วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

โครงการนิสิต LA _ ๐๖ : ต้องทำอย่างไรถึงจะเบิก ๒๕ บาท/ชั่วโมง ได้ทันเวลา

ค่าตอบแทนของนิสิต LA กำหนดด้วยระเบียบของมหาวิทยาลัย คือ ๒๕ บาทต่อชั่วโมง ไม่เกิน ๘ ชั่วโมงต่อวัน หากทำงานทั้งวันจะได้วันละ ๒๐๐ บาท โดยที่เวลาปฏิบัติงานต้องไม่ตรงกับตารางเรียนของตนเอง สำหรับวิชา ๒ หน่วยกิต (๒-๐-๔) นิสิต LA จะได้ค่าตอบแทนตลอดภาคเรียน ๗๕๐ บาท หากทำ ๔ รายวิชา จะได้ค่าตอบแทน ๓,๐๐๐ บาท ต่อภาคเรียน แทบจะไม่ได้ค่าเช่าที่พักด้วยซ้ำ เทียบกับอเมริกาญี่ปุ่นที่นักศึกษาสามารถทำงานหาทุนเที่ยวได้ไม่ลำบาก .... ฝากผู้บริหารที่ "เสียงดัง" ด้วยก็แล้วกันครับ อย่างไรก็ดี แม้จะเป็นเงินจำนวนไม่มาก แต่การเบิกจ่ายตามระเบียบราชการนั้น ยากสำหรับผู้มาใหม่มาก แต่ถ้าหากได้ศึกษาระเบียบราชการ ก็จะได้ประสบการณ์ด้านนี้ไปใช้ทำงานในอนาคตแน่

บันทึกนี้จะบอกวิธีเตรียมหลักฐานด้านการเงินสำหรับเบิกจ่ายค่าตอบแทนนิสิต LA  บอกแนวปฏิบัติในการในการส่งหลักฐานนั้นให้อาจาย์เซ็นรับรองและส่งให้ทางสำนักศึกษาทั่วไป  นิสิต LA ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ละเอียด รอบคอบ เพราะถ้าผิดนิดเดียว ต้องกลับมาทำใหม่ ต้องวิ่งไปขอลายเซ็นต์อาจารย์ใหม่ วุ่นวายไม่รู้จบ....

หลักฐานที่ต้องใช้ในการเบิกค่าตอบแทน 

หลักฐานคือ เอกสาร ๓ อย่าง ได้แก่  บัญชีลงเวลาปฏิบัติงานนิสิตช่วยปฏิบัติงานราชการ  ตารางสรุปผลการปฏิบัติงาน และ แบบรายงานผลการปฏิบัติงานนิสิตช่วยปฏิบัติราชการ  ดูรายละเอียดไปทีละอันครับ
  • บัญชีลงเวลาปฏิบัติงานนิสิตช่วยปฏิบัติงานราชการ 
นิสิต LA สามารถไปปริ๊นบัญชีลงเวลาได้เอง จากคอมพิวเตอร์ที่ตั้งไว้ให้บริการที่ห้อง CADL (RN-107)  ตึกราชนครินทร์ โดยเตรียมและเติมข้อมูลวันที่ เดือน ปี พ.ศ. และชื่อตัวเองรอไว้ก่อนการเข้าปฏิบัติงานในชั้นเรียน  ทุกครั้งที่เข้าปฏิบัติงานต้องไม่ลืมให้อาจารย์ผู้สอนลงชื่อ (เซ็นต์ชื่อ) รับรองในช่อง "ผู้ตรวจ"  การเติมข้อมูลให้ปฏิบัติดังนี้
    • ต้องเขียนชื่อตนเองให้ถูกต้อง อาจพิมพ์แล้วปริ๊นหรือเขียนด้วยปากกา 
    • ให้ลงเวลาให้เต็มชั่วโมง ไม่ให้เสร็จนาที เพื่อความสะดวกในการนับจำนวนชั่วโมง เช่น รายวิชา ๒(๒-๐-๔) ให้เติม ๘.๐๐ - ๑๐.๐๐  แม้เวลาในตารางทำงานจะเป็น ๘.๐๐ - ๙.๓๐ น. เพราะอาจารย์อาจมอบงานให้ไปกรอกคะแนนนอกเวลาเรียนอีก
    • ต้องเติมรายละเอียดทั้งหมดรวมทั้งลงรายมือชื่อตนเอง ในช่องลายมือชื่อ ก่อนจะนำไปให้อาจารย์ผู้สอนลงชื่อในช่อง "ผู้ตรวจ" 
    • ให้เขียนมุมขวาบนของแบบฟอร์มด้วยดินสอว่า เป็นรายวิชาใด กลุ่มการเรียนใด เพื่อให้ง่ายต่อการคัดแยกและจดจำ 
    • ในการเตรียมเอกสาบัญชีลงเวลาฯ เพื่อยื่นเรื่องขอเบิกค่าตอบแทน จะต้องเรียงลำดับตามวันเวลาที่ปฏิบัติงาน  โดยไม่แยกรายวิชาหรือกลุ่มการเรียนในกรณีที่ทำมากกว่าหนึ่งรายวิชาหรือมากกว่าหนึ่งกลุ่มการเรียน 
    • ดังนั้น ในหนึ่งหน้ากระดาษ A4 ที่มีบัญชีลงเวลาปฏิบัติงานฯ  ๓ ครั้ง จะต้องเรียงลำดับวันเวลาจากอดีตมาปัจจุบัน 
  •  ตารางสรุปผลการปฏิบัติงานนิสิตช่วยปฏิบัติงานราชการ 


นิสิต LA จะมีนัดประชุมเพื่อสรุปผลการปฏิบัติงานประจำเดือน  ทุกคนต้องนำบัญชีลงเวลาปฏิบัติงานฯ มาส่งให้กับเจ้าหน้าที่สำนักศึกษาทั่วไป และกรอกผลการปฏิบัติงานลงในตารางสรุปดังตัวอย่างตามภาพด้านบน

  • แบบรายงานผลการปฏิบัติงานนิสิตช่วยปฏิบัติราชการ
สุดท้ายคือ แบบรายงานผลการปฏิบัติงานฯ ซึ่งจะต้องมีลายเซ็นต์ของนิสิต LA ของอาจารย์ผู้สอน ผู้บริหารของสำนักฯ ที่รับผิดชอบ และลายเซ็นต์ผู้อำนวยการสำนักฯ  ดังนั้นต้องระวังไม่ให้พิมพ์ผิดในเรื่องต่อไปนี้
    • ชื่อนิสิต 
    • ชื่อรายวิชา
    • ชื่ออาจารย์ผู้สอน 
    • การเว้นวรรค
    • วันเวลา
    • ฯลฯ 
ขั้นตอนนี้จะมีเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาและช่วยตรวจทานอย่างละเอียด  นิสิต LA ต้องตั้งใจทำความเข้าใจและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด มิเช่นนั้น จะเกิดปัญหาความล่าช้าตามมา

ขั้นตอนการปฏิบัติงานและการเบิกค่าตอบแทน แสดงดังสไลด์ของคุณภาณุพงศ์ ดังนี้




นิสิต LA ต้องอ่านและทำความเข้าใจด้วยตนเองก่อนเป็นเบื้องต้น  เมื่อไม่เข้าใจจึงถามคุณภาณุพงศ์ต่อไป (ไม่ใช่ว่าถามตั้งแต่ต้นจนจบ)

สู้ครับ.... นิสิต LA เป็นหนึ่งในนิสิตแกนนำขับเคลื่อนคุณลักษณะนิสิตที่พึงประสงค์ของหมวดวิชาศึกษาทั่วไป จึงต้องปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่าง และเข้มงวดกับน้องๆ เพื่อฝึกวินัยด้านตรงต่อเวลา รับผิดชอบ และความซื่อสัตย์

วันเสาร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

โครงการนิสิต LA _ ๐๕ : วิธีการเช็คชื่อให้เสร็จภายใน ๑๕ นาที

จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนิสิต LA มาแล้ว ๒ รุ่น พบว่า ส่วนใหญ่จะไม่สามารถเช็คชื่อเข้าชั้นเรียนได้ภายในเวลา ๑๕ นาที  อุปสรรคที่ใหญ่ที่ทำให้ไม่สามารถทำได้ คือ อาจารย์หลายท่านไม่ให้ความสำคัญกับการเช็คสาย มักใช้วิธีจากการเช็คการเข้าเรียนจากใบงานหรือใบกิจกรรมที่ให้ทำในชั้นเรียน ซึ่งนิสิต LA บอกว่า ไม่สามารถแยกได้ว่าใครตรงต่อเวลาหรือมาสาย  ยิ่งไปกว่านั้น มีการทำงานแทนกัน ซึ่งเป็นการปลูกฝัง "การโกง" โดยไม่รู้ตัว หลายท่านมอบงานให้เป็นการบ้านซึ่งหลายครั้งสร้างภาระงานให้นิสิตโดยไม่จำเป็น แล้วหลายคนใจดีให้ส่งย้อนหลังด้วย ทำให้ความหวังในการปลูกฝังความตรงต่อเวลาและความรับผิดชอบ หายไป

อย่างไรก็ดี  นิสิต LA ปี ๓/๒๕๕๘ นี้ เราจะเข้มงวดกับเรื่องนี้ให้มาก โดยเฉพาะในวิชาที่เน้นทักษะที่จัดการเรียนการสอนแบบเน้นกิจกรรม ซึ่งหากนิสิตไม่มาเรียนไม่ร่วมกิจกรรมก็จะไม่ได้ผ่านกระบวนการ  เช่น วิชา ๐๐๓๒๐๐๕ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่เน้นทักษะการคิดบนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง วิชา ๐๐๓๒๐๐๔ ความเป็นมนุษย์และการเรียนรู้ ซึ่งเน้นกระบวนการเรียนรู้ด้วยประสบการณ์ตรงจากภายโนโดยใช้กิจกรรมจิตตปัญญาศึกษา และวิชาภาษาอังกฤษที่เน้นให้ฝึกพูดสื่อสาร เป็นต้น  โดยกำหนดเกณฑ์ในการให้คะแนนเข้าเรียน ดังนี้
  • ให้มีคะแนนเข้าเรียน ๑๐%  ในทุกรายวิชาที่จะมีนิสิต LA ปฏิบัติงาน
  • มาเรียนเกิน ๑๕ นาที ถือว่ามาสาย ตัดคะแนนเข้าเรียน
  • มาเรียนสาย ๒ ครั้ง เท่ากับขาด ๑ ครั้ง 
  • การลาต้องมีใบลาและหลักฐานประกอบ
  • กรณีของใบงานหรือใบกิจกรรมที่ให้ส่งท้ายคาบเรียน  ไม่อนุญาตให้ส่งย้อนหลัง  หากขาดเรียน คะแนนส่วนนั้นหายไป 
  • กรณีมอบหมายให้เป็นงานกลุ่มหรือการบ้านที่ต้องใช้การสืบค้น การส่งงานช้าต้องถูกหักคะแนน
  • เป็นต้น .... อาจารย์ผู้สอนสามารถกำหนดเพิ่มเติมได้เพื่อปลูกฝังคุณลักษณะที่พึงประสงค์ 
เพื่อให้เกณฑ์เหล่านี้สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง จึงขอเสนอแนวทางในการปฏิบัติดังนี้

การเช็คชื่อให้เสร็จภายใน ๑๕ นาที

ห้องเรียนรวมแบ่งเป็น ๒ แบบตามชนิดเก้าอี้เล็คเชอร์ คือ ยึดติดกับพื้นและแบบไม่ยึดติดกับพื้น  วิธีการเช็คชื่อให้รวดเร็วที่สุด ๒ วิธีสำหรับห้องเรียนเก้าอี้แต่ละแบบ ทำได้ดังนี้

สำหรับห้องเรียนที่เก้าอี้ยึดติดกับพื้น (เช่นห้องเรียนที่ตึก RN และ SC) ให้กำหนดเลขที่นั่งประจำเหมือนการกำหนดเลขที่นั่งสอบ เช่น  A1, A2.....  B1, B2,....


โดยเรียงจากหน้าห้องไปยังหลังห้อง  แต่ละห้องเรียนจะมีผังการวางเก้าอี้ไม่เหมือนกัน ดังนั้น นิสิต LA ต้องทำผังที่นั่งคล้ายดังภาพด้านบนนี้เอง  จากนั้นให้ประกาศเลขที่นั่งประจำให้นิสิตทุกคนทราบ เรียงลำดับตามใบรายชื่อ ดังภาพด้านล่าง


เมื่อกำหนดดังนี้แล้ว  ให้ทำข้อตกลงกับนิสิต ดังต่อไปนี้
  • เมื่อเข้าเรียน ให้นั่งตามหมายเลขที่นั่งของตนเองทุกครั้ง จนกว่าการเช็คชื่อเข้าเรียนเสร็จ 
  • หากเข้าชั้นเรียนสายเกิน ๑๕ นาที  จะถือว่าสาย  คะแนนเข้าเรียนจะถูกหักครึ่งหนึ่ง (กรอกลงใน excel 0.5) 
  • การมาสาย ๒ ครั้ง มีจะมีค่าเท่ากับขาดเรียน ๑ ครั้ง (เว้นแต่อาจารย์ผู้สอนจะกำหนดเป็นอย่างอื่น)
  • การลาต้องมีใบลาประกอบหลักฐานที่สมควร 
วิธีการเดินเช็คชื่อ ให้เริ่มตรวจเช็คตั้งแต่นาทีที่ ๕ โดยเดินเช็คกลับไปกลับมาเป็นรอบๆ ตามสมควร และเริ่มตรวจเช็ครอบสุดท้ายเมื่อครบ ๑๕ นาที  เมื่อเช็คเสร็จให้นิสิต LA ไปนั่งดักรอนิสิตผู้สายตรงประตูทางเข้า  หากมีประตูสองข้างให้ปิดไว้ข้างหนึ่ง

สำหรับห้องเรียนที่เก้าอี้ไม่ยึดติดกับพื้น เช่น ห้องเรียนของตึกสาธารณสุข (ที่ขึ้นต้นด้วย PH) และตึกวิศวะ (EN) สามารถทำได้หลากหลายวิธี เช่น

๑) ถ้ารายวิชานั้นมีใบกิจกรรมหรือใบงานประจำสัปดาห์ที่แยกต่างหากจากหนังสือเรียน (อย่าแจกใบงานล่วงหน้า) ให้นิสิต LA นำใบงานไปแจกหน้าประตูเข้าห้องเรียน เมื่อครบ ๑๕ นาที ก็ให้เซ็นชื่อเขียนว่า "สาย" ลงในใบงานนั้นๆ  หรืออาจทำสัญลักษณ์ใดให้ตนเองรู้ว่านิสิตคนนั้นๆ สาย ...จะให้ดีคือเขียนบันทึกด้วยเลยครับว่าสายกี่นาที  ข้อมูลเหล่านั้นจะเป็นประโยชน์ในการมองภาพรวมของความตรงต่อเวลาต่อไป ส่วนคนที่มาทันเวลาให้เช็คจากใบงานหรือใบกิจกรรม

๒) ถ้ารายวิชานั้นมีใบกิจกรรมหรือใบงานที่รวมไว้ในเอกสารประกอบการเรียน ช่วงนาทีแรกถึงนาทีที่ ๑๕ ให้นิสิต LA ประกาศหน้าห้องเพื่อตรวจเช็คเฉพาะนิสิตที่ไม่ได้เอาเอกสารประกอบการเรียนมา  แล้วทำสัญลักษณะในใบรายชื่อให้อาจารย์เข้าใจว่ามาเรียนแต่ไม่มีใบกิจกรรม เมื่อครบ ๑๕ นาที ให้นิสิต LA ไปดักตรงประตูเข้าห้อง (หากมีสองประตูให้ปิดไว้ประตูหนึ่ง) เพื่อทำสัญลักษณ์ "สาย" (พร้อมลายเซ็นต์) ไว้บนใบงานหรือใบกิจกรรมนั้นๆ   ...ผู้ที่ลืมเอาเอกสารประกอบการเรียนมาควรมีมาตรการหักคะแนนเช่นกัน...

๓) ถ้ารายวิชานั้นไม่มีใบงานหรือใบกิจกรรม หรือมีแต่ไม่ประจำ ขอแนะนำให้ทำใบเซ็นชื่อเข้าเรียน แล้วส่งให้เวียนเซ็นต์ไปเรื่อยๆ  แล้วนับจำนวนนิสิตเทียบกับจำนวนลายเซ็นที่นิสิตลงชื่อให้ตรงกัน  หากไม่ตรง ต้องหาวิธีตรวจให้พบนิสิตที่โกงและต้องมีมาตรการลงโทษและหักคะแนน  ส่วนการเช็คสายทำได้โดยให้นิสิต LA ไปดักรอที่ประตูตั้งแต่นาทีที่ ๑๕ ถึงนาทีที่ ๓๐ หากมาสายเกินกว่านั้นก็ให้ถือว่าขาดเรียน (แล้วแต่ดุลยพินิจของอาจารย์ผู้สอน)

เทคนิคสำคัญคือ ให้ใช้ "เลขที่" แทนรหัสประจำตัว เหมือนกับตอนที่เราเรียนชั้นประถม ที่แต่ละคนจะมีเลขที่ประจำตัว  ประสบการณ์ที่ผ่านมาบอกว่า สะดวกที่สุด


วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

โครงการนิสิต LA _ ๐๔ : วิธีการเตรียมไฟล์ Excel สำหรับกรอกคะแนนการเข้าเรียน

หลังจากทราบตารางปฏิบัติงานเรียบร้อยแล้ว นิสิต LA ทุกคน ต้องไปพบอาจารย์ผู้สอน โดยเร็วที่สุด  แนะนำตนเอง อธิบายหน้าที่ของนิสิต LA และตกลงกับอาจารย์ผู้สอนเกี่ยวกับรายละเอียดในการทำงานต่างๆ  โดยเฉพาะเรื่องการเช็คชื่อเข้าชั้นเรียนหรือร่วมกิจกรรมของนิสิต  ให้ชี้แจงกับอาจารย์ดังนี้

๑) ขอไฟล์รายชื่อนิสิตที่ลงทะเบียนเรียนในรายวิชานั้นๆ  ซึ่งอาจารย์ผู้สอนเท่านั้นที่จะสามารถเข้าไปในระบบระเบียน (reg.msu.ac.th) และดาวน์โหลดไฟล์มาได้  ไฟล์รายชื่อจะเป็นไฟล์ชนิด .rtf  ที่เปิดได้ด้วยโปรแกรม microsoft word

๒) เมื่อได้ไฟล์รายชื่อแล้ว ให้นิสิต LA นำข้อมูลรายชื่อใส่ลงในโปรแกรม microsoft excel  (ดูคลิปด้านล่าง)  การบันทึกคะแนนด้วยไฟล์ excel จะทำให้อาจารย์ผู้สอนสามารถ import คะแนน ลงในระบบระเบียนได้สะดวกและผิดพลาดน้อย



๓) ให้ทำการเช็คชื่อเข้าเรียนอย่างเข้มงวด  โดยใช่เลข 1 กรณีมาเรียนหรือมาร่วมกิจกรรม  เลข 0 กรณีขาดเรียนหรือไม่เข้าร่วมกิจกรรม เลข 0.5 กรณีสายเกินกว่า ๑๕ นาที และใส่ตัวอักษร "ล" สำหรับการลาโดยมีใบลาและหลักฐาน

ปัญหาที่พบในการเรียนการสอนที่ผ่านมา คือ การมาสายถึงกว่า ๒๐ เปอร์เซนต์ และขาดเรียนจำนวนมากในกรณีที่ไม่มีการเช็คชื่อเข้าเรียน  หากทุกรายวิชาเข้มงวดและกวดขันเรื่องนี้ จะเป็นการฝึกวินัยเรื่องการตรงต่อเวลาและความรับผิดชอบ  และทำให้นิสิตได้เข้าร่วมกิจกรรมในชั้นเรียนอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนากิจกรรมการเรียนการสอนต่อไป ...

๔) ประกาศคะแนนให้นิสิตทราบอย่างน้อยเดือนละ ๒ ครั้ง เพื่อให้นิสิตแต่ละคนได้ตรวจสอบคะแนนเข้าเรียนและงานของตนเอง หากมีปัญหาเช่น งานหายไป ก็สามารถมาร้องเรียนได้  การประกาศให้นิสิตรู้สามารถทำได้หลายวิชา  วิธีที่แนะนำคือ การสร้างกลุ่ม Facebook เพื่อสื่อสารกับนิสิต แล้วส่งไฟล์รูปหรือไฟล์ pdf ของคะแนนที่จะประกาศให้ทราบ  อีกวิธีหนึ่งคือ การประกาศหน้าชั้นเรียน ก่อนอาจารย์ผู้สอนจะเริ่มสอน  .... การประกาศคะแนนให้ทราบอย่างสม่ำเสมอ จะลดปัญหาความไม่เข้าใจกัน และทำให้นิสิตสามารถพัฒนาตนเองเกี่ยวกับการวางแผนการทำงานได้ง่ายขึ้น


บันทึกต่อไป มาดูตัวอย่างแนวปฏิบัติในการตรวจเช็คชื่อครับ


โครงการนิสิต LA _ ๐๔ : หน้าที่พื้นฐาน ๕ ประการของนิสิต LA

บันทึกเกี่ยวกับ "นิสิต LA" ครั้งล่าสุด ผมเล่าเรื่อง กระบวนการรับสมัครและพัฒนานิสิตผู้ช่วยอาจารย์ อ่านได้(ที่นี่)  ครั้งนี้มีรายละเอียดในส่วนการฝึกอบรมนิสิตช่วยงานที่คุณภาณุพงศ์ (น้องอุ้ม) ผู้รับผิดชอบ ส่งมาให้ ผมคิดว่าการอบรมฯ ครั้งนี้พัฒนาขึ้นจาก ๒ ครั้งที่ผ่านพอสมควร น่าจะสามารถนำมาแลกเปลี่ยนแบ่งปัน น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับท่านที่สนใจหรืออาจารย์ผู้สอนรายวิชาศึกษาทั่วไป ที่ยังไม่ค่อยเข้าใจเรื่อง "นิสิต LA" ได้ไม่มากก็คงไม่น้อย

ภาพรวมการะบวนการ

หลังจากกระบวนการรับสมัคร -> ภาคเช้าสอบสัมภาษณ์-> ภาคบ่ายอบรมเชิงปฏิบัติการ  โดยเริ่มจากการเกริ่นที่เหตุผล ๕ ประการที่ต้องมี LA (อ่านได้ที่นี่) -> อธิบายหน้าที่พื้นฐาน ๕ ประการของนิสิต LA -> แนวปฏิบัติในการทำหน้าที่นิสิต LA ได้แก่ วิธีการเตรียมไฟล์ Excel ->วิธีการกรอกคะแนน ->วิธีการเช็คชื่อภายใน ๑๕ นาที ->วิธีการประกาศคะแนน -> วิธีการเปิดปิดอุปกรณ์เครื่องฉายและไมค์-> คุณลักษณะเน้นสำหรับการเป็นนิสิต LA ดังมีสาระในแต่ละขั้นตอน ดังนี้

หน้าที่พื้นฐาน ๕ ประการของนิสิต LA



๑) ช่วย "เช็คชื่อ" คือ ตรวจสอบการเข้าเรียนหรือการเข้าร่วมกิจกรรมของนิสิต เพื่อปลูกวินัยและความรับผิดชอบของนิสิต และส่งเสริมทักษะชีวิตด้านคุณธรรม จริยธรรม ความซื่อสัตย์ ระเบียบเครื่องแต่งกาย ฯลฯ โดยในเบื้องต้นนี้ ให้เป็นดุลพินิจของอาจารย์ผู้สอนว่าจะกำหนดเกณฑ์ในการประเมินอย่างไรในแต่ละด้าน



๒) ช่วยกรอกคะแนน คือ การนำเอาใบงาน การบ้าน หรือชิ้นงาน หรือผลงาน จากกิจกรรมการเรียนการสอน ซึ่งอาจารย์ตรวจให้คะแนนแล้ว มากรอกคะแนนลงในใบรายชื่อ และบันทึกลงในไฟล์ Excel เพื่อให้สะดวกต่ออาจารย์ ในการ Import ลงในระบบทะเบียนของนิสิตต่อไป



๓) ประกาศคะแนน หรือประสานให้นิสิตเข้าตรวจสอบคะแนนเก็บ เป็นระยะ หรืออย่างน้อย 1 ครั้งก่อนจะสอบปลายภาค เพื่อตรวจสอบความถูกต้องในการส่งงานและผู้ตรวจงาน ให้แน่ใจว่า ไม่มีงานที่ส่งแต่อาจารย์ไม่ได้ลงบันทึกคะแนน โดยกำหนดช่วงเวลาที่นิสิตสามารถมาแจ้งกับนิสิต LA ซึ่งทำหน้าที่รวบรวมแจ้งให้อาจารย์ทราบ และ/หรือ ประสานไปยังนิสิตทุกคนให้เข้าดูคะแนนของตนในระบบเมื่ออาจารย์นำคะแนนลงในระบบแล้ว หากเลยช่วงเวลาดังกล่าว ให้ถือว่านิสิตยอมรับว่าคะแนนนั้นถูกต้อง ไม่มีสิทธิ์ร้องเรียนในภายหลัง การใช้สื่อสังคมออนไลน์เช่น Facebook ทำให้การติดต่อประสานระหว่างนิสิต LA กับนิสิตผู้เรียนทุกคนสามารถทำได้



๔) ช่วยเปิดสื่ออุปกรณ์ เตรียมความพร้อมของห้องเรียน ก่อนอาจารย์จะเข้าสอน



๕) ช่วยปิดสื่อโสตทัศน์และอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ เมื่อแน่ใจว่า ไม่มีผู้ใช้ห้องเรียนต่อหน้าที่ 5



ประการนี้ ถูกกำหนดขึ้นด้วยความตั้งใจ จะช่วยแบ่งเบาภาระงานของอาจารย์ผู้สอนกลุ่มใหญ่ เพื่อทำให้อาจารย์ได้มีเวลาในการเตรียมการสอน และออกแบบปรับปรุงการเรียนการสอนให้ดีขึ้น และหวังจะเป็นกลไกหนึ่งในการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริการของสำนักศึกษาทั่วไป เอื้อให้อาจารย์ได้สอนในห้องเรียนที่พร้อมที่สุด และใช้ทรัพยากรของมหาวิทยาลัยอย่างคุ้มค่าที่สุด
บันทึกหน้า มาว่าเรื่องแนวปฏิบัติต่อของนิสิต LA กันต่อครับ



วันอังคารที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

CADL โครงการเด็กดีมีที่เรียน_17: ค่ายพัฒนาคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของหมวดวิชาศึกษาทั่วไปด้านความ "พอเพียง" (๔)

บันทึกที่ (๑) บันทึกที่ (๒)  บันทึก (๓)

สิ่งที่เป็น Best Practice หรือ BP หรือแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดของ "ค่ายพอเพียง" ครั้งนี้ น่าจะเป็นวิธีประหยัดและพึ่งตนเองเรื่องอาหารการกินและที่พัก นิสิตพี่เลี้ยงฝ่ายครัวครั้งนี้ ได้รับคำชมอย่างมาก แม้จะเป็นอาหารง่ายๆ เช่น ไก่ทอด ไข่เจียว ไข่พะโล้ ไก่ทอด ส้มตำ แกงจืด ฯลฯ  ผมสังเกตว่า นิสิตเด็กดีในโครงการฯ ทั้งรุ่นพี่และรุ่นน้องมีความสามารถและศักยภาพหลากหลายรอบด้าน

กลับมาเรื่องกิจกรรมค่าย วันสุดท้ายเป็นการนำเสนอผลการถอดบทเรียนการเรียนรู้ในพื้นที่ เนื่องจากเวลามีจำกัดมากๆ และมีกิจกรรมเราก็ยิ่งมาก หลังจากนำเสนอจะมีบายสีผลไม้และต่อด้วยการพิธีจากลาจากแบบชาวค่าย จึงมีเวลานำเสนอเพียงกลุ่มละไม่เกิน ๑๐ นาทีเท่านั้น

อย่างไรก็ดี ผมว่ามีสาระที่น่าสนใจมากๆ ที่น่าจะบันทึกไว้ สำหรับใครที่สนใจจะไปทำเกษตรทฤษฎีใหม่ หากใครมีที่ ๑ ไร่ ๒ งาน ลงศึกษาวิธีการวางแผนของพ่อเรืองศิลป์ ยุบลมาตย์ ต่อไปนี้น่าจะดีครับ




  • มีผลิตผลกว่า ๒๘ ชนิดพร้อมขายในแต่ละวัน ทำให้มีรายได้เฉลี่ยตลอดปีมากกว่าเดือนละ ๑ หมื่นบาท  ในขณะที่รายจ่ายลดลงมาก
  • ให้สร้างโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ไว้คนละฝั่งกับบ้านพักโดยขุดบ่อกั้นกลางไว้ เพื่อประโยชน์ ดังนี้ 
    • สัตว์บีก เช่น ไก่ เป็ด ไม่มาขี้ใส่บริเวณบ้าน เพื่อให้แขกหรือลูกค้าที่มาซื้อ เห็นว่าเรื่องความสะอาดของการผลิต ไม่ใช่เฉพาะปลอดสารพิษเท่านั้น 
    • เวลามานอนพัก กลิ่นมูลสัตว์ที่อยู่ไกลไม่รบกวนอากาศบริสุทธิ์ 
    • ถ้าจะขุดสระน้ำ ให้ขุดเป็น ๒ บ่อ ตอนวิดบ่อ (ภาษาบ้านผมเรียก "สาปลา") จะได้ไม่มีปัญหาเรื่องน้ำทิ้ง สูบน้ำบ่อหนึ่งไปใส่อีกบ่อ พอเก็บปลาหมดก็สูบกลับไปบ่อเดิม นอกจากสะดวก คุ้มค่าแล้ว ยังสามารถเลี้ยงปลาได้หลายชนิด 
  • เลี้ยงกบแบบบ่อธรรมชาติด้วย ทำบ่อดินเป็นแหล่งน้ำ เลี้ยงผักตบ กบช่วยกินแมลง 
  • ทำแปลงผักและระบบน้ำให้ง่ายต่อการรดน้ำ ดูแลได้ด้วยคนๆ เดียว  
  • ปลูกกล้วยไว้ปรับปรุงดินแซมอยู่ทั่วแปลง หลังจากตัดหัวปลีหรือผลไปขาย ตัดหยวกก้วยไปกินหรือให้เป็นหมู่ ส่วนที่เหลืออยู่จะกลายเป็นปุ๋ย
แนะนำให้ไปดูของจริงเองครับ ...
ดึกมากแล้วขอพักบันทึกไว้เท่านี้ .... เขียนบันทึกนี่ก็มีความสุขดีครับ 


วันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

CADL โครงการเด็กดีมีที่เรียน_16: ค่ายพัฒนาคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของหมวดวิชาศึกษาทั่วไปด้านความ "พอเพียง" (๓)

บันทึกที่ (๑)   บันทึกที่ (๒)

สถานที่พักของค่ายนี้ไม่ใช่ "ที่พัก" แต่เป็นสถานปฏิบัติธรรม ชื่อว่า "สถานปฏิบัติธรรมจอมทอง"  ผู้ที่จะมาติดต่อขออนุญาตพระอาจารย์ ต้องระวังว่าท่านจะไม่ได้ใบเสร็จ เพราะไม่มีใบเสร็จ ไม่มีใบอนุโมทนาบัตรที่จะเอาไปลดหย่อนภาษี เพราะยังไม่ได้ตั้งเป็นวัด ดังนั้นขอแนะนำตามระเบียบการเงินให้ตั้งเบิกเป็นค่าบำรุงสถานที่ แล้วนำเงินที่จะจ่ายเป็นค่าที่พักนั้นมาทานทำดีบำรุงสถานที่ปฏิบัติธรรมของสงฆ์สุปฏิปันโน

อีกประเด็นสำคัญคือ หากจะมาขอพักค่ายที่นี่ ซึ่งสามารถรับผู้มาปฏิบัติธรรมได้มากกว่า ๗๐ คน  ควรต้องเป็นค่ายปฏิบัติธรรมตามจุดประสงค์ของสำนักฯ  ประเด็นนี้ต้องกราบนมัสการพระอาจารย์เจ้าอาวาสเองว่า กิจกรรมปฏิบัติธรรมนั้น จะสามารถมีได้มากน้อยแค่ไหน อย่างไร

สำหรับข้อวัตรปฏิบัติของพระที่นี่ ท่านจะตื่นมาทำวัตรเช้าตอนตีสามครึ่ง สวดมนต์ไหว้พระถึงตีสี่ นั่งเจริญสติทำสมาธิต่อถึงตีห้าครึ่ง แล้วท่านจึงออกบิณฑบาตรในหมู่บ้าน รับภัตตาหารตอนเจ็ดโมงครึ่งหรือแปดโมง ฉันจังหันตอนประมาณแปดโมงเช้าหรือแปดโมงครึ่ง ตอนเย็นเริ่มทำวัตรหกโมงเย็นสวดมนต์ถึงทุ่มครึ่ง ปฏิบัติธรรมถึงเกือบสามทุ่ม

สำหรับค่ายนี้พระอาจารย์อนุญาตกรณีพิเศษให้ไม่เคร่งครัดนักเรื่องปฏิบัติธรรมมากนัก ตื่นตอนตีห้ามาร่วมสวดมนต์และนักปฏิบัติถึงหกโมงเช้า และร่วมถวายภัตตาหารตอนเช้า ก่อนจะออกไปทำกิจกรรมที่หนองเลิงเปือย

ขอเล่าด้วยภาพเหมือนตอนที่แล้วครับ...   (บันทึกไว้เตือนความจำเด็กๆ หรือเผื่อเพื่อนครูท่านใดจะพาเด็กๆ ไปเรียนรู้แบบนี้บ้างครับ)

ตื่นนอนตอนตีห้า สวดมนต์ไหว้พระปฏิบัติธรรมนำสมาธิเจริญสติ


ร่วมถวายภัตตาหารเช้า (ภาพวันสุดท้าย)


กลุ่มที่ ๑ ไปเรียนรุ้กับตาสุขี หลังจากบรรยายซักถามถอดบทเรียนแล้ว กิจกรรมที่ท่านพาทำคือ ล้างบ่อกบ คัดแยกเพศกบ ให้อาหารปลา ลงจับปลานิล ปลูกผัก จับจิ๊งหรีด ฯลฯ






กลุ่มที่ ๒  ได้ทดลองเตรียมดินปลูกมะเขือเทศ  แล้วไปศึกษาเกษตรผสมผสานในไร่พ่อเรืองศิลป์




พ่อเรืองศิลป์นำเอาผลงานนักเรียนทุนเศรษฐกิจพอเพียงมาแสดง



กลุ่มที่ ๓ ลุยสุดๆ ตอนเช้าทำปุ๋ย ตอนบ่ายไปหว่านปอเทืองกว่า ๑๐ ไร่  ....


(ขออภัยผมไม่มีรูปตอนไปหว่านปอเทือง เด็กดีฯ ใครมีส่งให้อาจารย์ด้วยครับ)

กลับมาตอนเย็น ก็มาถอดบทเรียนกัน


และทำกิจกรรมฉันพี่น้อง





และจบด้วยพิธีเทียน ...    (ถ้าใครบางคนที่อยู่ในนี้เขียนบันทึกเล่าเรื่องให้ฟังจะดีมากๆ)