วันจันทร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

โครงการนิสิต LA _ ๐๑ : ที่มาที่ไป ความตั้งใจ และความคาดหวัง

ขณะที่เขียนบันทึกนี้ "โครงการนิสิตผู้ช่วยอาจารย์" หรือ Lecturer Assistant ได้ดำเนินการมาเกือบจะครบภาคการศึกษาแล้ว มีทั้งเสียงสะท้อนทั้ง "ว่าดี" และทั้งที่บอกว่า "ต้องทำให้ดีขึ้น" จากอาจารย์ผู้สอน  อย่างไรก็ดีสำนักศึกษาทั่วไปยังคงดำเนินโครงการนี้ต่อไปในภาคเรียนหน้า  ขณะนี้ได้ประกาศรับ "นิสิต LA" สำหรับปีการศึกษา ๒/๒๕๕๘ แล้วอีก ๑๐๐ คน ด้วยความมุ่งมั่นภายใต้ข้อจำกัด และความตั้งใจที่พัฒนาคุณภาพของนิสิตและปรับปรุงระบบและกลไกในการบริการให้ดีขึ้น  โดยเริ่มที่บันทึกนี้ ที่จะอธิบายถึง "ที่มา ที่ไป ความตั้งใจ และความคาดหวัง" ของโครงการ เพื่อให้อาจารย์ผู้อ่าน เข้าใจและเห็นใจมากขึ้น 

ที่มาที่ไป

เหตุผล ๕ ประการ ที่ทำให้สมควรมี "ผู้ช่วยอาจารย์" ในการจัดการเรียนการสอนรายวิชาศึกษาทั่วไปของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม คือ 

๑) รายวิชาศึกษาทั่วไปจัดกลุ่มเรียนขนาดใหญ่ ตั้งแต่ ๑๕๐ ถึงเกือบ ๔๐๐ คน  ทำให้อาจารย์ต้องใช้เวลามากในการที่ต้องกรอกบันทึกคะแนน และตรวจเช็คชื่อการเข้าเรียนในแต่ละครั้ง เป็นการยากในการตรวจสอบการเข้าร่วมกิจกรรมหรือเข้าเรียน เช่น ขาด ลา มาสาย ฯลฯ  ....  นิสิต LA จะเข้ามาช่วยทำหน้าที่ตรวจเช็่คชื่อ เช็คลา มาสาย และแบ่งเบาภาระของอาจารย์ผู้สอนได้โดยนำเอางานที่อาจารย์ตรวจแล้วมากรอกคะแนนลงในไฟล์ Excel ซึ่งจะสามารถ Import เข้าไปในระบบระเบียนได้อย่างสะดวก  

๒) ปัญหาการแก้เกรด ทั้งที่เป็นความผิดของนิสิตที่ส่งงานผิดที่ การตัดชื่อนิสิตออกในกรณีชำระค่าลงทะเบียนช้า แล้วปรากฎรายชื่อเข้ามาในระบบทะเบียนในภายหลัง ทำให้คะแนนเก็บบางส่วนหายไป หรือแม้แต่ความผิดพลาดจากการกรอกคะแนนของอาจารย์เอง ฯลฯ  ...  เราคาดว่าปัญหานี้จะหมดไป ถ้ามีการประกาศและกำชับให้นิสิตทุกคน ได้ตรวจสอบคะแนนเก็บและผลคะแนนสอบกลางภาคของตนเอง ก่อนจะมีการสอบปลายภาค  ด้วยการทำเป็นประกาศและขั้นตอนปฏิบัติให้นิสิตทุกคนต้องปฏิบัติ โดยหมายเหตุว่า หากไม่ตรวจสอบหรือท้วงติงตามวันเวลาที่กำหนด ถือว่ายอมรับคะแนนเก็บนั้นๆ  จะไม่สามารถเรียกร้องให้ตรวจสอบได้ภายหลัง ...  ทั้งนี้ หน้าที่ของ "นิสิต LA" คือต้องประสานงานกับนิสิตทุกคน 

๓) ปัญหาเรื่องการใช้สื่อโสตทัศนอุปกรณ์ ซึ่งหลายครั้งที่มักมีปัญหาให้อาจารย์ต้องโทรตามเจ้าหน้าที่บริการ (บร.) เพราะอุปกรณ์ในหลายชั้นเรียนยังเป็นระบบเก่าที่ค่อนข้างซับซ้อนสำหรับอาจารย์ที่ไม่สันทัดเรื่องเทคโนโลยี   ...  นิสิต LA จะไปเปิดอุปกรณ์เล่นสื่อหรือโสตทัศนอุปกรณ์ เตรียมพร้อมไว้ ก่อนจะอาจารย์จะเข้าสอน และช่วยแก้ปัญหาการใช้งาน ซึ่งนิสิต LA จะได้รับการฝึกอบรมมาก่อน

๔) ช่วยประหยัดไฟฟ้าและรายงานปัญหาห้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่ บร. เช่น แอร์เสีย  พัดลมไม่ทำงาน หรือระบบเสียงชำรุด ฯลฯ  ... เนื่องจากจำนวนเจ้าหน้าที่ บร. และแม่บ้าน มีจำนวนไม่มากพอจะเดินสำรวจตรวจดูทุกห้องเรียน ทำให้หลายครั้งมหาวิทยาลัยต้องสิ้นเปลืองพลังงานไปกับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่มีใครปิด  ... นิสิต LA จะช่วยตรวจตราและกำชับให้นิสิตปิดเครื่องใช้ไฟ้ฟ้าต่างๆ ก่อนจะออกจากห้อง โดยเฉพาะกรณีที่ไม่มีใครใช้ห้องเรียนนั้นแล้วในแต่ละวัน 

๕) เป็นการส่งเสริมการหารายได้ระหว่างเรียน  แม้ว่าค่าตอบแทนจะไม่มาก เพียง ๒๕ บาทต่อชั่วโมง แต่ถ้าหากใช้อย่างประหยัด และจัดการเวลาให้รับงานได้สัก ๔ กลุ่มเรียน  ก็จะได้ค่าตอบแทนประมาณสัปดาห์ละ ๒๐๐ บาท ภาคการศึกษาละ ๓,๐๐๐ บาท ก็พอจะแบ่งเบาภาระผู้ปกครองพอสมควร  ....  นอกจากเรื่องค่าตอบแทน นิสิต LA ที่ได้รับการยอมรับจากอาจารย์ผู้สอนว่าทำงานดี มีความรับผิดชอบ จะได้รับประกาศนียบัตรรรับรองประสบการณ์อย่างเป็นทางการ และมีสิทธิ์ที่จะสมัครขอรับทุนนิสิตจิตอาสาของสำนักศึกษทั่วไป ... รายละเอียดจะแจ้งให้ทราบต่อไป 

ความตั้งใจ


ด้วยหลักการและเหตุผลข้างต้น สำนักศึกษาทั่วไป โดยฝ่ายพัฒนานิสิตและเครือข่ายวิชาการ จึงได้ดำเนินโครงการสร้าง "นิสิต LA" ขึ้น และทดลองนำร่องในภาคเรียนที่ ๓/๒๕๕๗ ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ มีนิสิตได้รับใบประกาศบัตร จำนวน ๑๐ คน จึงได้ดำเนินการต่อในภาคการศึกษาต่อมา คือ ๑/๒๕๕๘  มีนิสิต LA ถึง ๙๘ คน ช่วยเหลืออาจารย์ทั้งหมด ๒๖๐ กลุ่มเรียน  ผลสรุปจะอย่างไร จะได้รายงานให้ทราบต่อไป ...

ในเบื้องต้น เรากำหนดวัตถุประสงค์และบทบาทหน้าที่ของ "นิสิต LA" ไว้ ๕ ประการ ได้แก่ 

๑)  ช่วย "เช็คชื่อ" คือ ตรวจสอบการเข้าเรียนหรือการเข้าร่วมกิจกรรมของนิสิต เพื่อปลูกวินัยและความรับผิดชอบของนิสิต  และส่งเสริมทักษะชีวิตด้านคุณธรรม จริยธรรม ความซื่อสัตย์ ระเบียบเครื่องแต่งกาย ฯลฯ  โดยในเบื้องต้นนี้ ให้เป็นดุลพินิจของอาจารย์ผู้สอนว่าจะกำหนดเกณฑ์ในการประเมินอย่างไรในแต่ละด้าน 

๒) ช่วยกรอกคะแนน คือ การนำเอาใบงาน การบ้าน หรือชิ้นงาน หรือผลงาน จากกิจกรรมการเรียนการสอน ซึ่งอาจารย์ตรวจให้คะแนนแล้ว มากรอกคะแนนลงในใบรายชื่อ และบันทึกลงในไฟล์ Excel เพื่อให้สะดวกต่ออาจารย์ ในการ Import ลงในระบบทะเบียนของนิสิตต่อไป 

๓) ประกาศคะแนน หรือประสานให้นิสิตเข้าตรวจสอบคะแนนเก็บ เป็นระยะ หรืออย่างน้อย ๑ ครั้งก่อนจะสอบปลายภาค เพื่อตรวจสอบความถูกต้องในการส่งงานและผู้ตรวจงาน  ให้แน่ใจว่า ไม่มีงานที่ส่งแต่อาจารย์ไม่ได้ลงบันทึกคะแนน  โดยกำหนดช่วงเวลาที่นิสิตสามารถมาแจ้งกับนิสิต LA ซึ่งทำหน้าที่รวบรวมแจ้งให้อาจารย์ทราบ และ/หรือ ประสานไปยังนิสิตทุกคนให้เข้าดูคะแนนของตนในระบบเมื่ออาจารย์นำคะแนนลงในระบบแล้ว  หากเลยช่วงเวลาดังกล่าว ให้ถือว่านิสิตยอมรับว่าคะแนนนั้นถูกต้อง ไม่มีสิทธิ์ร้องเรียนในภายหลัง ....  การใช้สื่อสังคมออนไลน์เช่น facebook  ทำให้การติดต่อประสานระหว่างนิสิต LA  กับนิสิตผู้เรียนทุกคนสามารถทำได้ 

๔) ช่วยเปิดสื่ออุปกรณ์ เตรียมความพร้อมของห้องเรียน ก่อนอาจารย์จะเข้าสอน 

๕) ช่วยปิดสื่อโสตทัศน์และอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ เมื่อแน่ใจว่า ไม่มีผู้ใช้ห้องเรียนต่อ 

หน้าที่ ๕ ประการนี้ ถูกกำหนดขึ้นด้วยความตั้งใจ จะช่วยแบ่งเบาภาระงานของอาจารย์ผู้สอนกลุ่มใหญ่  เพื่อทำให้อาจารย์ได้มีเวลาในการเตรียมการสอน และออกแบบปรับปรุงการเรียนการสอนให้ดีขึ้น  และหวังจะเป็นกลไกหนึ่งในการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริการของสำนักศึกษาทั่วไป เอื้อให้อาจารย์ได้สอนในห้องเรียนที่พร้อมที่สุด และใช้ทรัพยากรของมหาวิทยาลัยอย่างคุ้มค่าที่สุด 

ความคาดหวัง

ความคาดหวังสำคัญ ๓ ประการ จากโครงการนี้ คือ 

๑) ได้ช่วยแบ่งเบาภาระของอาจารย์ผู้สอน ช่วยมหาวิทยาลัยประหยัดไฟ และช่วยให้สำนักศึกษาทั่วไปให้บริการอาจารย์ได้อย่างประทับใจที่สุด  

๒) ได้ช่วยแบ่งเบาภาระด้านการเงินของนิสิต LA  และเป็นเหมือนโครงการฝึกฝนทักษะการทำงานของนิสิต LA แต่ละคน  โดยอาจารย์มีอาจารย์ผู้สอนทุกท่าน เป็นทั้งครูและเป็นทั้งผู้ใช้ว่าที่บัณฑิตในอนาคต   ... นิสิต LA ที่ผ่าน การทำงานอย่างดี จะได้รับการรับรองจากทั้ง อาจารย์ผู้สอน และสำนักศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยมหสารคาม ว่าเป็นผู้มีประสบการณ์ในการทำงานเบื้องต้น 

๓) ได้นิสิตต้นแบบหรือนิสิตแกนนำในการขับเคลื่อนคุณลักษณะของนิสิตที่พึงประสงค์ของหมวดวิชาศึกษาทั่วไป โดยเฉพาะด้านความเป็นคนดี ซื่อสัตย์ ประหยัด ขยัน และความมีจิตอาสา 

ขอจบบันทึกด้วยรูปของนิสิต LA รุ่นนำร่อง ความคืบหน้าจะเป็นอย่างไร จะมาบันทึกรายงานให้ท่านทราบเป็นระยะครับ 










ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น