาภาระด้านการเงินของนิสิต LA  และเป็นเหมือนโครงการฝึกฝนทักษะการทำงานของนิสิต LA แต่ละคน  โดยอาจารย์มีอาจารย์ผู้สอนทุกท่าน เป็นทั้งครูและเป็นทั้งผู้ใช้ว่าที่บัณฑิตในอนาคต   ... นิสิต LA ที่ผ่าน การทำงานอย่างดี จะได้รับการรับรองจากทั้ง อาจารย์ผู้สอน และสำนักศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยมหสารคาม ว่าเป็นผู้มีประสบการณ์ในการทำงานเบื้องต้น 

๓) ได้นิสิตต้นแบบหรือนิสิตแกนนำในการขับเคลื่อนคุณลักษณะของนิสิตที่พึงประสงค์ของหมวดวิชาศึกษาทั่วไป โดยเฉพาะด้านความเป็นคนดี ซื่อสัตย์ ประหยัด ขยัน และความมีจิตอาสา 

ขอจบบันทึกด้วยรูปของนิสิต LA รุ่นนำร่อง ความคืบหน้าจะเป็นอย่างไร จะมาบันทึกรายงานให้ท่านทราบเป็นระยะครับ