วันศุกร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

โครงการนิสิต LA _ ๐๒ : กระบวนการรับสมัครและพัฒนา นิสิตผู้ช่วยอาจารย์ (Lecturer Assistant: LA)

ตามที่ได้เล่าที่มา ที่ไป ความตั้งใจ และความคาดหวังไว้ที่บันทึกนี้  ปัญหาคือ จะทำอย่างไรให้บรรลุเป้าหมายนี้ให้ได้... บันทึกนี้คือ "ระบบและกลไก" ที่เราวางไว้และเริ่มใช้นำร่องแล้ว ภาคเรียนที่ ๒/๒๕๕๘ นี้จะนำส่วนที่ดีมาทำอีกและหลีกเลี่ยงและพัฒนาแก้ปัญหาที่เราพบ  ซึ่งจะเล่าไว้ในบันทึกนี้เฉพาะในส่วนที่จะมีประโยชน์ในการสื่อสารกับ นิสิตที่กำลังจะสมัครใหม่ และอาจารย์ผู้สอนที่ประสงค์จะใช้นิสิต LA (Lecturer Assistant) ในภาคการศึกษานี้ และภาคการศึกษาถัดไปตราบที่ยังมีโครงการนี้อยู่

จำทำอย่างไรถ้าอยากเป็นนิสิต LA

การสร้างนิสิต LA เริ่มที่คุณสบัติของนิสิตเบื้องต้น คือ ต้องเป็นนิสิตชั้นปี ๓ ปี ๔ ที่มีความประพฤติดี สำคัญที่สุดคือซื่อสัตย์ ตรงต่อเวลา มนุษย์สัมพันธ์ดี และรับผิดชอบต่องาน และเพื่อให้แน่ใจว่า จะไม่มีผลกระทบต่อการเรียน จึงกำหนดเกรดเฉลี่ยไว้ไม่ต่ำกว่า ๒.๕๐ (GPAX) ไว้ด้วย  นิสิตที่มีคุณสมบัติตามนี้ คลิกกรอกใบสมัครไว้ก่อนเลยที่นี่ครับ



(หรือคลิกที่นี่)

เมื่อสมัครแล้วเบื้องต้น  สามารถเตรียมเอกสารยื่นที่ห้อง CADL ฝ่ายพัฒนานิสิตของสำนักศึกษาทั่วไป รายละเอียดอ่านในประกาศที่นี่ครับ   

มีหลักฐานอย่างหนึ่งที่ทั้งนิสิตและอาจารย์ผู้สอนอาจจะสงสัย ว่าทำไมต้องมีใบรับรองจากอาจารย์ที่ปรึกษา หรือใบรับรองจากอาจารย์ผู้สอนรายวิชาศึกษาทั่วไป  จึงขอแบ่งอธิบายเป็น ๒ กรณี ดังนี้ 

๑) กรณีนิสิตผู้สนใจทั่วไป   จะต้องให้อาจารย์ที่ปรึกษารับทราบว่า ประสงค์จะมาเป็นนิสิต LA เพื่อให้ท่านช่วยพิจารณาตัดสินใจว่า จะมีผลต่อการเรียนในสาขาหรือไม่  และเพื่อความสะดวกต่อการสื่อสาร ติดตาม และรายงาน ให้อาจารย์ที่ปรึกษาทราบ 

๒) กรณีที่อาจารย์ผู้สอนรายวิชาศึกษาทั่วไป ประสงค์จะระบุตัวนิสิตที่จะมาปฏิบัติงานในรายวิชาที่ตนสอนในภาคเรียนนั้นๆ นิสิตผู้สมัครต้องได้รับการรับรองจากอาจารย์ผู้สอนฯ  ถือเป็นการคัดเลือกเบื้องต้นจากอาจารย์ผู้ใช้บริการนิสิต LA   เปรียบเสมือนการส่งรายชื่อมาจากอาจารย์โดยตรง  ซึ่งในแต่ละรายวิชา อาจารย์จะสามารถส่งจำนวนรายชื่อนิสิตได้ไม่เกินเกณฑ์ที่ทางสำนักศึกษาทั่วไปได้ประกาศ ดาวน์โหลดรายละเอียดได้ที่นี่   

อย่างไรก็ดี นิสิตผู้สนใจในทั้งสองช่องทางนี้ จะต้องผ่านการตรวจสอนคุณสมบัติต่างๆ ที่กำหนดในประกาศ และผ่านการสัมภาษณ์จากสำนักศึกษาทั่วไป เพื่อจัดเก็บข้อมูลและจัดทำข้อตกลงร่วมกัน รวมทั้ง ต้องเข้ารับการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อให้ได้รับรู้ เข้าใจ และมั่นใจว่า จะสามารถทำหน้าที่ได้  ก่อนจะได้รับการประกาศให้เป็นนิสิต LA ต่อไป ... ดังแผนผังด้านล่าง




ทำไมฉันอยากเป็นนิสิต LA

ขอเขียนความเห็นของตนเอง ในฐานะอาจารย์คนหนึ่ง ที่อยากให้นิสิตชั้นปี ๓ ปี ๔ ทุกคนที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด มาลองเป็นนิสิต LA  โดยจะเรียงลำดับตามความสำคัญจากมากไปน้อย ดังนี้ 
  • เป็นการฝึกประสบการณ์การทำงาน  ผู้ที่ผ่านการปฏิบัติงานและสำเร็จลุล่วงตามเป้าหมาย ได้รับการประเมิน "ผ่าน" จากอาจารย์ผู้ใช้งานนิสิต LA  ต้องมีความรับผิดชอบ มีความซื่อสัตย์ รอบคอบ มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี มีสัมมาคารวะ   ทั้งหมดนี้ จึงได้รับใบประกาศนียบัตร รับรองว่าเป็น "นิสิตผู้ช่วยอาจารย์"  และสามารถมาขอรับงาน LA ได้ในภาคเรียนถัดๆ ไป โดยไม่ต้องสมัครใหม่ 
  • เป็นการฝึกฝน "จิตอาสา" ภายในตน นอกจากจะปฏิบัติงานเป็นผู้ช่วย่อาจารย์แล้ว นิสิต LA จะได้รับข้อมูลข่าวสาร เชิญชวน ให้เข้าร่วมกิจกรรมที่สำคัญๆ ต่างๆ ของทั้งสำนักศึกษาทั่วไป และของมหาวิทยาลัย  และจะได้รับการรับรองเป็นกิจกรรม "จิตอาสา" ในบันทึกของกองกิจการนิสิต
  • มีสิทธิ์ได้รับทุนการศึกษา "นิสิตแกนนำขับเคลื่อนคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของหมวดวิชาศึกษาทั่วไปต้นแบบ" หรือ "นิสิตจิตอาสาต้นแบบ" 
  • ได้รับค่าตอบแทน ชั่วโมงละ ๒๕ บาท คำนวณแล้วประมาณรายวิชาละ ๗๕๐ บาท ต่อภาคการศึกษา (หากรับผิดชอบ ๔ กลุ่มเรียน หรือ ทำงาน ๘ ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จะได้ค่าตอบแทนประมาณ ๓,๐๐๐ บาท ต่อภาคการศึกษา) 
  • ฯลฯ

ขอจบเท่านี้ครับ 
หากท่านมีจิตอาสา ก้าวเข้ามาเลยครับ 


วันพุธที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

CADL ขับเคลื่อน ปศพพ. ใน มมส. _ ๑๐ : วิชาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง "กิจกรรมส่งเสริมสติและสมาธิ ตามหลักศาสนาที่ตนนับถือ"

ภาคการศึกษาแรกที่รายวิชาใหม่ ๐๐๓๒๐๐๕ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในหลักสูตรหมวดวิชาศึกษาทั่วไป (ปรับปรุง พ.ศ. ๒๕๕๘) ให้นิสิตใหม่รหัส ๕๘ ได้ลงทะเบียนเรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา มีผู้มาลงทะเบียนกว่า ๔,๗๐๐ คน ๓๒ กลุ่มเรียน มีอาจารย์ผู้สอนจำนวน ๒๕ ท่าน หลายท่านต้องสอนมากกว่า ๑ กลุ่มเรียน เวียนสอนมากว่า ๑ ครั้งในเนื้อหาเดียวกันเนื่องจากข้อจำกัดของขนาดชั้นเรียน

เนื้อหาในเอกสารประกอบการสอนที่ใช้ในภาคเรียนแรกนี้ อ้างอิงเนื้อหาส่วนใหญ่จากหนังสือที่เขียนโดย ดร.ปรียานุช ธรรมปิยา ผู้นำการขับเคลื่อนหลักปรัชญาด้านการศึกษาของประเทศ รวมทั้งกิจกรรมท้ายชั่วโมงเรียน ก็ปรับเขียนขึ้นจากแนวคิดกิจกรรมที่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์การขับเคลื่อนร่วมกับมูลนิธิสยามกัมมาจล ตลอด ๒ ปีที่ผ่านมา... จุดเด่นขอวิธีการนี้คือ มีเอกภาพในการจัดการเรียนการสอนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา จุดอ่อนคือ การมีส่วนร่วมในการพัฒนาของอาจารย์ผู้อาสามาสอนยังน้อย ... ซึ่งคงต้องค่อยๆ พัฒนาร่วมกันต่อไป...  สมบูรณ์เพียงพอเมื่อใด จะนำมาเผยแพร่ให้ทราบโดยทั่วกันต่อไป

ในภาคเรียนนี้ เรากำหนดกิจกรรม ให้นิสิตที่ลงทะเบียนทุกคน ต้องเข้าร่วมกิจกรรม "ส่งเสริมสติและสมาธิตามหลักศาสนาที่ตนนับถือ" โดยกำหนดให้เป็นส่วนหนึ่งในการประเมินผลการเรียนด้วย  เกิดคำถามตามมากมาย จึงขอใช้บันทึกนี้อธิบาย ให้เข้าใจถึงความตั้งใจ โดยเฉพาะศาสนาพุทธ ที่กำหนดให้ไปสวดอิติปิโส ๑๐๘ จบ ที่วัดป่ากู่แก้ว อย่างน้อย ๑ ครั้ง  ดังภาพ







หน้าที่ชาวพุทธ

หน้าที่ของพุทธศาสนิกชน  ๓ ประการ ที่นิสิตจำเป็นต้องรู้และปฏิบัติ ได้แก่

๑) ศีลสิกขา คือรู้เรื่องศีลและปฏิบัติรักษาศีล เป็นการขัดเกลากิเลสส่วนหยาบ ได้แก่ ไม่ฆ่าใครไม่ทำร้ายสัตว์อื่น  ไมลักขโมยของคนอื่น ไม่ผิดในลูกและคนรักหรือไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่พูดโกหก พูดหยาบ พูดส่อเสียด หรือพูดเพ้อเจ้อ  และไม่ดื่มสุรา เมรัย ให้ตนเองมึนเมาจนเสียสติ  นิสิตจำเป็นต้องมี "สติ" ถึงจะสามารถรักษาศีลได้ ... ดังนั้นการมาสวดมนต์เป็นกุศโลบายหนึ่งในการฝึกสติ และตลอดช่วงเวลาเกือบ ๒ ชั่วโมง ที่นิสิตมาสวดมนต์นี้ ทุกคนในรักษาศีลอย่างครบถ้วน ...

๒) จิตสิกขา คือ ศึกษาเกี่ยวกับจิต เรียนรู้จิตใจของตนเอง เมื่อมีศีลเบื้องต้น มีสติดีขึ้น  การเฝ้ารู้เฝ้าดูจิตใจของตนเอง ตามความเป็นจริง  จะทำให้นิสิตมีสติและสมาธิตั้งมั่น รู้จักกายและใจของตนเองมากขึ้นตามลำดับ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการเรียนรู้ตนเอง .... การสวดมนต์โดยสังเกตการเคลื่อนไหวไหลไปของจิต ออกจากบทสวดไปคิดเรื่องต่างๆ  จำทำให้นิสิตได้ฝึกสติ และสมาธิประเภท "สมาธิตั้งมั่น" หรือ "สติปัฏฐาน"  หรือ นิสิตบางคนจะ ฝึกใจให้จดจ่ออยู่กับสิ่งเดียว ในที่นี้คือบทสวดมนต์ สวดมนต์ได้อย่างถูกต้อง แม่นยำตามพระอาจารย์ผู้นำสวด ก็เป็นการฝึกสติและสมาธิจดจ่อ  ซึ่งจำเป็นสำหรับทำการงานในชีวิตประจำวัน

๓) ปัญญาสิกขา  คือ การศึกษาและพัฒนา หรือ ภาวนา เพื่อให้เกิดความเจริญทางด้านจิตใจ มีปัญญาในอริยสัจ ตามลำดับ  ซึ่งมีลักษณะสำคัญ "ผู้ปฏิบัติย่อมรู้ได้ด้วยตนเอง" ผู้อื่นทำให้ไม่ได้  และ "ผู้ปฏิบัติจะรู้ได้เฉพาะตน" ทำให้ผู้อื่นไม่ได้  ...  กิจกรรมในปีการศึกษาถัด ๆ ไป  น่าจะมีกิจกรรมส่งเสริมต่อไป

กิจกรรมนี้เกี่ยวข้องกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างไร

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นทั้งหลักคิด และหลักปฏิบัติ ในการดำเนินชีวิตบนทางสายกลาง ตัดสินใจบนเงื่อนไขและปัจจัยที่มีอย่างพอประมาณบนเหตุผลของความถูกต้องตามความเป็นจริง และไม่เสี่ยงเกินไป มีภูมิคุ้มกันที่ดีทั้งภายในใจนั่นคือ ภายใต้เงื่อนไขของคุณธรรม และภูมิคุ้มที่ดีในการกระทำต่างๆ นั่นคือ ความรู้ นำสู่การดำเนินชีวิต ครอบคลุม ๔ มิติ ทั้งวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม

ผมมีความเห็นว่า การฝึกสติปัฏฐาน และสมาธิตั้งมั่น นั้น เป็นการสร้างเสริม "ภูมิคุ้มกันภายในที่ดี"  เพราะสติและสมาธินั้น เป็นปัจจัยของความรู้ ความคิด และปัญญา ที่รอบคอบ ระมัดระวัง

หากถามว่าทำไมต้องสวดอิติปิโส ๑๐๘ จบ มีประโยชน์และอานิสงค์อะไร...?  มีผู้ให้คำตอบไว้มากมาย หากสืบค้นด้วย google  ... อย่างไรก็ดี มีคำสอนว่าไม่ให้เชื่อ ก่อนจะได้ลองปฏิบัติและพิจารณาด้วยตนเองเสียก่อน รวมทั้งลักษณะของปัญญาพุทธ ๒ ประการ ข้างต้น ...  ดังนั้น ผู้ถาม ควรจะลองเปิดใจและไปสวดดู จะทราบคำตอบ

ส่วนความเห็นผม ณ ขณะนี้ วัตถุประสงค์ คือ เปิดโอกาสให้นิสิตได้เรียนรู้ภาคปฏิบัติเกี่ยวกับสติและสมาธิ ซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันภายในใจ ซึ่ง "...จำเป็นในที่ทุกสถานในการณ์ทุกเมื่อ..." ดังคำที่ครูบาอารย์ท่านสอนบ่อยๆ  นอกจากนี้แล้วยังมีประโยชน์โดยอ้อมสำคัญ ดังนี้

  • นิสิต "มาถึง" วัดป่ากู่แก้ว  ... นิสิตที่นับถือศาสนาพุทธและลงทะเบียนเรียนรายวิชานี้   จะไม่มีคำถามว่ วัดกู่แก้วอยู่ที่ไหน?  จะไปทำบุญหรือร่วมงานประเพณีทำนุบำรุงศิลปะวัฒนธรรมใกล้ๆ ที่ไหนดี?  วัดป่ากู่แก้วเป็นอย่างไร? ...ฯลฯ 
  • นิสิตได้ฝึกความอดทน โดยเฉพาะคนที่มาสวดมนต์ครั้งแรก  การสวดมนต์ยาวนานเกือบ ๒ ชั่วโมง ต้องอดทน และได้เรียนรู้เกี่ยวกับทุกข์พอสมควร
  • ได้ร่วมกันทำบุญกุศลแด่สัพสัตว์ทั้งหลาย ตามคติชาวพุทธ 
  • ได้ร่วมถวายการสวดมนต์เป็นพระราชกุศลแด่องค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ทรงหายจากพระอาการประชวร 
  • ได้รู้จักเพื่อนๆ และได้สนทนาปัญหาเกี่ยวกับธรรมะ หรือเกี่ยวกับ "สติ" และ "สมาธิ" ... ได้เรียนรู้ภาคปฏิบัติ 
  • ฯลฯ 
ผลจะเป็นอย่างไรนั้น จะทำวิจัยมาเล่าให้ฟังต่อไปครับ 




วันจันทร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

โครงการนิสิต LA _ ๐๑ : ที่มาที่ไป ความตั้งใจ และความคาดหวัง

ขณะที่เขียนบันทึกนี้ "โครงการนิสิตผู้ช่วยอาจารย์" หรือ Lecturer Assistant ได้ดำเนินการมาเกือบจะครบภาคการศึกษาแล้ว มีทั้งเสียงสะท้อนทั้ง "ว่าดี" และทั้งที่บอกว่า "ต้องทำให้ดีขึ้น" จากอาจารย์ผู้สอน  อย่างไรก็ดีสำนักศึกษาทั่วไปยังคงดำเนินโครงการนี้ต่อไปในภาคเรียนหน้า  ขณะนี้ได้ประกาศรับ "นิสิต LA" สำหรับปีการศึกษา ๒/๒๕๕๘ แล้วอีก ๑๐๐ คน ด้วยความมุ่งมั่นภายใต้ข้อจำกัด และความตั้งใจที่พัฒนาคุณภาพของนิสิตและปรับปรุงระบบและกลไกในการบริการให้ดีขึ้น  โดยเริ่มที่บันทึกนี้ ที่จะอธิบายถึง "ที่มา ที่ไป ความตั้งใจ และความคาดหวัง" ของโครงการ เพื่อให้อาจารย์ผู้อ่าน เข้าใจและเห็นใจมากขึ้น 

ที่มาที่ไป

เหตุผล ๕ ประการ ที่ทำให้สมควรมี "ผู้ช่วยอาจารย์" ในการจัดการเรียนการสอนรายวิชาศึกษาทั่วไปของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม คือ 

๑) รายวิชาศึกษาทั่วไปจัดกลุ่มเรียนขนาดใหญ่ ตั้งแต่ ๑๕๐ ถึงเกือบ ๔๐๐ คน  ทำให้อาจารย์ต้องใช้เวลามากในการที่ต้องกรอกบันทึกคะแนน และตรวจเช็คชื่อการเข้าเรียนในแต่ละครั้ง เป็นการยากในการตรวจสอบการเข้าร่วมกิจกรรมหรือเข้าเรียน เช่น ขาด ลา มาสาย ฯลฯ  ....  นิสิต LA จะเข้ามาช่วยทำหน้าที่ตรวจเช็่คชื่อ เช็คลา มาสาย และแบ่งเบาภาระของอาจารย์ผู้สอนได้โดยนำเอางานที่อาจารย์ตรวจแล้วมากรอกคะแนนลงในไฟล์ Excel ซึ่งจะสามารถ Import เข้าไปในระบบระเบียนได้อย่างสะดวก  

๒) ปัญหาการแก้เกรด ทั้งที่เป็นความผิดของนิสิตที่ส่งงานผิดที่ การตัดชื่อนิสิตออกในกรณีชำระค่าลงทะเบียนช้า แล้วปรากฎรายชื่อเข้ามาในระบบทะเบียนในภายหลัง ทำให้คะแนนเก็บบางส่วนหายไป หรือแม้แต่ความผิดพลาดจากการกรอกคะแนนของอาจารย์เอง ฯลฯ  ...  เราคาดว่าปัญหานี้จะหมดไป ถ้ามีการประกาศและกำชับให้นิสิตทุกคน ได้ตรวจสอบคะแนนเก็บและผลคะแนนสอบกลางภาคของตนเอง ก่อนจะมีการสอบปลายภาค  ด้วยการทำเป็นประกาศและขั้นตอนปฏิบัติให้นิสิตทุกคนต้องปฏิบัติ โดยหมายเหตุว่า หากไม่ตรวจสอบหรือท้วงติงตามวันเวลาที่กำหนด ถือว่ายอมรับคะแนนเก็บนั้นๆ  จะไม่สามารถเรียกร้องให้ตรวจสอบได้ภายหลัง ...  ทั้งนี้ หน้าที่ของ "นิสิต LA" คือต้องประสานงานกับนิสิตทุกคน 

๓) ปัญหาเรื่องการใช้สื่อโสตทัศนอุปกรณ์ ซึ่งหลายครั้งที่มักมีปัญหาให้อาจารย์ต้องโทรตามเจ้าหน้าที่บริการ (บร.) เพราะอุปกรณ์ในหลายชั้นเรียนยังเป็นระบบเก่าที่ค่อนข้างซับซ้อนสำหรับอาจารย์ที่ไม่สันทัดเรื่องเทคโนโลยี   ...  นิสิต LA จะไปเปิดอุปกรณ์เล่นสื่อหรือโสตทัศนอุปกรณ์ เตรียมพร้อมไว้ ก่อนจะอาจารย์จะเข้าสอน และช่วยแก้ปัญหาการใช้งาน ซึ่งนิสิต LA จะได้รับการฝึกอบรมมาก่อน

๔) ช่วยประหยัดไฟฟ้าและรายงานปัญหาห้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่ บร. เช่น แอร์เสีย  พัดลมไม่ทำงาน หรือระบบเสียงชำรุด ฯลฯ  ... เนื่องจากจำนวนเจ้าหน้าที่ บร. และแม่บ้าน มีจำนวนไม่มากพอจะเดินสำรวจตรวจดูทุกห้องเรียน ทำให้หลายครั้งมหาวิทยาลัยต้องสิ้นเปลืองพลังงานไปกับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่มีใครปิด  ... นิสิต LA จะช่วยตรวจตราและกำชับให้นิสิตปิดเครื่องใช้ไฟ้ฟ้าต่างๆ ก่อนจะออกจากห้อง โดยเฉพาะกรณีที่ไม่มีใครใช้ห้องเรียนนั้นแล้วในแต่ละวัน 

๕) เป็นการส่งเสริมการหารายได้ระหว่างเรียน  แม้ว่าค่าตอบแทนจะไม่มาก เพียง ๒๕ บาทต่อชั่วโมง แต่ถ้าหากใช้อย่างประหยัด และจัดการเวลาให้รับงานได้สัก ๔ กลุ่มเรียน  ก็จะได้ค่าตอบแทนประมาณสัปดาห์ละ ๒๐๐ บาท ภาคการศึกษาละ ๓,๐๐๐ บาท ก็พอจะแบ่งเบาภาระผู้ปกครองพอสมควร  ....  นอกจากเรื่องค่าตอบแทน นิสิต LA ที่ได้รับการยอมรับจากอาจารย์ผู้สอนว่าทำงานดี มีความรับผิดชอบ จะได้รับประกาศนียบัตรรรับรองประสบการณ์อย่างเป็นทางการ และมีสิทธิ์ที่จะสมัครขอรับทุนนิสิตจิตอาสาของสำนักศึกษทั่วไป ... รายละเอียดจะแจ้งให้ทราบต่อไป 

ความตั้งใจ


ด้วยหลักการและเหตุผลข้างต้น สำนักศึกษาทั่วไป โดยฝ่ายพัฒนานิสิตและเครือข่ายวิชาการ จึงได้ดำเนินโครงการสร้าง "นิสิต LA" ขึ้น และทดลองนำร่องในภาคเรียนที่ ๓/๒๕๕๗ ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ มีนิสิตได้รับใบประกาศบัตร จำนวน ๑๐ คน จึงได้ดำเนินการต่อในภาคการศึกษาต่อมา คือ ๑/๒๕๕๘  มีนิสิต LA ถึง ๙๘ คน ช่วยเหลืออาจารย์ทั้งหมด ๒๖๐ กลุ่มเรียน  ผลสรุปจะอย่างไร จะได้รายงานให้ทราบต่อไป ...

ในเบื้องต้น เรากำหนดวัตถุประสงค์และบทบาทหน้าที่ของ "นิสิต LA" ไว้ ๕ ประการ ได้แก่ 

๑)  ช่วย "เช็คชื่อ" คือ ตรวจสอบการเข้าเรียนหรือการเข้าร่วมกิจกรรมของนิสิต เพื่อปลูกวินัยและความรับผิดชอบของนิสิต  และส่งเสริมทักษะชีวิตด้านคุณธรรม จริยธรรม ความซื่อสัตย์ ระเบียบเครื่องแต่งกาย ฯลฯ  โดยในเบื้องต้นนี้ ให้เป็นดุลพินิจของอาจารย์ผู้สอนว่าจะกำหนดเกณฑ์ในการประเมินอย่างไรในแต่ละด้าน 

๒) ช่วยกรอกคะแนน คือ การนำเอาใบงาน การบ้าน หรือชิ้นงาน หรือผลงาน จากกิจกรรมการเรียนการสอน ซึ่งอาจารย์ตรวจให้คะแนนแล้ว มากรอกคะแนนลงในใบรายชื่อ และบันทึกลงในไฟล์ Excel เพื่อให้สะดวกต่ออาจารย์ ในการ Import ลงในระบบทะเบียนของนิสิตต่อไป 

๓) ประกาศคะแนน หรือประสานให้นิสิตเข้าตรวจสอบคะแนนเก็บ เป็นระยะ หรืออย่างน้อย ๑ ครั้งก่อนจะสอบปลายภาค เพื่อตรวจสอบความถูกต้องในการส่งงานและผู้ตรวจงาน  ให้แน่ใจว่า ไม่มีงานที่ส่งแต่อาจารย์ไม่ได้ลงบันทึกคะแนน  โดยกำหนดช่วงเวลาที่นิสิตสามารถมาแจ้งกับนิสิต LA ซึ่งทำหน้าที่รวบรวมแจ้งให้อาจารย์ทราบ และ/หรือ ประสานไปยังนิสิตทุกคนให้เข้าดูคะแนนของตนในระบบเมื่ออาจารย์นำคะแนนลงในระบบแล้ว  หากเลยช่วงเวลาดังกล่าว ให้ถือว่านิสิตยอมรับว่าคะแนนนั้นถูกต้อง ไม่มีสิทธิ์ร้องเรียนในภายหลัง ....  การใช้สื่อสังคมออนไลน์เช่น facebook  ทำให้การติดต่อประสานระหว่างนิสิต LA  กับนิสิตผู้เรียนทุกคนสามารถทำได้ 

๔) ช่วยเปิดสื่ออุปกรณ์ เตรียมความพร้อมของห้องเรียน ก่อนอาจารย์จะเข้าสอน 

๕) ช่วยปิดสื่อโสตทัศน์และอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ เมื่อแน่ใจว่า ไม่มีผู้ใช้ห้องเรียนต่อ 

หน้าที่ ๕ ประการนี้ ถูกกำหนดขึ้นด้วยความตั้งใจ จะช่วยแบ่งเบาภาระงานของอาจารย์ผู้สอนกลุ่มใหญ่  เพื่อทำให้อาจารย์ได้มีเวลาในการเตรียมการสอน และออกแบบปรับปรุงการเรียนการสอนให้ดีขึ้น  และหวังจะเป็นกลไกหนึ่งในการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริการของสำนักศึกษาทั่วไป เอื้อให้อาจารย์ได้สอนในห้องเรียนที่พร้อมที่สุด และใช้ทรัพยากรของมหาวิทยาลัยอย่างคุ้มค่าที่สุด 

ความคาดหวัง

ความคาดหวังสำคัญ ๓ ประการ จากโครงการนี้ คือ 

๑) ได้ช่วยแบ่งเบาภาระของอาจารย์ผู้สอน ช่วยมหาวิทยาลัยประหยัดไฟ และช่วยให้สำนักศึกษาทั่วไปให้บริการอาจารย์ได้อย่างประทับใจที่สุด  

๒) ได้ช่วยแบ่งเบาภาระด้านการเงินของนิสิต LA  และเป็นเหมือนโครงการฝึกฝนทักษะการทำงานของนิสิต LA แต่ละคน  โดยอาจารย์มีอาจารย์ผู้สอนทุกท่าน เป็นทั้งครูและเป็นทั้งผู้ใช้ว่าที่บัณฑิตในอนาคต   ... นิสิต LA ที่ผ่าน การทำงานอย่างดี จะได้รับการรับรองจากทั้ง อาจารย์ผู้สอน และสำนักศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยมหสารคาม ว่าเป็นผู้มีประสบการณ์ในการทำงานเบื้องต้น 

๓) ได้นิสิตต้นแบบหรือนิสิตแกนนำในการขับเคลื่อนคุณลักษณะของนิสิตที่พึงประสงค์ของหมวดวิชาศึกษาทั่วไป โดยเฉพาะด้านความเป็นคนดี ซื่อสัตย์ ประหยัด ขยัน และความมีจิตอาสา 

ขอจบบันทึกด้วยรูปของนิสิต LA รุ่นนำร่อง ความคืบหน้าจะเป็นอย่างไร จะมาบันทึกรายงานให้ท่านทราบเป็นระยะครับ 










วันศุกร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2558

CADL โครงการเด็กดีมีที่เรียน_13: โครงการคืนถิ่นทำดี ครั้งที่ ๓ โรงเรียนโกสุมวิทยาสรรค์ จ.มหาสารคาม

บ่ายของวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๘ กลุ่มนิสิตเด็กดีมีที่เรียนจำนวน ๑๑ คน เจ้าหน้าที่สำนักศึกษาทั่วไป ๑ และผม ไปเยี่ยมน้องชั้น ม.๖ โรงเรียนโกสุมวิทยาสรรค์ ๓๐ กิโลเมตรจากตัวจังหวัด มีนักเรียนทั้งหมด ๒๑๕ คน เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ภายใน ให้น้องๆ รู้จักตนเองมากขึ้น ก่อนจะตัดสินใจเลือกทางเดินของชีวิต ...

ผมบอกย้ำกับนิสิตเด็กดีมีที่เรียนหลายครั้งว่า เราไม่ได้มา "แนะแนว" หรือที่คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า มาค้นหาคนเก่งเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย แต่เป็นการมา "แนะนำ" และทำกิจกรรมส่งเสริมให้นักเรียนรู้จักความถนัด ความชอบ และความต้องการของตนเองและครอบครัว....แม้ว่าความตั้งใจจะเกี่ยวข้องกับ "คนดี" ที่รู้จักตนเองและสนใจจะเข้าไปร่วมโครงการเด็กดีมีที่เรียน

เราได้รับการต้อนรับจากผู้บริหาร ผู้อำนวยการมาต้อนรับเราด้วยตัวท่านเอง และมีคุณครูแนะแนว รวมนักเรียนหลังเลิกแถวตอนบ่ายอย่างเรียบร้อย ... ขอขอบคุณท่านทั้งสองมา ณ โอกาสนี้ด้วยครับ

กิจกรรมแรกคือ การสำรวจความเห็น สิ่งที่นักเรียนอยากจะเป็นในอีก ๕ ปีข้างหน้า โดยให้นักเรียนทุกคนเขียนลงใสกระดาษโพสท์อิท แล้วส่งให้พี่นิสิตนับสถิติ ได้ผลดังนี้

ครู ๖๒
พยาบาล ๔๖
ตำรวจ ๒๐
นักบัญชี ๑๗
วิศวะ ๑๕
เภาสัชกร ๕
ไกด์ ๔
ทำงานการโรงแรม ๓
เชฟ ๓
ผู้พิพากษา ๓
ทนายความ ๓
อัยการ ๓
นิเทศ ๓
นักธุรกิจ ๓
สัตวแพทย์ ๒
แพทย์ ๒
ทันตแพทย์ ๑
เจ้าหน้าที่สหภัชศาสตร์ ๑
เทคนิคการแพทย์ ๑
บุรุษพยาบาล ๑
ผู้จัดละคร ๑
สถาปนิค ๑
โปรแกรมเมอร์ ๑
อุตสาหกรรมพาณิชย์ ๑
ทหาร ๑
พิธีกร ๑
หมอผี ๑
เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ๑
นักการฑูต

ข้อสังเกตสำคัญ ความต้องการของนักเรียนต่างโรงเรียนกัน คล้ายกันอย่างมาก อาชีพยอดฮิต ยังเป็นครู พยาบาล ตำรวจ นักบัญชี และมีวิศวะบ้าง ส่วนอาชีพอย่างอื่นมีบ้างประปราย ....  โอกาสที่จะสูญเปล่าทางการศึกษายังสูงมาก ....ซึ่งจะเขียนอธิบายในโอกาสต่อไปนะครับ

ผม AAR ว่า กระบวนการที่นิสิตเด็กดีฯ ทำในคราวนี้ ประสบผลสำเร็จอย่างดี สร้างความประทับใจ ให้กับทุกคน จึงเห็นว่า น่าจะบันทึกกระบวนการบางอย่างไว้ เผื่อว่าผู้อ่าน จะนำไปใช้ในคราวต่อไป

นิสิตเด็กดีมีที่เรียน เตรียมตัวอย่างดีพอสมควร มีการนัดประชุมเตรียมกระบวนการตั้งแต่สัปดาห์ก่อนการมาครั้งนี้ และช่วยกันเตรียมเอกสารแนะนำคุณลักษณะที่เหมาะสมสำหรับคนแต่ละอาชีพ เตรียมกิจกรรม "สามเหลี่ยมตัวฉัน" (ขอเรียกชื่อนี้ก่อนนะครับ) และกิจกรรมไทม์ไลน์ เพื่อทำให้นักเรียนรู้จักตนเองและวางแผนการศึกษาต่อได้ดีขึ้น 

นิสิตที่นำทำหน้าที่ "วิทยากรกระบวนการ" หรือ "กระบวนกร" ในคราวนี้ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นผลิตผลที่น่าภูมิใจของคุณครูเพ็ญศรี ใจกล้า และโรงเรียนเชียงยืนพิทยาคม นั่นคือ ธีระวุฒิ ศรีมังคละ หรือน้องแสน นิสิตปี ๑ ศึกษาศาสตร์ สังคมศาสตร์ ติดตามผลงานของเขาได้ที่นี่

ผมรู้ว่าตอนนี้นิสิตในโครงการเด็กดีมีที่เรียน มีหลายคนที่มีภาวะความเป็นผู้นำสูงมาก มีความสามารถที่ผมยังไม่รู้เพราะยังไม่ได้สร้างโอกาสให้พวกเขาได้แสดงออกมามากพอ อย่างไรก็ดี ผมหวังว่าจะสามารถส่งเสริมให้ทุกคนสามารถเป็น "กระบวนกร" นำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ได้อย่างมั่นใจ


ผมไม่รู้ว่าใครเป็นคิดกิจกรรมนี้ครั้งแรก แต่แสนเป็นคนแรกที่ทำให้ผมรู้จักกิจกรรมนี้ นิสิตเด็กดีฯ เตรียมงานในลักษณะเอกสารดังรูปด้านล่าง เพื่อนำน้องๆ ทำกิจกรรมที่อาจเรียกว่า "สามเหลี่ยมตัวฉัน" โดยเริ่มทำกิจกรรมนี้หลังจากการ "ละลายพฤติกรรม" จนมั่นใจว่า "เปิดใจตนเอง" ได้แล้ว



เป้าหมายของกิจกรรม คือทำให้น้องนักเรียนรู้จัก "ฉัน" ว่าสิ่งที่ตัดสินใจอยากจะเป็นนั้น เป็นการตัดสินใจจาก "ฉันเอง" ไม่ใช่เพราะครอบครัว ไม่ใช่เพราะกระแสนิยม หรือเหตุผลความจำเป็นอื่นใดๆ

วิธีการคือ ให้เขียนว่า ฉันอยากทำอะไร ฉันมีความสุขกับการทำอะไร และอะไรคือความฝันของฉัน และแนวทางการในการตัดสินใจว่า ฉันควรจะทำอาชีพอะไร ครอบครัวว่าอย่างไร กระแสนิยมคืออาชีพอะไร  และรวมถึงโอกาส ข้อจำกัดเรื่องทุนการศึกษา ปัญหาด้านการเงิน หรือเหตุผลอื่นๆ

แล้วตั้งคำถามชวนคิด เพื่อให้เห็นคำตอบด้วยตนเองว่า ความฝันที่ฉันอยากจะเป็นนั้น ใช่สิ่งเดียวกับที่ฉันอยากทำ สิ่งที่เดียวกับที่จะทำให้ฉันมีความสุข  ตรงกับความต้องการของครอบครัวหรือไม่ หรือทำไมต้องไปหรือไม่ไปตามกระแสนิยม

ผมตีความว่า สิ่งที่ฉันอยากทำ บอกถึง "ความชอบ" สิ่งที่ฉันทำแล้วมีความสุข บอกถึง สิ่งที่ทำแล้วสำเร็จ เพราะสิ่งที่ทำได้ดี จะทำให้คนมีความสุข นั่นคือบอกถึง "ความถนัด"  ส่วนความฝันที่อยากมีหรือที่อยากเป็น นับเป็นเป้าหมายของชีวิต สรุปคือ สามเหลี่ยมนี้ บอกถึง ความชอบ ความถนัด และ เป้าหมายของชีวิต

และตีความว่า อะไรที่เขียนอยู่ในสามเหลี่ยม คือ "ตัวฉัน" ส่วนข้อมูลที่อยู่นอกสามเหลี่ยมนั้นเป็น "คนอื่น" ประเด็นคือ ต้องทำให้มั่นใจว่า คนที่ตัดสินใจคือฉัน ไม่ใช่คนอื่น






CADL โครงการเด็กดีมีที่เรียน_12: โครงการคืนถิ่นทำดี ครั้งที่ ๒ โรงเรียนเทศบาลบูรพาพิทยาคาร จ.มหาสารคาม

วันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๘ กลุ่มนักเรียนโครงการ "เด็กดีมีที่เรียน" ไปเยี่ยมน้องๆ โรงเรียนเทศบาลบูรพาพิทยาคาร เพื่อแนะนำและทำกิจกรรมส่งเสริม "การรู้จักตนเอง" ก่อนเข้าช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต มีนิสิตมาร่วม ๗ คน บุคลกร ๑ รวมทั้งหมด ๘ คน มีนักเรียนเข้าร่วม ๑๑๒ คน เป็นนักเรียนชั้น ม. ๔ - ๖ เกือบทั้งหมดของโรงเรียน .... เราได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจาก ผอ.ดร.สมปอง มาตย์แท่น ผู้บริหาร และคุณครูสุรียนต์ ครูเพื่อศิษย์อีสาน เจ้าของงานวันเกิดที่เด็กๆ จัดให้ในตอนท้ายของกิจกรรมวันนี้


ผมเคยเขียนบันทึกเกี่ยวกับกิจกรรมที่ทำร่วมกับนักเรียน เมื่อคราวที่เรามาครั้งก่อน (อ่านที่นี่) และ เมื่อคราวที่เราไปโรงเรียนโพนทอนวิทยายน (อ่านที่นี่) เพื่อให้นักเรียนได้รู้จักตนเองว่า ตนเองถนัดอะไร ชอบอะไร ต้องการเรียนต่อเพื่อประกอบอาชีพอะไร

ผลการสำรวจแบบรายบุคคลที่ให้ทุกคนเขียนใส่กระดาษโพสท์อิท และเดินออกมาติดหน้ากระดานตามหมวดหมู่ที่ใกล้เคียง ได้ผลดังนี้







ครู ๓๗ คน
ตำรวจ ๒๗ คน
แพทย์ ๑๒ คน
พยาบาล ๑๑ คน
นักธุรกิจ ๘ คน
นักกีฬา ๘ คน
นักสิ่งแวดล้อม ๔ คน
ทนายความ ๒ คน
วิศวะ ๒ คน
นักบัญชี ๒ คน
นักแสดง ๒ คน
เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ๒ คน
โปรแกรมเมอร์ ๑ คน
กัปตัน ๑ คน
ไกด์ ๑ คน

ข้อสังเกตที่น่าสนใจ ไม่ใช่ "อาชีพในกระแส" เช่น ครู แต่เป็นอาชีพ "ตำรวจ" ที่สูงเกือบ ๓๐ เปอร์เซ็นต์ เทียบเร็วจากสายตา อาจเป็นเกือบ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ของนักเรียนชายที่โรงเรียเทศบาลบูรพาฯ ก็เป็นได้ คำถามคือ ทำไม? ....  อาชีพครู ใครๆ ก็รู้ว่าตอนนี้ เพราะ "เงินเดือนสูง" ซึ่งเป็นแรงจูงใจให้ใครๆ ก็อยากเป็นครู

และที่น่าสนใจ คือ อาชีพ ๔ อาชีพสุดท้าย  ที่นักวิชาการทำนายว่า เป็นอาชีพแห่งศตวรรษใหม่ในยุคอาเซียน การเงินเสรี และไอซีทีไร้พรมแดน... ยากจะตีความได้ถูกว่า นักเรียนไม่มั่นใจว่าตนเองเหมาะสมหรือ "ไปได้" หรือยังไม่รู้ว่าอาชีพ ๔ อันดับบนนั้น เป็นกระแสที่คนสนใจ ทำให้การแข่งขันสูงมาก






วันพุธที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

คำตอบของ "เด็กดีมีที่เรียน" เมื่อถามว่า "จะขับเคลื่อน ปศพพ. ในมหาวิทยาลัยอย่างไร? "

วันที่ ๒๔ -๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๘ ทีม CADL และรุ่นพี่ๆ ในโครงการเด็กดีมีที่เรียน จัดค่าย "รับน้องเด็กดีมีที่เรียน ปี ๒๕๕๘" เพื่อพัฒนาคุณลักษณะที่พึงประสงค์ เตรียมความพร้อมก่อนการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ปศพพ.) ในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม มี "นิสิตเด็กดีฯ" มาร่วมเวทีนี้ประมาณ ๕๐ คน (รอรายงานสรุปจากทีมทำงาน)

ผมให้นโยบายกับคุณภาณุพงศ์ บุคลากรสำนักศึกษาทั่วไป ที่รับผิดชอบเป็นผู้จัดการโครงการฯ ๓ ประการ ได้แก่ ๑) รู้จักกันทั้งรุ่นพี่รุ่นน้อง ทำให้เด็กดีฯ ทุกคนรู้จักโครงการเด็กดีฯ มากขึ้น สร้างวิสัยร่วมที่ดีเกี่ยวกับการขับเคลื่อน ปศพพ. ร่วมกัน  ๒) สร้างความรู้ความเข้าใจในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และการนำไปใช้ในการดำเนินชีวิต ๓) ร่วมกันกำหนดแนวทางในการขับเคลื่อน ปศพพ. ในมหาวิทยาลัย

กระบวนการที่สำคัญๆ ที่รุ่นพี่จัดไว้ให้รุ่นน้อง มีหลักๆ ดังนี้
  • กิจกรรมละลายพฤติกรรม -> ทำให้รู้คุ้นเคยกัน 
  • กิจกรรมเชียร์มหาวิทยาลัย -> ปลูกฝังความดี ที่จะเป็นบัณฑิตที่ดีเพื่อมหาชน ของมหาวิทยาลัย 
  • เวิร์คช๊อป "เป้าหมายชีวิต" โดย รศ.ดร.นารีรัตน์ รักวิจิตรกุล -> วางแผนชีวิต (ภูมิคุ้มกันที่สำคัญ)
  • ฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ส่วนนี้ผมเป็นวิทยากรเอง) -> รู้และเข้าใจปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 
  • กิจกรรมพัฒนาบุคลิกภาพ โดย "the trainer"  -> เสริมความเป็นผู้นำและกล้าแสดงออก
  • กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ -> ทำกรรมดีร่วมกัน เป็นฐานสำคัญของความสามัคคี
  • กิจกรรมระดมสมองและนำเสนอแนวทางการขับเคลื่อน ปศพพ. 
  • กิจกรรมบายศรีผลไม้ ดอกไม้ให้คุณ -> หลอมรวมจิตใจ
กิจกรรมทั้งหมดเป็นอย่างไร คุณภาณุพงศ์ คงให้รายละเอียดไว้ในที่อื่นนะครับ  ผมอยากสรุปไว้ตรงนี้ เกี่ยวกับ ผลการระดมสมองถึง แนวทางการขับเคลื่อน ปศพพ. ในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งผมสรุปสังเคราะห์ในแผนภาพด้านล่างนี้ครับ


วิธีการขับเคลื่อน

การขับเคลื่อนแบ่งเป็น ๓ ระดับ คือ ๑) ระดับบุคคล ในที่นี้สำคัญคือ "ตนเอง" ก่อนจะขยายผลไปยังครอบครัวและเพื่อนสนิท  ๒) ระดับชุมชน ในที่นี้เริ่มที่ ชุมชนเด็กดีมีที่เรียน แล้วขยายไปยังเพื่อนหรือคนในสาขาวิชา คณะวิทชา และมหาวิทยาลัย และ ๓) ระดับสังคมประเทศชาติ และสากล  เป็นการมุ่งขยายผลสู่ผู้คนที่สนใจ ผ่านสื่อและนวัตกรรมในโลกออนไลน์ โดยมีลำดับการดำเนินงานดังนี้
  • เริ่มที่ตนเอง ศึกษาให้เข้าใจ แล้วนำไปปฏิบัติกับตนเองจนเห็นผล ในเรื่องสำคัญ เช่น การทำบัญชีรับ-จ่าย การดำเนินชีวิตประจำวัน ฯลฯ
  • ขยายผลลัพธ์สู่ผู้ปกครองและเพื่อนสนิท หรือผู้สนใจ 
  • ร่วมกันจัดตั้งชมรม "เด็กดีมีที่เรียน" และร่วมกันทำกิจกรรมความดีอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ เช่น รณรงค์การใช้ทรัพยากรในมหาวิทยาลัยอย่างประหยัดและคุัมค่า 
  • ออกค่ายขยายผลกลับไปยังโรงเรียนต่างๆ ในพื้นที่ โดยเฉพาะโรงเรียนเดิมที่นิสิตเด็กดีฯ จากมา 
  • ช่วยกันสร้างสื่อเผยแพร่ วิธีการและผลลัพธ์ของการขับเคลื่อนฯ ไปยัง เพื่อในสาขาวิชาหรือคณะวิชา และเผยแพร่สู่สาธารณะชนผ่านสื่อสังคมออลไลน์ Facebook, Line  เช่น หนังสั้น เพลง แผ่นป้ายงานศิลป์ ฯลฯ 



วันอาทิตย์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2558

CADL ขับเคลื่อน ปศพพ. ใน มมส. _ ๐๙ : วิชาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เริ่มที่การทำความเข้าใจที่ถูกต้องของนิสิต มมส.

วันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๕๘ สภามหาวิทยาลัยอนุมัติหลักสูตรหมวดวิชาศึกษาทั่วไป (ปรับปรุงปี ๒๕๕๘)  ในกลุ่มวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มีรายวิชาให้นิสิตเลือกเรียนเพียง ๕ วิชา ซึ่งนิสิตต้องลงทะเบียนเรียนอย่างน้อย ๓ วิชา หนึ่งในนั้นคือรายวิชา "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" ซึ่งพัฒนาต่อยอดจากที่เคยเป็นรายวิชาเลือก ที่มีนิสิตเรียนเพียงภาคการศึกษาละประมาณ ๑,๐๐๐ คน กลายเป็นมาเป็นวิชาใหม่ในชื่อเดิมที่คาดว่าจะมีนิสิตลงทะเบียนเรียนประมาณ ๑๐,๐๐๐ คนต่อปีการศึกษา โดยคำอธิบายรายวิชานี้กำหนดไว้ว่า "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และการน้อมนำไปประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิต" สะท้อนถึงเป้าหมายของรายวิชาที่มุ่งให้เข้าใจและนำไปใช้จริงในการดำเนินชีวิตของนิสิตทุกคน

การปรับปรุงหลังสูตรฯ ในครั้งนี้ทำให้ มมส. เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในประเทศไทยที่เริ่มขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอ เพียงสู่นิสิตทุกคน โดยบรรจุรายวิชาลงไปในหลักสูตรวิชาศึกษาทั่วไปแบบเต็มคลาส และมีแผนจะเชิญปราชญ์ทั่วแผ่นดินมาให้ความรู้แก่บุคลากรและนิสิตอย่างต่อเนื่อง

ผมเองในฐานะผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ประสานงานการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนรายวิชาในกลุ่มวิชามนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ ได้โทรศัพท์ติดต่อประสานอาจารย์ผู้สอน และนัดประชุมเพื่อยกร่างตุ๊กตา และนำเสนอแนวทางที่สอดคล้องกับประสบการณ์การขับเคลื่อนฯ ที่ผ่านมา จนได้ข้อสรุปเป็น "ตุ็กตา" ดังนี้


โดย "ปรับวิธีเรียน เปลี่ยนวิธีสอน" จากบรรยาย เป็นการใช้สื่อมัลติมิเดียและการอภิปราย นำเสนอ วิพากษ์ และถอดบทเรียน เน้นการทำความเข้าใจและนำไปปฏิบัติกับตนเองในการดำเนินชีวิตประจำวัน และการวางแผนชีวิต ดังมีรายละเอียดดังนี้

สัปดาห์ที่ ๑ ชี้แจง มคอ. ๓ เพื่อแจ้งรายละเอียดการจัดการเรียนการสอน โดยเฉพาะกิจกรรมที่นิสิตที่ทุกคนต้องทำและเข้าร่วม ดังนี้
  • การทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย นิสิตต้องฝึกทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายตลอดภาคการศึกษา โดยจะมีการข้อมูลมาวิเคราะห์ในชั้นเรียนในสัปดาห์ที่ ๙ และสรุปบัญชีฯ และสะท้อนการเรียนรู้ของตนเองส่งตอนปลายภาคเรียน  ส่วนนี้ประเมินเป็นคะแนนเก็บ ๕ คะแนน
  • เข้าร่วมกิจกรรมการสวดมนต์ คือ สวดอิติปิโสฯ ๑๐๘ จบ อย่างน้อย ๒ ครั้ง ที่วัดป่ากู่แก้ว โดยนิสิตต้องจองเวลาล่วงหน้าเพื่อการบริหารจัดการและเตรียมการรองรับ  ส่วนนี้จะมีการลงทะเบียนเพื่อตรวจเช็ค ให้คะแนนครั้งละ ๕ คะแนน รวมสองครั้งเป็น ๑๐ คะแนน
  • นิสิตแต่ละกลุ่มจะได้รับมอบหมายให้ทำ "หนังสั้น" ถ่ายทอดผลการน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการทำประโยชน์สุขต่อผู้อื่น ซึ่งจะเปิดโอกาสให้นำเสนอตอนปลายภาคเรียน โดยมีคะแนนในส่วนนี้ถึง ๑๕ คะแนน
สัปดาห์ที่ ๒ ประวัติความเป็นมาของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง   นิสิตชมวีดีทัศน์สรุป ความเป็นมาและความสำคัญของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ก่อนจะร่วมกันศึกษาค้นคว้าจากเอกสารประกอบการสอนในประเด็นดังกล่าว แล้วร่วมกันอภิปราย สรุป และเขียนสะท้อนการเรียนรู้ลงในใบงาน

ส้ปดาห์ที่ ๓ ศาสตร์พระราชา  นิสิตชมวีดีทัศน์สรุปพระราชกรณียกิจ และหลักการทรงงาน แล้วศึกษารายละเอียดจากเอกสาร แล้วร่วมกันอภิปราย สะท้อนการเรียนรู้ และสรุปผลการเรียนรู้ลงในใบงาน

สัปดาห์ที่ ๔-๕ หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อทำความเข้าใจ หลักปรัชญาฯ ๒ เงื่อนไข ๓ ห่วง ๔ มิติ สู่ความมั่นคง ยั่งยืน และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง โดยการศึกษาความรู้จากเอกสารประกอบการสอน ร่วมกันอภิปรายกลุ่ม ก่อนจะใช้กระบวนการเรียนรู้ด้วยการ "ถอดบทเรียน" ในใบงาน

สัปดาห์ที่ ๖-๗ วิเคราะห์ตนเอง สถานการณ์ และสิ่งแวดล้อม  เพื่อให้รู้จักตนเองอันจะเป็นพื้นฐานสำคัญสู่การตัดสินใจอย่างพอประมาณกับตนเอง และการวางแผนได้อย่างรอบด้านและรอบคอบ เพื่อการกระทำใดๆ สู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง  กิจกรรมการเรียนรู้จะเป็นการ "ถอดบทเรียน" ลงในใบงาน การสืบค้นจากอินเตอร์เน็ต และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

สัปดาห์ที่ ๘ สอบกลางภาคเรียน เพื่อประเมินผลองค์ความรู้ที่นิสิตจำเป็นต้องรู้ ส่วนนี้เก็บคะแนน ๓๐ คะแนน

สัปดาห์ที่ ๙ เรียนรู้เกี่ยวกับการทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย และสรุปบัญชีรายรับ-รายจ่ายของตนเอง

สัปดาห์ที่ ๑๐ วางแผนชีวิต นิสิตวางแผนชีวิตอย่างจริงจัง โดยใช้ศาสตร์สากลเช่น กฎของ Maslow การวิเคราะห์โอกาส (SWOT), อุปนิสัยทั้ง ๗ ของผู้มีประสิทธิผลยิ่งของสตีเฟ่น โควี ฯลฯ เพื่อกำหนดเป้าหมายและแนวทางในการดำเนินชีวิตของตนเอง

สัปดาห์ที่ ๑๑-๑๓ เรียนรู้เกี่ยวกับกรณีตัวอย่างของการน้อมนำหลักปรัชญาฯ ไปใช้ในการดำรงชีวิต เช่น เกษตรทฤษฎีใหม่ และกรณีศึกษาอื่นๆ

สัปดาห์ที่ ๑๔-๑๕ นำเสนอหนังสั้น ของแต่ละกลุ่ม และอภิปรายสรุปวิธีการน้อมนำไปใช้ทำประโยชน์สุขต่อส่วนรวมอย่างหลากหลาย

สัปดาห์ที่ ๑๖  ถอดบทเรียนการเรียนรู้ทั้งหมดร่วมกัน (AAR: After Action Review)

สัปดาห์ที่ ๑๗ สอบปลายภาค เพื่อประเมินความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับการน้อมนำไปประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิต

เน้นอีกครั้งก่อนจะจบบันทึกนี้ว่า  นี่เป็นเพียง "ตุ๊กตา" ที่จะนำมาสู่วงอภิปรายและวิพากษ์ของอาจารย์ผู้สอนที่จะมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันตอนปลายเดือนมิถุนายนนี้ 






วันอังคารที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2558

ข้อเสนอวิธีการพัฒนาคุณลักษณะที่พึงประสงค์ด้าน "ตรงต่อเวลา" และ "ความรับผิดชอบ" ในชั้นเรียน อย่างเป็นระบบ

ข้อเสนอต่อผู้บริหารเรื่อง "คะแนนจิตสาธารณะ" (อ่านที่นี่) ได้ความเห็นชอบจากทีมผู้บริหารสำนักศึกษาทั่วไป ให้ฝ่าย CADL เริ่มดำเนินการในปีการศึกษาหน้า ทำให้ผมยินดีและมีไฟ มีแรงบันดาลใจที่จะสร้างระบบช่วยอาจารย์ผู้สอน ให้สามารถปลูกฝังคุณลักษณะของนิสิตที่พึงประสงค์หมวดวิชาศึกษาทั่วไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงขอเสนอ "ระบบปลูกฝังวินัยโดยใช้นิสิตผู้ช่วยอาจารย์"

เป้าหมายและปัญหาที่ผ่านมา

ผลการเรียนหรือคุณลักษณะของนิสิตที่พึงประสงค์หมวดวิชาศึกษาทั่วไปด้านคุณธรรม จริยธรรม กำหนดเป้าหมายของการศึกษาทั่วไป ให้เป็นผู้มีวินัย ตรงต่อเวลา และมีความรับผิดชอบ แต่กระบวนการปลูกฝังผ่านกิจกรรมการจัดการเรียนการสอนทำได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากจำนวนนิสิตต่อห้องเรียนมาก ๑๐๐ - ๒๕๐ คน (ห้องเรียนขนาดใหญ่) ที่ผ่านมามีแนวคิดเรื่องระบบสแกนลายนิ้วมือมาใช้ แต่ยังคงต้องใช้เวลามากอยู่ดี เพราะนิสิตต้องมารอต่อคิดสแกนทีละคน ไม่สอดคล้องกับเวลาเรียนเพียง ๑ ชั่วโมง ๓๐ นาที อาจารย์ผู้สอนก็ยังคงต้องรับภาระกรอกคะแนนเก็บและติดหรือลงประกาศคะแนนเก็บให้นิสิตรู้ เพื่อลดปัญหาการแก้ไขเกรดเหมือนเดิม

ระบบปลูกฝังวินัยด้านวินัย ตรงต่อเวลา และความรับผิดชอบ โดยใช้ "นิสิตผู้ช่วยอาจารย์" สามารถแก้ปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นได้ทั้งหมด
  • นิสิตผู้ช่วยอาจารย์ จะสามารถเช็คชื่อผู้เข้าเรียนให้แล้วเสร็จได้ภายในเวลาไม่เกิน ๕ นาที (ด้วยเทคนิควิธีการที่จะเสนอต่อไป) หรือสามารถตรวจเช็คขณะที่อาจารย์กำลังสอนโดยไม่รบกวนอาจารย์เลย  วิธีนี้จะช่วยให้อาจารย์ปลูกฝังวินัยเรื่องการตรงต่อเวลา โดยใช้เกณฑ์การหักคะแนนเมื่อไม่รักษาเวลา
  • นิสิตผู้ช่วยอาจารย์ จะนำเอางานหรือการบ้านที่อาจารย์ตรวจแล้ว ไปกรอกคะแนนลงในใบรายชื่อ (excel หรือระบบฐานข้อมูล ที่สามารถพัฒนาขึ้นได้) และนำมาประกาศหน้าห้อง (หรือในฐานข้อมูลออนไลน์) ให้นิสิตทราบก่อนอาจารย์จะเข้าสอนทุกสัปดาห์หรือตามที่อาจารย์บอก วิธีนี้จะช่วยแบ่งเบาภาระของอาจารย์ได้มาก และช่วยให้อาจารย์ออกแบบและมอบหมายงานเพื่อฝึกความรับผิดชอบของนิสิตได้อย่างเหมาะสม
  • นิสิตผู้ช่วยอาจารย์ จะมีความสามารถได้การใช้สื่อมัลติมิเดียหรือระบบเสียงต่างๆ ในชั้นเรียน โดยทางสำนักศึกษาทั่วไป จะมีการฝึกอบรมนิสิตก่อนจะประกาศให้เป็น "นิสิตผู้ช่วยอาจารย์" อย่างเป็นระบบ ดังนั้น ก่อนจะอาจารย์จะเข้าสอนจะมีการตรวจสอบและเตรียมระบบสื่อ เสียง แสง และมีผู้ช่วยแก้ปัญหาเบื้องต้น และนำปัญหาและความต้องการกลับมายังสำนักศึกษาทั่วไปเพื่อแก้ไขต่อไป
  • นอกจากนี้แล้ว นิสิตผู้ช่วยอาจารย์จะอยู่ตลอดการสอนของอาจารย์ จึงเหมือนเป็นผู้ช่วยในการจัดการเรียนการสอน เช่น การช่วยแจกหรือเก็บอุปกรณ์การเรียน เป็นต้น 
วิธีการดำเนินการ

รับสมัครนิสิตจิตอาสาที่สมัครใจ โดยเฉพาะนิสิตในโครงการเด็กดีมีที่เรียน จำนวนไม่เกินจำนวนกลุ่มเรียนที่เปิดสอนในภาคการศึกษานั้นๆ  เข้ามารับการฝึกอบรม "หลักสูตรนิสิตผู้ช่วยอาจารย์" จากสำนักศึกษาทั่วไป ผู้อ่านการอบรมจะรู้หน้าที่และขั้นตอนการทำงานที่ทางสำนักฯ ได้สื่อสารไว้กับอาจารย์ผู้สอนแล้วเป็นอย่างดี  เช่น

  • วิธีเช็คชื่อนิสิตเข้าเรียน ทำได้ง่ายๆ และเร็วด้วยวิธีการใช้แผนผังที่นั่ง ดังรูป โดยในคาบเรียนแรกๆ นิสิตผู้ช่วยอาจารย์จะอธิบายกับนิสิตเรื่องแผนผังการนั่งประจำประจำเพื่อเช็คชื่อก่อนเริ่มเรียน นิสิตทุกคนจะมีเลขที่นั่งเหมือนกับเลขที่นั่งสอบ ใครไม่มาเรียนจะทราบทันที สามารถบันทึกง่ายๆ ด้วยการกากบาททับที่ว่างนั้นบนแผนผัง


  • นิสิตผู้ช่วยอาจารย์ จะสร้างกลุ่มบน Social  Network เช่น Facebook เพื่อสื่อสารคะแนนต่างๆ เช่น การส่งงาน การนัดแนะอื่นๆ รูปภาพกิจกรรมสำคัญๆ ในชั้นเรียน หรือนิสิตเองก็สามารถส่งงานมาทางออนไลน์ได้ หากอาจารย์ต้องการ 
  • นิสิตผู้ช่วยอาจารย์ จะได้รับการฝึกอบรมให้สามารถสื่อ มัลติมิเดีย ระบบแสง เสียง ในชั้นเรียนอย่างดี จนมีทักษะสามารถเปิด ปิด และแก้ปัญหาเบื้องต้นได้ดี  และรู้จักแนวปฏิบัติเมื่อไม่สามารถแก้ปญหาได้
  • นิสิตผู้ช่วยอาจารย์ จะจัดเก็บข้อมูลงานของนิสิตทุกคนในรูปอิเล็คทรอนิคส์ไฟล์ แล้วจัดเก็บไว้ (ในฐานข้อมูล หากอาจารย์ต้องการ) อย่างเป็นระบบ เพื่อให้ง่ายต่อการนำไปศึกษา ถอดบทเรียนต่อไป 
วิธีนี้จะดีสำหรับอาจารยผู้สอน ที่จะสะดวก มีเวลาในการตรวจงานและเตรียมการสอนมากขึ้นแล้ว ยังจะได้นิสิตแกนนำที่มีวินัย ตรงต่อเวลา และมีความรับผิดชอบ ถือได้ว่า มีนิสิตแกนนำที่มีคุณลักษณะของนิสิตที่พึงประสงค์ฯ พร้อมๆ กับการปลูกฝังค่านิยมตรงต่อเวลา และรับผิดชอบให้กับนิสิตทุกคนด้วยเพราะนิสิตทุกคนต้องลงทะเบียนเรียนตามหลักสูตรอยู่แล้ว ส่วนนิสิตช่วยงานที่ไม่สามารถทำตามที่กำหนดไว้ จะถูกประเมินให้ปรับปรุงหรือประเมินออกโดยอาจารย์ผู้สอน

ที่สำคัญงบประมาณค่าจ้าง "นิสิตช่วยงาน" ที่มหาวิทยาลัยตั้งเกณฑ์ไว้ แม้จะไม่มาก แต่ก็น่าจะเป็นค่าตอบแทนที่ช่วยแบ่งเบาภาระทางบ้านของนิสิต หรือถือเป็นเงินเก็บจากการฝึกทำงานระหว่างเรียนก็ได้ นอกจากนี้แล้ว การเคร่งครัดกับการมาเรียน อาจสามารถแก้ปัญหาเรื่องลิฟท์ที่เป็นอยู่ตอนนี้ก็เป็นได้ครับ

วันจันทร์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2558

CADL ขับเคลื่อน ปศพพ. ใน มมส. _ ๐๘ : นโยบายที่ชัดเจนยิ่ง

วันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๘ ที่มีการจัดประชุมร่วมกันกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา (อ่านได้จากบันทึกนี้) ตอนบ่ายของวันเดียวกัน มีการประชุมกันของผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยและมูลนิธิยุวสถิรคุณ ข้อสรุปของการประชุมอาจจะเปลี่ยนแปลงชีวิตของคนดีที่ไม่เคยมีโอกาส ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน สังคม และชาติ อย่างมีนัยสำคัญ

ผมนั่งฟังแนวคิดและนโยบายที่ผู้ใหญ่คุยกันอย่างตั้งใจ อีกทั้งยังบันทึกเสียงนำกลับมาฟังอีกหลายรอบ ท่านได้มอบหมายให้ผมลองไปคิดต่อ และร่างแนวทางการสร้างหลักสูตรนี้ต่อ ...ผมถือว่านี่เป็นโอกาสสำคัญอีกครั้งของชีวิตตนเอง ที่ได้รับโอกาสให้เข้าไปมีส่วนร่วมในการเดินตามรอยเท้าพ่อ...


มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีวิสัยทัศน์ที่จะเป็นที่พึ่งและผู้นำในการพัฒนาชุมชนและสังคม ความมุ่งมั่นนี้ถือเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาเชิงพื้นที่ที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและแตกต่างระหว่างบริบทในสังคมไทยในศตวรรษที่ ๒๑  กอปรกับค่านิยมองค์กร "TAKASILAW ที่ประกาศในงานถ่ายทอดนโยบายสู่การปฏิบัติของปี ๒๕๕๘ ในวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ ที่ผ่านมา ได้กำหนดไว้ในตัวอักษร "S" ที่กำหนดเป็นคำว่า Sufficiency Economy หรือ เศรษฐกิจพอเพียง แสดงให้เห็นความ "ชัดเจน" ของนโยบาย ที่จะใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการพัฒนามหาวิทยาลัยเพื่อส่วนรวม สังคม ประเทศชาติอย่างจริงจัง

นโยบายการขับเคลื่อนในมหาวิทยาลัย มุ่งน้อมนำมาปรัชใช้ทั้ง ๒ แนวทาง ได้แก่ ๑) การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา ที่พุ่งเป้าไปที่การพัฒนาบุคลากรและนิสิตทุกคนในมหาวิทยาลัย โดยเริ่มที่การสร้างนิสิตแกนนำอย่างเป็นระบบด้วยโครงการ "เด็กดีมีที่เรียน" และ ๒) การสร้างผู้นำชุมชน หรือคนต้นแบบในอนาคต ด้วยการเปิดหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเศรษฐิจพอเพียง โดยมีหลักการดังจะได้กล่าวต่อไป


เป้าหมายสูงสุดของการขับเคลื่อน ปศพพ. คือการสร้างคน ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุด คือมอบหมายให้สำนักศึกษาทั่วไปซึ่งมีพันธกิจที่จะสร้างนิสิตให้เป็นดีตามคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของรายวิชาศึกษาทั่วไปอยู่แล้ว

การจัดการเรียนการสอนของรายวิชาศึกษาทั่วไปที่เหมาะสมกับนิสิตในศตวรรษใหม่ ต้องไม่ใช่ "สอนวิชา" หรือเน้นเพียง "เนื้อหา" แต่ต้องเปลี่ยนมาสร้างค่านิยมร่วมในการ "สอนคน" "สอนชวิต" และกำหนดเป้าหมายที่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน (Learning Outcome) ด้านทักษะในศตวรรษที่ ๒๑ และพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงจากภายในอย่างแท้จริง (transformation) การจัดการเรียนรู้ควรจะประกอบด้วยองค์ประกอบ ๓ ประการดังรูป (ปรับจากกรอบผลสัมฤทธิ์ที่คาดหวังและระบบสนับสนุนที่นี่)


องค์ประกอบ ๓ ประการได้แก่ ๑) การพัฒนาอาจารย์และกระบวนการเรียนรู้ ๒) การสร้างสื่อ สิ่งแวดล้อม และนวัตกรรมการเรียนรู้ที่ทันสมัย สอดคล้อง เหมาะสมกับบริบท และ ๓) มีการวิจัยและมีมาตรฐานการประเมินผล  โดยมีระบบและกลไกสนับสนุนและการบริหารจัดการที่ดี และมีการพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อบ่มเพาะ ปลูกฝัง และฝึกฝนให้นิสิตเป็นผู้มีอุปนิสัย "พอเพียง" ที่มีองค์ความรู้ในตนที่จำเป็น มีสมรรถนะสำหรับศตวรรษใหม่ทั้ง ๓ ด้าน ได้แก่ ด้านการเรียนรู้ ทักษะชีวิตและการทำงาน และทักษะด้านเทคโนโลยีและการสื่อสาร

แนวคิดการสร้างหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเศรษฐกิจพอเพียง

แนวคิดการสร้างหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเศรษฐกิจพอเพียง (ศศ.บ.ปศพพ.) นี้ จึงน่าจะเป็นหลักสูตรหนึ่งในกระบวนการพัฒนาหลักสูตรเพื่อสร้างบัณฑิตที่พึงประสงค์ฯ เพียงแต่ต่างไปตรงที่ เป็นหลักสูตรที่ใหม่ไม่เฉพาะกับผู้เรียน แต่กระบวนการพัฒนาอาจารย์ผู้สอนเป็นอีกส่วนสำคัญที่ต้องดำเนินการอย่างจริงจัง  ส่วนปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมและวัสดุอุปกรณ์นั้นไม่ใช่ปัญหา เพราะมหาวิทยาลัยมหาสารคามพร้อมทุกด้าน โดยเฉพาะด้านการส่งเสริมเกษตรทฤษฎีใหม่ ที่สามารถทำได้ทันที เพราะทั้งฟาร์มมหาวิทยาลัยและพื้นที่หลายๆ ส่วนเหมาะสมที่จะเป็นแปลงฝึกสำหรับนิสิตอยู่แล้ว และมีบุคลากรที่เชี่ยวชาญทั้งศาสตร์ด้านการเกษตร และเรื่องระเบียบวิธีวิจัยและการสร้างเครื่องมือวัดประเมินต่างๆ อย่างไรก็ดี ยังมีส่วนที่ต้องแสวงหาภาคีเข้ามาร่วมมือในการสร้างหลักสูตรฯ คือ ด้านองค์ความรู้ในการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สื่อการสอน หนังสือ นวัตกรรม หรือแหล่งเรียนรู้หลักการทรงงานของในหลวง และที่สำคัญคือ งบประมาณสนับสนุนเป็นทุนการศึกษาที่จะมอบสมทบด้านค่ากินอยู่ตลอดหลักสูตรฯ ๔ ปี ร่วมกับค่าเล่าเรียนและค่าที่พักที่มหาวิทยาลัยจะเป็นผู้สนับสนุน


นิสิตที่สำเร็จหลักสูตร ศศ.บ.ปศพพ. นี้ ต้องมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์สำคัญ ๒ ประการ ได้แก่ ๑) เป็นผู้ภาคภูมิใจและหวงแหนท้องถิ่นภูมิปัญญา มีอุดมการณ์ที่จะกลับไปปรับใช้ในการประกอบอาชีพบนพื้นแผ่นดินถิ่นตนเอง และ ๒) คือต้องเป็นคนดี มีคุณธรรม จริยธรรม คิดและทำเพื่อส่วนรวม  ความคาดหวังในภายหน้า หลังจากที่นิสิตน้อมนำไปทำเกษตรทฤษฎีใหม่อย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยน่าจะได้เกษตรกรต้นแบบหรือประชาชนต้นแบบ ซึ่งจะเป็นผู้นำรุ่นใหม่ที่มี "หัวใจพอเพียง" เพิ่มๆ ปีละ ๑๐ - ๒๕ คน จากหลักสูตรนี้


จุดแข็งของหลักสูตรฯ คือ ความสอดคล้องกับทั้งปัญหาและยุทธศาสตร์ของประเทศในขณะปัจจุบัน ที่ต้องร่วมกันสร้างประชาชนต้นแบบให้มากที่สุด  ความมุ่งมั่นของมหาวิทยาลัยที่จะน้อมนำไปใช้ในการพัฒนาชุมชนและสังคม และนโยบายของผู้บริหารมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะอธิการบดีที่มีฉันทะในเรื่องนี้อย่างยิ่ง

แนวคิดในการจัดการเรียนรู้ตามหลักสูตร ศศ.บ.ปศพพ.

การจัดการเรียนรู้ในหลักสูตร ศศ.บ.ปศพพ. ต้องริเริ่มและร่างขึ้นใหม่ ทุกรายวิชาต้องบูรณาการและน้อมนำ ปศพพ. ไปใช้ใจการฝึกคิด ฝึกทำ และสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ขึ้นใหม่ให้สอดคล้องกับหลักการ "สอนคน" "สอนชีวิต" ให้เป็นผู้มีอุปนิสัย "พอเพียง" มีทักษะชีวิตและศักยภาพในการประกอบอาชีพด้านการเกษตรดีเยี่ยม มีทักษะในการเรียนรู้และสร้างสรรค์ มีทักษะการสื่อสาร รู้จักใช้ประโยชน์จากวิทยาการสารสนเทศสมัยใหม่ และมีความคิดความอ่านหรือทักษะพื้นฐานตามยุคสมัย อันเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก สามารถพึ่งตนเองได้ รักและหวงแหนทรัพยการธรรมชาติ ภูมิใจในภูมิปัญญาท้องถิ่น และมีภาวะความผู้นำ

ดังนั้นการจัดการเรียนรู้ต้องเป็นหลักสูตรที่เน้นการปฏิบัติ เรียนด้วยการลงมือทำ (Learning by doing) หรือเรียนด้วยการทำงาน (Work-based Learning) ผู้เรียนจะต้องฝึกฝนทั้งร่างกายและจิตใจ ความคิดสติปัญญา ให้เป็นผู้ใฝ่เรียนรู้ สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ซึ่งน่าจะแบ่งกระบวนการเรียนรู้ออกเป็น ๓ ระยะ ได้แก่

ระยะที่ ๑) เรียนรู้องค์ความรู้พื้นฐานวิทยาการที่จำเป็น เรียนรู้ทฤษฏีเศรษฐกิจพอเพียงและหลักการทรงงาน  โดยการศึกษาค้นคว้าและการศึกษาดูงานจากความสำเร็จจากโครงการหลวงต่างๆ  รวมทั้งแนวปฏิบัติที่ดีเยี่ยม (best practices) จากปราชญ์ชาวบ้านทั้งในและนอกพื้นที่ ฯลฯ อาจารย์ผู้สอนในส่วนนี้ อาจเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัย หรือคณาจารย์ที่มีจิตอาสาที่จะมาร่วมพัฒนานิสิตแกนนำต้นแบบตามแนวทางนี้

ระยะที่ ๒) ลงมือปฏิบัติทดลองน้อมนำมาใช้ด้วยตนเอง (เรียนรู้จากการปฏิบัติ) นิสิตแต่ละคนจะได้รับมอบหมายพื้นที่แปลงฝึกให้รับผิดชอบ ลองน้อมนำหลัก ปศพพ. มาใช้ด้านการเกษตร ทดลองทำเกษตรทฤษฎีใหม่ในมหาวิทยาลัย  ภายใต้การดูแลของ "ครูฝึก" ที่เป็นบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญและรับผิดชอบในแต่ละด้าน เช่น ผู้จัดการฟาร์ม ลุงป้าน้าอาคนงาน อาจารย์คณะเทคโนเกษตร ฯลฯ  หรือปราชญ์ชาวบ้านที่เป็นเครือข่าย

ระยะที่ ๓) เรียนรู้จากการทำงาน (work based learning) ในแปลงเกษตรจริงๆ ในพื้นที่มหาวิทยาลัยที่ได้รับมอบหมาย กระบวนการเรียนรู้ต้องเหมือนจริงในการประกอบอาชีพจริง มีการลงทุน มีการริเริ่มสร้างสรรค์ มีการผลิต มีกระบวนการนำไปส่งขาย หรือแปรรูปขายในตลาดในมหาวิทยาลัยหรือภายนอก 


ในกระบวนการคัดกรองนิสิตผู้เข้ารับทุนการศึกษาในหลักสูตรนี้ น่าจะมีกระบวนการแบบ ๓๖๐ องศา และใช้ระยะเวลาในการทดสอบและพิสูจน์ "ฉันท" และ "วิริยะ" ของผู้สมัคร นิสิตที่มีใจและมีพื้นฐานและประสบการณ์ที่ดี จะทำให้โอกาสในการบรรลุเป้าหมายที่คาดหวังไว้สำเร็จได้สูงขึ้น เพราะกระบวนการเรียนรู้จากประสบการณ์เดิม (Experiential Learning) นั้นสำเร็จได้ง่ายกว่าการเรียนรู้ใหม่ทั้งหมด บันทึกหน้าจะได้นำเสนอแนวทางการคัดกรองนิสิตต่อไป

สุดท้าย ผมเสนอว่าสิ่งที่ต้องคำนึงไว้ในใจ ตลอดเวลา คือ หลักสูตรนี้จะต้องจัดการศึกษาให้เกิดการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning)  การเรียนรู้หลัก ปศพพ. ด้วยใจที่ใคร่ครวญ (จิตตปัญญาศึกษา) หรือการศึกษาตามแนวทางวิธีพุทธ น่าจะเป็นจุดหนึ่งที่ต้องพิจารณาร่วมกันต่อไป

วันพฤหัสบดีที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2558

พัฒนาการจัดการเรียนการสอน GenEdu _ ๐๑ : แนวทางการพัฒนาหลักสูตรและการขับเคลื่อนฯ

นโยบายของผู้บริหารมหาวิทยาลัย ในการปรับปรุงหลักสูตรวิชาศึกษาทั่วไป (หลักสูตรปรับปรุง ๒๕๕๘) ส่วนหนึ่งเพื่อก้าวสู่วิสัยทัศน์ที่จะเป็นผู้นำด้านมหาวิทยาลัยเพื่อชุมชน และสังคมโดยการบูรณาการการเรียนการสอนกับโครงการ ๑ หลักสูตร ๑ ชุมชน และอีกส่วนหนึ่งคือการเตรียมความพร้อมด้านภาษาสู่การเปิด มีส่วนที่มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญ ๒ ประการ ประชาคมอาเซียน จึงมีการปรับโครงสร้างหลักสูตรใหม่ ดังนี้

๑) ปรับให้มีรายวิชา "๑ หลักสูตร ๑ ชุมชน" เป็นรายวิชาบังคับ ให้นิสิตทุกคนต้องเรียน โดยเปิดโอกาสให้คณะ-วิทยาลัยต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนร่วมกัน เพื่อให้เกิดการบูรณาการกับโครงการ ๑ หลักสูตร ๑ ชุมชน อย่างเหมาะสม

๒) ปรับให้มีรายวิชาภาษาอังกฤษพื้นฐานสำหรับวิชาชีพ เป็นวิชาเลือก โดยเปิดโอกาสให้คณะต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมกับการจัดการเรียนการสอน เช่นกัน

ทั้งสองประเด็นนี้ถือเป็นนโยบายจากผู้บริหารมหาวิทยาลัย ที่ต้องนำไปปฏิบัติต่อไป ...

อย่างไรก็ดี... แม้จะมีหลักสูตรดีอย่างไรก็ตาม แต่หากกระบวนการเรียนรู้ไม่ดี การจะสร้างบัณฑิตที่เป็นคนสมบูรณร์หรือเป็นคนดีนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ

ถ้าวิเคราะห์จากเกณฑ์ประกันคุณภาพทั้งภายในและภายนอก จะพบตามลำดับดังนี้ว่า
  • นิสิตจะมีคุณภาพต้องมีการจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ 
  • การจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพต้องประกอบด้วย จะต้องมี ๑) มีหลักสูตรที่มีคุณภาพ ๒) มีอาจารย์ที่มีคุณภาพ (ในความหมาของเกณฑ์ประกันคือมีตำแหน่งทางวิชาการ)  ๓) การเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ๔) มีสื่อการสอนและนวัตกรรมการสอนที่เหมาะสม  และ ๕) มีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนการสอน หมายถึงห้องเรียน อุปกรณ์โสตทัศน์ หนังสือ ห้องสมุด แหล่งเรียนรู้ และบรรยากาศที่ดี 
  • ต้องมีกิจกรรมพัฒนานิสิตที่เหมาะสม ส่งเสริมสอดคล้องทั้ง ๕ ด้าน ได้แก่ วิชาการ นันทนากร กีฬา ทำนุบำรุง บริการชุมชนและสังคม 
  • ต้องมีการบูรณาการระหว่างการสอน การวิจัย และการบริการวิชาการ 
หัวใจสำคัญของการจัดการเรียนการสอนโดยรายวิชาศึกษาทั่วไปคือ การจัดการเรียนการสอน ซึ่งจะมีคุณภาพไม่ได้เลย ถ้า "อาจารย์ไม่ได้สอน" หรือ "ไม่ตั้งใจสอน" หรือ "สอนแบบเดิมๆ โดยใช้ตนเองเป็นศูนย์กลาง" คำถามคือ สำนักศึกษาทั่วไป มีระบบหรือกลไกในการตรวจสอบหรือประเมินผลอาจารย์ผู้สอนอย่างไรหรือไม่....

คำตอบ... ที่มีผู้ทำสำเร็จแล้วคือ สร้างระบบติดตามและระบบฐานข้อมูลบันทึกการเข้าสอนของอาจารย์โดยใช้เจ้าหน้าที่ของคณะฯ ... อย่างไรก็ดี ผมคิดว่าวิธีนี้ไม่น่าจะให้ผลดีต่อการพัฒนาในระยะยาวสำหรับรายวิชาศึกษาทั่วไป เว้นแต่จะทำการสำรวจไปยังนิสิตโดยตรง หรือตัวแทนนิสิต โดยอาจารย์ผู้สอนเองก็ต้องยอมรับก่อนจะมีระบบติดตามนี้

แนวคิดของผู้บริหารสำนักศึกษาทั่วไปขณะนี้คือสร้างเครือข่ายและความร่วมมือของอาจารย์ผู้สอน คณะ/สาขา/วิทยาลัย  ให้ทุกคนเข้าใจบทบาทของสำนักศึกษาทั่วไป ที่จะเน้นเป็นผู้ประสานงานกลาง เป็นผู้เอื้ออำนวยการให้อาจารย์ผู้สอนซึ่งควรเป็นส่วนหนึ่งของสำนักศึกษาทั่วไป สามารถร่วมกันพัฒนาและออกแบบแนวทางการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนภายใต้นโยบายของผู้บริหารมหาวิทยาลัย

ข้อเสนอต่อผู้บริหาร เพื่อพัฒนาคุณลักษณะที่พึงประสงค์ด้านจิตสาธารณะอย่างเป็นระบบ


เป้าหมายของการจัดการเรียนรู้รายวิชาศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยมหาสารคาม คือ สร้างบัณฑิตที่เป็นคนที่มีจิตอาสา และมีจิตสาธารณะ สำนักศึกษาทั่วไปกำลังปรับปรุงหลักสูตรให้มีรายวิชา "๑ หลักสูตร ๑ ชุมชน" เพื่อปลูกฝังจิตอาสาอย่างเป็นระบบ (อ่านร่างข้อเสนอร่างคำอธิบายรายวิชาและแนวทางการจัดการเรียนการสอนที่นี่) บันทึกนี้ขอเสนอกลยุทธ์ในการปลูกฝังจิตสาธารณะอย่างเป็นระบบ ให้ท่านลองพิจารณา ...

แนวคิดคือ ใช้ "คะแนนจิตสาธารณะ" เป็นเครื่องมือในการควบคุมให้นิสิตเคารพและปฏิบัติตามกฎระเบียบ กติกาของมหาวิทยาลัยและสังคม โดยกำหนดให้ทุกวิชาของรายวิชาศึกษาทั่วไปมีการประเมินผลด้านพฤติกรรมด้านจิตสาธารณะ (ส่วนใหญ่ทุกวิชามีการให้คะแนนจิตพิสัย หรือคะแนนเข้าเรียนอยู่แล้ว)

สิ่งสำคัญคือทุกคนต้องเข้าใจคำว่า "จิตสาธารณะ" ตรงกัน ทุกคนในที่นี้หมายถึง นิสิตผู้เรียน อาจารย์ผู้สอนรายวิชาที่นิสิตเรียนอยู่ อาจารย์ทุกคนในมหาวิทยาลัย บุคลากรทุกคน โดยเฉพาะที่สำคัญที่สุดคือ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในมหาวิทยาลัย เพราะจะมีบทบาทหลักในการตรวจจับนิสิตที่ทำผิดระเบียบ กติกา ที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน แล้วส่งรหัสนิสิตมายังสำนักศึกษาทั่วไป เพื่อจัดส่งให้อาจารย์ผู้สอนรายวิชาศึกษาทั่วไปในภาคการศึกษานั้นตัด "คะแนนจิตสาธารณะ" ในทุกรายวิชาที่เขากำลังเรียนอยู่ในภาคการศึกษานั้น อาจสร้างระบบแจ้ง "คะแนนจิตสาธารณะ" ที่ถูกตัดพร้อมๆ กับระบบคะแนนสอบปลายภาค


ผมขอเสนอ ให้ "ทุกคน" ร่วมกันกำหนดและยอมรับ ในกฎระเบียบ และกติกาสำคัญๆ ที่กำลังเป็นปัญหา เพื่อควบคุมและปลูกฝังให้นิสิตเป็นผู้รักษากฎระเบียบวินัยของสังคม เช่น
  • จอดรถในที่ๆ จัดไว้ให้ หรือที่ๆ สามารถจอดได้ "ไม่จอดในที่ห้ามจอด"
  • ข้บรถถูกต้องตามกฎจราจร ถูกต้องตามทิศทางที่กำหนดให้ "ไม่ขับรถย้อนศร"
  • ใส่หมวกกันน็อคเมื่อขับรถมอเตอร์ไซด์ 
  • เป็นผู้รักษาเวลา มาเรียนตามเวลาที่กำหนด  "ไม่มาสาย"  โดยเฉพาะการมาสายเป็นประจำ 
  • ฯลฯ
วิธีการคือ ให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของมหาวิทยาลัยหรือรวมทั้งอาจารย์ทุกท่าน ส่งรหัสนิสิตและชื่อนิสิตที่จับได้ว่าทำผิดกฎกติกาที่เสนอข้างต้นนี้ มายังสำนักศึกษาทั่วไป โดยสร้างระบบหรือระบบออนไลน์ที่เข้าถึงและจัดส่งได้สะดวก  สำนักศึกษาทั่วไปส่ง "คะแนนจิตสาธารณะ" ที่ถูกหักไปยังอาจารย์ผู้สอนรายศึกษาทั่วไปที่นิสิตกำลังเรียนในภาคการศึกษานั้นเพื่อตัดคะแนนจิตพิสัย

ในกรณีของนิสิตที่มาสายเป็นประจำ แม้ว่าจะเรียนรายวิชาที่ไม่ใช่รายวิชาศึกษาทั่วไป แต่หากอาจารย์ผู้สอนส่งรหัสนิสิตและรายชื่อมายังสำนักศึกษาทั่วไป ถ้านิสิตคนนั้นกำลังเรียนรายวิชาศึกษาทั่วไปใดอยู่ จะถูกตัดคะแนนจิตพิสัยเช่นกัน

ท่านผู้อ่านว่าไงครับ..... ถ้าอนุมัติผมจะหาทางจัดให้ทันทีครับ .....