วันพุธที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2561

โครงการเด็กดีมีที่เรียน_๒๒: แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนิสิตในโครงการ มมส.และ มรม.

วันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๖๑ กองส่งเสริมการศึกษา สพม.๒๖ มหาสารคาม จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้นิสิตนักศึกษาในโนโครงการเด็กดีมีที่เรียนของทั้งจาก มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) และ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม (มรม.) กลุ่มเป้าหมายเป็นนิสิตในโครงการฯ ชั้นปี ๑-๔ ปี จำนวนมหาวิทยาลัยละ ๕๐ คน มีนิสิตมาร่วมประมาณ ๘๐ คน เป็นนิสิตจาก มมส. ๕๐ และจาก มรม. ๓๐ ... ผมขอขอบพระคุณ ท่าน ผอ.สุดใจ สุปัญบุตร ผู้อำนวยการกองฯ และ อาจารย์พรพรรณ โชติพฤกษวัน ผู้ดูแลโครงการฯหลักที่ สพฐ. .และขอเป็นกำลังใจให้ท่านทั้งสองขับเคลื่อนเรื่องนี้ต่อไป

ผม AAR ว่าเวทีนี้ ประสบความสำเร็จมาก ทั้งได้ข้อมูลเชิงปริมาณของการทำกิจกรรมของนิสิตในโครงากร สามารถเสริมพลังให้ทุกคนที่เข้าร่วม และเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีที่ก่อนเวทียังไม่มีมาก่อนให้เกิดขึ้น ได้ภาพร่างของทางเดินของนิสิตชัด และทั้งยังได้แผนที่ทางเดินร่วมกันระหว่าง สพม. ๒๖ มรม. และ มมส. ชัดเจน ดังจะขอสรุปให้เห็นพอสังเขปต่อไป

กิจกรรมกระบวนการ

กิจกรรมทั้งหมดดำเนินไปโดยทีมกระบวนกรจากชมรมต้นกล้าพันธุ์ดี นำโดยแสน ธีระวุฒิ ศรีมังคละ เจ้าของหลักสูตร ๓ กำลัง ส. (อ่านที่นี่)  กำหนดการกระบวนการเต็ม ๑ วัน ทีมกระบวนการทีมนี้ออกแบบทั้งหมด ดังตารางด้านล่าง โดยช่วงเวลา ๑๕.๐๐ น. เป็นต้นไป เป็นคิวของการทำ DAR (During Aciton Review)  ซึ่งผมออกแบบคำถามดังภาพด้านล่าง ก่อนจะร่วมกันวางแผน มองไปข้างหน้าว่าจะดำเนินกิจกรรมอันใกล้ไปในแนวทางใด





ขอเล่าด้วยภาพและคลิป เก็บไว้ในความทรงจำ ดังนี้ครับ



  • ปรบแปะปรบมือ


  • วางมือ-มือวาง
  • นกน้อยโผบิน
  • แม่หมีลูกหมี


  •  ผู้นำสี่ทิศ


  •  สัตว์ปกสัตว์น้ำ


  •  กลมและเหลี่ยม



  •  กิจกรรมเกาะร้างสร้างธรรมภิบาล ... กิจกรรมนี้สร้างสรรค์มากๆ  เรื่องมีอยู่ว่า แบ่งกลุ่มให้นิสิตแต่ละกลุ่มเท่าๆ กัน สมมติว่า ทุกกลุ่มล่องเรือไปในมหาสมุทร  ไปติดเกาะแห่งหนึ่งจึงสำรวจพบว่าเกาะมีภูมิศาสตร์เป็นรูป....... ให้จินตนาการวาด (ตัวอย่างเช่นกะโหลก) 


  •  เช่น เกาะกะโหลก ...  


  • มีพร้อมทุกอย่าง ทรัพยากรทุกอย่าง จึงได้อาศัยอยู่จนมีจำนวนคนเพิ่มขึ้น  ประสบกับปัญหาต่างๆ ดังอักษรสีแดงในภาพ 


  •  โจทย์มีอยู่ว่า ......  ๑) ให้พัฒนาระบบผังเมืองใหม่ให้น่าอยู่มากขึ้น และ ๒) ให้สร้างธรรมภิบาลของชุมชนขึ้น ตามรายละเอียดที่กำหนดแต่ละขั้นตอน 


  •  ตลาดนัดความรู้



  • เหล่านี้คือตัวอย่างผลงานเมืองใหม่ที่แต่ละกลุ่มสร้างสรรค์ขึ้น และแลกเปลี่ยนกัน


  •  สองผู้นำต่างวัยต่างมหาวิทยาลัย ใจเดียวกัน...



  • ทิวา ผู้นำนิสิต มรม. 


  • แสน@สรุป ด้วยสไลด์นี้ ธรรมภิบาล ๖ ด้าน 

ผลการ DAR

ผมได้เรียนรู้มากจากการสังเกตกระบวนการนี้ทั้งวัน และสิ่งที่นิสิตนำเสนอกันในวันนี้นั้น คือก็คือเป้าหมายในการสร้างคนของโครงการเด็กดีมีที่เรียนนั่นเอง จึงวาดภาพสรุปไว้ในสไลด์นี้



  • บทบาทของพวกเขา(ในอนาคต) เหมือนจะดูยิ่งใหญ่ เกินกำลังความสามารถ แต่หากวันหนึ่ง พวกเขาได้เป็นผู้นำสังคมหรือชุมชน เช่น เป็นนายกรัฐมนตรี ฯลฯ สิ่งเหล่านั้นก็ไม่เกินวิสัยจะทำได้ หรือแม้แต่จะดำรงชีวิตอยู่อย่างธรรมดา ก็สามารถจะสร้างสรรค์หน่วยที่เล็กที่สุดอย่างครอบครัว ให้มีหลักธรรมภิบาลได้ 
  • เป้าหมายแม้จะยิ่งใหญ่ ทำได้ลำบาก แต่หากระลึกเสมอว่า เราคือนักเรียน นิสิต นักศึกษา ที่มาจากโครงการเด็กดีมีที่เรียน  "กรอบแห่งศรัทธา" นี้จะนำพาให้เดินไปถึงเป้าหมายนี้ในระดับใดระดับหนึ่งแน่นอน สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมได้แน่นอน
  • บนเส้นทางนี้ อาจแบ่งพันธกิจได้เป็น ๔ ระดับ ได้แก่
    • ระดับ ๑ เข้าร่วมกิจกรรม คือ เป็นผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่บำเพ็ญประโยชน์เพื่อส่วนรวม
    • ระดับ ๒ ร่วมกับคนอื่นสร้างกิจกรรมเพื่อส่วนรวม  เช่น เป็นกรรมการ หรือผู้มีส่วนร่วมในการจัดโครงการหรือกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวมนั้นๆ 
    • ระดับ ๓ เป็นผู้ริเริ่ม สร้างสรรค์กิจกรรมเพื่อส่วนรวม หรือ พัฒนากิจกรรมที่ดีมีอยู่แล้ว ให้ดีมากขึ้น 
    • ระดับ ๔ ขับเคลื่อนขยายผลจากตนเองสู่ผู้อื่น 
ในช่วงท้ายที่สุดของวัน ได้สำรวจจำนวนกิจกรรมที่แต่ละคนได้ทำตามพันธกิจในแต่ละระดับเท่าใด โดยให้เขียนชื่อ สาขา และสถาบัน  ได้ผลที่น่าสนใจ ดังนี้ 

นิสิต มมส. ที่สะท้อนข้อมูล จำนวน ๓๖ คน
  • นิสิตที่เดินทางอยู่ในระดับ ๑ คือเข้าร่วมกิจกรรม แต่ยังไม่ได้มีส่วนร่วมในการจัดงาน จำนวนทั้งหมด ๑๑ คน เกือบทั้งหมดเป็นนิสิตชั้นปี ๑  โดยบอกว่าตนเองเข้าร่วมกิจกรรมอยู่ที่ ๖-๑๓ ครั้ง เฉลี่ยอยู่ที่ ๙.๙ ครั้ง
  • นิสิตที่ตอบว่าตนเองอยู่ในระดับ ๒ คือ ได้ร่วมเป็นกรรมการหรือมีส่วนในการสร้างกิจกรรมเพื่อส่วนรวม มีจำนวน ๙ คน บอกว่าได้ร่วมสร้างกิจกรรมหรือโครงการ...
    • ๑ กิจกรรมหรือโครงการ จำนวน ๒ คน
    • ๒ กิจกรรมหรือโครงการ จำนวน ๒ คน
    • ๓ กิจกรรมหรือโครงการ จำนวน ๒ คน
    • ๔ กิจกรรมหรือโครงการ จำนวน ๑ คน
    • ๑๐ กิจกรรมหรือโครงการ จำนวน ๑ คน
  • นิสิตที่ตอบว่าตนเองมาถึงระดับ ๓ คือ ได้ริเริ่มสร้างสรรค์กิจกรรมเพื่อส่วนรวม มีจำนวน ๒ คน คนหนึ่งบอกว่าริเริ่ม ๓ กิจกรรม อีกคนบอกว่าได้ริเริ่ม ๑ กิจกรรม
  • นิสิตที่ตอบว่าตนเองมาถึงระดับ ๔ คือ มีการขับเคลื่อนขยายผลจากตนเองสู่ผู้อื่น มีมากถึง ๑๔ คน 
    • บอกมา ๑ กิจกรรมหรือโครงการ จำนวน ๔ คน
    • บอกว่าตนเองทำ ๒ กิจกรรมหรือโครงการ จำนวน ๓ คน 
    • บอกว่าตนเองทำ ๓ กิจกรรมหรือโครงการ จำนวน ๒ คน 
    • บอกว่าตนเองทำ ๔ กิจกรรมหรือโครงการ จำนวน ๒ คน 
    • บอกว่าตนเองทำมากกว่า ๕ กิจกรรม ๒ คน  คนหนึ่งเป็นนิสิตชั้นปี ๑ สะท้อนว่าได้ขยายผลไป ๙ กิจกรรมหรือโครงการแล้ว
นิสิต มรม. ที่สะท้อนข้อมูล จำนวน ๑๗ คน
  • นักศึกษาที่บอกว่าตนเองอยู่เพียงระดับ ๑  มี ๑ คน เข้าร่วม ๔ กิจกรรม ตอนนี้อยู่ปี ๒
  • นักศึกษาที่บอกว่าตนเองมาถึงระดับ ๒ มีจำนวน ๕ คน บอกว่า ๑ กิจกรรมหรือโครงการ ๓ คน อีก ๒ คนบอกว่า มีส่วนร่วมสร้าง ๔ กิจกรรมหรือโครงการ 
  • นักศึกษาบอกว่าตนเองอยู่ระดับ ๓ จำนวน ๑ คน ริเริ่ม ๑ กิจกรรมหรือโครงการ 
  • นักศึกษาที่สะท้อนว่าตนเองได้ขยายผลจากตนสู่คนอื่นแล้วทั้งหมด ๑๐ คน (ส่วนใหญ่เป็นนิสิตชั้นปี ๔ มีปี ๓ ๓ คน และปี ๕ ศึกษาศาสตร์ ๑ คน )
    • บอกว่า ๑ กิจกรรมหรือโครงการ  จำนวน ๔ คน  
    • บอกว่า ๒ กิจกรรมหรือโครงการ  จำนวน ๕ คน 
    • บอกว่า ๔ กิจกรรมหรือโครงการ  จำนวน ๑ คน 
ข้อสังเกต
  • นิสิตนักศึกษาส่วนใหญ่ในโครงการเด็กดีมีที่เรียน เมื่อเข้ามาในมหาวิทยาลัย สามารถก้าวไปถึงพันธกิจระดับ ๔ คือ สามารถขยายผลกิจกรรมเพื่อส่วนร่วมจากตนสู่คนอื่นได้ 
แผนการขับเคลื่อนต่อไป 
  • ก่อนเริ่มกิจกรรมของนิสิต ผอ.สุดใจ ท่านได้เล่าประสบการณ์การไปศึกษาดูงาน โครงการเด็กดีมีที่เรียนของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และได้ลงพื้นที่เยี่ยมโรงเรียนเครือข่าย พบตัวอย่างที่ดี เป็น BP ของการเตรียมนักเรียนเข้าสู่โครงการอย่างเป็นระบบตั้งแต่ ม.๓ 
  • ความจริงเราก็ควรทำ และเราเคยทำโครงการเด็กดีคืนถิ่น (อ่านตัวอย่างบางโรงเรียนที่เราไปที่นี่) โดยให้นิสิตในโครงการออกไปพาน้องๆ เรียนรู้ตนเอง ให้รู้จักตนเองตั้งแต่ตอน ม.๓ โดยไม่ใช่ไปแนะแนว ไม่ใช่ไปหาคนมาเรียน แต่เป็นการส่งเสริมพี่ในโครงการเด็กดีฯ ให้กลับไปคืนถิ่นไปทำความดี 
  • ผมได้เสนอเรื่องนี้ ท่าน ผอ.สุดใจ ท่านเห็นด้วยและพร้อมจะดำเนินการ ดร.ประมวล จาก มรม. ก็เห็นด้วย ที่จะทำโครงการนี้แบบร่วมมือ แบบไม่ต้องไปในนามมหาวิทยาลัย แต่ไปในนามโครงการเด็กดีฯ ตอนท้ายเมื่อนำเรื่องนี้สอบถามนิสิตก่อนจบกิจกรรม นิสิตก็เห็นด้วย
  • จึงได้แนวทางในการเดินงานประสานต่อ ดังนี้ 
    • จัดทำหลักสูตร "เด็กดีมีที่เรียน คืนถิ่นทำดี" เพื่อพัฒนานิสิตนักศึกษา ให้เป็นกระบวนกร 
    • จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ สร้างกระบวนกรการเรียนรู้ (Learning Facilitator) จัดเป็นทีมๆ ละ ๕-๑๐ คน
    • ประสานเครือข่ายโรงเรียน เพื่อขอความร่วมมือและการสนับสนุนค่าเดินทางและค่าอาหาร  
    • ดำเนินการโครงการ "คืนถิ่นทำดี" เพื่อ สร้างกระบวนการเรียนรู้ให้น้อง ม.๓-๔ รู้จักตนเอง รับรู้และตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงของสังคมในยุคโลกาภิวัตน์ และตระหนักถึงการเลือกอนาคตด้วยตนเอง
  • ผมอาสาจะเข้าไปเป็นกรรมการขับเคลื่อนเรื่องนี้ทุกวิถีและโอกาส 

วันศุกร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2561

ชมรมตามรอยเท้าพ่อ_ (๔) ให้คำแนะนำเพื่อนำเสนอในงานคุณธรรมจริยธรรมเฉลิมพระเกียรติ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

วันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๖๑ นิสิตชมรม ตามรอยเท้าพ่อ สังกัดกองกิจการนิสิต มาขอคำปรึกษาเรื่องการเตรียมตัวเพื่อนำเสนอผลการ "เดินตามรอยเท้าพ่อ" สืบสานพระราชปณิธานในหลวงรัชกาลที่ ๙ ของชมรมฯ ในโครงการคุณธรรม จริยธรรม เฉลิมพระเกียรติ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (มูลนิธิพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นำโดย พระอาจารย์พงศ์นรินทร์ ฐิตวังโส) ซึ่งจัดต่อเนื่องมายาวนานเป็นประจำทุกปี

สถานการณ์ปัจจุบันของแปลงผักตบชวา ที่ถือเป็นแปลงฝึกฝนตนเองด้วยการสืบสานพระราชปณิธานในหลวงรัชกาลที่ ๙ น้อมนำเอา "ศาสตราพระราชา" มาแก้ปัญหาน้ำเสีย ด้วยแนวพระราชดำริ" ใช้อธรรมปรับอธรรม" ใช้ผักตบชวามาแก้ปัญหาน้ำเสีย แสดงดังภาพด้านล่าง


ผมทำสะพานไม้ขึ้นอย่างไม่เป็นทางการโดยไม่เกี่ยวข้องกับนิสิตและชมรมฯ ด้วยเห็นว่าหากปล่อยไว้นาน จากยากต่อการควบคุมปริมาณและจัดระเบียบผักตบชวาที่แตกกระจายออกเป็นแปลงเล็กจากลมฟ้าพายุ ตั้งใจจะทำเป็นแหล่งให้นิสิตได้จัดระเบียบเอาผักตบชวาที่ตอนนี้แต่ละแปลงย่อยแยกกระจายไปรอบๆ บ่อ และที่สำคัญที่สุดคือเพื่อให้นิสิตสามารถลงรื้อเอาผักตบที่เจริญเติบโตเต็มที่แล้วออกทุกๆ ๔๕ วัน เพื่อให้ผักตอบชวาได้ขยายเจริญเติบโตใหม่ เพราะผักตบชวาที่เจริญเติบโตขึ้นใหม่จะดูดซับเอาสารอินทรีย์ในน้ำไปใช้ในการสร้างใบและลำต้น เป็นการบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีธรรมชาติ ในขณะเดียวกันสะพานนี้จะทำให้การควบคุมปริมาณผักตบชวาที่อยู่ในสระได้ง่ายขึ้น... สะพานนี้น่าจะมีอายุประมาณ ๒ ปี  หากทางมหาวิทยาลัยที่ดูแลพื้นที่นี้ต้องการจะให้รื้อสะพานออก ผมก็ยินดีจะดำเนินการให้เรียบร้อยต่อไป แต่ปีนี้จำเป็นต้องมีชั่วคราวเพื่อการดังกล่าวก่อน

อาจารย์ ดร.ญาณวุฒิ อุทรลักษณ์ ให้ความอนุเคราะห์ส่งนิสิตคณะวิทยาศาสตร์มาวัดค่าคุณภาพน้ำ ในวันที่ ๑๒ กันยายน ได้ผลดังตาราง

โดยแต่ละตำแหน่งแทนด้วยชื่อ "MSUW..."  แสดงดังภาพด้านล่าง


สังเกตว่า ทุกจุดของสระน้ำ คุณภาพน้ำปกติ น้ำไม่เสีย โดยมีค่า ปริมาณออซิเจนที่ละลายในน้ำ (DO) เฉลี่ยอยู่ที่ 6.9 mg/l (น้ำเสียจะมีค่า DO ต่ำกว่า 3 mg/l) ยกเว้นตำแหน่งที่ 5 บริเวณข้างถนน  ที่มีค่า DO อยู่ที่ 3.3 เท่านั้น


ข้อมูลที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ ค่าการนำไฟฟ้าของน้ำ (Electric Conductivity, ค่า EC) ที่แสดงดังแผนภูมิด้านล่าง


ค่า EC เฉลี่ยอยู่ที่ 259.3 ไมโครวินาทีต่อเซนติเมตร  ซึ่งต่ำมากเมื่อเทียบกับน้ำสะอาดทั่วไปที่มีค่า EC อยู่ที่ 5 - 30 มิลลิวินาทีต่อเซนติเมตร หรือ 5,000-30,000  ไมโครวินาทีต่อเซ็นติเมตร แสดงว่า น้ำมีสารละลายประเภทเกลือที่มีประจุต่ำอยู่ในปริมาณสูง  ซึ่งส่งผลให้น้ำมีฤทธิเป็นกรดที่ทุกจุดที่ตรวจวัด ดังแสดงดังแผนภูมิ


เสียดายที่ทีมนิสิตไม่ได้ลงตรวจคุณภาพน้ำในตำแหน่งสะพานผักตบชวาอยู่  การตรวจครั้งต่อไปคงจะสามารถประเมินได้บ้างว่า ผักตบชวาสามารถบำบัดน้ำเสียได้หรือไม่

ข้อแนะนำสำหรับนิสิตชมรมตามรอยเท้าพ่อ

คำถามที่นิสิตชมรมตามรอยเท้าพ่อทุกคนต้องตอบได้ คือ

  • ทำไมเรามาอยู่เป็นสมาชิกชมรมตามรอยเท้าพ่อ
  • "รอยเท้าพ่อ" คืออะไร "ศาสตร์พระราชา" คืออะไร
  • การ "เดินตามรอยเท้าพ่อ" ทำอย่างไร 
  • ชมรมกำลังทำอะไร เพื่ออะไร เป้าหมายอยู่ตรงไหน 
  • ฉันจะรู้ได้อย่างไรว่า ฉันกำลังอยู่บนรอยเท้าพ่อ กำลังเดินตามรอยเท้าพ่อ 
คำถามที่นิสิตที่กำลังจะนำเสนอโครงการเดินตามรอยเท้าพ่อ ตอน "บำบัดน้ำเสียโดยใช้อธรรมปราบอธรรม" ต้องตอบได้ คือ 

  • หลักการทรงงาน "อธรรมปราบอธรรม" (สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) รวบรวมไว้)  หมายถึงอะไร
  • ดูว่าน้ำเสียดูอย่างไร  สี กลิ่น เป็นอย่างไร  ค่า DO ต่ำกว่าเท่าใดจึงเรียกว่าน้ำเสีย
  • น้ำที่สระข้างอาคารบัญชีฯ และ อาคารราชนครินทร์ จัดว่าเป็นน้ำเสียหรือไม่ 
  • สาเหตุที่ทำให้น้ำในสระดังกล่าวมีคุณภาพลดลง คืออะไรบ้าง 
  • โครงการตามรอยพ่อ ตอน "บำบัดน้ำเสีย ด้วยผักตบชวา..... " มีวัตถุประสงค์อะไรบ้าง  เรียงลำดับตามความสำคัญ 
  • แนวคิดหรือหลักคิดในการทำงานโครงการนี้คืออะไร ให้อธิบาย 
  • ผลที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม คืออะไรบ้าง 
  • พบปัญหาและอุปสรรคใดบ้าง 
  • มีแผนจะทำอย่างไรต่อไป 
คำถามสำหรับนิสิต สมาชิกชมรมทุกคน 
  • การเข้าร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับโครงการนี้  ส่งผลต่อข้าพเจ้าอย่างไรบ้างหรือไม่ ทำให้ข้าพเจ้ามีพฤติกรรมอะไรเปลี่ยนจากที่ไม่ได้เข้าร่วมหรือไม่  (ความคิด วิธีคิด ความรู้ ทักษะ ฯลฯ) ให้เขียนอธิบายด้วยจะดี
  • ข้าพเจ้าได้เรียนรู้อะไรบ้าง ตรงไหนที่ประทับใจที่สุด ตรงไหน (กิจกรรมใด) ตอนไหน (เมื่อใด) 
  • ข้าพเจ้าได้เรียนรู้ "รอยเท้าพ่อ" มากขึ้นอย่างไร จากโครงการนี้ 
  • ปัญหาหรืออุปสรรค หรือ สิ่งใดที่ข้าพเจ้าอยากจะทำแต่ยังไม่ได้ทำ 
  • หากข้าพเจ้าเป็น "ประธานชมรมตามรอยเท้าพ่อ" ข้าพเจ้าจะ............................  (เติมมาสัก ๓ ข้อ)
สุดท้ายนี้ขอให้ นิสิตชมรมเดินตามรอยเท้าพ่อ ประสบความสุข รู้ทุกข์ เพียรละเหตุแห่งทุก จนเกิดสุขเป็นนิโรจ ตามรู้ตามดูความโกรธ โลภ หลง บนเส้นทางแห่งมรรคมีองค์ ๘ โดยเร็วเถิด

อาจารย์เข้าใจว่า ในหลวงรัชกาลที่ ๙ สอน สิ่งสำคัญ ๓ ประการ ที่นิสิตเดินตามรอยเท้าพ่อ ควรจะฝึกฝนบนเส้นทางนี้ คือ  
  • ทำความดี มีจิตอาสา พัฒนาส่วนรวม (ฝึกมองประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน)
  • สามัคคี  
  • ปิดทองหลังพระ (จงฝึกทำความดี โดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ ให้เป็นนิสัย) .... ข้อหลังนี้ทำยากที่สุด 
องค์ความรู้ที่นิสิตชมรมตามรอยเท้าพ่อต้องศึกษาอยางจริงจังให้เข้าใจ (ทั้งทางทฤษฎีและด้วยการปฏิบัติ) ได้แก่

  • ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
  • หลังการทรงงาน 
  • ขั้นตอนการทรงงาน 
  • ศาสตร์พระราชาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ตนเองกำลังกระทำอยู่ "หน้างาน" 
ข้อแนะนำสำหรับการนำเสนอ
  • นำเสนอความจริง 
  • นำเสนอด้วยใจ โดยใช้การเล่าเรื่อง (Story Telling) (ห้ามไปอ่านให้กรรมการฟังเด็ดขาด เว้นแต่เพียงการอ่านสั้น เช่น อาจพระราชดำริ) ด้วยความมั่นใจ ภูมิใจที่ได้ทำสิ่งนี้ 
  • ทำเพาเวอร์พอยท์ ที่แสดงข้อมูล เป็นภาพ เป็นตัวเลข เป็นกราฟ  ไม่ใช่แสดงเรื่องราวเป็นตัวหนังสือ  ...  เพาเวอร์พอยท์ช่วยคนเสนอ  ไม่ใช่คนนำเสนอช่วยเพาเวอร์พอยท์ 
  • พูดชัดเจน เสียงดังพอเหมะ มีจังหวะ ไม่พูดซ้ำคำ หรือสร้อยคำ หรือคำฮิตติดปาก เช่น "นะคะ" "แบบว่า" "อะไรทำนองนี้"  เป็นต้น  (พูดอย่างพอประมาณ)
ขออนุโมทนากับศรัทธา ปัญญา และความเพียร ของทุกคนครับ